ยอดการบริจาคเวชภัณฑ์ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ที่มีต่อกองทัพหรือกระทรวงกลาโหมของประเทศที่กำลังพัฒนาในหลายประเทศไม่ได้ถูกเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลมากนัก จึงหมายความว่าเป้าหมายของการดำเนินนโยบายหน้ากากของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนจึงไม่ใช่การเสริมสร้างภาพลักษณ์บวกของประเทศจีนแต่อย่างใด แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงเจตนาดี และการสร้างความสัมพันธ์เพื่อสร้างความมั่นใจที่จะทำให้เกิดการเซ็นสัญญาซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์กับกลุ่มผู้นำทางการเมืองในประเทศที่กำลังพัฒนาต่างๆเสียมากกว่า
----------------------------------
จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ณ เวลานี้ ทำให้มีหลายประเทศมหาอำนาจทั่วโลกได้พยายามที่จะใช้เข้าถึงการผลิต การแจกจ่ายเวชภัณฑ์ การบริการ และให้ความช่วยเหลือที่จำเป็นสำหรับสถานการณ์โรคระบาด เพื่อจะเสริมสร้างบทบาทบนเวทีโลก และสร้างอำนาจในการเจรจาการต่อรองระหว่างประเทศ
แม้แต่ประเทศจีนที่เคยเป็นศูนย์กลางของการระบาด ตอนนี้ก็กำลังดำเนินนโยบายที่เรียกว่า “นโยบายการทูตด้วยหน้ากาก” โดยส่วนหนึ่งของนโยบายนั้นมีการใช้กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน
โดยเมื่อประมาณวันที่ 3 ส.ค.ที่ผ่านมา สถาบันว่าด้วยประเทศจีนศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศเยอรมนี หรือที่มีชื่อว่าสถาบัน MERICS (Mercator Institute for China Studies) ได้เคยเขียนบทความวิเคราะห์นโยบายการทูตด้วยหน้ากากกับบทบาทของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนไว้อย่างน่าสนใจ
ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอาบทความดังกล่าวมาเรียบเรียงดังนี้
ในสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ที่ย้ายศูนย์กลางการระบาดจากประเทศจีนไปยังหลายประเทศทั่วโลก รัฐบาลกรุงปักกิ่งได้ดำเนินนโยบายที่ชื่อว่านโยบายการทูตด้วยหน้ากาก ซึ่งการดำเนินนโยบายนั้นจะเป็นการส่งเที่ยวบินประกอบไปด้วยหน้ากากอนามัย และเวชภัณฑ์ต่างๆไปยังประเทศที่ประสบกับปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด 19 อย่างรุนแรง
ซึ่งต้องยอมรับว่าการดำเนินนโยบายการทูตด้วยหน้ากากที่ว่ามานั้นเป็นหนึ่งในความพยายามที่จะเสริมสร้างภาพลักษณ์ความเป็นมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบของประเทศจีน และยังทำให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่ากรุงปักกิ่งได้พยายามแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อการระบาดทั่วโลก
โดยมีการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้เช่นกันว่าสาเหตุที่ประเทศจีนต้องการดำเนินนโยบายเช่นนี้ก็เพราะว่าต้องการที่จะปกปิดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศจีน
ซึ่งขณะที่ทั่วโลกกำลังจับตาดูนโยบายการทูตด้วยหน้ากากของรัฐบาลกรุงปักกิ่ง แต่ก็คงต้องยอมรับว่า กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนก็มีโยบายหน้ากากของตัวเองเช่นกัน
โดยข้อมูลจากสถาบัน MERICS พบว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.จนถึงวันที่ 19 มิ.ย. กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้ส่งเครื่องบินทหารพร้อมกับเวชภัณฑ์ซึ่งส่วนมากเป็นชุดป้องกันการติดเชื้อหรือชุดพีพีอีไปยัง 46 ประเทศทั่วโลก โดยอาศัยช่องทางการบริจาคระหว่างกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนกับกองทัพและกระทรวงกลาโหมของผู้ที่ได้รับบริจาค และยังมีรายงานด้วยว่ากองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้ตั้งระบบการสื่อสารแบบวิดีโอทางไกลไว้ติดต่อกับหน่วยงานทางการทหารของประเทศอื่นๆเพื่อที่จะบอกเล่าประสบการณ์การรับมือกับสถานการณ์การระบาดของไวรัส ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการเสริมสร้างความแน่นแฟ้นทางการทหารให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ซึ่งข้อแตกต่างของนโยบายการทูตด้วยหน้ากากของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนกับทางรัฐบาลมีดังต่อไปนี้
@นโยบายการทูตด้วยหน้ากากของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนกว่า
ในขณะที่นโยบายการทูตด้วยหน้ากากของรัฐบาลจีนนั้นมุ่งเน้นไปที่ประเทศที่ร่ำรวยอาทิ อิตาลี สเปน และญี่ปุ่น แต่นโยบายของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนกลับมุ่งเน้นที่ประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา และบางประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันออก และในละตินอเมริกา
ซึ่งการดำเนินนโนบายดังกล่าวจากทั้งรัฐบาลและกองทัพถือว่าเป็นฟันเฟืองสิ่งที่สำคัญต่อประเทศจีนในการเสริมสร้างอิทธิพลในระดับโลก ในด้านเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางทะเล
โดยในกลุ่มแรกกับประเทศที่ร่ำรวย นายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนได้อนุมัติโครงการนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลกับประเทศที่มีท่าทีเห็นอกเห็นใจต่อสถานการณ์ในประเทศจีน
และในกลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้เข้าไปมีบทบาทให้การช่วยเหลือก็ถือได้ว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้ประเทศเหล่านี้เห็นความสำคัญของการยอมรับจีนในฐานะการเป็นผู้นำโลก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องมีการลงมติในระดับต่างประเทศในประเด็นเรื่องที่มีความสำคัญและละเอียดอ่อนต่อผลประโยชน์ของประเทศจีน ก็ทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศที่กำลังพัฒนาเหล่านี้พร้อมจะโหวตสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือประเทศจีน
ประเด็นที่มีความแตกต่างระหว่างนโยบายการทูตด้วยหน้ากากของรัฐบาลและของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนก็คือ ประเด็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ โดยนโยบายการทูตด้วยหน้ากากของรัฐบาลจีนที่ใช้กับประเทศที่ร่ำรวยในแถบทวีปยุโรปและในที่อื่นๆนั้นมีกระบวนการประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นโดยสื่อทางการของรัฐบาลจีน ที่แพร่ภาพผ่านโซเชียลมีเดีย โดยระบุถึงการเป็นต้นแบบของการรับมือสถานการณ์โรคระบาดในช่วงต้นปีที่ผ่านมา พร้อมกับกล่าวอ้างว่าประเทศจีนนั้นประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคระบาดได้อย่างชะงัก และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือกับประเทศอื่นๆในการสู้กับวิกฤติไวรัสระบาด
ในขณะที่นโยบายการทูตด้วยหน้ากากของทางกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนจะมีการประชาสัมพันธ์ที่น้อยกว่าและเงียบกว่า โดยจะอาศัยช่องทางการประชาสัมพันธ์แค่เพียงจากช่องทางหนังสือพิมพ์ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเท่านั้น และมักจะไม่เป็นที่รับรู้เสียเป็นส่วนใหญ่
ซึ่งความแตกต่างในการดำเนินนโยบายการทูตด้วยหน้ากากของทั้งรัฐบาลและภาคกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน เป็นข้อบ่งชี้ชัดเจนว่า ทั้ง 2 ภาคส่วนมีเป้าหมายที่แตกต่างกันออกไป
โดยนโยบายการทูตด้วยหน้ากากของรัฐบาลจีนนั้นหวังผลที่ดึงความสนใจจากสื่อต่างประเทศให้ทำข่าวในแง่บวกเกี่ยวกับความสามารถในการรับมือกับไวรัสโควิด 19 จองประเทศจีน ในฐานะมหาอำนาจที่มีความรับผิดชอบ
ในขณะที่การดำเนินนโยบายการทูตด้วยหน้ากากของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนกลับมุ่งเน้นไปที่การเสริมสร้างความร่วมมือทางยุทธศาสตร์กับประเทศเป้าหมายให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
@เป้าหมายการใช้การบริจาคเวชภัณฑ์เป็นเครื่องมือทางการทูต
แม้ว่า ณ เวลานี้จะไม่มีการเปิดเผยตัวเลขออกมาว่าเวชภัณฑ์ที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้บริจาคนั้นมีจำนวนเท่าไร แต่ก็มีข้อมูลว่าทางกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนไม่ได้สนใจตัวเลขของของจำนวนเวชภัณฑ์ที่จะใช้ในการบริจาคให้กับประเทศอื่นมากนักเมื่อเทียบกับทางรัฐบาลจีนที่ได้บริจาคหน้ากากอนามัยให้กับประเทศในแถบทวีปยุโรปเป็นจำนวนนับแสนถึงล้านชิ้น ด้วยข้อตกลงระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล
แต่ทางกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนกลับบริจาคหน้ากากให้กับประเทศอื่นๆเป็นจำนวนที่น้อยกว่ากรณีของรัฐบาจีนลมาก ยกตัวอย่างเช่นกรณีที่ที่ประเทศซิมบับเว ซึ่งกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้บริจาคหน้ากากด้วยจำนวนแค่ 62,000 ชิ้น และชุดพีพีอีอีก 19,000 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งการบริจาคของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาต่างๆนั้น ดูเหมือนจะเป็นความพยายามที่จะสร้างภาพลักษณ์ มากกว่าที่จะเป็นการบริจาคเพื่อต้องการที่จะแก้ไขปัญหาขาดแคลนเวชภัณฑ์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาด หรืออีกนัยยะก็คือการบริจาคเวชภัณฑ์ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน แท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการทูตในเชิงป้องกันประเทศนั่นเอง
และตามที่ได้เสนอไปแล้วว่า ยอดการบริจาคเวชภัณฑ์ของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ที่มีต่อกองทัพหรือกระทรวงกลาโหมของประเทศที่กำลังพัฒนาในหลายประเทศไม่ได้ถูกเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลมากนัก จึงหมายความว่าเป้าหมายของการดำเนินนโยบายหน้ากากของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนจึงไม่ใช่การเสริมสร้างภาพลักษณ์บวกของประเทศจีนแต่อย่างใด แต่กลับเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงเจตนาดี และการสร้างความสัมพันธ์เพื่อสร้างความมั่นใจที่จะทำให้เกิดการเซ็นสัญญาซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์กับกลุ่มผู้นำทางการเมืองในประเทศที่กำลังพัฒนาต่างๆเสียมากกว่า
หรือสรุปก็คือนโยบายการทูตด้วยหน้ากากของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ส่วนหนึ่งของกระบวนการล๊อบบี้นักการเมืองและผู้นำทางการทหารให้เซ็นซื้อขายอาวุธยุทโธปกรณ์ของประเทศจีนนั่นเอง
ประเทศที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้ดำเนินนโยบายการทูตว่าด้วยหน้ากาก
@เป้าประสงค์ของกรุงปักกิ่งในการเสริมสร้างความสัมพันธ์และข้อผูกมัดทางการทหาร
การที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนได้ส่งมอบเวชภัณฑ์อันเป็นที่ต้องการให้กับหน่วยงานทหารในต่างประเทศ เป็นข้อบ่งชี้ประการหนึ่งว่า กรุงักกิ่งต้องการที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ทั้งในระดับระหว่างกองทัพกับกองทัพ ควบคู่ไปกับนโยบายการทูตด้วยหน้ากากของรัฐบาล ที่ต้องการจะแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่ารัฐบาลจีนเป็นเพื่อนที่สามารถพึ่งพาได้ในยามเกิดวิกฤติไม่เหมือนกับประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆในยุโรป
โดยขณะที่รัฐบาลจีนได้พยายามทำข้อตกลงเรื่องการบริจาคหน้ากากเพื่อแสดงให้เห็นถึงภาพของมหาอำนาจผู้มีเมตตา กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนเองก็ได้ตั้งเป้าในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง อันจะเป็นสิ่งที่จะช่วยเหลือประเทศจีนในการแผ่อิทธิพลทั่วโลกต่อไป
ซึ่งความพยายามเสริมสร้างความมั่นคงดังกล่าวถือเป็นสิ่งที่สำคัญโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือว่าอาเซียน ซึ่งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่า ประเทศจีนค่อนข้างจะมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวเป็นอย่างมากในภูมิภาคนี้ จนทำให้รัฐบาลจีนถูกตำหนิว่าฉวยโอกาสในช่วงเวลาที่ประเทศอื่นๆกำลังวุ่นวายกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ดำเนินนโยบายยั่วยุทำให้เกิดการเผชิญหน้าทางการทหารมากขึ้น อาทิ ที่เกาะไต้หวัน ในภูมิภาคทะเลจีนตะวันออก และในทะเลจีนใต้
หรือสรุปก็คือนโยบายหน้ากากของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนนั้นแม้ว่าจะมีจำนวนน้อยจนแก้ไขปัญหาต่างๆไม่ได้ แต่แท้จริงแล้วก็คือการทำให้กรุงปักกิ่งสามารถมีความสัมพันธ์เข้าถึงนักการเมืองในประเทศต่างๆต่อไปนั่นเอง
และนี่ก็คือความพยายามของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ที่ได้ดำเนินนโยบายเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 เพื่อที่จะนำพาประเทศจีนก้าวสู่ตำแหน่งมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกตามเป้าหมายในปี 2592
ดังนั้นประเด็นสำคัญก็คือ ทั้งรัฐบาลไทย และกองทัพไทยที่ยังคงมีนโยบายในการจัดซื้อยุทโธปกรณ์การรบในรูปแบบเดิมๆในช่วงเวลาที่เกิดเหตุโรคระบาดนั้น จะรับรู้และปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวนี้มากน้อยแค่ไหน
สาธารณชนก็คงจะทราบคำตอบกันดีอยู่แล้ว
อ้างอิงรูปภาพจาก https://thethaiger.com/coronavirus/thailand-praised-by-china-for-successful-suppression-of-covid-19
เรียบเรียงจาก:https://merics.org/en/analysis/plas-mask-diplomacy
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage