"...จากการตรวจสอบผู้ใช้น้ำ 100 ราย มีจำนวน 89 ราย สรุปได้ว่าน้ำประปามีปัญหาน้ำไม่ไหล ไหลไม่ต่อเนื่องตลอดทั้งปี น้ำไม่สะอาด ขุ่นเป็นตะกอนแดงและตะกอนขาว มีกลิ่นคลอรีน มีกลิ่นเหม็น นำมาซักล้างทำความสะอาดและใช้ดื่มกินไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของผู้บริโภค และเป็นสาเหตุให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณด้านสาธารณสุขในการดูแลสุขอนามัยของประชาชน..."
การบริหารกิจการประปา ของ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นอีกหนึ่งภารกิจงาน ที่มักมีการร้องเรียนเรื่องการให้บริการ อันเป็นผลมาจากปัญหาการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่
ล่าสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้สรุปผลการตรวจสอบการบริหารกิจการประปา สำนักการประปา เทศบาลนครแห่งหนึ่ง พบว่ามีปัญหาการผลิตน้ำประปาสะอาดไม่เพียงพอเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานน้ำบริโภค ระบบการจ่ายน้ำประปา มีปริมาณน้ำประปาสูญเสียจำนวนมาก เนื่องจากคุณภาพระบบท่อส่งน้ำมีการใช้งานมานาน ทำให้ประสบปัญหาขาดทุนสูญเสียโอกาสที่จะมีรายได้ระหว่างปีงบประมาณบางช่วงปี เป็นเงินสูงถึง 303.63 ล้านบาท
ในรายงานผลการตรวจสอบของสตง.ระบุว่า ได้เข้าตรวจสอบการบริหารกิจการประปา สำนักการประปา เทศบาลนครแห่งหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินกิจการประปาตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 เพื่อให้ประชาชนมีน้ำประปาที่สะอาดและเพียงพอในการอุปโภคบริโภค ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ
พบข้อตรวจพบที่สำคัญ ดังนี้
1. การบริหารกิจการประปาขาดประสิทธิภาพ
1.1 ขาดกฎระเบียบและแผนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ เช่น ไม่กำหนดกฎระเบียบคู่มือขั้นตอนการปฏิบัติงาน แผนที่/แผนผังที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน รวมถึงข้อมูลด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน ไม่มีแผนการปฏิบัติงานประจำปี ประจำเดือนหรือประจำวัน เพื่อกำหนดระยะเวลาการบำรุงรักษาระบบต่างๆ ไม่จดบันทึกข้อมูลที่สำคัญเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา
1.2 การควบคุมครุภัณฑ์ไม่ถูกต้องตามระเบียบฯ มีครุภัณฑ์บางรายการไม่ใช้ประโยชน์และขาดการซ่อมบำรุง ส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการและระบบการผลิต
2. การดำเนินงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์หลักของการผลิตน้ำประปา
2.1 การผลิตน้ำประปาสะอาดไม่เพียงพอเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานน้ำบริโภค ซึ่งจากการตรวจสอบผู้ใช้น้ำ 100 ราย มีจำนวน 89 ราย สรุปได้ว่าน้ำประปามีปัญหาน้ำไม่ไหล ไหลไม่ต่อเนื่องตลอดทั้งปี น้ำไม่สะอาด ขุ่นเป็นตะกอนแดงและตะกอนขาว มีกลิ่นคลอรีน มีกลิ่นเหม็น นำมาซักล้างทำความสะอาดและใช้ดื่มกินไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของผู้บริโภค และเป็นสาเหตุให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณด้านสาธารณสุขในการดูแลสุขอนามัยของประชาชน
2.2 น้ำประปาไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน เนื่องจากไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำทำให้หน้าแล้งปริมาณน้ำดิบมีไม่เพียงพอในการผลิตน้ำประปา และระบบผลิตน้ำประปาได้น้อยกว่ากำลังการผลิต ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำ ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาในการอุปโภคบริโภค
2.3 การดำเนินการผลิตน้ำประปาโดยการใช้ต้นทุนการผลิตต่ำ และพร้อมที่จะจ่ายน้ำประปาตลอดเวลา ไม่สามารถดำเนินการได้ตามวัตถุประสงค์โดยพบว่า
2.3.1 ต้นทุนการผลิตที่แท้จริงสูงกว่าราคาจำหน่ายน้ำขั้นต่ำ
จากการตรวจสอบการบริหารจัดการกิจการประปา พบว่า มีต้นทุนการผลิตสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับราคาจำหน่ายน้ำขั้นต่ำ ทำให้การบริหารกิจการประปา มีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ส่งผลให้เกิดภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ขาดงบประมาณในการพัฒนาระบบประปาให้มีคุณภาพและเพียงพอกับความต้องการของชุมชน
2.3.2 ในระบบการจ่ายน้ำประปา มีปริมาณน้ำประปาสูญเสียจำนวนมาก เนื่องจากคุณภาพระบบท่อส่งน้ำมีการใช้งานมานาน เป็นการเสียโอกาสที่ควรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำที่สูญเสีย
โดยในระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2559 มีค่าเสียโอกาสเป็นจำนวนเงิน 47.66 ล้านบาท (รายรับค่าน้ำที่ควรจะได้ คำนวณจาก ปริมาณน้ำที่สูญเสีย 23.83 ล้านลูกบาศก์เมตร X ราคาจำหน่ายน้ำขั้นต่ำ 2 บาท) เมื่อรวมถึงผลการขาดทุนจากต้นทุน การผลิตสูงกว่าราคาจำหน่ายในอัตราขั้นต่ำสุดระหว่างปีงบประมาณ พ.ศ. 2556-2559 จำนวนเงิน 255.97 ล้านบาท รวมเป็นผลขาดทุนที่สูญเสียโอกาสที่จะมีรายได้ระหว่างปีงบประมาณพ.ศ. 2556-2559 เป็นเงินทั้งสิ้น 303.63 ล้านบาท
2.3.3 รายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดเงินสดใช้จ่ายในกิจการ
2.3.4 การจัดเก็บรายได้ขาดประสิทธิภาพ มีลูกหนี้ค้างชำระค่าน้ำจำนวนมากส่งผลให้ขาดสภาพคล่องทางการเงิน ที่จะนำไปใช้หมุนเวียนในกิจการประปา
2.4 ระบบควบคุมการผลิตและสูบจ่ายน้ำแบบอัตโนมัติ (SCADA) ไม่มีการใช้งานทั้งระบบ เพื่อการควบคุมการผลิตและสูบจ่ายน้ำได้ตามวัตถุประสงค์ รวมถึงไม่มีการตั้งงบประมาณในการซ่อมแซม หรือดำเนินการใด อุปกรณ์ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทำให้ไม่สามารถดูสถานะการทำงานและควบคุมการทำงานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านระบบได้ ต้องใช้บุคลากรควบคุมการทำงานทั้งระบบการผลิต และจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็น ซึ่งบุคลากรอาจควบคุมดูแลได้ไม่ทั่วถึงอย่างสม่ำเสมอและทันเวลา การจัดเก็บข้อมูลจึงอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงทำให้สำนักการประปาฯ ขาดข้อมูลหรือมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในการบริหารกิจการประปาให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งไม่สามารถลดปริมาณน้ำสูญเสียที่เกิดจากท่อแตกหรือรั่วเนื่องจากไม่มีระบบ SCADA ช่วยในการตรวจวัดแรงดันในเส้นท่อ
เบื้องต้น สตง. ได้แจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ ให้เทศบาลนครแห่งดังกล่าว ดำเนินการดังนี้
1) ให้กำหนดกฎระเบียบและแผนการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ที่กำหนดกิจกรรมและระยะเวลาที่ชัดเจนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้มีมาตรฐานเดียวกัน ให้จดบันทึกและรายงานข้อมูลสถิติสำคัญด้านต่าง ๆ เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานรวมทั้งเก็บข้อมูลของบุคลากรในด้านความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ การฝึกอบรม เพื่อใช้วางแผนพัฒนาบุคลากรให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้มีการตรวจสอบพัสดุประจำปีและรายงานพัสดุคงเหลือทุกประเภท วางแผนนำครุภัณฑ์มาบำรุงรักษาเพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป เพื่อให้การบริหารกิจการประปา เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์ต่อประชาชน
2) จัดให้มีห้องปฏิบัติการและเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับวิเคราะห์และทดสอบคุณภาพน้ำเริ่มตั้งแต่แหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิต น้ำในกระบวนการผลิต และให้เก็บตัวอย่างน้ำประปามาทดสอบให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ให้บริการ หากพบว่าไม่ได้มาตรฐาน ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพทันที เพื่อให้น้ำประปาสะอาดปลอดภัยต่อสุขอนามัยตามมาตรฐานน้ำบริโภคของมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO)
3) ให้หาแนวทางนำน้ำดิบจากบ่อน้ำสำรองไปใช้อย่างคุ้มค่า รวมถึงให้พิจารณาดำเนินการให้มีแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในระยะยาว และการให้บริการน้ำประปานอกเขตควรคำนึงถึงศักยภาพการผลิต เพื่อลดปัญหาขาดแคลนน้ำประปาในเขตพื้นที่รับผิดชอบ นอกจากนี้ให้มีการปรับปรุงซ่อมบำรุงระบบการผลิตและระบบจ่ายน้ำประปาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน
4) ให้มีการปรับปรุงราคาจำหน่ายน้ำและค่าบริการอื่นให้เหมาะสมคุ้มทุนการผลิตเพื่อให้มีรายรับเพียงพอต่อการพัฒนาระบบประปา หาแนวทางลดปริมาณน้ำสูญเสียเพื่อลดต้นทุนการผลิต บริหารจัดการลูกหนี้คงค้างนานและประชาสัมพันธ์ให้ชำระค่าน้ำ
5) ให้กำหนดนโยบายการบริหารจัดการระบบควบคุมการผลิตและสูบจ่ายน้ำแบบอัตโนมัติ (SCADA) ให้ชัดเจน โดยพิจารณาความคุ้มค่าประสิทธิภาพการใช้งานภายหลังการซ่อมบำรุงผลการแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการดำเนินงานของหน่วยรับตรวจ
ล่าสุด เทศบาลนคร ได้มีหนังสือแจ้งว่าได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของสตง. ดังนี้
1. ดำเนินการจัดทำป้ายเตือนและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ภายในโรงกรองและโรงสูบน้ำเพื่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน สั่งการให้จดบันทึกข้อมูลสถิติต่าง ๆ ที่สำคัญเพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาอุปสรรค ให้มีการตรวจสอบพัสดุประจำปีพร้อมทั้งรายงานพัสดุคงเหลือจัดทำทะเบียนครุภัณฑ์ให้ถูกต้องตามระเบียบที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง ครบถ้วน เป็นปัจจุบันและจัดทำแผนบำรุงรักษาครุภัณฑ์เพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา
2. ดำเนินการนำตัวอย่างน้ำก่อนกรอง น้ำหลังกรอง และน้ำประปาส่งทดสอบคุณภาพปีละ 1 ครั้ง และสุ่มตัวอย่างน้ำประปา ต้นทาง และปลายทาง เพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพน้ำประปา พร้อมกับทดสอบน้ำประจำปีของบ่อน้ำดิบสำรอง และน้ำประปาต้นทาง เมื่อผลการตรวจสอบพบว่ามีค่าเกินมาตรฐานกำหนดให้รีบดำเนินการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพน้ำประปาในทันที รวมทั้งจัดซื้อชุดทดสอบเพื่อควบคุมระดับคลอรีน มีการควบคุมคุณภาพน้ำประปาให้ใสสะอาด ปลอดภัย ไม่ให้มีสารปนเปื้อนต่าง ๆ และรักษาความสะอาดในพื้นที่ผลิตน้ำประปา
3. ดำเนินการจัดทำแผนการสูบน้ำประจำปี แผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำในระยะสั้นระยะกลาง ระยะยาว และทดสอบน้ำเพื่อนำไปผลิตน้ำประปาระยะยาว และจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการประปาเพื่อแก้ไขระบบการให้บริการนอกเขตเทศบาลสั่งการตรวจสอบดูแลบำรุงรักษาเครื่องสูบน้ำและสำรองเครื่องสูบน้ำไว้เพื่อกรณีฉุกเฉินให้พร้อมใช้งาน และของบประมาณสนับสนุนเปลี่ยนท่อเมนจากเดิมท่อ AC และท่อเหล็กเป็นท่อ PVC
4. ปรับปรุงค่าจำหน่ายน้ำขั้นต่ำและประกาศใช้เพื่อจัดเก็บให้มีรายรับเพียงพอและมีสภาพคล่องทางการเงิน มีการเร่งรัดการจัดเก็บค่าน้ำที่ค้างนานเกิน 3 เดือนและเพิ่มช่องทางบริการชำระผ่านระบบ QR-Code และประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการชำระค่าน้ำประปา ให้มีการควบคุมแรงดันต้นทางสูบจ่ายน้ำให้เหมาะสมกับช่วงเวลาการใช้น้ำของประชาชนเพื่อลดแรงดันไม่ให้เกิดน้ำสูญเสีย
5. กำหนดแผนปรับปรุงระบบ SACADA ด้วยงบประมาณ 0.60 ล้านบาท เพื่อให้ใช้ประโยชน์ต่อไป
...................
หมายเหตุ : ในรายงานผลการตรวจสอบเรื่องนี้ของ สตง. มิได้ระบุชื่อ เทศบาลนคร ที่เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ สำนักการประปาที่เกิดปัญหาในการบริหารจัดการไว้เป็นทางการ จึงทำให้ สำนักอิศรา ไม่สามารถติดต่อไปยังผู้บริหาร เทศบาลนคร เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้านได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/