“...ทั้งนี้หากผลการทดสอบในมนุษย์ทั้งระยะที่ 1 และ 2 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนต่อให้บริษัท BioNet-Asia เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีน Chula-CoV19 ใช้ได้เองทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป...”
--------------------------------------------------------------------
เป็นเวลากว่า 90 วันที่ไทยไม่พบผู้ติดเชื้อโควิดภายในประเทศไทย
ขณะที่ทั่วโลกสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ ทุกๆ 4-5 วันจะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน โดยข้อมูล ณ วันที่ 23 ส.ค.มีผู้ยอดรวมอยู่ที่ 23.37 ล้านคน
และทุกประเทศทั่วโลกทำได้เพียง ‘ประคับประคอง' สถานการณ์จนกว่าจะมีการคิดค้น ‘วัคซีน’ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันจากเชื้อโควิดได้สำเร็จ
โดยในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์การพัฒนาและทดสอบวัคซีนทั่วโลก
ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 19 ส.ค. พบว่า มีมากกว่า 135 การทดลอง ที่อยู่ในขั้นก่อนทดสอบกับมนุษย์ จากนั้นจะเข้าสู่การทดสอบอีก 3 ระยะ และขยับไปอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติ ดังนี้
ระยะที่ 1 เน้นด้านความปลอดภัย มี 20 การทดลอง
ระยะที่ 2 เน้นด้านการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน มี 13 การทดลอง
ระยะที่ 3 เน้นด้านการป้องกันโรค มี 8 การทดลอง
และอยู่ในขั้นตอนการอนุมัติ 2 การทดลอง
โดยกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าไปมากและเข้าสู่ระยะที่ 3 แล้ว ประกอบด้วย อังกฤษ รัสเซีย จีน สหรัฐอเมริกา และจีน
ขณะที่ไทย โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่ในชั้นเตรียมการทดสอบกับมนุษย์
สำหรับการเข้าถึงวัคซีนของไทย ขระนี้ ศบค.วางแนวทางดำเนินการ 3 แผนงาน ดังนี้
แผนงานที่ 1 เตรียมการผลิต โดยรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผู้ผลิตต่างประเทศ โดยคาดว่าจะได้วัคซีนจำนวนหนึ่งช่วง มี.ค.2564 และมีวัคซีนมากเพียงพอสำหรับประชากรจำนวนมาก มิ.ย.2564
โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างสรุปผลเรื่องเงื่อนไขต่างๆ ระหว่างบริษัทของไทยและบริษัทต่างประเทศช่วงเดือน ส.ค.2563 เตรียมเทคโนโลยีและโรงงานผลิตเดือน ต.ค.2563
แผนงานที่ 2 การสั่งซื้อ สั่งจองวัคซีนจากผู้ผลิตจากทุกแหล่งที่เป็นไปได้ หากการดำเนินการประสบความสำเร็จ คาดว่าจะได้รับวัคซีนช่วง ก.ค.-ธ.ค.2564
โดยระหว่างนี้จะแสดงความจำนง เข้าร่วมกลไกลงทุนจองซื้อวัคซีนในระดับพหุภาคี เช่น โครงการระดมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อวัคซีนรักษาโรคโควิด-19 COVAX ของกองทุนขององค์กร GAVI และ องค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งมีประเทศที่แสดงความจำนงเข้าร่วมแล้วมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก เพื่อสนับสนุนงบประมาณให้กับ 7-9 บริษัทที่พัฒนาวัคซีนได้ก้าวหน้าเร็วที่สุด
รวมถึงการเจรจาในระดับทวิภาค กับ จีน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย หรือประเทศอื่นๆ ที่มีความก้าวหน้าในการทดลองวัคซีนต่อไป
โดยกระบวนการทั้งหมดจะเริ่มทำทันทีใน ส.ค.2563 และเตรียมงบประมาณเพื่อเข้าร่วมโครงการต่างๆ ก.ย.2563
แผนงานที่ 3 การสนับสนุนการวิจัยในประเทศและร่วมมือกับต่างประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้เองในช่วง ม.ค.2565
โดยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเร็วที่สุดคือ เทคโนโลยี mRNA ที่พัฒนาโดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณการวิจัย 400 ล้านบาท
ซึ่งคาดการณ์ว่า ไทยจะได้วัคซีนสำหรับเริ่มทดสอบกับมนุษย์ 10,000 โดสแรก ในช่วง พ.ย.2563 – ม.ค.2564 และคาดว่าจะได้ผลการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1/2 ช่วงเดอน ก.ย.2564 จากนั้นจะประเมินเปรียบเทียบวัคซี mRNA ที่ผ่านระยะที่ 3 ขอขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน (Emergency Use Authorization : EUA) ในช่วงเดือน ก.ย.2564
ส่วนความคืบหน้าการดำเนินการด้านวัคซีนของไทย โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ชื่อว่า ‘Chula-Cov19’ ผ่านศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกาที่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเตรียมการทดลองวัคซีนขั้นต่อไปในมนุษย์ ซึ่งรายงานข้อมูลอยู่ในเว็บไซต์ ศูนย์ข่าว CHULA COVID-19
ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะวิจัยทำการทดลองฉีดวัคซีนในหนู กระทั่งตรวจวัดระดับแอนติบอดีในเลือดและพบว่า สามารถยับยั้งเชื้อในหลอดทดลองได้เมื่อมีการเจือจางไปแล้ว 40,000 เท่า ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก
ต่อมาได้ทำการทดสอบในลิง โดยเริ่มฉีดเข็มแรกเมื่อ 23 พ.ค.2563 และฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สอง เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.2563 พบว่า หลังจากลิงได้รับวัคซีนเข็มที่สอง วัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในลิงได้ในระดับสูงมาก โดยมีระดับแอนติบอดียับยั้งเชื้อได้เมื่อเจือจางไปมากถึง 5,000 เท่า และจะทำการเจาะเลือดเพื่อติดตามระดับภูมิคุ้มกันทุก 15 วันต่อไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา โดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการ บริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยขั้นตอนเตีรยมการทดสอบวัคซีนในมนุษย์ จะมีทั้งหมด 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 ศึกษาความปลอดภัยและปริมาณที่เหมาะสม (Dose) ของวัคซีน โดยจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 2563 โดยจะทำทดสอบวัคซีนในอาสาสมัครที่มีสุขภาพแข็งแรง อายุ 18-60 ปี จำนวน 45 คน ก่อนท่ะจขยายผลการทดลองไปถึงคนที่มีอายุ 61-80 ปีอีก 45 คน
ระยะที่ 2 ศึกษาประสิทธิภาพและภาวะแทรกซ้อน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการ ภายในต้นปี 2564 เริ่มทดสอบวัคซีนในอาสาสมัครกว่า 1,000 คน
ระยะที่ 3 ศึกษาประสิทธิภาพและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ ขั้นตอนนี้ต้องใช้อาสาสมัครเป็นจำนวนมากในการทดสอบ ใช้ระยะเวลานานหลายปีในการศึกษา และเนื่องจากขณะนี้ในประเทศไทยไม่มีการระบาดของโรค จึงอาจต้องทำการศึกษาระยะนี้ในประเทศที่ยังมีการระบาดของโรคอยู่
“ทั้งนี้หากผลการทดสอบในมนุษย์ทั้งระยะที่ 1 และ 2 ได้ผลเป็นที่น่าพอใจจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนต่อให้บริษัท BioNet-Asia เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตวัคซีน Chula-CoV19 ใช้ได้เองทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป”
ทั้งหมดเป็นความคืบหน้าสถานการณ์วัคซีนในประเทศไทย หากทั้งหมดมีความคืบหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ คาดว่าไทยจะเริ่มมีวัคซีนเข็มแรกในช่วงเดือน มี.ค.2564 เป็นต้นไป
(ภาพจาก : freepik)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage