"...การใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักเรียนก็มีอำนาจเหมือนกันต่างกันที่บริบท แต่ไม่มีคนเคยบอกเลยว่าอำนาจของแต่ละคนใช้ได้มากน้อยเพียงใด จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่พบเห็นอยู่บ่อย ๆ คือเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดและไม่เหมาะสม และสิ่งที่โรงเรียนขาดคือ การใช้อำนาจอย่างเหมาะสม..."
.....................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2563 ณ Gaysorn Urban Resort ชั้น 19 อาคาร เกษร ทาวเวอร์ ดีแทค Safe Internet และกลุ่มเทเลนอร์ ร่วมกับองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย พร้อม ดีป้า-กองทุนสื่อ จัดเสนวนาเปิดแนวคิดพัฒนาหลักสูตร “การเคารพในความหลากหลายทางเพศ เพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ Cyberbullying” มุ่งพัฒนาครูให้เป็นโค้ชเพื่อช่วยทำให้โรงเรียน ซึ่งเป็นพื้นที่ทางสังคมแห่งแรกของเด็ก เป็นพื้นที่ที่เอื้ออาทรปลอดภัย
ซึ่งดีแทคและองค์การแพลนได้พัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้น ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างเทเลนอร์ กรุ๊ป และองค์การแพลน อินเตอร์เนชันแนล ที่มีเป้าหมายคือ ส่งเสริมการใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยในกลุ่มเด็ก และการสร้างทักษะต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเด็กๆ สู่โลกยุคดิจิทัล โดยดีแทคและองค์กรแพลน ได้ร่วมกันจัดอบรมครูในโรงเรียน 15 โรงเรียน ที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับบริบทสังคมของประเทศไทย จากนั้น จะพัฒนาเนื้อหาดังกล่าวให้อยู่ในรูปของหลักสูตรออนไลน์บนแพลตฟอร์ม “ห้องเรียนครูล้ำ” ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวจะพร้อมเปิดให้บริการในเดือนมกราคมปีหน้านี้ ครูที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร สามารถนำเครื่องมือหรือสื่อการสอนที่ได้รับไปใช้จัดกิจกรรมต่อยอดภายในโรงเรียนของตนได้
ทั้งนี้ จากงานวิจัยเรื่อง “การแกล้งกันของเด็กนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในปี พ.ศ.2561” โดยความร่วมมือระหว่างคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดีแทค แสดงให้เห็นข้อมูลเชิงประจักษ์ว่า ร้อยละ 91 จาก 1,606 กลุ่มตัวอย่างเคยถูกกลั่นแกล้งในสถานศึกษาจนถึงขี้นเสียใจหรือเสียความรู้สึก ที่สำคัญ “LGBT” ตกเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้งรังแกทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์
โดยกลุ่มนักเรียนที่เปิดเผยในงานวิจัยว่า เป็น LGBT เผยว่า มีประสบการณ์โดนกลั่นแกล้งทางวาจา แกล้งทางเพศ แกล้งทางไซเบอร์ และถูกรังแกมากที่สุด เมื่อเทียบกับนักเรียนหญิงและชาย
งานวิจัยฯ ยังชี้ข้อมูลให้เห็นว่า การกลั่นแกล้งทางสังคมมีความสัมพันธ์สูงกับการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ นักเรียนใช้ไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคมของพวกเขา และหากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางไซเบอร์อาจจะต้องเริ่มจากต้องการป้องกันการกลั่นแกล้งหรือการรังแกทางสังคมกายภาพจริงของพวกเขา
ขณะที่ นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อํานวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือดีแทค ยกตัวอย่างกรณีครูทำร้ายเด็กอนุบาลที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ว่า ทั้งๆที่โรงเรียนมีค่าเทอมที่สูงแต่กลับยังโดนกลั่นแกล้ง พร้อมชี้ว่า เรื่องทั้งหมดเกิดจากการจัดความสัมพันธ์ของคนในโรงเรียน ซึ่งหลักการแนวคิดหลักสูตร “การเคารพในความหลากหลายทางเพศ เพื่อลดการกลั่นแกล้งทางออนไลน์” ก็น่าจะสามารถนำไปปรับใช้ได้
@นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์
โดยเจตจำนงของโครงการดีแทค Safe Internet คือเพื่อไปแก้ปัญหาที่เกิดความเสี่ยงบนโลกออนไลน์ ซึ่งมองเห็นว่าถ้าอยากจะแก้ไขบนออนไลน์ก็จะต้องแก้บนออฟไลน์ก่อน ซึ่งเด็กนักเรียนร้อยละ 33.8 ระบุว่า ครูคือบุคคลที่นักเรียนต้องการแจ้งปัญหาและร้องขอความช่วยเหลือมากที่สุด
เมื่อนักเรียนเผชิญกับปัญหาการถูกกลั่นแกล้งทั้งที่โรงเรียนและบนพื้นที่ออนไลน์ แต่ที่ไม่ทำเช่นนั้น เพราะเด็กนักเรียนกลุ่มตัวอย่างรู้สึก “ไม่เชื่อถือ” ในความยุติธรรมของครู เพราะครูมักเลือกที่รักมักที่ชัง และครูอาจจะไม่มีความรู้หรือทักษะที่จะช่วยแก้ปัญหาโดยเฉพาะในเรื่องการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และปัญหาอื่นๆ
“อยากสร้างองค์ความรู้อย่างเป็นระบบให้กับครู ให้เข้าใจถึงความหลากหลายเพื่อที่จะหยุดการกลั่นแกล้งรังแก” นางอรอุมาระบุ
นางสาวกรองแก้ว ปัญจมหาพร ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้กล่าวถึงการนำทฤษฎีที่นักสิทธิมนุษยชนได้พัฒนาไว้เป็นเครื่องมือทางสิทธิมนุษยชนที่ใช้เป็นกรอบทางความคิด เพื่อให้ทำความเข้าใจกับองค์ประกอบและความความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือเรียกในชื่อย่อว่า SOGIESC ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ส่วนดังนี้
1.Sexual Orientation: SO หรือ รสนิยมทางเพศ หมายถึง อารมณ์ ความรู้สึกเชิงชู้สาว และความดึงดูดทางเพศ ทั้งในเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน เป็นสัญชาตญาณที่เกิดมาพร้อมกับความเป็นมนุษย์ เป็นปกติของความเป็นมนุษย์
2.Gender Identity: GI หรือ อัตลักษณ์ทางเพศ หมายถึง ความสำนึกรู้และการแสดงออกทางเพศภาวะเกี่ยวกับความเป็นเพศภาวะของตัวเองซึ่งอาจจะสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด
3.Gender Expression: GE หรือ การแสดงออกทางเพศภาวะ ซึ่งอาจมาจากการสั่งสอนของครอบครัว เช่น ผู้ชายต้องแต่งกายสีเข้ม มีความเข้มแข็ง ส่วนผู้หญิงควรไว้ผมยาว แต่งหน้า ท่วงท่าการเดิน ความอ่อนโยน
4.Sex Characteristic: SC หรือ เพศสรีระ หมายถึง ลักษณะทางเพศของบุคคลที่ติดตัวมาแต่กําเนิดซึ่งถูกกําหนดให้เป็น 2 เพศ นั่นคือ เพศหญิง และเพศชาย
@นางสาวกรองแก้ว ปัญจมหาพร
“เหตุการณ์กลั่นแกล้งไม่ว่าพื้นที่ออนไลน์หรือออฟไลน์ เกิดจากการที่เด็กหรือคนในสังคมไม่เข้าใจถึงความแตกต่าง ผู้ที่มีความแตกต่างมักจะตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้งรังแก ทั้งที่ในความเป็นจริง ความแตกต่างหลากหลายล้วนแสดงให้เห็นถึงความเป็นธรรมดาและธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต มนุษย์เรามีความหลากหลายทั้ง ชาติพันธุ์ สีผิว ภาษา ศาสนา รสนิยมเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ” นางสาวกรองแก้วระบุ
ส่วนครูบอย สุทธิชัย ครูจากโรงเรียนเชียงใหม่คริสเตียน กล่าวถึงการได้เข้าร่วมโครงการนี้ว่า เข้าร่วมโครงการนี้ทำให้ครูได้รู้เท่าทันการใช้อำนาจที่เหมาะสม โดยจะต้องคำนึงถึงว่าเราใช้อำนาจกับนักเรียนมากเกินไปหรือไม่ แล้วมันส่งผลเสียกับเด็กนักเรียนอย่างไร หรือการใช้อำนาจในหมู่เด็กนักเรียนเอง อาทิ เด็กตัวใหญ่จะมีอำนาจมากกว่าเด็กตัวเล็ก เด็กผู้ชายจะมีอำนาจมากกว่าเด็กผู้หญิง หรือแม้กระทั่ง เด็กผู้ชายหรือเด็กผู้หญิงจะมีอำนาจการตัดสินใจมากกว่าเพศทางเลือก LGBT ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่มาก เพราะไม่มีในหลักสูตรการเรียนการสอนของทั้งครูเอง และนักเรียน ซึ่งทางโรงเรียนยังไม่มีนโยบายรองรับ โดยโรงเรียนยังขาดนโยบายการส่งเสริมความแตกต่างในโรงเรียน โดยเฉพาะในเรื่องของการเรียนการสอน ซึ่งจากการสอนครูมักจะสอนเด็กว่ามีแค่ 2 เพศ คือชายและหญิง แบ่งตามเพศสรีระของแต่ละบุคคล ในบทเรียนจะบอกแค่นี้ และบวกกับกรอบของสังคมที่สั่งสอนมา
@ครูบอย สุทธิชัย
“ถ้ามองจากสภาพจริงครูหลายๆท่าน ไม่กล้าที่จะพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศว่าเป็นเรื่องที่ปกติ เพราะสังคมมองว่า ถ้าคุณแตกต่างจากคนอื่นนั่นเท่ากับคุณไม่ปกติ”
"การใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์ในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครูหรือนักเรียนก็มีอำนาจเหมือนกันต่างกันที่บริบท แต่ไม่มีคนเคยบอกเลยว่าอำนาจของแต่ละคนใช้ได้มากน้อยเพียงใด จึงทำให้เกิดสถานการณ์ที่พบเห็นอยู่บ่อย ๆ คือเรื่องการใช้อำนาจในทางที่ผิดและไม่เหมาะสม และสิ่งที่โรงเรียนขาดคือ การใช้อำนาจอย่างเหมาะสม"
“ถ้าเป็นสมัยก่อนก็คงจะบอกว่าที่ได้ดีมาได้เพราะแบบนี้ ซึ่งสมัยนี้ใช้ไม่ได้แล้วกับการที่จะใช้ความรุนแรง ซึ่งเราควรจะหาวิธีอื่นไหม ที่จะทำให้เด็กคนนึงเป็นคนดีได้โดยที่ไม่ไปใช้ความรุนแรง การยอบรับความแตกต่างได้จะถือเป็นการลดการกลั่นแกล้งและลดการใช้อำนาจได้ และการที่เราเกิดมาในเพศใดเพศหนึ่ง ก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเราจะมีบทบาทใดในสังคม ทุกคนสามารถมีความเท่าเทียม” นายสุทธิชัยระบุ
ภาพจาก : dtacblog
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage