"...เนื่องจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ไม่สามารถทราบความหมายที่ชัดเจนว่า อุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณภาพที่มีอยู่เดิมนั้น ใช้โปรแกรมอะไร และไม่รู้ว่าผู้ประกอบการรายเดิมได้ส่งมอบรหัสให้กับ อบจ.สงขลา หรือยัง และหากโปรแกรมถอดรหัสเป็นลิขสิทธิ์ของผู้รับจ้างรายเดิมแต่เพียงผู้เดียวไม่มีจำหน่ายตามท้องตลอด จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ..."
......................................
การจัดซื้อจัดจ้างโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ (CCTV) ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะใน อ.สะบ้าย้อย วงงบประมาณ 10 ล้านบาท กำลังถูกจับตามอง
เมื่อเร็วๆ นี้ สื่อท้องถิ่น 'สงขลาทูเดย์' https://www.songkhlatoday.com/ ได้นำเสนอข่าวว่า ในการประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา (อบจ.สงขลา) ต.พะวง อ.เมือง จ.สงขลา เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา มีการอภิปรายนอกวาระการประชุม ตั้งข้อสงสัยในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดพร้อมอุปกรณ์ (CCTV) ในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา โดยเฉพาะในอ.สะบ้าย้อย งบประมาณ 10 ล้านบาท ด้วยการคัดเลือกผู้ประกอบการ
โดยนายวิชัย กุหลาบวรรณ ส.อบจ.เขต 1 อ.เมืองสงขลา ได้อภิปรายพร้อมโชว์หนังสือร้องเรียนจากผู้ประกอบการอย่างน้อย 2 ราย ที่ส่งมายังประธานสภาอบจ.สงขลา เพื่อเรียกร้องให้สภาฯ อบจ.สงขลาทบทวนการกำหนด ทีโออาร์ และรายละเอียดโครงการ เนื่องจากมองว่าไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่ไม่สามารถเข้ามาเสนอราคาได้ ซึ่งขัดกับพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ส่อว่าจะมีการล็อกสเปก เกิดขึ้น
เช่น การกำหนดชุุดโปรแกรมจัดการระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด ที่มีลิขลิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย จำนวน 30 ลิขสิทธิ์ และสามารถเชื่อมต่อกับกล้องเครื่องบันทึกภาพและควบคุมกล้อง พร้อมทั้งควบคุมอุปกรณ์การถอดรหัสสัญญาณภาพที่มีอยู่เดิมได้เป็นอย่างดี และการกำหนดอุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณภาพ จะต้องสามารถใช้ร่วมกับกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเครื่องบันทึกภาพ และซอฟแวร์บริหารจัดการได้เป็นอย่างดี
ซึ่งทั้ง 2 ข้อที่ระบุมา เป็นการแสดงให้เห็นว่ามีเจตนาไม่โปร่งใส และเอื้อต่อบริษัทที่ถูกคัดเลือกเอาไว้แล้ว
เนื่องจากผู้ประกอบการรายอื่นๆ ไม่สามารถทราบความหมายที่ชัดเจนว่า อุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณภาพที่มีอยู่เดิมนั้น ใช้โปรแกรมอะไร และไม่รู้ว่าผู้ประกอบการรายเดิมได้ส่งมอบรหัสให้กับ อบจ.สงขลา หรือยัง และหากโปรแกรมถอดรหัสเป็นลิขสิทธิ์ของผู้รับจ้างรายเดิมแต่เพียงผู้เดียวไม่มีจำหน่ายตามท้องตลอด จะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ
จึงเสนอให้ อบจ.สงขลา ปรับปรุงทีโออาร์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมโปร่งใส
ทั้งนี้ มีรายงานข่าว ในระหว่างการอภิปรายดังกล่าว นายมิตร แก้วประดิษฐ์ฺ ส.อบจ.สงขลา เขต อ.ควนเนียง ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ในฐานะที่เป็นกรรมการข้าราชการจังหวัดสงขลา ซึ่งทำหน้าที่พิจารณาความผิดด้านวินัยและอาญาของข้าราชการ พบว่า มีเรื่องทุจริตมากเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะกรณีกล้อง CCTV
เมื่อมีหนังสือร้องเรียนมายังสภาฯ ในฐานะ ส.อบจ.ก็ต้องตรวจสอบและสอบถามผู้บริหาร เพื่อให้เห็นความชัดเจน และให้เป็นไปตามมาตรา 56 ซึ่งต้องมีการเชิญชวนผู้ประกอบการก่อน แต่หากไม่มีใครมาเสนอก็ให้ดำเนินการด้วยวิธีคัดเลือก ซึ่งหากผู้บริหารทำตามขั้นตอน ตามมาตรา 56 อบจ.สงขลา จะไม่มีปัญหาการทุจริต ปัญหาความไม่โปร่งในการจัดซื้อจัดจ้างใน 4 อำเภอ ซึ่งใน อบจ.สงขลาถือว่าเป็นปัญหาเรื่องใหญ่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงินและข้าราชการที่ทำผิดเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด
"ขอฝากไปยังผู้บริหารว่าให้เร่งหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ โดยให้ทำตามขั้นตอนเพื่อให้อบจ.สงขลาและข้าราชการได้ทำงานและอยู่อย่างสงบสุข" นายมิตร ระบุ
ขณะที่ นายประพันธ์ ศรีสุวรรณ ปลัดอบจ.สงขลา และปฎิบัติหน้าที่นายกอบจ.สงขลา ได้ตอบในสภาฯ ว่า โครงการติดตั้งกล้อง CCTV ได้ทำตามขั้นตอนทุกประการโดยกำหนดให้เสนอราคาในวันที่ 14 ส.ค.2563 ซึ่งหากมีการร้องเรียนมาทาง อบจ.สงขลา ก็จะดำเนินการแก้ไข โดยจะให้คณะกรรมการกำหนด TOR และกองพัสดุกลับไปทบทวน เพื่อให้เกิดความชัดเจน โดยเร็วที่สุด และอาจจะระงับการเสนอราคาโดยคณะกรรมการจะพิจารณาอีกครั้ง
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า เมื่อวันที่ 18 ส.ค.2563 ได้ติดต่อไปยัง อบจ.สงขลา เพื่อขอสัมภาษณ์ นายประพันธ์ ศรีสุวรรณ ปลัดอบจ.สงขลา ต่อกรณีข่าวดังกล่าว
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่า นายประพันธ์ ไม่ได้อยู่ที่สำนักงาน เดินทางเข้าไปราชการที่กรุงเทพมหานคร
จึงทำให้ยังไม่ได้รับทราบคำชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการ
ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างโครงการจัดซื้อกล้อง CCTV ทั้ง 4 อำเภอ หากมีความคืบหน้าจะนำมาเสนอให้รับทราบต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage