"...ในวันที่ 10-15 ส.ค. จะเป็นวันที่ประเทศรัสเซียประกาศว่าจะจดทะเบียนวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด 19 ว่าสามารถใช้งานได้เป็นรายแรกของโลก และจะเริ่มกระบวนการผลิตวัคซีนจำนวนมากออกมาต่อไป โดยทางการรัสเซียได้อ้างว่า ความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนนั้น เทียบเท่าได้กับตอนที่สหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสูงวงโคจรได้เป็นผลสำเร็จ อย่างไรก็ตาม นานาประเทศ ได้ตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับการกล่าวอ้างเรื่องการพัฒนาวัคซีนของประเทศรัสเซียอย่างมาก..."
................................................
ในช่วงสัปดาห์หน้า มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ คือ ในวันที่ 10-15 ส.ค. จะเป็นวันที่ประเทศรัสเซียประกาศว่าจะจดทะเบียนวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด 19 ว่าสามารถใช้งานได้เป็นรายแรกของโลก และจะเริ่มกระบวนการผลิตวัคซีนจำนวนมากออกมาต่อไป
โดยทางการรัสเซียได้อ้างว่า ความสำเร็จของการพัฒนาวัคซีนนั้น เทียบเท่าได้กับตอนที่สหภาพโซเวียตสามารถส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสูงวงโคจรได้เป็นผลสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม นานาประเทศ ได้ตั้งข้อกังขาเกี่ยวกับการกล่าวอ้างเรื่องการพัฒนาวัคซีนของประเทศรัสเซียอย่างมาก เพราะจากความคืบหน้าในการทดลองวัคซีนที่พัฒนาโดยสถาบันวิจัยวิทยาการระบาดและจุลชีววิทยาแห่งชาติกามาเลอี (Gamalei National Research Center for Epidemiology and Microbiology) ของประเทศรัสเซีย ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขรัสเซีย ระบุว่าวัคซีนดังกล่าวเพิ่งจะมีการทดลองในอาสาสมัครจำนวนแค่ไม่กี่สิบคนเท่านั้นในช่วงไม่ถึง 2 เดือนที่ผ่านมา
ที่สำคัญคือไม่มีเอกสารทางวิชาการที่สนับสนุนงานวิจัยของรัสเซียตีพิมพ์สู่สาธารณชนแม้แต่น้อยเมื่อเทียบกับงานวิจัยวัคซีนโควิด 19 จากประเทศอื่น
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวเอพีของสหรัฐฯ ได้จัดทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับความกังวลในด้านการพัฒนาวัคซีนของประเทศรัสเซียขึ้นมา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปข้อมูลสำคัญเรียบเรียงและนำมาเสนอ ณ ที่นี้
นายลอว์เรนซ์ กอสติน นักวิชาการด้วยกฎหมายสุขภาพ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวชัดเจนว่า “ผมเป็นกังวลว่ารัสเซียจะข้ามขั้นตอนที่สำคัญไป ส่งผลทำให้วัคซีนที่ออกมานั้นอาจจะไม่มีประสิทธิภาพ และไม่ปลอดภัย ซึ่งตามหลักการแล้วมันไม่ใช่แบบนั้น การทดลองต้องมาก่อน ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่สำคัญมาก”
นายลอว์เรนซ์ กอสติน ยังย้ำด้วยว่า การใช้วัคซีนที่มีสารประกอบอันไม่ปลอดภัยกับบุคลากรทางการแพทย์ อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เพราะอาจจะส่งผลทำให้เกิดอาการป่วยอย่างรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายลอว์เรนซ์ กอสติน นักวิชาการด้วยกฎหมายสุขภาพ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (อ้างอิงรูปภาพจากเอเชียไทม์)
ถ้าหากย้อนเวลากลับไปในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา นายคิริล ดมิทรีฟ ผู้อำนวยการกองทุนความมั่งคั่งของประเทศรัสเซียซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญของการพัฒนาวัคซีนได้ออกมากล่าวว่าภายในไม่กี่วันหลังจากวันนี้ หรือก็คือในสัปดาห์หน้า รัสเซียจะอนุมัติการใช้งานวัคซีนอย่างเป็นทางการ ก่อนที่จะเสร็จสิ้นการทดลองวัคซีนในระยะที่ 3
ซึ่งการชี้แจงดังกล่าวก็นำมาซึ่งความสงสัยอีกประการหนึ่งว่า การอนุมัติวัคซีนก่อนการทดลองในระยะที่ 3 สามารถทำได้หรือไม่
เพราะตามหลักการแล้วการทดลองในระยะที่ 3 หมายถึงระยะที่นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มให้วัคซีนแก่อาสาสมัครจำนวนมากกว่าพันคนขึ้นไป และจะดูว่ายังมีผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวนกี่คนที่ยังคงติดเชื้ออยู่ ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทดสอบว่าวัคซีนได้ผลหรือไม่
ขณะที่ นายมิคาอิล มูราชโก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของประเทศรัสเซีย ออกมาระบุว่า หลังจากการอนุมัติวัคซีนแล้ว กลุ่มที่จะได้รับวัคซีนเป็นกลุ่มแรกก็คือบุคลากรทางด้านสาธารณสุขที่เป็นกลุ่มเสี่ยง และรัสเซียจะเริ่มกระบวนการผลิตวัคซีนเป็นจำนวนมากได้ภายในเดือน ต.ค.63 นี้
อย่างไรก็ตาม นายมิคาอิล ไม่ได้กล่าวว่า การให้วัคซีนแก่กลุ่มบุคลกรทางการแพทย์นั้นจะเป็นการทดลองวัคซีนไปด้วยในตัวหรือไม่
ดังนั้น ณ เวลานี้ จึงได้ข้อสรุป 2 ประเด็นก็คือ 1. รัสเซียจะมีการอนุมัติวัคซีนก่อนการทดลองในระยะที่ 3 อย่างแน่นอนแล้ว และ 2. ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการทดลองในระยะที่ 3 เมื่อไร
แม้แต่ นพ.แอนโทนี่ ฟาวซี่ ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อและโรคภูมิแพ้ของสหรัฐอเมริกา หนึ่งในคณะทำงานพิเศษเพื่อต่อต้านโรคระบาดของทำเนียบขาว ได้ออกมาตั้งข้อสงสัยถึงความเร่งด่วนในการพัฒนาวัคซีนของประเทศรัสเซียเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และยังเรียกร้องให้ทั้งประเทศจีนและประเทศรัสเซียมีการทดลองวัคซีนอย่างจริงจังและโปร่งใสก่อนที่จะมีการออกคำสั่งอนุมัติให้ใช้วัคซีนกับใครก็ตาม เพราะการที่ออกมาอ้างว่ามีวัคซีนพร้อมแล้ว ก่อนที่จะมีการทดลองวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ ท้ายที่สุดแล้วก็จะนำมาซึ่งปัญหามากมาย
ทั้งนี้ คำถามเรื่องความโปร่งใสในการทดลองวัคซีน เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่มีข่าวว่าประเทศรัสเซียได้ใช้แฮคเกอร์แฮ็กข้อมูลการวิจัยวัคซีนจากห้องแล็บในประเทศสหรัฐฯ ประเทศอังกฤษ และประเทศแคนาดา ในช่วงเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
นพ.แอนโทนี่ ฟาวซี่ ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดเชื้อและโรคภูมิแพ้ของสหรัฐอเมริกา (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.ctpost.com)
ทั้งนี้ ถ้าหากวิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ของทางการรัสเซียที่ผ่านมา ไปจนถึงการอ้างไปถึงการส่งดาวเทียมในปี 2500 ที่รัสเซียยังคงเป็นสหภาพโซเวียต เห็นได้ชัดเลยว่านโยบายการอนุมัติวัคซีนให้เป็นประเทศแรก นั้นถือเป็นเกียรติภูมิของทำเนียบประธานาธิบดีเครมลินในการที่จะย้ำเตือนภาพของความเป็นมหาอำนาจของรัสเซียที่กำลังแข่งขันกับประเทศสหรัฐฯและประเทศจีน
โดยที่ผ่านมาสื่อรัฐบาลของรัสเซียได้เขียนข่าวประชาสัมพันธ์เสมอว่าวัคซีนของรัสเซียนั้นจะต้องได้รับการอนุมัติให้ใช้งานเป็นรายแรกของโลก นับตั้งแต่ที่มีการทดสอบไวรัสเป็นครั้งแรก
ถ้าย้อนไปเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้ออกคำสั่งให้ทางการรัสเซียลดขั้นตอนการทดลองการใช้ยาจำนวนหลายชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ วัคซีนที่ทดลองเพื่อใช้ในการรักษาไวรัสโควิด 19
โดยมีรายงานข่าวอ้างอิงจากสมาคมว่าด้วยการทดลองการรักษาทางการแพทย์ของประเทศรัสเซีย ว่าเคยมีชุดคำสั่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ในการปฏิบัติส่งตรงถึงกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เข้าร่วมในการแข่งขันการวิจัยวัคซีน เพื่อเอาใจผู้ที่มีอำนาจ
ต่อมาในช่วงปลายเดือน พ.ค. สมาคมฯได้ออกมาแสดงความกังวล หลังจาก นพ.อเล็กซานเดอร์ กินต์สเบิร์ก (Alexander Gintsburg) หัวหน้าสถาบันวิจัยฯกามาเลอีได้ออกมาเปิดเผยว่า ตัวเขาและนักวิจัยจำนวนหนึ่งได้ทดลองวัคซีนกับตัวเอง ซึ่งการกระทำดังกล่าวนั้นถือว่า ขัดต่อทั้งหลักพื้นฐานของการทดลองการรักษา ขัดต่อกฎหมายประเทศรัสเซีย และขัดต่อมาตรการการทดลองการรักษาที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติอย่างสิ้นเชิง
ทางสมาคมฯ ยังได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล นักวิทยาศาสตร์ และบุคลากรทางการแพทย์ยึดหลักการพื้นฐานในการทดลองและวิจัยทางการรักษา
แต่ต่อมาในเดือน มิ.ย. กระทรวงสาธารณสุข ได้อนุมัติให้มีการทดลองวัคซีนของสถาบันฯกามาเลอีในขั้นตอนการทดลองการรักษา ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นอีกประเด็นที่มีความขัดแย้งต่อหลักจริยธรรม
โดยขั้นตอนการทดลองการรักษาในมนุษย์นั้นเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. ในกลุ่มอาสาสมัครจำนวน 76 ราย โดยครึ่งหนึ่งถูกฉีดด้วยวัคซีนที่มีลักษณะเป็นของเหลว และถูกฉีดด้วยวัคซีนที่เป็นลักษณะของแป้งละลายน้ำ
ซึ่งครึ่งหนึ่งของอาสาสมัครจำนวน 76 ราย พบว่า มีการเกณฑ์มาจากกองทัพ ทำให้เกิดการตั้งคำถามตามมาว่ามีการกดดันในกลุ่มบุคลากรทางทหารให้เข้าร่วมการเป็นอาสาสมัครนี้หรือไม่
ผู้เชี่ยวชาญบางรายถึงขั้นตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งธงอย่างชัดเจนว่าวัคซีนจะต้องออกมาดีนั้น แท้จริงแล้วอาจจะส่งผลต่อการรับรู้ถึงผลข้างเคียงของวัคซีนได้
นายวาซิลี่ วลาสซอฟ นักวิชาการด้านสาธารณสุข คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยมอสโก ระบุว่า “ผมไม่คิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญที่สื่อได้รายงานว่าเราไม่พบผลข้างเคียงจากการทดลองวัคซีนในกลุ่มทหาร แต่ในขณะที่การทดลองวัคซีนในกลุ่มอาสาสมัครที่ไม่ใช่ทหาร กลับพบว่ามีผลข้างเคียงอยู่บ้าง”
ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลรัสเซียได้ออกมาประกาศถึงความสำเร็จของวัคซีนและกำหนดวันที่จะมีการอนุมัติให้ใช้งานวัคซีน ท่ามกลางคำถามเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพของวัคซีน
โดยรัฐบาลได้ยืนยันว่าวัคซีนนั้นสามารถกระต้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงแต่อย่างใด ซึ่งคำกล่าวอ้างดังกล่าว ถือว่าเป็นเรื่องที่เชื่อได้ยาก เพราะไม่ปรากฏหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือบทความที่จะออกมาสนับสนุนแต่อย่างใด
แม้กระทั่งเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ทางองค์การอนามัยโลกหรือ WHO ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้ทางประเทศรัสเซียยึดหลักการและขั้นตอนการรักษาอย่างเคร่งครัด โดยจำเป็นจะต้องมีการทดลองในกลุ่มอาสาสมัครที่เข้ารับการทดลองการรักษาในทุกขั้นตอน ก่อนจะมีการใช้งานวัคซีน เพราะการพบว่าวัคซีนมีแนวโน้มจะสามารถใช้งานได้ กับการผ่านขั้นตอนการทดลองทุกขั้นตอนนั้นถือว่ามีความแตกต่างกันอย่างใหญ่หลวง
ขณะที่นายโทมัส โบลลิกี้ ผู้อำนวยการโครงการสุขภาพโลก สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกล่าวว่า การใช้วัคซีนที่ยังไม่ผ่านการทดลองอย่างเหมาะสมจะนำมาซึ่งผลร้ายหลายประการในวงการสุขภาพนับตั้งแต่การสร้างความเชื่อที่ผิดๆจนไปถึงการทำลายความเชื่อใจที่สาธารณชนได้มีต่อการใช้วัคซีน
นายโทมัส โบลลิกี้ ผู้อำนวยการโครงการสุขภาพโลก สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (อ้างอิงรูปภาพจากซีเอ็นบีซี)
เรียบเรียงจาก:https://www.ksat.com/news/world/2020/08/07/russias-race-for-virus-vaccine-raises-concerns-in-the-west/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage