"...โรงเรียนจุมจังพลังราษฏร์ แท็บเล็ตของห้องสมุดดิจิตอล สูญหาย 18 เครื่อง เนื่องจากสูญหายระหว่างเตรียมนำส่งซ่อม โดยกรณีดังกล่าวโรงเรียนได้ดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง และได้ให้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดดิจิตอลชดใช้เงินค่าทรัพย์สินในราคาตามสภาพเครื่อง..."
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบโครงการห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมการศึกษาของ องค์การบริหารส่วน (อบจ.) กาฬสินธุ์ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 - 2562 ซึ่ง อบจ.กาฬสินธุ์ ได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนการศึกษาเพื่อดำเนินการจัดหาอุปกรณ์การศึกษาให้กับโรงเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้โดยนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาจัดการเรียนรู้ใน ห้องเรียนสร้างความเท่าเทียมและสร้างโอกาสด้านการศึกษาให้กับนักเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์
อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบสตง.พบว่า การดำเนินโครงการไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ขณะที่การบริหารจัดการโครงการปฏิบัติไม่เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
(อ่านประกอบ : ครุภัณฑ์บางรายการสูญหาย! สตง.สอบห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ฯ อบจ.กาฬสินธุ์ 6 ปี ส่อเหลว)
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา นำรายละเอียดผลการตรวจสอบเรื่องนี้ ของสตง. มานำเสนอ ณ ที่นี้
ที่มาโครงการ
อบจ.กาฬสินธุ์ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการถ่ายโอนโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาในสังกัดทั้งสิ้น 12 โรงเรียน มีหน้าที่จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายและมาตรฐานการศึกษาและยุทธศาสตร์การพัฒนาของ อบจ. กาฬสินธุ์ ด้านการพัฒนาองค์กร และพัฒนาการศึกษาท้องถิ่น ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาคือพัฒนา ส่งเสริม และ
สนับสนุนการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพในทุกระดับทั้งในและนอกระบบ ครอบคลุมทุกช่วงวัย และสนับสนุนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนดังนั้น อบจ. กาฬสินธุ์จึงได้จัดสรรงบประมาณอุดหนุนการศึกษาเพื่อดำเนินการจัดหาอุปกรณ์การศึกษาให้กับโรงเรียน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพทางวิชาการ
8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการเรียนรู้โดยนำเทคโนโลยีทางการศึกษามาจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนสร้างความเท่าเทียมและสร้างโอกาสด้านการศึกษาให้กับนักเรียนในสังกัด อบจ.กาฬสินธุ์
สตง. ตระหนักถึงความสำคัญในการจัดการศึกษาที่ได้รับงบประมาณในแต่ละปีจำนวนมาก จึงเลือกตรวจสอบผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมการศึกษาของ อบจ. กาฬสินธุ์ ปีงบประมาณ พ.ศ.2556 - 2562 เพื่อทราบผลการดำเนินงานการบริหารจัดการโครงการตลอดจนปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการดำเนินงานและข้อเสนอแนะในการเพิ่มผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินรวมทั้งให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีเพื่อให้การดำเนินงานโครงการ
เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป
ผลการตรวจสอบ มีข้อตรวจพบ ดังนี้
ข้อตรวจพบที่ 1 การดำเนินโครงการไม่บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
1. ห้องสมุดดิจิตอล เป็นที่เก็บรวบรวมสื่อการเรียนในรูปแบบดิจิตอลไม่ว่าจะเป็นหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ วีดีทัศน์ ภาพ หรือ เสียงที่บันทึกไว้เพื่อได้ศึกษาค้นคว้า ปลูกฝังและส่งเสริมการอ่านการเรียนรู้ด้วยตัวเอง สร้างความเท่าเทียมและสร้างโอกาสด้านการศึกษาให้กับนักเรียนในสังกัด อบจ.กาฬสินธุ์
จากการตรวจสอบ พบว่า
1.1 ซอฟแวร์ (Software) โปรแกรมระบบห้องสมุดดิจิตอล ไม่สามารถเปิดใช้งานได้จำนวน 13 โปรแกรม จากการตรวจสังเกตการณ์ในส่วนของโปรแกรมระบบห้องสมุดดิจิตอล ที่ให้ให้บริการจากเครื่อองคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) พบว่า โปรแกรมที่มีเนื้อหาที่เป็นสื่อ VDO ไม่สามารถเปิดได้
1.2 ครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ (Hardware) และครุภัณฑ์อื่นของห้องสมุดดิจิตอล ไม่ได้ใช้ประโยชน์และบางส่วนชำรุดไม่สามารถใช้งานได้
1.3 การใช้ประโยชน์ห้องสมุดดิจิตอล จากการตรวจสอบและการสัมภาษณ์นักเรียน จำนวน 378 ราย พบว่า นักเรียนเข้าใช้ห้องสมุดดิจิตอล จำนวน 317 ราย คิดเป็นร้อยละ 83.86 ใช้โปรแกรมระบบห้องสมุดดิจิตอล จำนวน 192 ราย คิดเป็นร้อยละ 50.79 วัตถุประสงค์ในการเข้าใช้ห้องสมุดอันดับหนึ่ง คือ ใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไป คิดเป็นร้อยละ 40.38 ลำดับถัดมาใช้โปรแกรมระบบ ห้องสมุดดิจิตอล คิดเป็นร้อยละ 31.54 และการใช้งานอื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 28.08 ตามลำดับ และจากการสัมภาษณ์ครูผู้สอนจำนวน 143 ราย ครูเข้าใช้ห้องสมุดดิจิตอล จำนวน 109 ราย คิดเป็นร้อยละ 76.22 มีการใช้งานโปรแกรมระบบห้องสมุดดิจิตอล จำนวน 61 ราย คิดเป็นร้อยละ 55.96 ในการเข้าใช้
งานห้องสมุดดิจิตอล พบว่า มีปัญหา คิดเป็นร้อยละ 25.23 อันดับหนึ่ง คือ อินเตอร์เน็ต ไม่สามารถใช้งานได้ คิดเป็นร้อยละ 16.14 อันดับถัดมาอุปกรณ์ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน คิดเป็นร้อยละ 5.82 และอุปกรณ์ชำรุด คิดเป็นร้อยละ 3.97 ตามลำดับ
2. ห้องพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทางด้านวิชาการด้วยระบบ ON DEMAND เป็นห้องเรียนที่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทันสมัย พัฒนาศักยภาพทางวิชาการที่เอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้และสามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพตามหลักสูตรและสร้างสรรค์ผลงาน โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษามาจัดการเรียนรู้ในห้องเรียน สร้างความเท่าเทียมและสร้างโอกาสด้านการศึกษาให้กับนักเรียนในสังกัด อบจ.กาฬสินธุ์
จากการตรวจสอบ พบว่า ห้องพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนด้านวิชาการด้วยระบบ ON DEMAND จำนวน 12 โรงเรียน จากการตรวจสอบ จำนวน 9 โรงเรียน คิดเป็นร้อยละ 75.00 ของห้องพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนด้านวิชาการด้วยระบบ ON DEMAND พบว่า มีเพียง 1 แห่ง คือโรงเรียนจุมจังพลังราษฎร์ ที่ใช้ประโยชน์ทั้งโปรแกรมระบบ ON DEMAND และเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนอีก 8 แห่ง ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนี้
2.1 โปรแกรมระบบ ON DEMAND ไม่สามารถใช้งานได้ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนลำปาววิทยาคม โรงเรียนหนองห้างพิทยา โรงเรียนคลองขามวิทยาคาร และโรงเรียนบัวขาว โดยได้ใช้เพียงเครื่องคอมพิวเตอร์และโปรแกรมอื่นที่มีอยู่ในเครื่อง และใช้สืบค้นอินเตอร์เน็ต
2.2 โปรแกรมระบบ ON DEMAND ใช้งานได้ 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนเนินยางประชาสามัคคี โรงเรียนดงมูลวิทยาคม โรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์ และโรงเรียนเมืองสมเด็จ แต่มีการใช้ประโยชน์จากโปรแกรมน้อย จากการสัมภาษณ์นักเรียน จำนวน 144 คน พบว่า เข้าใช้งานโปรแกรมเพียง ร้อยละ 23.61 นอกจากนี้ ยังพบว่าโปรแกรม ON DEMAND ของโรงเรียนเมืองสมเด็จ ไม่ครบถ้วนตามสัญญา
3. ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์- คณิตศาสตร์ (GIFTED) เป็นห้องเรียนพิเศษให้กับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ พัฒนาห้องเรียนให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมผู้เรียนให้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์เป็นพื้นฐาน เป็นสื่อการเรียนการสอนของครู เพิ่มคุณภาพการจัดการเรียนการสอน โดยโรงเรียนดงมูลวิทยาคมและโรงเรียนเนินยางประชาสามัคคี แยกห้องเป็น 2 ห้อง คือ ห้องคณิตศาสตร์และห้องวิทยาศาสตร์ สำหรับโรงเรียนบัวขาว แยกเป็น 2 ห้อง โดยเป็นห้องประจำชั้นของนักเรียน 1 ห้อง และเป็นห้องให้บริการสำหรับนักเรียนที่ขออนุญาตเข้าใช้ในเวลาว่างอีก 1 ห้อง
จากการตรวจสอบ พบว่า ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนี้
3.1 ไม่สามารถเข้าใช้งานระบบโปรแกรมหลักสูตรลดระยะเวลาเรียน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้ง 3 แห่ง เนื่องจากไม่มีUser Name และ Password เข้าใช้งาน
3.2 โรงเรียนดงมูลวิทยาคมและโรงเรียนเนินยางประชาสามัคคีไม่ได้ให้ User name และPassword ประจำตัวแก่นักเรียน เพื่อเข้าใช้งานโปรแกรมระบบ GIFTED
จากการสัมภาษณ์นักเรียนจำนวน 72 รายพบว่า ไม่ได้รับทั้ง User Name และ Password ประจำตัว คิดเป็นร้อยละ 87.50 ได้รับเฉพาะ User name ส่วนกลางของครู เพื่อเปิดเข้าใช้งานระบบ เพียงร้อยละ 12.50
3.3 โรงเรียนบัวขาวใช้สำหรับ นักเรียนกลุ่ม Gifted โดยไม่ได้ให้นักเรียนทั่วไปใช้โปรแกรมระบบการใช้ประโยชน์ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ - คณิตศาสตร์ GIFTED ของโรงเรียนดงมูลวิทยาคมและโรงเรียนเนินยางประชาสามัคคีจะมีเฉพาะครูผู้ควบคุมห้องเท่านั้นที่ได้ใช้ประโยชน์เนื่องจากครูที่มิได้ควบคุมห้องมีห้องประจำของตนเองจึงไม่ได้เข้าใช้ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ -คณิตศาสตร์ GIFTED ในการสอน ยกเว้นกรณีใช้สอนแทนหรือห้องว่าง โดยจะใช้เพียงห้องและอุปกรณ์ในการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้โปรแกรมระบบ
4. ศูนย์การศึกษาภาษานานาชาติ เป็นห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ด้านภาษานานาชาติที่ทันสมัย (ภาษาอาเซียน) โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นสื่อการเรียนการสอน พัฒนาห้องเรียนให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และเป็นการเตรียมความพร้อมของนักเรียนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2558
จากการตรวจสอบโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด กาฬสินธุ์จำนวน 7 โรงเรียน พบว่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์และใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ ดังนี้
4.1 โปรแกรมระบบภาษานานาชาติ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ เนื่องจากเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) ซึ่งเป็นเครื่องที่ให้บริการแก่เครื่องคอมพิวเตอร์ลูกข่ายในห้องเรียนและเป็นเครื่องที่ใช้สอนนั้น ชำรุดเสียหาย จนไม่สามารถเปิดระบบได้ จำนวน 5 แห่ง ทำให้ระบบห้องเรียนศูนย์การเรียนรู้ภาษานานาชาติ ไม่ได้ใช้ประโยชน์ คิดเป็นร้อยละ 71.43 ของโรงเรียนที่ตรวจสอบ
4.2 ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากเมื่อตรวจสอบเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) ที่ใช้งานโปรแกรมระบบการเรียนรู้ภาษานานาชาติแล้วไม่พบในเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) จำนวน 2 แห่ง โดยทางโรงเรียนใช้งานเพียงเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านอุปกรณ์ของห้องฯ แต่ไม่ได้ใช้โปรแกรมระบบ ซึ่งถือเป็นการใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ คิดเป็นร้อยละ 28.57
5. ศูนย์การเรียนรู้ประชาคมอาเซียน เป็นห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ด้านประชาคมอาเซียนที่ทันสมัย โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นสื่อการเรียนการสอนในรูปแบบต่างๆ ของประชาคมอาเซียนพัฒนาห้องเรียนให้มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และเป็นการเตรียมความพร้อมของนักเรียนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี พ.ศ. 2558 ของโรงเรียนสังกัด อบจ.กาฬสินธุ์จากการตรวจสอบ จำนวน 9 โรงเรียน พบว่า ได้ใช้ประโยชน์จำนวน 1 แห่ง คือ โรงเรียนหนองห้างพิทยา และไม่ได้ใช้ประโยชน์และ
ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ จำนวน 8 แห่ง ดังนี้
5.1 ศูนย์การเรียนรู้ประชาคมอาเซียนไม่ได้ใช้ประโยชน์ 4 แห่ง โดยห้องเรียนไม่ได้ใช้ในการเรียนการสอน แต่ใช้สำหรับกิจกรรมอื่นๆ ของโรงเรียน เช่น กิจกรรมชุมนุม 1 แห่ง คือ โรงเรียนบัวขาวห้องเรียนไม่ได้ใช้ประโยชน์เนื่องจากอุปกรณ์ชำรุด 3 แห่ง คือ โรงเรียนคลองขามวิทยาคารโรงเรียนขมิ้นพิทยาสรรพ์และโรงเรียนดงมูลวิทยาคม
5.2 ห้องศูนย์การเรียนรู้ประชาคมอาเซียนใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากมีอุปกรณ์บางส่วนชำรุดจำนวน 4 แห่งคือ โรงเรียนเนินยางประชาสามัคคีโรงเรียนลำปาววิทยาคม โรงเรียนเมืองสมเด็จ และโรงเรียนจุมจังพลังราษฎร์
6. ศูนย์พัฒนาศักยภาพผู้เรียนทางด้านวิชาการ (TUTOR) เป็นห้องเรียนพิเศษที่สามารถสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนส าหรับนักเรียนทุกวิชาทุกระดับชั้น สร้างระบบคลังความรู้มุ่งสู่อัจฉริยะในทุกกลุ่มสาระโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ และสร้างศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้ไปยังโรงเรียนเครือข่ายในสังกัด อบจ.กาฬสินธุ์
จากการตรวจสอบ พบว่า ใช้ประโยชน์ไม่เต็มประสิทธิภาพ กล่าวคือ มีการใช้งานในการเรียนการสอนและจัดติวให้กับนักเรียน แต่ยังไม่จัดทำเป็นศูนย์เพื่อถ่ายทอดสดไปยังโรงเรียนเครือข่ายในสังกัดตามวัตถุประสงค์
นอกจากนี้ พบว่า โปรแกรมระบบพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนด้านวิชาการ (TUTOR) มีรายการไม่ครบตามจำนวนเมนูที่ปรากฏบนหน้าจอ
โดยกรณีดังกล่าว อบจ. กาฬสินธุ์ชี้แจงว่า สาเหตุ เกิดจากข้อมูลเนื้อหาในเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server) ชำรุดเสียหายส่งผลให้นักเรียนเสียโอกาสในการเรียน ซึ่งอบจ.กาฬสินธุ์ได้ดำเนินการแจ้งบริษัทผู้รับจ้างให้มาดำเนินการแก้ไขแล้ว
จากการสัมภาษณ์นักเรียนจำนวน 36 ราย พบว่า ไม่ได้ใช้โปรแกรมระบบพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนด้านวิชาการ (TUTOR) คิดเป็น ร้อยละ 50 เนื่องจากครูไม่ได้ใช้เนื้อหาจากสื่อดังกล่าวในการสอน
ข้อตรวจพบที่ 2 การบริหารจัดการโครงการปฏิบัติไม่เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
1. การบริหารพัสดุมีความเสี่ยงด้านการควบคุมภายใน
จากการตรวจสอบการบริหารพัสดุ ที่ได้รับตามโครงการ โดยการสุ่มตรวจสอบห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ และนวัตกรรมการศึกษา จ านวน 38 ห้อง พบว่าการบริหารพัสดุของ อบจ.กาฬสินธุ์และโรงเรียนในสังกัดมีความเสี่ยงในด้านการควบคุมภายใน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ดังนี้
1.1 การจัดทำทะเบียนพัสดุ ครุภัณฑ์ ปศุสัตว์ และสัตว์พาหนะ (แบบ พด.2) ไม่ครบถ้วนอบจ.กาฬสินธุ์ ไม่ได้จัดทำทะเบียนพัสดุครุภัณฑ์ จำนวน 6 ห้อง ได้แก่ ห้องสมุดดิจิตอล จำนวน 1 ห้อง และห้องพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทางด้านวิชาการด้วยระบบ ON DEMAND จำนวน 5 ห้อง ซึ่งได้เบิกจ่ายพัสดุแล้วในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 แต่ได้จัดทำเพิ่มเติมในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ด้วยการส่งสำเนาทะเบียนพัสดุครุภัณฑ์เพื่อให้โรงเรียนนำเป็นข้อมูลเขียนเลขรหัส เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ภายหลังจากที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค ที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น) เข้าตรวจสอบ
นอกจากนี้ พบว่า การรายงานผลการตรวจสอบพัสดุประจำปีในแต่ละปี โรงเรียนได้ตรวจสอบสภาพทรัพย์สินตามทะเบียนพัสดุครุภัณฑ์ฯ แล้วส่งให้กับอบจ.กาฬสินธุ์ กรณีมีครุภัณฑ์ที่ได้รับตามโครงการชำรุดเสียหาย เสื่อมสภาพ หรือไม่สามารถใช้งานได้อบจ.กาฬสินธุ์ไม่ได้ดำเนินการใดๆ และกรณีที่โรงเรียนดำเนินการซ่อมแซมเองบางรายการ โรงเรียนไม่ได้แจ้งให้อบจ.กาฬสินธุ์ทราบ เนื่องจากมีคำสั่งมอบอำนาจให้โรงเรียนปฏิบัติหน้าที่แทนนายก อบจ.กาฬสินธุ์ จึงไม่ได้บันทึกข้อมูลการซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไข
พัสดุในทะเบียนครุภัณฑ์ฯ ทำให้ขาดข้อมูลที่จะนำใช้ประโยชน์ในการพิจารณาเพื่อดำเนินการซ่อมแซมบำรุงรักษาและปรับปรุงแก้ไขครุภัณฑ์ตามโครงการ
1.2 ไม่มีเลขรหัสพัสดุที่ตัวครุภัณฑ์และหรือมีรหัสแต่ไม่ครบถ้วน
1.2.1 ไม่มีเลขรหัสพัสดุที่ตัวครุภัณฑ์ จำนวน 7 ห้อง ได้แก่ ห้องสมุดดิจิตอล จำนวน 1 ห้อง ห้องพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทางด้านวิชาการด้วยระบบ ON DEMAND จำนวน 5 ห้อง และศูนย์การเรียนรู้ประชาคมอาเซียน จำนวน 1 ห้อง เนื่องจาก อบจ.กาฬสินธุ์ ไม่ได้ส่งสำเนาทะเบียนพัสดุครุภัณฑ์ให้กับโรงเรียน แต่เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 ได้จัดส่งให้โรงเรียนเพื่อดำเนินการแล้ว
1.2.2 เขียนเลขรหัสพัสดุที่ตัวครุภัณฑ์ไม่ครบถ้วน จำนวน 3 ห้อง ได้แก่ ห้องสมุด ดิจิตอล จำนวน 2 ห้อง และห้องพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนทางด้านวิชาการด้วยระบบ ON DEMAND จำนวน 1 ห้อง เช่น ห้องสมุดดิจิตอล มีเลขรหัสครุภัณฑ์ที่ตัวครุภัณฑ์เพียงเฉพาะตู้ชาร์จแท็บเล็ต แต่รายการอื่นไม่มีเลขรหัส หรือบางห้องมีเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าบางรายการเขียนเลขรหัสครุภัณฑ์ไม่ถูกต้อง
1.3 ครุภัณฑ์บางรายการไม่มีให้ตรวจสอบและสูญหาย
1.3.1 ครุภัณฑ์บางรายการของห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ไม่มีให้ตรวจสอบ จำนวน 5 ห้อง ได้แก่ ห้องสมุดดิจิตอล จำนวน 1 ห้อง ศูนย์การศึกษาภาษานานาชาติ จำนวน 3 ห้อง และศูนย์การเรียนรู้ประชาคมอาเซียน จำนวน 1 ห้อง เช่น เครื่องแท็บเล็ต เครื่องพิมพ์ (Printer) และเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (Server)
1.3.2 ครุภัณฑ์บางรายการสูญหาย จำนวน 3 ห้อง ได้แก่ ห้องสมุดดิจิตอลของโรงเรียน ลำปาววิทยาคม แท็บเล็ต สูญหาย จำนวน 1 เครื่อง เนื่องจากนักเรียนยืมใช้ แต่ได้ให้นักเรียนจัดซื้อมาทดแทนแล้ว โรงเรียนจุมจังพลังราษฏร์ แท็บเล็ตของห้องสมุดดิจิตอล สูญหาย 18 เครื่อง เนื่องจากสูญหายระหว่างเตรียมนำส่งซ่อม
โดยกรณีดังกล่าวโรงเรียนได้ดำเนินการแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริง และได้ให้เจ้าหน้าที่ห้องสมุดดิจิตอลชดใช้เงินค่าทรัพย์สินในราคาตามสภาพเครื่อง และโรงเรียนลำปาววิทยาคม เครื่องแท็บเล็ตของศูนย์การเรียนรู้ประชาคมอาเซียนสูญหาย 1 เครื่อง ซึ่งได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนหาข้อเท็จจริงแล้ว
จากข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบพบจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 112และ113 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หมวด 9การบริหารพัสดุ ข้อ 203
2. ไม่มีคู่มือการใช้งาน จำนวน 29 ห้อง เนื่องจาก อาจไม่ได้รับหรืออาจสูญหายจากการสับเปลี่ยนหมุนเวียนผู้ดูแลห้อง
3. อบจ.กาฬสินธุ์ ไม่ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการโครงการฯ ที่ชัดเจนให้กับโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์บางห้องมี ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ชำรุด ไม่
เพียงพอต่อการใช้งาน ขาดงบประมาณในการซ่อมแซม บำรุงรักษา เนื่องจากไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมการศึกษาโดยตรง โดยหากจะใช้งบประมาณของทางโรงเรียนที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอที่จะดำเนินการได้
4. การจัดทำโครงการไม่เป็นไปตามแนวทางการจัดทำโครงการที่ดีรายละเอียดของโครงการไม่ครบถ้วน กล่าวคือ อบจ.กาฬสินธุ์ไม่ได้จัดทำข้อเสนอโครงการห้องเรียน
อิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมการศึกษาในภาพรวม ของโรงเรียนในสังกัดทุกประเภทห้อง โดยโรงเรียนเป็นผู้จัดทำข้อเสนอโครงการแยกแต่ละแห่งตามความต้องการของโรงเรียน แล้วเสนอ อบจ.กาฬสินธุ์ เพื่อดำเนินการจัดสรรให้กับโรงเรียน
จากการตรวจสอบเอกสารข้อเสนอโครงการห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์และนวัตกรรมการศึกษาแต่ละประเภทห้องของโรงเรียน จำนวน 9 โรงเรียน พบว่าไม่มีเอกสารข้อเสนอโครงการให้ตรวจสอบ จำนวน 10 ห้อง เนื่องจากเอกสารถูกจัดเก็บไว้ในห้องเก็บเอกสารซึ่งมีจ านวนมากและเป็นเวลานานหลายปี
อย่างไรก็ดี ในรายงานสอบสวนเรื่องนี้ สตง. ไม่ได้ระบุวงเงินงบประมาณที่อบจ. กาฬสินธุ์ ใช้จ่ายไปกับโครงการนี้ ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาว่าเป็นจำนวนเท่าไร และเอกชนรายใด เป็นคู่สัญญาในการจัดซื้อเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้กันแน่?
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage