"...เท่ากับว่าหากมีการแก้ไข รธน.เพื่อตั้ง สรร.และยกร่างฉบับใหม่ เมื่อเดินตามกรอบเวลาของญัตติพรรคร่วมฝ่ายค้าน เราจะได้เห็น รธน.ฉบับใหม่อย่างช้าที่สุด มี.ค.2566 ส่วนญัตติของรัฐบาลเราจะได้เห็น รธน.ฉบับใหม่ ช่วง พ.ค.2566 หรือ ก.ค.2566..."
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) ยังเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญของการชุมนุมจากกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
ส่งผลให้ทุกสนามการเมืองเวลานี้ต้องหารือถึงวาระ รธน. ตั้งแต่วิธีการแก้ไข-รื้อร่างใหม่ทั้งฉบับ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงเนื้อหารายมาตราในบางประเด็น
โดยคาดว่าญัตติที่จะถูกพิจารณาเรื่องนี้ จะเข้าสู่สภาในวันที่ 23-24 ก.ย.ซึ่งเป็นกระบวนการเริ่มต้นหลังจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้าน ร่วมลงชื่อเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว
@รัฐบาล-ฝ่ายค้าน ยื่นญัตติตั้ง สสร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ
วาระแรกที่ถูกพูดถึงคือการยกร่างทั้งฉบับ ทั้งฝ่ายค้าน-รัฐบาล ยื่นหนังสือเป็นที่เรียบร้อย โดยมีวาระเดียวกันคือการแก้ไขมาตรา 256 ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แตกต่างกันที่ระยะเวลาการยกร่างทั้งฉบับ โดยมีเงื่อนไขเดียวกันไม่แตะหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์
5 พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค. และเป็นการยื่นญัตติโดยไร้แนวร่วมสำคัญอย่างพรรคก้าวไกล โดย ส.ส.ได้ตัดสินใจถอนตัวก่อนที่จะมีการยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรเพียง 5 นาที โดยให้เหตุผลว่ามีเนื้อหาบางประเด็นที่พรรคไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ตามพรรคก้าวไกลยังยืนยันที่จะยกมือสนับสนุนญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้านในวาระที่ 1 และขอแสดงตัวแปรญัตติสาระสำคัญในวาระที่ 2
โดยญัตติของฝ่ายค้านเสนอให้กระบวนการเลือก สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน พร้อมกำหนดกรอบการยกร่างใหม่ทั้งฉบับใน 120 วัน
ส่วนฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล ยื่นญัตติเมื่อวันที่ 1 ก.ย. มีสาระสำคัญคล้ายกับฝ่ายค้าน แต่กำหนดกรอบการทำงานให้ สสร.ยกร่างใหม่ทั้งฉบับใน 240 วัน
สำหรับที่มาของ สสร. 200 คน แบ่งเป็น 150 คนมาจากการเลือกตั้งรายจังหวัด และอีก 50 คนเป็นการคัดเลือกจากสมาชิกรัฐสภา ทั้งจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 20 คน จากนักวิชาการสายต่างๆ 20 คน และนักเรียน นิสิตนักศึกษา เลือกตัวแทน 10 คน
(พรรคร่วมรัฐบาลยื่นญัตติแก้ไข รธน.มาตรา 256 เมื่อวันที่ 1 ก.ย.)
@ก้าวไกลลุยปิดสวิตซ์ ส.ว.แต่ไปไม่ถึงฝัน
พรรคก้าวไกลที่ปฏิเสธการลงชื่อร่วมญัตติกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ตัดสินใจนำเสนอญัตติปิดสวิตซ์สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ผ่านการแก้ไขมาตรา 272 เพื่อยกเลิกสิทธิการเลือกนายกรัฐมนตรี
ส.ส. 99 รายชื่อจาก 13 พรรคการเมือง ร่วมลงชื่อในญัตติ แต่ไร้ชื่อนักการเมืองสังกัดเพื่อไทย-พลังประชารัฐ ขณะเดียวกันยังปรากฏชื่อ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 23 คน โดยในส่วนนี้มี ส.ส.ประชาธิปัตย์ อย่างน้อย 16 คน นำโดย ‘สาทิตย์ วงศ์หนองเตย’
‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ หัวหน้าพรรคก้าวไกล มั่นใจว่า ร่างแก้ไข รธน.ฉบับนี้จะได้รับการพิจารณาในสภา และเชื่อว่า ส.ว. จะไม่ขัดขวาง เพราะทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าการแก้ไขมาตรานี้จะเป็นทางออกให้กับประเทศ
ขณะที่ ‘สาทิตย์’ ยอมรับว่า แม้จะเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล แต่เห็นด้วยกับการแก้ไขประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. จึงตัดสินใจร่วมลงชื่อ เพื่อยกเลิกการสืบทอดอำนาจ และเชื่อว่าเป็นเอกสิทธิ์ส่วนตัวที่สามารถดำเนินการได้
แต่ผ่านไปเพียง 2 วัน ญัตตินี้ไปไม่ถึงห้องประชุมสภา หลังจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ทยอยถอนชื่อออกจากญัตติ โดยมีรายงานว่าถูกผู้ใหญ่ในพรรคต้นสังกัดกดดันอย่างหนัก
(พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่น 4 ญัตติแก้ไขรายมาตรา 256 เมื่อวันที่ 10 ก.ย.)
@6 พรรคฝ่ายค้านชงอีก 4 ญัตติแก้ไขรายมาตรา
10 ก.ย. ที่ผ่านมา 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านรวมพลังยื่นร่างแก้ไข รธน.เพิ่มอีก 4 ญัตติ โดยเน้นประเด็นสำคัญที่ต้องการแก้ไขรายมาตรา ดังนี้
1.แก้ไขมาตรา 159 และ มาตรา 272 ยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และเพิ่มเติมประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรี หากไม่สามารถเลือกจากบัญชีพรรคการเมืองได้ ให้เลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส.ได้ เพื่อปิดทางการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอก
2.แก้ไขมาตรา 270, 271 เกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว.ในเรื่องการปฏิรูปประเทศ และอำนาจยับยั้งกฎหมาย
3.แก้ไขมาตรา 279 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล ที่ทำให้ประกาศคำสั่งและการกระทำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่เหนือกว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน และ
4.แก้ไขระบบเลือกตั้งด้วยการยกเลิก มาตรา 83, 85, 88, 90, 92 , 94 และ 105 โดยแก้ไขระบบเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามแนวทางของรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้บัตร 2 ใบ เลือกคนและเลือกพรรค เพื่อให้เป็นไปตามเจตนาของประชาชนในการออกเสียงเลือกตั้งอย่างแท้จริง รวมทั้งตัดปัญหาบัตรเกิน บัตรเขย่ง ออกไปด้วย
ต่อประเด็นนี้ ‘ไพบูลย์ นิติตะวัน’ ส.ส.พลังประชารัฐ เตรียมยื่นหนังสือคัดค้านการยื่น 4 ญัตติของพรรคร่วมฝ่ายค้าน โดยเห็นว่ามีการลงชื่อซ้ำกับญัตติเดิมที่ยื่นไปเมื่อวันที่ 17 ส.ค.
@กางปฏิทินได้ รธน.ฉบับใหม่ปี 2566
ทำให้เวลานี้ ร่างแก้ไข รธน.ที่มีความชัดเจนว่าจะเข้าสู่การพิจารณาในสภา วันที่ 23-24 ก.ย. คือ ร่างแก้ไขมาตรา 256 เพื่อตั้ง สสร.
สำหรับกรอบเวลาที่น่าจะเกิดขึ้นหากต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ‘วิษณุ เครืองาม’ คาดการณ์ว่า จะได้ รธน.ฉบับใหม่ ในช่วงปี 2566 โดยระหว่างนี้ต้องเริ่มต้นจากการผ่านกฎหมายสำคัญอีกฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ..... ที่เพิ่งผ่านมติคณะรัฐมนตรี โดยคาดว่าจะเข้าสู่สภา 1 พ.ย.2563 และคาดว่าจะผ่านสภาทั้งกระบวนการในช่วง ธ.ค.2563 จากนั้นรอนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายซึ่งอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วัน หรือช่วง มี.ค.2564
สำหรับร่างแก้ไขเพิ่มเติม รธน. มาตรา 256 ต้องทำประชามติไม่น้อยกว่า 90 วันแต่ไม่เกิน 120 วัน หรือช่วง ก.ค.2564 จากนั้นต้องเผื่อเวลาไว้รอการคัดค้านและประกาศรับรองผล 4 เดือน หรือ พ.ย.2564 ทั้งนี้หากมีผู้ไปร้องศาล รธน.จะใช้เวลาวินิจฉัยอีก 1 เดือนหรือ ธ.ค.2564 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งอยู่ในพระราชอำนาจ 90 วันหรือ มี.ค.2565 ซึ่งจะส่งผลให้เข้าสู่กระบวนการตั้ง สสร. 200 คนที่จะเริ่มร่าง รธน.ฉบับใหม่ภายใน 60 วัน หรือ พ.ค.2565
โดยระยะเวลานี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านกำหนดให้ร่างเสร็จภายใน 120 วัน หรือ ก.ย.2565 และทำประชามติ 2 เดือนหรือ พ.ย.2565 โดยเผื่อเวลาให้ศาล รธน.วินิจฉัยอีก 1 เดือนหรือ ธ.ค.2565 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอโปรดเกล้าฯ 3 เดือน หรือ มี.ค.2566 จึงจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ส่วนกรอบเวลาของพรรคร่วมรัฐบาลกำหนดให้ สสร.ร่างเสร็จภายใน 240 วัน หรือ ม.ค.2566 ทั้งนี้มาเงื่อนไขว่า หากรัฐสภามีมติเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งไม่ต้องทำประชามติ และให้ศาล รธน.วินิจฉัย 1 เดือน หรือ ก.พ.2566 ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ และรอโปรดเกล้าฯ 3 เดือน หรือ พ.ค.2566 จึงจะได้ รธน.ฉบับใหม่ แต่ถ้าหากต้องผ่านกระบวนการประชามติ กรณีสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ต้องกินเวลาเพิ่มเติม อีก 2 เดือน หรือ ก.ค.2566 จึงจะได้ รธน.ฉบับใหม่
เท่ากับว่าหากมีการแก้ไข รธน.เพื่อตั้ง สรร.และยกร่างฉบับใหม่ เมื่อเดินตามกรอบเวลาของญัตติพรรคร่วมฝ่ายค้าน เราจะได้เห็น รธน.ฉบับใหม่อย่างช้าที่สุด มี.ค.2566 ส่วนญัตติของรัฐบาลเราจะได้เห็น รธน.ฉบับใหม่ ช่วง พ.ค.2566 หรือ ก.ค.2566
ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหว บนเส้นทางประชาธิปไตยที่หลากหลาย หนทางการแก้ รธน. จะเป็นอย่างไร ไม่มีใครกล้ายืนยัน สสร. จะมาตามนัดหรือไม่ ประเด็นไหนจะต้องหยุด ประเด็นไหนต้องเดินหน้าต่อจะเริ่มปรากฏชัด สิ้นเดือน ก.ย.
และเมื่อกระบวนการทุกอย่างเริ่มต้นนับหนึ่ง อาจมีเสียงถามหาสถานะของรัฐบาลปัจจุบัน หากคำนวณกรอบเวลาการแก้ไข รธน.ที่ได้อย่างช้าที่สุดคือ ก.ค.2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับวาระการบริหารประเทศของรัฐบาลเช่นกัน
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage