“...คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะใช้หน้าที่และอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม อันเป็นความผิดมูลฐานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เสียก่อน หากมีความผิดที่เกี่ยวข้องอื่นกับความผิดมูลฐานดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงจะมีหน้าที่และอำนาจชี้มูลความผิดทางวินัยอันเป็นความผิดเกี่ยวข้องกันได้…”
ประเด็นปัญหาการตีความอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่น กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง!
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ให้วินิจฉัยอำนาจหน้าที่ดังกล่าว
เนื่องจากที่ผ่านมาศาลปกครองยังคงวินิจฉัยถึงหน้าที่และอำนาจในการชี้มูลความผิดทางวินัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 และที่แก้ไขเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่น นอกจากความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ
นอกจากนี้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาบางกรณี ไม่ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาภายใน 30 วันนับแต่ได้รับเรื่อง โดยอ้างว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจชี้มูลความผิดวินัยฐานอื่นที่มิใช่ฐานทุจริตต่อหน้าที่ และอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากราชการเกิน 180 วันหรือเกิน 1 ปีแล้วไม่สามารถลงโทษได้
เบื้องต้นศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่รับคำร้อง โดยให้เหตุผลว่า เคยวินิจฉัยกรณีดังกล่าวไปแล้วเมื่อปี 2561 ยืนยันประเด็นสำคัญคือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะใช้หน้าที่และอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม อันเป็นความผิดมูลฐานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เสียก่อน (อ่านประกอบ : ศาล รธน.คอนเฟิร์ม! ป.ป.ช.ฟันวินัย จนท.รัฐผิดฐานอื่นได้-ต้องไต่สวนจากผิดเรื่องทุจริตก่อน)
เพื่อให้สาธารณชนรับทราบรายละเอียดมากขึ้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญกรณีดังกล่าว มานำเสนอ ดังนี้
คดีดังกล่าวคณะกรรมการ ป.ป.ช. ระบุว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งยังกระทบต่อการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐที่จะต้องดำเนินการสอบสวนทางวินัยผู้ถูกกล่าวหา ที่ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่นนอกจากฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ อันเป็นการดำเนินการทางวินัยที่ซ้ำซ้อน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกเหตุผลประกอบการพิจารณา 3 ส่วน ได้แก่
1.รัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐธรรมนูญปี 2550 และรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกอบ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2542 และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2561 บัญญัติยืนยันหลักการว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนและวินิจฉัยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ชัดแจ้งของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจไต่สวนและวินิจฉัยในฐานความผิดดังกล่าว
2.พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับเดิม (ปี 2542) และฉบับใหม่ (ปี 2561) บัญญัติยืนยันหลักการในการดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาตามมติการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มาโดยตลอด เมื่อพบพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้วมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัย ให้ส่งรายการและเอกสารพร้อมความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีก
3.พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับเดิม (ปี 2542) และที่แก้ไขเพิ่มเติม บัญญัติให้อำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยกคำกล่าวหาขึ้นมาไต่สวนได้ แม้ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไปแล้ว และถ้าผลการไต่สวนและวินิจฉัยปรากฏการกระทำของผู้ถูกกล่าวหามีมูลความผิดทางอาญาและทางวินัย มาตรา 91 บัญญัติให้ (1) ผิดทางวินัย ให้ดำเนินการตามมาตรา 92 และ (2) ผิดทางอาญาให้ดำเนินการตามมาตรา 97 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวแยกกระบวนการดำเนินการทางอาญา และทางวินัย อีกทั้งมาตรา 91 (1) มิได้บัญญัติว่าต้องมีมูลความผิดทางวินัยฐานทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเท่านั้น เนื่องจากความผิดทางวินัยซึ่งเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม คณะกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมมีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดได้
(อ่าน พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฉบับเดิม (ปี 2542) ประกอบ : http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%BB43/%BB43-20-9999-update.pdf)
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2)
ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาเบื้องต้นคือ มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้อง เป็นกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเกี่ยวกับปัญหาหน้าที่และอำนาจตามรัฐธรรมฯญ โดยมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ระบุว่า
(1) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนและชี้มูลความผิดทางวินัยฐานอื่นที่เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกันด้วย มิใช่เพียงความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่เท่านั้น และผูกพันผู้บังคับบัญชาที่จะต้องพิจารณาโทษทางวินัย โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีก
(2) คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดทางวินัยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน การกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
(3) เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลแล้วแม้ผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากราชการ ผู้บังคับบัญชาจะนำบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยภายใน 180 วัน หรือ 1 ปีนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากราชการ มาปฏิเสธการพิจารณาโทษทางวินัยจากการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มิได้
ศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะใช้หน้าที่และอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยชี้มูลความผิดเกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตได้ จะต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม อันเป็นความผิดมูลฐานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เสียก่อน หากมีความผิดที่เกี่ยวข้องอื่นกับความผิดมูลฐานดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงจะมีหน้าที่และอำนาจชี้มูลความผิดทางวินัยอันเป็นความผิดเกี่ยวข้องกันได้
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2561 บัญญัติชัดเจนในบทเฉพาะกาล มาตรา 192 วรรคหนึ่งว่า ในการดำเนินการตรวจรับคำกล่าวหา แสวงหาข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐาน ไต่วนและมีความเห็นหรือวินิจฉัย และการดำเนินการให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ บรรดาที่ดำเนินการไปโดยชอบอยู่แล้วตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมก่อนวันที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2561 ใช้บังคับให้เป็นอันใช้ได้ และให้ดำเนินการต่อไป
ส่วนมาตรา 192 วรรคสี่ บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและพิพากษาของศาลสำหรับคดีที่ยื่นฟ้องหรือยื่นคำร้องต่อศาลไว้แล้วก่อนวันที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ปี 2561 ใช้บังคับ ให้ถือว่า พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมยังมีผลบังคับอยู่จนกว่าคดีจะสิ้นสุด ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใดก่อนที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนดให้เป็นความผิดและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไปโดยชอบอยู่แล้วตามกฎหมายก่อน พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2561 บังคับใช้ ให้ดำเนินการต่อไป เว้นแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.จะมีมติให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2561
ประกอบกับประเด็นปัญหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ข. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาดังกล่าว มีประเด็นปัญหาเดียวกันกับประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยพิจารณาวินิจฉัยแล้วในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ 51/2561 ว่า พ.ร.บ.ป.ป.ช.ปี 2561 มาตรา 91 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีมติวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน สามารถชี้มูลความผิดทางอาญา และทางวินัยได้ ส่วนมาตรา 101 วรรคหนึ่ง เกี่ยวกับผู้ซึ่งถูกลงโทษตามาตรา 98 มีสิทธิร้องต่อศาลปกครองได้ ขณะที่มาตรา 98 วรรคสอง บัญญัติเกี่ยวกับกรณีผู้ถูกลงโทษนำคดีไปฟ้องต่อศาลปกครองโดยมิได้ฟ้องคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ศาลปกครองแจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ทราบ และมีสิทธิเข้ามาเป็นคู่กรณีด้วยได้นั้น
จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว จึงมีความชัดเจนในประเด็นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว กรณีนี้จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (2) และมาตรา 44 ได้อีก อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย
(อ่านรายละเอียดฉบับเต็ม : http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20200702135507.pdf)
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage