"...คนเราทำงานต้องให้เกียรติผู้ร่วมงาน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาในการทำงาน ใน กมธ. ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำหน้าที่ในฐานะตัดทอนงบประมาณ เพื่อให้รัฐบาลเดินได้ และช่วยประเทศประหยัด ส่วนใครที่ไม่ชัดเจนผมคงไม่ต้องแปล ไม่ตอบ เพราะเป็นมารยาท..." นายชาดา ชี้แจงเหตุผลที่ต้องนับองค์ประชุม
การประชุม กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เป็นอันต้องสะดุดและล่าช้ากว่ากำหนด หลังเกิดเหตุไม่คาดฝันเป็นปัญหา ‘ลิ้นกับฟัน’ ของพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน
เหตุเพราะเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา กมธ.ชุดนี้ องค์ประชุมไม่ครบ ทำให้ ‘วราเทพ รัตนากร’ รองประธาน ซึ่งทำหน้าที่ประธาน ต้องสั่งปิดการประชุมตั้งแต่ช่วงเย็นจากเดิมที่มีกำหนดการประชุมถึง 21.00 น.
เหตุที่ ‘องค์ประชุมไม่ครบ’ เพราะเมื่อขอนับองค์ประชุม ปรากฏว่ามีเพียง 19 ส.ส.จากพรรคพลังประชารัฐอยู่ในห้อง ส่วนพรรคร่วมรัฐบาล - พรรคฝ่ายค้าน ต่างเคลื่อนไหว ‘วอล์คเอาท์’ ออกจากห้องทันที เพื่อแสดงท่าทีคัดค้านการดำเนินการบางอย่างใน กมธ.ชุดนี้
รองประธาน กมธ.-พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ส.ส.ภูมิใจไทย ผู้เสนอให้นับองค์ประชุม ชี้แจงว่า เป็นเรื่องความชัดเจนในการทำงานซึ่งเป็นปัญหาหลัก และส่วนหนึ่งมาจากปัญหาการจัดสรรตำแหน่งประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ซึ่งโดยธรรมชาติของการทำงานต้องมีการพูดคุยกันเรื่องนี้ก่อน
"คนเราทำงานต้องให้เกียรติผู้ร่วมงาน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาในการทำงาน ใน กมธ. ไม่มีฝ่ายค้าน ไม่มีฝ่ายรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องทำหน้าที่ในฐานะตัดทอนงบประมาณ เพื่อให้รัฐบาลเดินได้ และช่วยประเทศประหยัด ส่วนใครที่ไม่ชัดเจนผมคงไม่ต้องแปล ไม่ตอบ เพราะเป็นมารยาท" นายชาดา กล่าว
(ชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.ภูมิใจไทย)
เช่นเดียวกับ ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ได้รับรายงานว่าปัญหาใน กมธ.ชุดนี้ เป็นเรื่องของการตั้งอนุ กมธ. ที่พบว่ามีการมอบหมายตำแหน่งให้เพียงกลุ่มเดียว แต่นี่เป็นระบอบประชาธิปไตยต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน เชื่อถือซึ่งกันและกัน ถ้าทำงานให้กับประชาชนร่วมกัน ใครจะมารวบและขอทำคนเดียวคงไม่ได้ และเชื่อว่า เรื่องนี้จะไม่กระทบความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล
“เรื่องนี้ไม่กระทบความสัมพันธ์ เพราะเรื่องแค่นี้ เหมือนลิ้นกับฟัน ซึ่งต้องมีบ้างที่เห็นไม่ตรงกัน ก็ต้องถอยหลังออกมา และมาทำความตกลงกัน ถ้าเข้าใจก็เดินหน้าต่อไป ซึ่งจะให้หวานกันไปตลอดก็คงไม่ใช่ แบบนี้ก็ไม่ใช่ประชาธิปไตย” นายอนุทิน กล่าว
ขณะที่ฝั่งฝ่ายค้านออกตัวไม่ขอเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เพราะมองว่าเป็น ‘ปัญหาภายใน’ ของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน ซึ่ง ‘วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล’ ที่ปรึกษา กมธ. กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นผลมาจากการที่ไม่เคยพูดคุยถึงแนวทางการทำงานที่ชัดเจน มีแต่ให้หน่วยงานชี้แจงรายวันโดยไม่มีข้อสรุป ทำให้งานในขณะนี้ล่าช้าไปมาก ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าพรรคพลัปงระชารัฐจะนั่งประธานอนุ กมธ.ทั้งหมด อาจเป็นสัญญาณที่ไม่ดีนัก เพราะโดยปกติจะเป็นไปตามสัดส่วนโควตาของพรรคการเมือง
ทั้งหมดเป็นปัญหา-ข้อถกเถียงในการจัดสรรบุคคลเข้าทำหน้าที่ใน คณะอนุ กมธ. ที่ปีนี้อาจมีประมาณ 8 คณะ ดังนี้
1.อนุ กมธ.ฝึกอบรม สัมมนา ขอบเขตการพิจารณาทุกงบรายจ่าย ทุกแผนงาน ยกเว้นแผนงานบูรณาการและแผนงานบุคลากรภาครัฐ แผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ
2.อนุ กมธ.ครุภัณฑ์ รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ขอบเขตการพิจารณาถึงรายการครุภัณฑ์ในทุกงบรายจ่าย ทุกแผนงาน ยกเว้น แผนงานบูรณาการ
3.อนุ กมธ.ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง ขอบเขตการพิจารณาถึงรยาการที่ดิน และสิ่งก่อสร้างในทุกงบรายจ่าย ยกเว้น แผนงานบูรณาการ ด้านบริหารจัดการน้ำและโลจิสติกส์
4.อนุ กมธ.จังหวัด/กลุ่มจังหวัด และแผนงานบูรณาการฯภาค ขอบเขตการพิจารณาทุกงบรายจ่าย รวมถึงแผนงานบูรณาการพัฒนาพื้นที่ระดับภาค
5.อนุ กมธ.ท้องถิ่น ขอบเขตการพิจารณาทุกงบรายจ่าย ครอบคลุมถึง องค์การบริหารส่วนจังหวัด , เทศบาลนคร , เทศบาลเมือง , กรุงเทพมหานคร , พัทยา และเงินอุดหนุนที่จัดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
6.อนุ กมธ.ด้านการศึกษา ขอบเขตการพิจารณาทุกงบรายจ่าย ยกเว้นแผนงานบุคลากรภาครัฐและแผนงานบูรณาการ
7.อนุ กมธ.แผนงานบูรณาการ ขอบเขตการพิจารณาแผนบูรณาการ 11 แผน ยกเว้น แผนบูรณาการภาค , โลจิสติกส์ และบริหารจัดการน้ำ
8.อนุ กมธ.เงินนอกงบประมาณ ขอบเขตการพิจารณาถึงหน่วยรับงบประมาณทุกหน่วยที่มีเงินนอกงบประมาณ
แม้ว่าการประชุม กมธ.งบปี 64 เพิ่งจะประชุมไปเพียง 2 สัปดาห์ แต่หลายฝ่ายมองว่า ภายใต้กรอบเวลาที่จำกัด กับปัญหา ‘ลิ้นกับฟัน’ ของพรรคร่วมรัฐบาล อาจทำให้การทำงานล่าช้าทั้งระบบ
(วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง)
เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ฝ่ายรัฐบาลตัดสินใจส่ง ‘วิรัช รัตนเศรษฐ’ ส.ส.พลังประชารัฐ และประธานคณะกรรมการประสานงานสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) เข้ามาอยู่ใน กมธ.ชุดนี้ แทนที่โควตารัฐบาลที่ ‘อุตตม สาวนายน’ ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่ง หลังยื่นหนังสือลาออกจาก รมว.คลังไปไม่นาน หวังให้ ‘วิรัช’ ที่ทำหน้าประธานวิปรัฐบาล ช่วยประสานให้การประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น
ขณะที่ประชุม กมธ. ล่าสุดมีมติเลือก ‘สันติ พร้อมพัฒน์’ รมช.คลัง ทำหน้าที่ประธานคนใหม่แทนที่ 'อุตตม' พร้อมแต่งตั้งรองประธาน กมธ. 20 คน มีที่มาจากทุกพรรคการเมือง - พร้อมสลับสับเปลี่ยนทำหน้าที่ได้ตลอดเวลา
ส่วน ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ส่งสัญญาณหลังประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ขอให้ทุกพรรคการเมือง หันหน้าหารือเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจน ทุกฝ่ายต้องไปหาวิธีการดำเนินการพูดคุยหารือว่าปัญหาเกิดจากตรงไหน อย่างไร และหาทางออกร่วมกันให้ได้ ถ้าไม่คุยกันก็ตกลงกันไม่ได้ปัญหาก็ยังอยู่แบบนี้เดินหน้าประเทศต่อไปไม่ได้
แน่นอนว่าหากการจัดทำงบปี 64 ‘ล่าช้า’ การเดินหน้าประเทศระหว่างนี้อาจจะต้อง ‘สะดุด’ และย่อมปฏิเสธได้ยากว่า ย่อมกระทบต่อการทำงานในภาพรวมของรัฐบาล ที่อาจสะเทือนถึงเสถียรภาพพรรคร่วมรัฐบาลต่อไปได้อีกในอนาคต
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/