“...การดำเนินโครงการดังกล่าวจะเป็นการลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/2563 อันเนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วง และเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 ลดความเสี่ยงจากน้ำหลาก ตลอดจนป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก กรมทรัพยากรน้ำบาดล และกรมเจ้าท่า ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้ให้ความเห็นชอบการขอรับการจัดสรรงบกลางรายการดังกล่าวแล้ว…”
...........................................
“โครงการขุดลอกหนองและลำห้วย จำนวน 18,927 โครงการทั่วประเทศ ครั้งนี้ อาจไม่ใช่โครงการที่ต้องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง เหตุเนื่องจากได้มีการขุดลอกแหล่งน้ำอยู่เป็นประจำทุกปีงบประมาณในหลายหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว”
“กรณีนี้จึงน่าจะเป็นความต้องการของฝ่ายผลประโยชน์ทางการเมือง และกลุ่มผลประโยชน์นอกระบบที่มีผู้ใหญ่ในรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง ที่ต้องการผ่องถ่ายงบประมาณแผ่นดินไปเป็นของตนเองและพรรคพวกผ่านโครงการขุดลอกแหล่งน้ำและผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐซึ่งอ้างว่าชอบด้วยกฏหมายเปิดช่องให้กลุ่มผลประโยชน์หาประโยชน์โดยมิชอบจากเงินแผ่นดินโดยกฏหมายไม่สามารถเอาผิดได้ในลักษณะเป็นการทำธุรกิจเพื่อค้างบประมาณแผ่นดินโดยนำโครงการขุดลอกแหล่งน้ำมาเป็นข้ออ้างอิงทำให้ประโยชน์ของทางราชการและประโยชน์ประชาชนเสียหายไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท”
คือใจความสำคัญที่กลุ่มธรรมาภิบาล เครือข่ายภาคประชานต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น นำโดยนายวิวัฒน์ สมบัติหลาย ประธานกลุ่มฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้ดำเนินการตรวจสอบโครงการขุดลอกแหล่งน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน
เนื่องจากพบว่ามี ‘ขบวนการ’ หักหัวคิว โดยกลุ่มนักการเมือง รวมหัวกับกลุ่ม ‘คุณนาย อ.’ อ้างชื่อ ‘บิ๊ก ฉ.-บิ๊ก ป.’ เพื่อดำเนินการดังกล่าว โดยเรียกรับเงินจากเอกชนโครงการละ 35-50% (อ่านประกอบ : ข้อพิรุธจัดจ้างวิธีพิเศษ! เปิดหนังสือร้องนายกฯสอบขบวนการงาบหัวคิวงบขุดคลองหมื่นล.)
เบื้องต้น กระทรวงมหาดไทยเผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา อ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 ส.ค. และ 15 ก.ย. 2563 อนุมัติงบประมาณจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดทั่วประเทศดังกล่าว พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้มอบนโยบายและกำชับไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้กำกับติดตามการดำเนินงานให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบ และเป็นไปตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือแจ้งแนวทางปฏิบัติไปยังทุกจังหวัดเพื่อเน้นย้ำผู้ว่าฯ ดำเนินการตรวจสอบจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณในพื้นที่ ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดทุกขั้นตอน
นายฉัตรชัย ระบุด้วยว่า ได้กำชับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หากกรณีพบการกระทำอันเป็นการทุจริต ผิดระเบียบ กฎหมาย หรือมีการแอบอ้าง ฉ้อฉล หรือทำให้เชื่อโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยวิธีการต่าง ๆ ให้แจ้งความดำเนินคดีหรือดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายโดยเคร่งครัดทุกกรณี และให้รายงานกระทรวงมหาดไทยทราบ โดยด่วน และหากมีการกระทำโดยไม่ชอบด้วยระเบียบ กฎหมาย ให้ผู้บังคับบัญชาให้ความสำคัญในการตรวจสอบการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ทั้งนี้ พี่น้องประชาชนที่มีเบาะแสการกระทำผิด การแอบอ้างเรียกรับผลประโยชน์ หรือกรณีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว สามารถร้องเรียนผ่านสายด่วนศูนย์ดำรงธรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อเท็จจริงเหล่านี้ คงต้องรอการตรวจสอบกันต่อไป
แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าโครงการนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีคำตอบ ดังนี้
ข้อมูลจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 ระบุว่า สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร เพื่อขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 (งบกลาง) วงเงิน 11,892,871,100 บาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการบรรเทาภัยแล้งและน้ำท่วม พื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา โดย พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี กำกับการบริหารราชการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เห็นชอบเรื่องดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี
เหตุผลตามเอกสารแนบของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวจะเป็นการลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/2563 อันเนื่องจากสภาวะฝนทิ้งช่วง และเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในฤดูฝน ปี 2563 ลดความเสี่ยงจากน้ำหลาก ตลอดจนป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้อย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ของ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน กระทรวงมหาดไทย กองทัพบก กรมทรัพยากรน้ำบาดล และกรมเจ้าท่า ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ได้ให้ความเห็นชอบการขอรับการจัดสรรงบกลางรายการดังกล่าวแล้ว
ขณะที่เหตุผลที่นำเสนอคณะรัฐมนตรี สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ระบุว่า เนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/2563 อันเนื่องมาจากสภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ประกอบกับการอพยพกลับภูมิลำเนาเดิมของประชาชนในภาคอุตสาหกรรมสู่ชนบทเพื่อประกอบอาชีพเกษตรกรรมส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำสูงมากขึ้นในพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งนอกและในเขตชลประทาน
อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากพายุดีเปรสชั่นซินลากู ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรง ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะเดียวกันก็พบว่า มีบางพื้นที่ยังคงประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอยู่ แม้ว่าจะได้รับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีทั้ง 3 ครั้งก่อนหน้านี้
(*หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา : ช่วงปี 2562/2563 คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติแผนการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมแก่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง รวมวงเงินประมาณ 11,864 ล้านบาท)
จึงขอให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีพิจารณานำเรื่องนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีโดยด่วนที่สุด เพื่อหน่วยงานจะได้ดำเนินการโครงการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในฤดูฝนปี 2563 ให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในปัจจุบันสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมไม่ให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็วทันต่อสถานการณ์
สำหรับหน่วยงานทั้ง 5 แห่งที่ขอจัดสรรงบประมาณ 11,892 ล้านบาท ได้แก่
1.กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 8 โครงการ รวมวงเงิน 763 ล้านบาทเศษ ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งกีดขวางทางน้ำ 2 แห่ง งบประมาณ 54 ล้านบาท โครงการปรับปรุงคลองเปรมประชากร 2 แห่ง งบประมาณ 64 ล้านบาท โครงการพัฒนาหนองเล็งทราย จ.พะยา 2 โครงการ งบประมาณ 137 ล้านบาท โครงการขุดบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ ลักษณะเป็น Deep Pool จุดที่ 4 งบประมาณ 150 ล้านบาท โครงการจัดหารือกำจัดวัชพืช จำนวน 50 รายการ งบประมาณ 25 ล้านบาท โรงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยเหยี่ยน พร้อมระบบระบายน้ำท้ายอ่างเก็บน้ำ งบประมาณ 70 ล้านบาท และโครงการขุดลอกลำน้ำอิงตอนบนพร้อมอาคารประกอบ งบประมาณ 98 ล้านบาท
2.กระทรวงมหาดไทย จำนวน 2 โครงการ งบประมาณ 10,093 ล้านบาท ได้แก่ โครงการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 18,927 รายการ งบประมาณ 9,957 ล้านบาทเศษ โครงการจัดหาครุภัณฑ์เรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช จำนวน 805 ลำ งบประมาณ 135 ล้านบาทเศษ
3.กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 2 โครงการ งบประมาณ 884 ล้านบาทเศษ ได้แก่ โครงการเติมน้ำใต้ดินในพื้นที่ตำบลทั่วประเทศ จำนวน 1,000 แห่ง งบประมาณ 64 ล้านบาท โครงการจัดหาครุภัณฑ์ขุดเจาะสำรวจและพัฒนาแหล่งน้ำบาดาล จำนวน 10 ชุด งบประมาณ 820.5 ล้านบาท
4.กองทัพบก กระทรวงกลาโหม จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการขุดลอกแก้มลิงภายในชุมชนรถไฟ งบประมาณ 5.8 ล้านบาทเศษ
5.กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ โครงการจัดหาครุภัณฑ์เรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช จำนวน 17 รายการ วงเงิน 146.1 ล้านบาท
โดยเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษากันแล้วลงมติอนุมัติตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเสนอ และให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และให้สำนักงานทรัพยากรน้ำได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรีในการเสนอเรื่องนี้
หากพิจารณาจากข้อมูลเอกสารประกอบ และมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น ประเด็นการร้องเรียนเรื่องหักหัวคิวโครงการขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ จะอยู่ในส่วนกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทย โครงการเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ 18,927 รายการ วงเงิน 9,957 ล้านบาทเศษ ที่ถูกอ้างว่ามีกลุ่มนักการเมืองรวมหัวกับกลุ่มเอกชนและเจ้าหน้าที่รัฐ เอื้อประโยชน์เรียกรับเงิน 35-50% จากโครงการนี้?
รายละเอียดเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอต่อไป
อ่านประกอบ :
ข้อพิรุธจัดจ้างวิธีพิเศษ! เปิดหนังสือร้องนายกฯสอบขบวนการงาบหัวคิวงบขุดคลองหมื่นล.
อ้าง‘บิ๊ก ฉ.-บิ๊ก ป.’! กลุ่มธรรมาภิบาลฯยื่นนายกฯสอบขบวนการหักหัวคิวงบขุดลอกคลองหมื่นล.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage