“...ในส่วนกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ขณะนี้มีข้อมูลจากอีเมล์พบว่า มีเส้นทางการเงินเข้ามาจริง มีการพักเงินที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ จึงนำเข้ามาไต่สวนในสำนวน อย่างไรก็ดีขณะนี้อยู่ระหว่างรอการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการ โดย ป.ป.ช. ดำเนินการสืบหาเส้นทางการเงินดังกล่าวกับบัญชีอีเมล์ปลายทาง…”
....................................................
กำลังเป็นประเด็นดรามาที่สังคมกำลังจับตาอย่างหนัก!
กรณีฝ่ายค้านแฉเอกสารร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ระบุค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซดิเดเต็ด ลิมิเต็ด เอกชนสัญชาติออสเตรเลีย วงเงิน 111,115,700 บาท
บริษัท คิงส์เกตฯ คือบริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เจ้าของสัมปทานเหมืองแร่ทองคำ ที่ถูก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 สั่งปิดเหมืองทองคำดังกล่าว
ประเด็นที่หลายฝ่ายโฟกัสคือ กรณีดังกล่าวถูกบริษัท คิงส์เกตฯ นำไปยื่นฟ้องรัฐบาลไทยต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ โดยเรียกค่าเสียหายจากการที่ทำให้เหมืองทองในไทยถูกปิดตั้งแต่ปี 2560 โดยถ้ารัฐบาลไทยแพ้ อาจต้องจ่ายเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท โดยฝ่ายรัฐบาลไทยตั้งทีมทนายไปต่อสู้ในชั้นอนุญาโตตุลาการ รวมถึงการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2563 ที่ผ่านมา มีรายงานว่านายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าในขั้นตอนนี้ว่า ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการไต่สวนของคณะอนุญาโตตุลาการ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมยังคาดหวังจะใช้แนวทางเจรจาหาข้อยุติก่อนคณะอนุญาโตตุลาการ จะมีคำตัดสินออกมาก
ขณะที่ฝ่ายค้าน และมวลชนบางฝ่าย ต่างขุดคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ สมัยเป็นหัวหน้า คสช. ที่เคยหล่นไว้หลังใช้มาตรา 44 กับกรณีดังกล่าวว่า “ผมรับผิดชอบเอง” มาแชร์กันสนั่นโลกออนไลน์?
เบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ระหว่างปี 2562-2564 จากสำนักงบประมาณ พบว่า
ปี 2564 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซดิเดเต็ด ลิมิเต็ด เอกชนสัญชาติออสเตรเลีย วงเงิน 111,115,700 บาท
ปี 2563 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซดิเดเต็ด ลิมิเต็ด วงเงิน 217,788,100 บาท
ปี 2562 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างไทยกับบริษัท คิงส์เกต คอนโซดิเดเต็ด ลิมิเต็ด วงเงิน 60,000,000 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
รวมวงเงิน 3 ปี อย่างน้อย 388,903,800 บาท
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2561-2560 ไม่เจอรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นนี้แต่อย่างใด?
สำหรับข้อเท็จจริงเรื่องการตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการระงับข้อพิพาทดังกล่าว เป็นรายละเอียดเรื่องค่าใช้จ่ายด้านใด คงต้องรอให้กระทรวงอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องชี้แจงอีกครั้ง
แต่ยังมีบางประเด็นที่แทบไม่ถูกพูดถึงในสื่อกระแสหลัก?
นั่นคือกรณีการรับให้สินบนในการทำสัมปทานเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว ที่อยู่ระหว่างการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมี ‘นักการเมืองระดับชาติ’ และ ‘บิ๊กข้าราชการ’ ในกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย
สำนักข่าวอิศรา สรุปให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ช่วงปี 2558 ก่อนหน้าที่ คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งระงับกิจการเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ นั้น มีกลุ่มคัดค้านเหมืองแร่ 5 จังหวัด รวมตัวกันประมาณ 30 คน เข้ายื่นหนังสือถึงนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เพื่อขอให้ร่วมตรวจสอบผลการดำเนินการของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีเหมืองแร่ทองคำ จ.พิจิตร เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนร้ายแรงต่อประชาชนจำนวนมากในพื้นที่พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ที่อยู่รอบเหมืองแร่ทองคำนั้น
ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. เผยแพร่เอกสารข่าวเมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2558 ระบุว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของคดีดังกล่าวที่กระทบถึงชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับได้มีพยานหลักฐานเบื้องต้นจากคณะกรรมการหลักทรัพย์และการลงทุนของประเทศออสเตรเลีย (ASIC) ที่ส่งมาให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ประเทศไทย พบบริษัทซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทย ถูกร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในการขุดเหมืองแร่ทองคำ ในประเทศไทย
โดยมีการโอนเงินจากประเทศออสเตรเลียมายังประเทศไทย ที่อาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ในการขอใบอนุญาตขุดเหมืองแร่ทองคำ หรือเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจเหมืองแร่ทองคำ และให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในประเทศไทย ทางสำนักงาน ก.ล.ต. จึงส่งข้อมูลดังกล่าวมายังสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ป.ป.ช. ต่อไป
ต่อมา คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีทุจริตในการทำเหมืองแร่ทองคำบริเวณพื้นที่จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ประกอบด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เป็นประธานฯ และมีอนุกรรมการ ได้แก่ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งด้านกฎหมายและการต่างประเทศ เพื่อดำเนินการไต่สวนโดยเร่งด่วนต่อไป (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเหมืองทอง พบเอกชน ตปท.ติดสินบน จนท.รัฐ)
ต่อมาปี 2559 คสช. ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัคราฯ ดังกล่าว จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่จนถึงปัจจุบัน
มีรายงานว่า นักการเมืองระดับชาติที่ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ ได้แก่ นายประเสริฐ บุญชัยสุข รมว.อุตสาหกรรม และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย โดยทั้ง 2 รายเป็นรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (อ่านประกอบ : ‘จารุพงศ์-ประเสริฐ’ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเรียกรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่)
ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2563 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กับพวกรวม 6 ราย กรณีอนุญาตให้บริษัท อัคราฯ เปลี่ยนผังโครงการเหมืองแร่ทองคำชาตรีโดยมิชอบ เอื้อประโยชน์ให้เอกชน (อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ฟัน‘อดีตบิ๊ก ก.อุตฯ-พวก’ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทองมิชอบ-เอื้อเอกชน)
ความคืบหน้าล่าสุดกรณีนี้ เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2563 น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า คดีดังกล่าวมีความซับซ้อนและแยบยล เป็นคดีระหว่างประเทศ ดังนั้นจึงมีการแยกประเด็นไต่สวนออกเป็น 2 กรณีคือ กรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ และกรณีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ
น.ส.สุภา กล่าวว่า ในส่วนกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ขณะนี้มีข้อมูลจากอีเมล์พบว่า มีเส้นทางการเงินเข้ามาจริง มีการพักเงินที่ฮ่องกง และสิงคโปร์ จึงนำเข้ามาไต่สวนในสำนวน อย่างไรก็ดีขณะนี้อยู่ระหว่างรอการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการ โดย ป.ป.ช. ดำเนินการสืบหาเส้นทางการเงินดังกล่าวกับบัญชีอีเมล์ปลายทาง อย่างไรก็ดีเหมือนปลายทางจะรับปากบ้าง ไม่รับปากบ้าง เหลือแค่ฝ่าย ป.ป.ช. เดินทางไปต่างประเทศเพื่อขอข้อมูลดังกล่าวเท่านั้น จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้ให้ความร่วมมือ โดยขณะนี้ ป.ป.ช. กำลังพยายามเต็มที่เพื่อดำเนินคดีกับบุคคลที่มีชื่อปรากฏในอีเมล์ฉบับนี้ แต่ต้องมีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการจากต่างประเทศก่อน (อ่านประกอบ : ข้อมูลใหม่! ป.ป.ช.พบ‘อีเมล์’เผยเส้นทางเงินคดีเหมืองทองอัคราฯพักที่‘ฮ่องกง-สิงคโปร์’)
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลพบว่า พล.ท.จารุมาศ เรืองสุวรรณ (เครือญาตินายจารุพงศ์) อดีตที่ปรึกษาพิเศษพรรคเพื่อไทย เคยเป็นกรรมการบริษัทในเครืออัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) อย่างน้อย 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท ฟ้าร้อง จำกัด บริษัท ฟ้าแลบ จำกัด บริษัท อิสระ ไมนิ่ง จำกัด บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด และ บริษัท ฟ้าใหม่ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด
บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2540 ทุนปัจจุบัน 10 ล้านบาท ที่อยู่เดิมตั้งอยู่ที่ 92/54-55 อาคารสาธรธานี 2 ชั้น 19 ถ.สาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. (ปี 2562 แจ้งเปลี่ยนเป็น เลขที่ 99 ม.9 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจตร) ประกอบธุรกิจการซื้อและการขายอสังหาริมทรัพย์ ถือครองที่ดินเพื่อการลงทุนและให้เช่า
รายชื่อกรรมการล่าสุดเมื่อปี 2562 ปรากฏชื่อ นายรอส โดนัลด์ สมิธ-เคิร์ก นายปีเตอร์ วิลเลี่ยม วอร์เรน นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยล์ นายสิโรจ ประเสริฐผล และนายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ เป็นกรรมการ
แจ้งงบการเงินล่าสุดเมื่อปี 2562 มีรายได้รวม 97,782,622 บาท รายจ่ายรวม 3,522,094 บาท ดอกเบี้ยจ่าย 102,566,345 บาท ขาดทุนสุทธิ 8,305,817 บาท
ส่วน 5 บริษัทที่เคยปรากฏชื่อ พล.ท.จารุมาศ เรืองสุวรรณ เป็นกรรมการ ปัจจุบันยังดำเนินกิจการอยู่ทุกแห่ง ได้แก่
1.บริษัท ฟ้าร้อง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2550 ทุนปัจจุบัน 50 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เดียวกับ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจสำรวจแร่ธาตุ รายชื่อกรรมการปี 2562 นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์ นายสิโรจ ประเสริฐผล นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ และนายเจมี่ ลี กิ๊บสัน เป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินล่าสุดปี 2561 ไม่มีรายได้ มีรายจ่ายรวม 105,100 บาท ขาดทุนสุทธิ 105,100 บาท
2.บริษัท ฟ้าแลบ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 25320 ทุนปัจจุบัน 50 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เดียวกับ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจสำรวจแร่ธาตุ รายชื่อกรรมการปี 2562 นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์ นายสิโรจ ประเสริฐผล นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ และนายเจมี่ ลี กิ๊บสัน เป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินล่าสุดปี 2561 ไม่มีรายได้ มีรายจ่ายรวม 105,100 บาท ขาดทุนสุทธิ 105,100 บาท
3.บริษัท อิสระ ไมนิ่ง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2530 ทุนปัจจุบัน 50 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เดียวกับ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจสำรวจแร่ธาตุ รายชื่อกรรมการปี 2562 นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์ นายสิโรจ ประเสริฐผล นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ และนายเจมี่ ลี กิ๊บสัน เป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินล่าสุดปี 2561 มีรายได้รวม 795 บาท รายจ่ายรวม 1,014,023 บาท ขาดทุนสุทธิ 1,013,227 บาท
4.บริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2540 ทุนปัจจุบัน 50 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่เดียวกับ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจสำรวจแร่ธาตุ รายชื่อกรรมการปี 2562 นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์ นายสิโรจ ประเสริฐผล นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ และนายเจมี่ ลี กิ๊บสัน เป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินล่าสุดปี 2561 มีรายได้รวม 11 บาท รายจ่ายรวม 105,200 บาท ขาดทุนสุทธิ 105,188 บาท
5.บริษัท ฟ้าใหม่ เอ็กซพลอเรชั่น จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2550 ทุนปัจจุบัน 2,114,840 บาท ตั้งอยู่ที่เดียวกับ บริษัท สวนสักพัฒนา จำกัด แจ้งประกอบธุรกิจสำรวจแร่ธาตุ รายชื่อกรรมการปี 2562 นายรอส อเล็กซานเดอร์ คอยส์ นายสิโรจ ประเสริฐผล นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ และนายเจมี่ ลี กิ๊บสัน เป็นกรรมการ แจ้งงบการเงินล่าสุดปี 2561 ไม่มีรายได้ มีรายจ่ายรวม 3,003,001 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,003,001 บาท
สำหรับ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม อัครา ไมนิ่ง จำกัด) เป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนจัดตั้งภายใต้กฎหมายแห่งราชอาณาจักรไทยในปี 2536 เป็นเจ้าของและผู้ประกอบการโครงการเหมืองแร่ชาตรีคอมเพล็กซ์ในประเทศไทย บริษัทฯ เป็นบริษัทลูกของบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออสเตรเลีย ("ASX") โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2556 บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ถือหุ้นร้อยละ 48.2% ในบริษัทฯ (อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์บริษัท อัคราฯ : http://www.akararesources.com/th/about/company-highlights)
ทั้งหมดคือเบื้องลึกฉากหลังคดีสินบนเหมืองแร่ทองคำ ที่เป็นชนวนเหตุสำคัญให้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้มาตรา 44 ดำเนินการปิดเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว
ท้ายที่สุดจะเอาผิดนักการเมือง-เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องได้ทั้งหมดหรือไม่ คงต้องรอติดตามกันต่อไป?
หมายเหตุ : ภาพประกอบ พล.อ.ประยุทธ์ จาก https://siamrath.co.th/, ภาพเหมืองแร่ จาก https://thaipublica.org/
อ่านประกอบ :
ข้อมูลใหม่! ป.ป.ช.พบ‘อีเมล์’เผยเส้นทางเงินคดีเหมืองทองอัคราฯพักที่‘ฮ่องกง-สิงคโปร์’
ป.ป.ช.ฟัน‘อดีตบิ๊ก ก.อุตฯ-พวก’ไฟเขียว บ.อัคราฯ เปลี่ยนผังเหมืองทองมิชอบ-เอื้อเอกชน
ย้อนมหากาพย์กล่าวหา‘คิงส์เกตฯ’จ่ายสินบน รมต.เอื้อทำเหมือง-ป.ป.ช.สอบ 3 ปียังไม่เสร็จ?
โชว์ข้อหาทางการ‘ประเสริฐ’คดีเอื้อเอกชนเหมือง-ป.ป.ช.ไต่สวน‘จารุพงศ์’ กก.บ.กลุ่ม‘อัครา’
‘จารุพงศ์-ประเสริฐ’ถูก ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเรียกรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่
เปิดตัว‘สวนสักพัฒนา’เครือ‘อัคราฯ’ ในสำนวน ป.ป.ช.คดีรับเงินเอื้อ บ.เหมืองแร่
ป.ป.ช.ตั้งอนุฯสอบปมเหมืองทอง พบเอกชน ตปท.ติดสินบน จนท.รัฐ
“จารุมาศ เรืองสุวรรณ”ที่ปรึกษา พท.เป็น กก.บริษัทสำรวจทองคำ 5 แห่ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/