"...การที่คณะกรรมการใช้วิธีการตรวจร่างกายโดยการจัดชุดให้ผู้เข้ารับการตรวจร่างกายเข้าตรวจร่างกายพร้อมกันหลายคนโดยแต่ละคนต้องถอดเสื้อออกจากตัว และถือไว้ในลักษณะพร้อมตรวจร่างกายเมื่อพบแพทย์ จึงเป็นวิธีการเข้าตรวจร่างกายที่ยังไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับผู้เข้ารับการตรวจร่างกายที่เป็นเพศหญิง เพราะก่อให้เกิดภาพที่ไม่สมควรและอาจเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิส่วนตัวเกินจำเป็น ..."
กรณีเยาวชนหญิงวัย 18 ปี ผู้สมัครสอบเข้าเป็นนายร้อยตำรวจหญิงถูกสั่งให้เปลือยกายเพื่อตรวจร่างกาย!
นับเป็นคดีตัวอย่างสำคัญอีกหนึ่งคดีของคนในวงการตำรวจไทย
เมื่อ ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาในช่วงปลายปี 2561 ที่ผ่านมา สั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชดใช้ค่าเสียหายเป็นวงเงิน 1 แสนบาท จากการกระทำดังกล่าวซึ่งทำให้เยาวชนหญิงรายนี้ ได้รับความอับอาย ได้รับความเสียหาย และละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
โดยเรื่องราวนี้ ถูกเปิดเผยขึ้น เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด พบว่า เยาวชนหญิงวัย 18 ปี ผู้สมัครสอบเข้าเป็นนายร้อยตำรวจหญิง เคยยื่นฟ้องร้องคดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ชดใช้ค่าเสียหาย กรณีถูกสั่งให้เปลือยกายเพื่อตรวจร่างกาย โดยมีผู้เข้าสมัครคนอื่นอยู่ในบริเวณดังกล่าวด้วย ทำให้เยาวชนรายดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีได้รับความอับอาย ได้รับความเสียหายและละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็น คดีหมายเลขดำที่ อ. 154/2559 คดีหมายเลขแดงที่ อ. 1113/2561 วันที่ 27 เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช 2561
@ เปิดคำร้องเยาวชนวัย 18 ปี ถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้าและยืนเข้าแถวเปลือยกาย
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีได้สมัครสอบคัดเลือกบุคคลภายนอก (หญิง) เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา 2555 ต่อมา วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2555 โรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านรอบแรก (ข้อเขียน) โดยผู้ฟ้องคดีมีชื่อเป็นผู้สอบผ่าน ลำดับที่ 194 และในการสอบรอบสองกำหนดให้ผู้สอบผ่านข้อเขียนเข้ารับการตรวจร่างกายและพิมพ์ลายนิ้วมือ สอบพลศึกษา วัดขนาดร่างกาย และสอบสัมภาษณ์
เมื่อผู้ฟ้องคดีเข้ารับการตรวจร่างกายปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีสั่งให้ผู้ฟ้องคดีถอดเสื้อผ้าออกทั้งหมดและยืนเข้าแถวเปลือยกายเพื่อตรวจร่างกาย โดยมีแพทย์และผู้คุมสอบอยู่ด้วย ผู้ฟ้องคดีเห็นว่ากฎและระเบียบในการตรวจร่างกายของผู้ถูกฟ้องคดีขัดต่อสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสังคมอันดีงาม และดำเนินการคัดเลือกโดยไม่เหมาะสมกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ฟ้องคดีเป็นอย่างมาก เนื่องจากในการตรวจร่างกายไม่จำเป็นต้องให้ผู้รับการตรวจเปลื้องผ้าที่ปกปิดร่างกายออก แต่สมควรดำเนินการในห้องหรือฉากกั้นที่มิดชิดมีเฉพาะผู้ตรวจกับผู้รับการตรวจเท่านั้น
แต่คณะกรรมการได้ตรวจร่างกายผู้รับการตรวจในห้องที่มีผู้รอรับการตรวจคนอื่นอยู่ด้วย ซึ่งผู้ฟ้องคดีมีอายุเพียง 18 ปี ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้ 1. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ เป็นเงินจำนวน 5,500,000 บาท 2. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีใช้สิทธิในการว่ายน้ำเป็นตัวชี้วัดความพร้อมของร่างกาย 3. ให้ผู้ถูกฟ้องคดียกเลิกการตรวจร่างกายในลักษณะเปลือยกาย โดยให้มีชุดชั้นในปกปิดร่างกาย
@ สตช. แจง ตรวจมะเร็งเต้านม
ทั้งนี้ ในคำให้การของสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อศาลปกครอง ใจความตอนหนึ่งระบุว่า กรณีผู้ฟ้องคดีอ้างว่า กระบวนการสอบคัดเลือกบุคคลภายนอกเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง ประจำปี 2555 ได้มีการออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีเข้าแถวเปลือยกาย ถอดเสื้อผ้าทุกชิ้นเพื่อให้แพทย์ตรวจร่างกายนั้น โรงพยาบาลตำรวจได้ทำการตรวจร่างกายตามแนวปฏิบัติที่ได้ตรวจร่างกายบุคคลภายนอกที่เป็นหญิงในการเข้ารับราชการตำรวจ โดยการตรวจร่างกายบุคคลภายนอกเข้าเป็นข้าราชการชั้นสัญญาบัตร ชั้นประทวน และนักเรียนพยาบาลตำรวจ ซึ่งคณะกรรมการตรวจร่างกายจะให้ผู้รับการตรวจเข้าห้องตรวจร่างกายที่มิดชิด ผู้เข้ารับการตรวจเข้าแถวตอนเรียงหนึ่ง ครั้งละ 5 คน ภายในห้องตรวจจะมีแพทย์ซึ่งเป็นเพศหญิงทำการตรวจร่างกาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจเพศหญิงทำหน้าที่เรียกผู้เข้ารับการตรวจที่ประตูห้องตรวจ
โรงพยาบาลตำรวจไม่ได้ออกคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีเข้าแถวเปลือยกายถอดเสื้อผ้าทุกชิ้นเพื่อให้แพทย์ตรวจร่างกาย แต่แพทย์ผู้ทำการตรวจสั่งให้ผู้เข้ารับการตรวจถอดเสื้อออกและปลดตะขอเสื้อชั้นใน โดยให้ผู้เข้ารับการตรวจอยู่ในท่าที่แขนแนบลำตัวเพื่อตรวจดูและสังเกตขนาดของเต้านม ผิวหนัง ลักษณะเต้านม คลำหาก้อนที่เต้านมเพื่อตรวจหาเนื้องอก ซึ่งเป็นโรคต้องห้ามในการเป็นข้าราชการตำรวจ ส่วนการตรวจร่างกายส่วนล่างได้ทำการตรวจไปพร้อมกันกับการตรวจร่างกายส่วนบน โดยแพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจปลดกางเกงถึงบริเวณเข่า แต่ผู้รับการตรวจยังคงสวมใส่กางเกงชั้นในเพื่อตรวจดูสุขภาพความสมบูรณ์ของรูปร่างลักษณะท่าทางและขนาดร่างกายว่าเหมาะสมต่อการรับราชการตำรวจหรือไม่ รวมถึงเพื่อตรวจหารอยสักทั่วร่างกาย โดยการตรวจร่างกายใช้เวลาประมาณไม่เกิน 2 นาทีต่อรอบการตรวจ หลังการตรวจจะให้ผู้เข้ารับการตรวจสวมใส่เสื้อผ้าทันที โดยผู้เข้ารับการตรวจแต่ละคนจะเห็นเพียงด้านหลังของผู้เข้ารับการตรวจที่อยู่ด้านหน้าเท่านั้น และคณะกรรมการตรวจร่างกายดำเนินการตรวจร่างกายโดยหลักวิชาการแพทย์ ด้วยความจำเป็นตามสมควร ไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี
เบื้องต้น ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีนี้
ต่อมา ผู้ฟ้องคดีจึงอุทธรณ์ ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น และให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 5,500,000 บาท
@ ประเด็นการอุทธรณ์
ใจความสำคัญ ระบุถึงวิธีการตรวจร่างกายในการสอบคัดเลือกนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง ว่าการให้ผู้รับการตรวจร่างกายถอดเสื้อทั้งหมดแล้วถือไว้เป็นการไม่เหมาะสม ยิ่งกว่านั้นปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในกลุ่มผู้เข้ารับการตรวจร่างกายมีผู้ที่มีลักษณะมิใช่เพศหญิงหรือเพศที่สามรวมอยู่ด้วย จึงเป็นการปฏิบัติต่อผู้เข้ารับการสอบคัดเลือกโดยไม่ถูกต้อง และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ฉบับเริ่มประกาศใช้จนถึงปีพุทธศักราช 2540 และพุทธศักราช 2550 และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 28 มาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 32 มาตรา 40 มาตรา 58 มาตรา 59 มาตรา 60 มาตรา 62 มาตรา 65 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 มาตรา 421 และมาตรา 423
คำอุทธรณ์ระบุด้วยว่า ผู้ถูกฟ้องคดีควรให้คณะกรรมการตรวจร่างกายปฏิบัติต่อผู้สมัครนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงอย่างรัดกุมอย่างเห็นคุณค่าของผู้สมัครสอบคัดเลือกและไม่ปฏิบัติการให้ล่วงละเมิด ซึ่งการตรวจร่างกายด้วยวิธีการดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นการขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ถือเป็นการบังคับจิตใจโดยผู้สมัครไม่ยินยอม ผู้ฟ้องคดีมีอายุ 18 ปี ย่อมเกรงกลัวต่อผู้คุมสอบที่เป็นตำรวจหญิงบอกให้รีบถอดเสื้อออกเพื่อรับการตรวจให้เสร็จโดยไว ถือเป็นการกระทำที่กระทบกระเทือนต่อสภาพจิตใจของผู้ฟ้องคดี อีกทั้งไม่ให้ผู้ปกครองให้ความยินยอมหรือรับรู้ ส่งผลต่อมารดาของผู้ฟ้องคดีที่ไม่อาจยอมรับการกระทำดังกล่าวได้ ผู้ถูกฟ้องคดีควรทำการตรวจร่างกายคราวละหนึ่งคนหรือทำการตรวจร่างกายผู้สมัครสอบคัดเลือกที่ผ่านการทดสอบจนได้รับการบรรจุเข้าทำงานแล้วน่าจะเหมาะสมกว่า การตรวจด้วยวิธีการดังกล่าวไม่ปรากฏในกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่าแพทย์ตรวจตามความจำเป็นจึงฟังไม่ขึ้น การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญและมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อเยียวยาสภาพจิตใจของผู้ฟ้องคดีในปัจจุบันและอนาคต
@ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด
คำพิพากษาระบุใจความตอนหนึ่งว่าการตรวจร่างกายได้จัดที่ห้องประชุมชินวัตร โรงพยาบาลตำรวจ ในการตรวจเจ้าหน้าที่ได้จัดให้มีการตรวจเป็นรอบ ในแต่ละรอบมีผู้เข้ารับการตรวจจำนวน 5 - 10 คน โดยแต่ละคนต้องถอดเสื้อผ้าออกเพื่ออยู่ในสภาพพร้อมตรวจกับแพทย์ทันทีเมื่อถึงคิวของตนและยืนรออยู่ที่ประตูห้องตรวจ
กรณีนี้จึงมีปัญหาต้องพิจารณาว่า รูปแบบและวิธีการจัดให้ผู้เข้ารับการตรวจร่างกายอยู่ในสภาพหรือลักษณะเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายอันเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งมีผลใช้บังคับขณะเกิดข้อพิพาท มาตรา 4 บัญญัติว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง มาตรา 26 บัญญัติว่า การใช้อำนาจโดยองค์กรของรัฐทุกองค์กรต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้
ประกอบกับมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี….การที่คณะกรรมการใช้วิธีการตรวจร่างกายโดยการจัดชุดให้ผู้เข้ารับการตรวจร่างกายเข้าตรวจร่างกายพร้อมกันหลายคนโดยแต่ละคนต้องถอดเสื้อออกจากตัว และถือไว้ในลักษณะพร้อมตรวจร่างกายเมื่อพบแพทย์ จึงเป็นวิธีการเข้าตรวจร่างกายที่ยังไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับผู้เข้ารับการตรวจร่างกายที่เป็นเพศหญิง เพราะก่อให้เกิดภาพที่ไม่สมควรและอาจเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิส่วนตัวเกินจำเป็น
เมื่อวิธีการจัดการตรวจร่างกายเช่นนั้นไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการ หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการให้กระทำได้ ประกอบกับพฤติการณ์แห่งการกระทำดังกล่าวเห็นได้ว่าขาดความระมัดระวัง และขาดมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่ผู้เข้ารับการตรวจร่างกาย จึงรับฟังได้ว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจร่างกายฯ มีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีเกินความจำเป็นอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 4 มาตรา 26 และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539
การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง นั้น ศาลปกครองสูงสุดไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ผู้ถูกฟ้องคดีชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ทั้งนี้ ให้ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา คำขออื่นให้ยก
นับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญที่ สตช. ไม่ควรปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีกโดยเด็ดขาด!
ภาพประกอบจาก https://siamrath.co.th/ และ http://clipart-library.com/https
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/