ทอล์ก ออฟ ทาวน์! พลิก พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ปี 2504 กรณี ใช้สนามหลวง ปักหมุดคณะราษฎร ผิด หรือ ไม่ผิด กม. ?
....................
ปิดฉากไปแล้วเมื่อช่วงเวลาประมาณ 09.30 น.วันที่ 20 ก.ย.2563!
สำหรับ ม็อบ 19 กันยา ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และเครือข่ายการเมือง หลังทำกิจกรรมปักหมุดคณะราษฎรหมุดที่สองซึ่งทำขึ้นใหม่แทนหมุดคณะราษฎรเดิม มีการตีกลองสะบัดชัยและสวดมนต์ พร้อมนัดกันใหม่ในวันที่ 24 ก.ย. เพื่อติดตามการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หน้ารัฐสภา และ 14 ต.ค.2563
กองเชียร์ฝ่ายไหนจะชอบใจ ถูกอกใจ เหมาะสม ชนะแล้ว หรือ เยาะเย้ย ถากถาง ปั่นเกินจริง ฯลฯ หรือไม่ ก็ว่ากันตามความชอบ เหตุผล ปูมหลัง ของแต่ละฝ่าย แต่ละปัจเจกบุคคล
ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ตามมาก็คือ กรณีปักหมุดคณะราษฎรกลางสนามหลวงนั้นเข้าข่ายผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย ฉบับใดหรือไม่ เนื่องจากสนามหลวงถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติในพ.ศ. 2520 ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
ทั้งนี้ ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า ท้องสนามหลวง หรือ สนามหลวง เป็นสนามขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ระหว่างพระบรมมหาราชวังกับพระราชวังบวรสถานมงคล เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ 74 ไร่ 63 ตารางวา ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติใน พ.ศ. 2520 หรือประมาณ 43 ปีมาแล้ว
ในปี 2553 กรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงภูมิทัศน์ จากเดิมที่เคยเสื่อมโทรมให้ดีขึ้น แล้วเสร็จในปลายเดือนเมษายน 2554 เปิดใช้พื้นที่อย่างเป็นทางการ วันที่ 9 สิงหาคม 2554 และไม่อนุญาตให้ใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางการเมืองใด ๆ เหมือนในอดีต เพื่อสงวนไว้สำหรับประกอบพระราชพิธีเท่านั้น พร้อมขอความร่วมมือให้ช่วยในการรักษาความสะอาดไม่ทิ้งขยะลงพื้น หากพบผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ในกรณีที่ไม่สามารถชำระค่าปรับได้ ต้องบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการเก็บขยะจำนวน 100 ชิ้น แทนการเสียค่าปรับ ซึ่งมีพระราชบัญญัติโบราณสถานคุ้มครอง และกำหนดโทษผู้ใดฝ่าฝืนหรือบุกรุกมีโทษจำคุก 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 1 ล้านบาท โดยทางกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ และสันทนาการตามปกติ แต่ห้ามนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย จอดรถหรืออาศัยเป็นที่หลับนอน ซึ่งสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ ระหว่างเวลา 05.00-22.00 น.
นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถสัญจรผ่านถนนเส้นกลาง ซึ่งเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังศาลฎีกาได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเบื้องต้นได้ทำการติดตั้งรั้วชั่วคราว เพื่อป้องกันการบุกรุก และเพื่อคงความสวยงามของสนามหลวง ซึ่งผู้ที่ต้องการขอใช้พื้นที่สามารถทำเรื่องขอพื้นที่จากกรุงเทพมหานคร แต่ทางกรุงเทพมหานครจะไม่ให้ใช้พื้นที่ท้องสนามหลวงเป็นที่ชุมนุมหรือจัดกิจกรรมทางการเมือง
นอกจากนั้นกรุงเทพมหานครได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเหตุการณ์รักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่สนามหลวงเป็นหน่วยงานของราชการสังกัดกรุงเทพมหานครดูแลความสงบเรียบร้อยภายในท้องสนามหลวง
พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504
มาตรา 32 ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลายทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่ง โบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 33 ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ หรือทำให้สูญหายซึ่งโบราณวัตถุหรือ ศิลปวัตถุที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้วต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ
กรณีการจัดกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่สนามหลวง และ ปักหมุด เหมาะสม สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย หรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage