"...ณ เวลานี้ ประเทศที่ร่ำรวยได้จับจองการเข้าถึงวัคซีนรักษาไวรัสโคโรน่าที่กำลังอยู่ในขั้นตอนทดลองเป็นจำนวนมากกว่า 1 พันล้านโดสแล้ว ท่ามกลางความเป็นกังวลกันว่ากว่าที่ทั่วทั้งโลกจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้นั้นอาจจะต้องใช้เวลาไปอีกสักพักหนึ่งที่เพียงพอจะทำให้สามารถประกาศได้อย่างเป็นทางการว่า ทั่วโลกนั้นมีชัยชนะเหนือโรคระบาดแล้ว...."
บทความเคลื่อนไหวสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส หรือโควิด 19 ณ เวลานี้ ภารกิจสำคัญที่หลายประเทศทั่วโลกเร่งทำเหมือนกัน คือ การป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไม่ให้แพร่กระจายขยายตัวในวงกว้าง แต่สำหรับการคิดค้นวัคซีนป้องกันโรคดูเหมือนจะมีไม่กี่ประเทศนั้น ที่แสดงออกให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม ประเทศที่ไม่สามารถคิดค้นวัคซีนได้ แต่มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง ก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะเข้าถึงทรัพยากรวัคซีนให้ได้มากที่สุด
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์กของสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บทความเชิงวิเคราะห์การแข่งขันกันของประเทศที่มีสถานะร่ำรวย ในการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิดในปัจจุบัน ข้อมูลที่นำเสนอมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ สำนักข่าวอิศรา สรุปเรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
ณ เวลานี้ ประเทศที่ร่ำรวยได้จับจองการเข้าถึงวัคซีนรักษาไวรัสโคโรน่าที่กำลังอยู่ในขั้นตอนทดลองเป็นจำนวนมากกว่า 1 พันล้านโดสแล้ว ท่ามกลางความเป็นกังวลกันว่ากว่าที่ทั่วทั้งโลกจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้นั้นอาจจะต้องใช้เวลาไปอีกสักพักหนึ่งที่เพียงพอจะทำให้สามารถประกาศได้อย่างเป็นทางการว่า ทั่วโลกนั้นมีชัยชนะเหนือโรคระบาดแล้ว
โดยสหรัฐอเมริกาและอังกฤษนั้นเป็นประเทศที่ประกาศจับจองวัคซีนจากบริษัทซาโนฟี่ บริษัทแกลกโซสมิธไคลน์ (GlaxoSmithKline) ส่วนประเทศญี่ปุ่นก็มีการจับคู่กับบริษัทไฟเซอร์ และล่าสุดสหภาพยุโรปก็มีการประกาศทุ่มเงินจัดหาวัคซีน
ซึ่งประเทศเหล่านี้ได้เริ่มกระบวนการหาวัคซีนไปแล้ว ก่อนที่จะมีการยืนยันเสียด้วยซ้ำว่าวัคซีนนั้นจะสามารถใช้งานได้จริงหรือไม่
ทั้งนี้ แม้ว่าองค์การนานาชาติจะได้ออกมาประกาศให้คำมั่นว่าจะร่วมกันผลิตวัคซีนที่ประชาคมโลกสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม คำว่าทั้งหมดนั้นหมายความว่าจะต้องมีวัคซีนรองรับให้ได้ถึงอย่างน้อย 7.8 พันล้านคนทั่วโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะลำบากมาก
ดังนั้น สถานการณ์ปัจจุบันจึงดูเหมือนจะมีแค่ประเทศที่ร่ำรวยกำลังได้สิทธิผูกขาดการเข้าถึงวัคซีนรักษาโควิด 19 อยู่ และน่าจะได้มีโอกาสเข้าถึงก่อน ซึ่งเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับกรณีการระบาดของไข้หวัดหมูเมื่อปี 2552 จึงทำให้เกิดความกังวลว่า ประเทศที่ยากจนกว่าจะมีสิทธิเข้าถึงไวรัสได้เมื่อไร
ล่าสุด มีตัวเลขเบื้องต้น จากบริษัท Airfinity ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์จากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษระบุว่า ประเทศสหรัฐฯ,อังกฤษ กลุ่มสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นได้ทำสัญญาเพื่อเข้าถึงวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1.3 พันล้านโดส และภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะมีการผลิตวัคซีนเพิ่มตามข้อตกลงอีกอย่างน้อย 1.5 พันล้านโดส
@ช่วงเวลาการฉีดวัคซีน
มีการทำนายเอาไว้ว่า จำนวนวัคซีนอย่างน้อย 1 พันล้านโดสจะยังไม่สามารถเข้าไปสู่กลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของโลกได้ จนถึงอย่างน้อยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565
นายราสมุล เบค แฮนเซน ประธานผู้บริหารบริษัท Airfinity ระบุว่า “ต่อให้เราประเมินด้วยมุมมองที่เป็นแง่บวกที่สุด โดยยึดเอาความคืบหน้าด้านทางวิทยาศาสตร์ ณ เวลานี้ ก็จะพบว่ายังคงมีวัคซีนไม่เพียงต่อต่อความต้องการของทั้งโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนนี้ที่มีรายงานว่าการฉีดวัคซีนต้องใช้ขั้นต่ำเป็นจำนวน 2 โดสขึ้นไป”
โดยองค์กรที่มีความก้าวหน้าทางด้านการพัฒนาวัคซีนมากที่สุดของโลกได้แก่ บริษัทแอสตร้า เซนเนก้า มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และบริษัทไฟเซอร์กับบริษัท BioNTech และกลุ่มพันธมิตร ทั้งหมดนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองวัคซีนในขั้นตอนสุดท้าย หรือที่เรียกกันว่าขั้นตอนการทดลองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคาดหวังว่าจะสามารถผลิตอาวุธที่ใช้ต่อสู้กับไวรัสโควิด 19 ได้โดยเร็ว แต่ผู้พัฒนาวัคซีนเหล่านี้จะต้องก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ อาทิ การกำหนดความชัดเจนว่าการใช้วัคซีน จะต้องฉีดเป็นจำนวนกี่ครั้งกันแน่ถึงจะได้ผล การได้รับคำอนุมัติเพื่อให้ใช้งานวัคซีนจากทางรัฐบาลประเทศต่างๆ รวมไปถึงกระบวนการผลิตวัคซีนเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งกว่าจะผ่านกระบวนการเหล่านี้จนหมดแล้ว ก็หมายความว่ากว่าที่ทั่วทั้งโลกจะเข้าถึงวัคซีนได้อย่างน้อย 1 พันล้านโดส ก็คงจะเป็นต้องเป็นช่วงต้นปี 2565
นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯประกาศปฏิบัติการณ์วาร์ปสปีดเพื่อเร่งกระบวนการผลิตวัคซีนให้เร็วที่สุด (อ้างอิงวิดีโอจากช่องNBC)
โดยการเพิ่มปริมาณการผลิตเพื่อจะรองรับการต้องการของประชาชนทั่วโลกนั้น จะต้องมีการลงทุนลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อที่จะแก้ปัญหา ซึ่งเวลานี้มีบริษัทยาบางแห่งที่ได้เริ่มแผนงานในการทำให้วัคซีนเป็นที่แพร่หลายมากที่สุด อาทิ บริษัทซาโนฟี่ และบริษัทบริษัทแกลกโซสมิธไคลน์ ได้ออกมาแสดงความตั้งใจชัดเจนว่าจะเร่งกระบวนการผลิตเพื่อที่จะแจกวัคซีนให้กับประชากรส่วนใหญ่ของโลกได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียม อย่างน้อยในช่วงปี 2564-2565
ขณะที่ทางองค์การอนามัยโลกหรือ WHO,กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด หรือ (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) และกาวี กลุ่มพันธมิตรด้านวัคซีน ก็ได้ร่วมมือกันทำงานเพื่อที่จะทำให้วัคซีนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมโดยประชากรส่วนใหญ่ของโลก
โดยในช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ทั้ง 3 หน่วยงานได้มีการกำหนดแผนค่าใช้จ่ายจำนวน 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (559,881,000,000 บาท) เพื่อที่จะทำให้มีวัคซีนได้อย่างน้อย 2 พันล้านโดสก่อนสิ้นปี 2564
อย่างไรก็ตาม ทางด้านของเจ้าหน้าที่โครงการระดมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อวัคซีนรักษาโรคโควิด-19 (COVAX) ซึ่งเป็นโครงการเพื่อรับประกันว่าพันธมิตรในกลุ่มฯจะมีวัคซีนไว้ใช้อย่างรวดเร็ว และช่วยให้ประเทศยากจนทั่วโลกเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกับประเทศที่มีฐานะร่ำรวย ได้ออกมาแสดงข้อกังวลว่าถ้าหากประเทศที่ร่ำรวยกักตุนวัคซีนเอาไว้กับตัวเอง หรือมองผลประโยชน์ประเทศตัวเองก่อน ก็จะส่งผลกระทบทำให้เกิดการระบาดในประเทศยากจนต่อไปเรื่อยๆ และผลร้ายที่สุดก็จะย้อนกลับมาที่ทุกคนอยู่ดี
@ข้อตกลงอันยุ่งเหยิง
นายเซธ เบิร์คเลย์ ผู้บริหารขององค์กร Gavi ให้ความเห็นว่า มีหลายประเทศ ณ เวลานี้ที่พยายามจะทำข้อตกลงกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อจะสร้างโอกาสในการเข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าวัคซีนบางตัวนั้นจะสามารถใช้งานได้หรือไม่ โดยสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้เกิดสงครามการประกวดราคา การต่อรองกับทางบริษัทวัคซีน และอาจจะทำให้บางประเทศได้วัคซีนที่ไม่มีประสิทธิภาพได้ และข้อที่น่ากังวลที่สุดอีกประการหนึ่งก็คือ ข้อตกลงเรื่องวัคซีนต่างๆนั้นอาจจะมีความสลับซับซ้อนตามไปด้วย
ขณะที่ นายเซธกล่าวต่อไปถึงสถานะของโครงการ COVAX ระบุว่า ณ เวลานี้ มีอย่างน้อย 78 ประเทศที่แสดงความสนใจว่าอยากเข้าร่วมในโครงการ COVAX และประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจปานกลาง และยากจนอีกกว่า 90 ประเทศ ก็จะได้เข้าร่วมโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการขององค์กร Gavi เช่นกัน แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีอีกหลายๆประเทศทั่วโลกจะตกขบวนรถไฟวัคซีนนี้ ซึ่งสถานการณ์ที่ว่ามานี้ เป็นสถานการณ์ที่ทาง Gavi พยายามจะหลีกเลี่ยงมากที่สุด
"ถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่งที่สหรัฐฯได้ทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อการพัฒนาวัคซีน แต่อย่างไรก็ตาม ความกังวลที่สุดก็คือ ณ ขณะนี้ยังไม่มีความมั่นใจได้เลยว่าวัคซีนนั้นจะสามารถเข้าไปสู่การตอบสนองความต้องการในระดับโลกได้หรือไม่" นายเซธ เบิร์คเลย์ระบุ
วิดีโอโปรโมตโครงการ COVAX (อ้างอิงวิดีโอจากช่อง Gavi, the Vaccine Alliance )
@การลงทุนครั้งใหญ่ของแต่ละหน่วยงาน
บริษัทแอสตร้า เซนเนก้า ถือได้ว่าเป็นบริษัทแรกที่ออกมาเซ็นข้อตกลงกับโครงการขององค์กร Gavi โดยรับปากว่าจะให้การสนับสนุนวัคซีนจำนวนกว่า 300 ล้านโดส เมื่อช่วงเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
ส่วนบริษัทไฟเซอร์และ BioNTech ก็ได้ส่งสัญญาณว่าพร้อมจะช่วยเหลือโครงการ COVAX เช่นกัน ขณะที่ประเทศบราซิล ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 19 รุนแรงที่สุดก็ได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าถึงวัคซีนกับบริษัทแอสตร้า เซนเนก้า และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดแล้วเช่นกัน
ส่วนทางด้านทีมที่ปรึกษาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ได้ตกลงที่จะจ่ายเงินเป็นจำนวน 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.5 หมื่นล้านบาท) เพื่อที่จะร่วมการลงทุนกับบริษัทซาโนฟี่ และบริษัทแกลกโซสมิธไคลน์ ในปฏิบัติการณ์วาร์ปสปีด โดยการจ่ายเงินนั้นจะไปสนับสนุนกระบวนการทดลองการรักษา และการผลิต ซึ่งทำให้สหรัฐฯสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างน้อย 100 ล้านโดส
ถ้าหากวัคซีนประสบความสำเร็จ และมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯจะได้รับวัคซีนเพิ่มอีก 500 ล้านโดส ในระยะยาวต่อไป
ส่วนที่สหภาพยุโรปก็ใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงในการเข้าถึงวัคซีนจำนวน 300 ล้านโดส กับบริษัทซาโนฟี่ และบริษัทแกลกโซสมิธไคลน์แล้วเช่นกัน และยังมีรายงานว่าสหภาพยุโรปยังได้มีการเจรจากับบริษัทอื่นๆหลายแห่ง เพื่อที่จะหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก
ขณะที่ประเทศจีน นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เคยกล่าวเอาไว้ตอนนหนึ่งว่าประเทศจีนนั้นถือว่ามีความก้าวหน้าทางด้านวัคซีนรวดเร็วที่สุดเช่นกัน และจะพยายามทำให้วัคซีนที่ผลิตในประเทศ กลายเป็นวัคซีนที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาคมโลกได้
ล่าสุดมีรายงานตัวเลขรวมว่าทางสหรัฐฯได้ทุ่มงบประมาณสนับสนุนโครงการวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และบริษัท BionTech อีกกว่า 1.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (60,651,825,000 บาท) เพื่อแลกเปลี่ยนกับการส่งมอบวัคซีนให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ อีก 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (49,754,400,000 บาท) ให้กับบริษัท Novanax และอีก 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (37,321,200,000 บาท) ให้กับบริษัทแอสตร้า เซนเนก้า ในการพัฒนและผลิตวัคซีนด้วย
ทั้งหมดนี้คือความคืบหน้าเกี่ยวกับการลงทุนด้านวัคซีน รวมไปถึงความพยายามของหลายๆประเทศที่ต้องทำข้อตกลงเพื่อที่จะเข้าถึงวัคซีนที่มีการพัฒนาใกล้จะสำเร็จแล้วให้ได้มากที่สุด
ส่วนประเทศไทย ความพยายามที่จะเข้าถึงวัคซีนที่ใกล้จะเสร็จสิ้นกระบวนการพัฒนาแล้วบ้างหรือไม่นั้น
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนออกมาทั้งจากทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด
เรียบเรียงเนื้อหาจาก:https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-08-02/when-it-comes-to-covid-vaccines-rich-nations-are-first-in-line
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage