"...จากการตรวจสังเกตการณ์การใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ประเภทเตียงฝึกยืนของศูนย์ฮอมฮักประจำตำบลจำนวน 68 แห่ง ในจังหวัดพะเยาพบว่า ครุภัณฑ์ประเภทเตียงฝึกยืนของศูนย์ฮอมฮักประจำตำบลจำ นวน 63 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 92.65 ของศูนย์ฮอมฮักประจำตำบลในจังหวัดพะเยาไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนเริ่มดำเนินโครงการฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยาไม่สำรวจความต้องการและความพร้อมของศูนย์ฮอมฮักประจำตำบล จึงทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าศูนย์ฮอมฮักตามจำนวนดังกล่าวไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดประจำศูนย์ฯ..."
.................
โครงการพัฒนาระบบการดูแลและยกระดับการให้บริการสุขภาพผู้สูงอายุ พร้อมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมผู้สูงอายุภาคเหนือ ของจังหวัดพะเยา ประจำปี 2561 ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจำนวน 41,557,800 บาท ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบว่าผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดของโครงการ การจัดตั้งศูนย์ฮอมฮักประจำตำบลไม่มีความพร้อมและไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือฟื้นฟูสภาพฯ ประจำศูนย์ นอกจากนี้ ยังไม่มีการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการจึงทำให้ไม่ทราบสภาพปัญหาอุปสรรคและไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างทันท่วงทีด้วย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบโครงการพัฒนาระบบการดูแลและยกระดับการให้บริการสุขภาพผู้สูงอายุ พร้อมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมผู้สูงอายุภาคเหนือ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากงบพัฒนาจังหวัดพะเยา ประจำปีงบประมาณ 2561 จำนวน 41,557,800 บาท ยุทธศาสตร์ที่ 4 สร้างคุณค่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เนื่องจากจังหวัดพะเยาเป็นสังคมที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตามนิยามขององค์การสหประชาชาติ การจัดทำโครงการดังกล่าวจึงเป็นการสนับสนุนและรองรับให้จังหวัดพะเยาเป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Age – Friendly Cities) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลข้อที่ 3 การลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ
โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 9 (จังหวัดลำปาง) ได้ตรวจสอบโครงการพัฒนาระบบการดูแลและยกระดับการให้บริการสุขภาพผู้สูงอายุ พร้อมเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงในสังคมผู้สูงอายุภาคเหนือ เพื่อให้ทราบว่าการดำเนินงานตามโครงการดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพประสิทธิผล ประหยัดคุ้มค่าหรือไม่ เพียงใด และเพื่อให้ทราบว่าผลดำเนินงานตามโครงการสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้ และมีผลสัมฤทธิ์หรือไม่ เพียงใด ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 ทั้งนี้ ในการตรวจสอบดังกล่าวจะทำให้ทราบถึงสาเหตุและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามโครงการที่จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะและแนวทางในการบริหารจัดการระบบการดูแลและยกระดับการให้บริการสุขภาพผู้สูงอายุในรูปแบบการจัดบริการดูแลระยะยาว (Long Term Care : LTC) ให้เป็นอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมีผลสัมฤทธิ์ ประหยัดคุ้มค่า และยั่งยืนต่อไป
ใน 2 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 ผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดของโครงการ
จากการตรวจสังเกตการณ์ศูนย์ฮอมฮักประจำตำบล จำนวน 68 แห่ง ในจังหวัดพะเยาพบว่า มีศูนย์ฮอมฮักที่เปิดให้บริการชุมชนและบริการสุขภาพในรูปแบบการจัดบริการดูแลระยะยาว (Long Term Care : LTC) เพียงจำนวน 31 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 45.58 ของศูนย์ฮอมฮักประจำตำบลในจังหวัดพะเยา ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายและตัวชี้วัดที่กำหนดไว้ของโครงการ (54 แห่ง หรือร้อยละ 80)
จำนวน 23 แห่ง
ทั้งนี้ เนื่องจากสถานที่ตั้งศูนย์ฮอมฮักประจำตำบล ไม่มีความพร้อมและไม่มีพื้นที่ที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการติดตั้งอุปกรณ์เครื่องมือฟื้นฟูสภาพฯ ประจำศูนย์ รวมทั้งไม่มีผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ปฎิบัติหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุเชิงรุก และไม่มีเจ้าหน้าที่ปฎิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ฮอมฮักประจำตำบลเพื่อให้บริการผู้ที่เข้ามาใช้บริการศูนย์ฮอมฮักประจำตำบล ประกอบกับไม่มีการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการจึงทำให้ไม่ทราบสภาพปัญหาอุปสรรคและไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 9 (จังหวัดลำปาง) มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. กรณีศูนย์ฮอมฮักประจำตำบล จำนวน 14 แห่ง สถานที่ดำเนินการไม่มีความพร้อมและเหมาะสมเพียงพอต่อการบริการชุมชนและการบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ ในรูปแบบระบบการบริการดูแลระยะยาว (Long Term Care : LTC) สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยาพิจารณาดำเนินการหาสถานที่ที่เหมาะสม พร้อมทั้งให้บริการชุมชนและบริการสุขภาพตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ฮอมฮักประจำตำบล กรณีที่ไม่สามารถหาสถานที่ที่เหมาะสมได้ให้พิจารณากำหนดแนวทางในการใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์อุปกรณ์เครื่องมือฟื้นฟูสภาพฯ ประจำศูนย์ฮอมฮักเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าต่อไป
2. กรณีศูนย์ฮอมฮักประจำตำบล จำนวน 6 แห่ง ไม่มีผู้ช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ (Care Giver) ให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
2.1 สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยา สั่งการให้ศูนย์ฮอมฮักตำบลแม่นาเรือและศูนย์ฮอมฮักตำบลสันป่าม่วง จัดทำแผนการดูแลรายบุคคล (Care Plan) เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง(Long Term Care : LTC) ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559
2.2 กรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 4 แห่ง คือ เทศบาลตำบลเจริญราษฎร์ องค์การบริหารส่วนตำบลสันโค้ง องค์การบริหารส่วนตำบลงิม และองค์การบริหารส่วนตำบลสระไม่สมัครเข้าร่วมกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง(Long Term Care : LTC) ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ให้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ทราบและตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิประโยชน์ที่ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงจะได้รับบริการดูแลระยะยาว ด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) และมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดพะเยาให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับผู้สูงอายุ (Age – Friendly Cities) ตามแผนพัฒนาจังหวัดพะเยา
3. กรณีศูนย์ฮอมฮักประจำตำบลจำนวน 37 แห่ง ไม่มีเจ้าหน้าที่ปฎิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ฯเพื่อให้บริการผู้สูงอายุ ผู้พิการ และกายภาพบำบัดฟื้นฟูสมรรถนะผู้ที่เข้ามาใช้บริการศูนย์ฮอมฮักประจำตำบล รวมทั้งควบคุมดูแลอุปกรณ์เครื่องมือฟื้นฟูสภาพฯ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยาพิจารณากำหนดแนวทางในการจัดหาเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ เพื่อให้ศูนย์ฮอมฮักประจำตำบลสามารถเปิดให้บริการชุมชนและบริการสุขภาพตามวัตถุประสงค์ของโครงการต่อไป
4. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดพะเยา (ก.บ.จ.) ดำเนินการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการตามแผนพัฒนาจังหวัดและ
แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด และรายงานต่อคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) ตามพระราชกฤษฏีกา ว่าด้วยการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (5)
5. ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการจังหวัดพะเยา (ก.บ.จ.) กำกับ ให้คำแนะนำ และสร้างความรู้ความเข้าใจในการติดตามและประเมินผล
สัมฤทธิ์ของโครงการตามมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) แก่ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามแผนพัฒนาจังหวัดพะเยา เพื่อให้สามารถดำเนินการ
ติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการ และสามารถนำผลการประเมินผลสัมฤทธิ์มาใช้ประกอบในการตัดสินใจบริหารจัดการโครงการเพื่อให้ได้ผลผลิตตามเป้าหมาย (Outputs) และได้ผลลัพธ์
(Outcomes) ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ รวมทั้งนำผลการประเมินผลสัมฤทธิ์มาใช้เป็นแนวทางประกอบในการวางแผนและจัดทำโครงการพัฒนาจังหวัดในปีถัดไป
ข้อตรวจพบที่ 2 ครุภัณฑ์ประเภทเตียงฝึกยืนไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้
จากการตรวจสังเกตการณ์การใช้ประโยชน์ครุภัณฑ์ประเภทเตียงฝึกยืนของศูนย์ฮอมฮักประจำตำบลจำนวน 68 แห่ง ในจังหวัดพะเยาพบว่า ครุภัณฑ์ประเภทเตียงฝึกยืนของศูนย์ฮอมฮักประจำตำบลจำ นวน 63 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 92.65 ของศูนย์ฮอมฮักประจำตำบลในจังหวัดพะเยาไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนเริ่มดำเนินโครงการฯ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยาไม่สำรวจความต้องการและความพร้อมของศูนย์ฮอมฮักประจำตำบล จึงทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าศูนย์ฮอมฮักตามจำนวนดังกล่าวไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดประจำศูนย์ฯ เพื่อควบคุมดูแลการใช้งานเตียงฝึกยืนตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งปฏิบัติงานในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กระทำการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. 2552
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 9 (จังหวัดลำปาง) มีข้อเสนอแนะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ก่อนเริ่มดำเนินงานตามโครงการ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยาในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณการ จังหวัดพะเยา (ก.บ.จ.) สั่งการให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบกิจกรรมตามโครงการตามแผนพัฒนาจังหวัด ดำเนินการสำรวจและศึกษาความพร้อมของปัจจัยเบื้องต้นต่าง ๆ เช่น บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ สถานที่ดำเนินการ เป็นต้น และวิเคราะห์ความเสี่ยงในการบริหารจัดการของโครงการ พร้อมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ ความจำเป็นและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อใหเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ ตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 9 (1) และ (2)
2. กรณีศูนย์ฮอมฮักประจำตำบลจำนวน 63 แห่ง ที่ไม่มีผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดทำหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้งานครุภัณฑ์ประเภทเตียงฝึกยืน ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยบุคคลซึ่งปฏิบัติงานในสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล กระทำการประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. 2552 สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพะเยาพิจารณาหาแนวทางในการใช้ประโยชน์จากครุภัณฑ์ประเภทเตียงฝึกยืนเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/