“...องค์กรที่กำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย หลายภาคส่วนมองว่า องค์กรอิสระ ขาดความเป็นกลาง และไม่มีอิสระอย่างแท้จริง มีการบิดเบือนกฎหมายเพื่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม และไม่มีการเปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบางกรณี เพื่อให้สาธารณชนร่วมตรวจสอบ จนสังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในกระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย...”
ในห้วงที่ผ่านมา ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในไทย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากประเด็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ และนักการเมืองบางรายยังคงใช้เป็นช่องโหว่ในการแสวงหาผลประโยชน์ เห็นได้จากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีการชี้มูลความผิดโดยอาศัยเหตุผลดังกล่าวจำนวนหลายคดี เช่น การนำบริษัทตัวเองเข้ามารับงานภาครัฐ การนำทรัพย์สินของราชการไปใช้ส่วนตัว เป็นต้น
เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2563 สำนักวิจัย สำนักงาน ป.ป.ช. เผยแพร่งานวิจัย การสำรวจและประเมินผลความรู้ เจตคติ และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อกฎหมายว่าด้วยการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยมี ผศ.ดร.กัมปนาท วงษ์วัฒนพงษ์ เป็นหัวหน้าโครงการ น.ส.ยุวดี พ่วงรอด น.ส.รสสุคนธ์ ประดิษฐ์ นายสุเทพ คำเมฆ และนายสุมนภัศร์ คุ้มจันทร์ เป็นนักวิจัย โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงาน ป.ป.ช.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงสรุปประเด็นที่น่าสนใจให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@พบนำทรัพย์สินจากหน่วยงานมาใช้ส่วนตัวมากสุด-นักการเมืองนำโครงการลงเขตเลือกตั้งยังมีอยู่
โดยผลการศึกษาพบว่า ในภาพรวมเจ้าหน้าที่ของรัฐมีความรู้อยู่ในระดับปานกลาง ในเรื่องการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ส่วนตัว โดยกลุ่มที่มีความรู้ทางกฎหมายน้อยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติคือกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี มีระยะเวลาปฏิบัติงานไม่มาก (ต่ำกว่า 5 ปี) อย่างไรก็ดีเจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนใหญ่มีเจตคติอยู่ในระดับดีต่อกฎหมายว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์
สำหรับประเด็นหลักในเรื่องการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ พบว่า การใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานเพื่อประโยชน์ของธุรกิจส่วนตัว เป็นประเด็นที่เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่สุด ร้อยละ 33.4 รองลงมาคือการรับประโยชน์ต่าง ๆ พบเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ร้อยละ 25.7 การนำโครงการสาธารณะลงในเขตเลือกตั้งเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ร้อยละ 22.4 การทำธุรกิจกับตัวเอง ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย 21.5 การรับรู้ข้อมูลภายใน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ร้อยละ18.8 การทำงานหลังจากลาออกหรือเกษียณ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ร้อยละ 18.5 และการทำงานพิเศษ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ร้อยละ 17.6 ตามลำดับ
@ชี้องค์กรอิสระขาดความเป็นกลาง-เกรงผู้บังคับบัญชาไม่กล้าแจ้งเบาะแส
ประเด็นปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการขัดกันระหว่างผลประโยชน์นั้น คณะผู้จัดทำวิจัยพบว่า ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในหลักกฎหมาย บางครั้งตัวบทกฎหมายตีความได้ยาก หลายมุม หรือมีกฎหมายมากเกินไป ด้วยภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ทำให้ไม่มีเวลาศึกษาตัวกฎหมาย และบางครั้งผู้บังคับบัญชาไม่ส่งเสริม เนื่องจากมีส่วนได้เสียกับเรื่องดังกล่าว ดังนั้นถ้าผู้บังคับบัญชาไม่ทำตามระเบียบ ผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่กล้าแย้งคำสั่ง
นอกจากนี้ยังพบว่าผลประโยชน์ทับซ้อนส่วนใหญ่มาจากผู้บริหารหรือผู้ที่มีตำแหน่งสูง ๆ ในองค์กรมีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง มีระบบอุปถัมภ์ ระบบเครือญาติ และวัฒนธรรมการรับของฝากของขวัญ ทำให้การบริหารงานของรัฐยังมีลักษณะบุญคุณต่างตอบแทน
ขณะเดียวกันเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐรับรู้ถึงพฤติการณ์ในการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นในหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐมักไม่เปิดเผยหรือแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบ เพราะเกรงจะกระทบความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน สะท้อนวัฒนธรรมของคนไทยที่ไม่ชอบเป็นคู่ขัดแย้ง ทำให้ประสิทธิภาพการแจ้งเบาะแส (Whistle blowing) ที่เปรียบเหมือนสัญญาณกันขโมยด้อยประสิทธิภาพลงไป
ที่สำคัญความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น บุคคลที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่างกัน มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า มีการบังคับใช้กฎหมายต่างกัน ทำให้สังคมเกิดคำถามต่อความแน่นอน และความเหมาะสมในการบังคับใช้กฎหมาย
ทั้งนี้องค์กรที่กำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมาย หลายภาคส่วนมองว่า องค์กรอิสระ ขาดความเป็นกลาง และไม่มีอิสระอย่างแท้จริง มีการบิดเบือนกฎหมายเพื่อประโยชน์ของบุคคลบางกลุ่ม และไม่มีการเปิดเผยผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบางกรณี เพื่อให้สาธารณชนร่วมตรวจสอบ จนสังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในกระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย
@แนะ ป.ป.ช. ผลักดัน กม.ป้องขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยเฉพาะ-ทุกหน่วยงานต้องสร้างบรรทัดฐานใหม่
คณะผู้จัดทำวิจัย มีข้อเสนอไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. เช่น ควรผลักดันกฎหมายสำหรับป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์โดยเฉพาะ โดยกระบวนการร่างกฎหมายต้องให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะกฎหมายมิได้จำกัดสิทธิเสรีภาพบางประการของเจ้าหน้าที่รัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงญาติและบุคคลใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย
องค์กรที่มีอำนาจในการกำกับดูแล และองค์กรตรวจสอบ ต้องจัดอบรมให้ความรู้กฎหมายหรือระเบียบเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างสม่ำเสมอ และกลุ่มเป้าหมายที่ควรส่งเสริมให้ความรู้เป็นลำดับแรกคือ กลุ่มผู้มีการศึกษาน้อย หรือกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐบรรจุใหม่ เป็นต้น และควรสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดการขัดกันแห่งผลประโยชน์ โดยให้ความสำคัญกับช่องทางการเผยแพร่ที่เข้าถึงง่าย ไม่ซับซ้อน การใช้สื่อประชาสัมพันธ์ที่ทันสมัย ย่อยความรู้ให้เข้าใจง่าย
ทั้งนี้หน่วยงานทุกระดับต้องสร้างบรรทัดฐานและวัฒนธรรมองค์กร ทำให้สมาชิกเห็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเป็นเรื่องของจริยธรรมระดับหน่วยงาน มิใช่จริยธรรมส่วนบุคคล เพื่อร่วมสร้างแนวทางและมาตรการในการดำเนินการสร้างจิตสำนึกและความตระหนักรับผิดชอบร่วมกันในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รับ เพราะจากข้อมูล พบว่า หน่วยงานที่มีวัฒนธรรมเชิงจริยธรรมในองค์กร จะปฏิบัติตามกฎหมายมากกว่าหน่วยงานที่ไม่มีวัฒนธรรมจริยธรรมในองค์กร เป็นต้น
ทั้งหมดคือข้อเสนอแนะของคณะผู้จัดทำวิจัย ส่งไปถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อแก้ไขปัญหาการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ที่นับว่าจะมีความซับซ้อนมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการเมืองของไทยอย่างมาก
ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะดำเนินการ หรือมีมาตรการอย่างไร คงต้องรอติดตามกันต่อไป
อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม : https://www.nacc.go.th/files/article/attachments/2670009eb0bcf725f3d43720921de3a7e9aaa69.pdf
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก https://i.pinimg.com/736x/0e/1d/a7/0e1da7cefb5489043917f6d427195caa.jpg
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage