“...สตง. ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. ขณะนั้น) รายงานผลการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินโครงการอีเวนต์สร้างอนาคตไทย 2020 ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยระบุเนื้อหาสำคัญว่า การดำเนินโครงการมีแนวโน้มที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่เกิดประสิทธิภาพ หรือเกิดความสูญเปล่า ไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า และไม่เปิดโอกาสให้มีการเข้าแข่งขันราคาอย่างเปิดเผย โปร่งใส และเป็นธรรม และอาจเป็นการจัดจ้างในราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น…”
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พ่วงด้วยเอกชน 2 ราย เป็นบริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ และมีผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท 2 ราย ฐานสนับสนุน
กรณีกล่าวหาว่าดำเนินการคัดเลือกเอกชนเข้ามารับงานที่เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว ในการใช้จ่ายเงินงบประมาณจำนวน 240 ล้านบาท เพื่อดำเนินการจัดอีเวนต์ประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 (อ่านประกอบ : มติ ป.ป.ช.เอกฉันท์ฟัน‘สุรนันท์’-ข้างมากชี้มูล‘ปู-นิวัฒน์ธำรง-2 บิ๊กสื่อ’ฮั้วจัดอีเวนต์ 240 ล.)
แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบที่มาที่ไปคดีดังกล่าว ?
สำนักข่าวอิศรา สรุปให้ทราบ ดังนี้
งานอีเวนต์ดังกล่าว ชื่อเต็มคือ โครงการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ภายใต้ชื่องาน ‘Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020’ โดยเป็นส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศ ฉบับที่ .. พ.ศ. …. วงเงิน 2 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2556 สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างไรก็ดีร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทดังกล่าว ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เป็นโมฆะไปแล้ว
งานอีเวนต์ดังกล่าวถูกสื่อมวลชนหลายสำนัก นักวิชาการ ส.ส.ฝ่ายค้าน และประชาชนจำนวนมากตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการดำเนินโครงการ ที่ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ จ้างบริษัทเอกชน (สื่อยักษ์ใหญ่ 2 แห่ง) เข้ามารับงานโดยไม่เปิดเผยราคากลางผ่านเว็บไซต์ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่บังคับใช้ขณะนั้น) มาตรา 103 (7) ที่กำหนดให้มีการประกาศราคากลางในเว็บไซต์ของทุกหน่วยงาน และเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง
ประเด็นที่น่าสนใจคือ เว็บไซต์สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพิ่งเปิดเผยราคากลางโครงการนี้ภายหลังที่มีการจัดงานขึ้นไปแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่
ครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 วงเงิน 40 ล้านบาท กำหนดราคากลาง (ราคาอ้างอิง) วันที่ 30 กันยายน 2556 ตามลักษณะการจัดงานหรือการจัดกิจกรรมตามรายละเอียดขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) อ้างอิงแหล่งที่มาของราคากลางจาก 2 แหล่ง คือ สำนักงบประมาณ และสื่อในเครือบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง
ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 วงเงิน 200 ล้านบาท กำหนดราคากลาง (ราคาอ้างอิง) วันที่ 11 ตุลาคม 2556 อ้างอิงแหล่งที่มาจาก การจัดงานโครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 ณ จังหวัดหนองคาย ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2556 และจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม 2556 ซึ่งคณะกรรมการราคากลางได้กำหนดราคากลางในการจัดโครงการดังกล่าว จังหวัดละ 20 ล้านบาท (ตามหนังสือสั่งจ้าง ที่ 1/2557 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2556)
รวมวงเงินทั้ง 2 ฉบับคือ 240 ล้านบาท
ขณะที่งานอีเวนต์ดังกล่าว จัดขึ้นอย่างน้อย 12 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของไทย เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4 ต.ค.-1 ธ.ค. 2556 (อ่านประกอบ : พิลึก"รบ."ประกาศราคากลางหลังใช้“วิธีพิเศษ”จ้างอีเวนต์กม.เงินกู้2ล้านล.)
ด้วยประเด็นความไม่ชอบมาพากลเหล่านี้นำไปสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างดุเดือดในสภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (ประธานวิปฝ่ายค้าน ตำแหน่งขณะนั้น) โดยตั้งคำถามถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ 3 ประเด็น ได้แก่
1.เรื่องเงิน ที่พบว่าใช้งบประมาณมากผิดปกติ เพราะเดิมทีแต่ละปีงบประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลระหว่างปี 2548-2556 ใช้เงินทั้งสิ้น 66 ล้านบาท แต่แค่เฉพาะอีเวนต์นี้เดือนเดียวใช้เงินทั้งสิ้น 200 ล้านบาท และนำงบกลางมาใช้ด้วยอีก 40 ล้านบาท รวมเป็น 240 ล้านบาท เฉลี่ย 12 จังหวัด จังหวัดละ 20 ล้านบาท
2.เรื่องกฎหมาย โดย พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2556 ที่ผ่านมา ทำไมในโครงการดังกล่าวถึงไม่มีการเปิดเผยราคากลางในเว็บไซต์หน่วยงาน (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี) และกรมบัญชีกลาง ตามมาตรา 103/7 เนื่องจากโครงการนี้เข้าข่ายการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ใช่งานก่อสร้างทุกประเภท รวมถึงอาจผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากเป็นผู้ออกคำสั่งให้ทุกหน่วยงานประกาศราคากลางแต่กลับไม่ทำตามเสียเอง
3.เรื่องพฤติการณ์ผิดปกติ โดยเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทยังไม่ได้ผ่านสภา แต่กลับมีการอนุมัติงบประชาสัมพันธ์โครงการนี้แล้ว ถ้าหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่าน จะรับผิดชอบอย่างไรกับเงิน 240 ล้านบาทที่เสียไปแล้ว พร้อมกับเปิดคลิปวีดีโอถึง ส.ส.คนหนึ่งเสียบบัตรแทนกันในการลงมติร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท (หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา : ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่ามี ส.ส.เพื่อไทย รายหนึ่งเสียบบัตรแทนกันในการลงมติร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท จึงวินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้โมฆะไป)
“ในเว็บไซต์สำนักงานเลขาฯนายกไม่มีแน่นอน ในเว็บกรมบัญชีกลางไม่มี เพราะจัดจ้างพิเศษ และเป็นผลตอบแทนทางการเมืองแบบพิเศษ” นายจุรินทร์ ระบุไว้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2556 และมีการยื่นเรื่องให้สำนักงาน ป.ป.ช. รับไปตรวจสอบอย่างเป็นทางการ (อ่านประกอบ : เก็บตก!!ข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ"ปชป."ชำแหละงบพีอาร์สร้างชาติ 240ล.)
(นายจุรินทร์ เมื่อครั้งอภิปรายไม่ไว้วางใจ รบ.น.ส.ยิ่งลักษณ์ เมื่อปี 2556, ภาพจาก TheDMPparty)
ต่อมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลในส่วนนี้ทันที โดยเฉพาะประเด็น ความเร่งรีบในการจัดงานประชาสัมพันธ์ข้อมูลล่วงหน้า ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทดังกล่าวยังไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร และอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ (ขณะนั้น)
นอกจากนี้ สตง. ยังตั้งข้อสังเกตว่า การจัดงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล อาจไม่จำเป็นต้องว่าจ้างบริษัทเอกชนภายนอกมารับงาน ควรที่จะใช้สื่อของรัฐที่มีอยู่ในมือเป็นหลัก เช่น ช่อง 11 หรือช่อง 9 ให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ จะสามารถช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐได้มากขึ้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2557 สตง. ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. ขณะนั้น) รายงานผลการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินโครงการอีเวนต์สร้างอนาคตไทย 2020 ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยระบุเนื้อหาสำคัญว่า การดำเนินโครงการมีแนวโน้มที่จะไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่เกิดประสิทธิภาพ หรือเกิดความสูญเปล่า ไม่เกิดประโยชน์คุ้มค่า และไม่เปิดโอกาสให้มีการเข้าแข่งขันราคาอย่างเปิดเผย โปร่งใส และเป็นธรรม และอาจเป็นการจัดจ้างในราคาที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น
โดย สตง. เคยแจ้งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนในการใช้จ่ายเงินโครงการดังกล่าวแล้ว แต่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า โครงการจัดอีเวนต์นี้ เป็นการดำเนินตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อ 23 ส.ค. 2554 จึงต้องดำเนินการเร่งด่วน โดยวิธีพิเศษ เพื่อให้มีการประชาสัมพันธ์โครงการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2556 1และการปฏิบัติตามขั้นตอนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว (อ่านประกอบ : โชว์หนังสือ สตง.ฉบับเต็ม!ชง"ประยุทธ์"เช็คบิลจ้าง"สื่อ"จัดอีเวนต์ 240 ล.)
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ในการประกาศราคากลางโครงการจัดงานอีเวนต์ดังกล่าวด้วยวิธีพิเศษ พบว่ามีการอ้างอิงแหล่งที่มาราคากลางจาก 2 แหล่ง คือ สำนักงบประมาณ และบริษัทสื่อเอกชนแห่งหนึ่ง โดยในส่วนสื่อเอกชนแห่งนั้น พบว่าระบุแหล่งที่มาแยกเป็น 4 ส่วนคือ ข้อเสนอราคาของบริษัทใหญ่ ส่วนที่เหลือเป็นข้อมูลจากเว็บไซต์สื่อ 3 แห่งในเครือบริษัทใหญ่
ทำให้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมถึงไม่สืบราคาจากบริษัทเอกชนแห่งอื่นด้วย เพื่อที่จะได้นำมาใช้เปรียบเทียบข้อมูล ก่อนที่จะมีการว่าจ้าง แม้จะเป็นการใช้วิธีว่าจ้างวิธีพิเศษก็ตาม
กระทั่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้อย่างเป็นทางการ โดยมีรายชื่อผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 17 ราย แบ่งเป็น กลุ่มนักการเมือง จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ จำนวน 9 ราย ที่เกี่ยวข้องการจัดทำราคากลางและจัดซื้อจัดจ้าง และกลุ่มเอกชน จำนวน 5 ราย จากบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน แบ่งเป็นถูกกล่าวหาในนามนิติบุคคล 2 แห่ง ถูกกล่าวหาในนามผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท 2 ราย และผู้บริหารบริษัท 1 ราย
ต่อมา ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 17 ราย ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาไปแล้ว (ในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มอบหมายทนายความผู้รับมอบอำนาจส่งหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาแทน) หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ป.ป.ช. มีความเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหาในกลุ่มการเมืองทั้ง 3 ราย มีมูลความผิดทางอาญา ส่วนกลุ่มข้าราชการ 9 ราย เห็นว่า มีมูลความผิดทางวินัย แต่ไม่มีมูลความผิดทางอาญา เนื่องจากดำเนินการตามที่ฝ่ายการเมืองสั่งการ ส่วนกลุ่มเอกชน 5 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 2 แห่ง และผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท 2 ราย เห็นว่า มีมูลความผิดทางอาญาฐานสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนผู้บริหารอีก 1 ราย ไม่มีมูลความผิด เนื่องจากกระทำการตามที่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทสั่งการ
หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ ได้ส่งสำนวนพร้อมความเห็นไปยังที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา
กระทั่งช่วงต้นเดือน ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รวมถึงเอกชน 2 ราย และผู้มีอำนาจกระทำการแทนเอกชน 2 รายดังกล่าวไปแล้ว
ส่วนรายละเอียดอย่างเป็นทางการ ต้องรอ ป.ป.ช. แถลงให้ทราบโดยทั่วกันในวันที่ 22 ก.ค. 2563 เวลา 14.00 น.
หมายเหตุ : ภาพประกอบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จาก https://p3.isanook.com/
อ่านประกอบ :
มติ ป.ป.ช.เอกฉันท์ฟัน‘สุรนันท์’-ข้างมากชี้มูล‘ปู-นิวัฒน์ธำรง-2 บิ๊กสื่อ’ฮั้วจัดอีเวนต์ 240 ล.
ป.ป.ช.ชี้มูลผิดคดี'บิ๊ก'รบ.ยิ่งลักษณ์ ฮั้ว 2 สื่อใหญ่จัดอีเวนต์ 240 ล.-สัปดาห์หน้าแถลง
อนุฯ ป.ป.ช.สรุปคดี‘ปู-นิวัฒน์ธำรง-สุรนันทน์’ฮั้ว 2 บิ๊กสื่อจัดอีเวนต์ 240 ล.-กก.ชุดใหญ่ชี้ขาด
ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา ‘ยิ่งลักษณ์-สุรนันท์-นิวัฒน์ธำรง’ พวก 17ราย คดีฮั้วจัดอีเวนต์ 240 ล.
ประมวล“ข้อสังเกต-คำถาม” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ จ้างสื่อใหญ่จัดอีเวนต์ 240 ล.
เก็บตก!!ข้อมูลอภิปรายไม่ไว้วางใจ"ปชป."ชำแหละงบพีอาร์สร้างชาติ 240ล.
"สตง."ตั้งทีมติดตามข้อมูล"รบ.ยิ่งลักษณ์"จ้าง"สื่อเอกชน"จัดอีเวนต์ 240 ล.
พิลึก"รบ."ประกาศราคากลางหลังใช้“วิธีพิเศษ”จ้างอีเวนต์กม.เงินกู้2ล้านล.
ผู้ว่าฯสุราษฎร์ฯเกณฑ์คนร่วมอีเวนต์กม.เงินกู้2ล้านล.ที่ปชป.ยำใหญ่ในสภา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/