"...1.กรณีที่ อปท.จัดส่งข้อมูลบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหนังสือ หรือแจ้งโดยวิธีอื่นให้กับผู้เสียภาษีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 แห่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 แล้ว แต่ไม่มีผู้รับให้ถือว่าผู้เสียภาษีได้รับหนังสือนั้นแล้วเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 2.อปท. สามารถทำข้อตกลงกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือหน่วยงานอื่น ที่ประกอบการเกี่ยวกับการจัดส่งพัสดุหรือจัดส่งเอกสารต่างๆ ที่ อปท. จัดทำขึ้น และส่งให้กับผู้เสียภาษีได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามมาตรา 30 แห่งพ.ร.บ. ..."
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.ที่ผ่านมา ครม.ได้มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท พ.ศ. .... ดยลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% สำหรับปีภาษี 2563 ส่งผลให้ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจมีภาระภาษีลดลง เพื่อบรรเทาผลกระทบโควิด-19 ประกอบด้วย
1.กรณีที่ดินประกอบการเกษตร ถ้าเจ้าของเป็นบุคคลธรรมดา บทเฉพาะกาลของแห่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2563 ได้กำหนดให้ 3 ปีแรก (ปี 2563-2565) จะได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษี
แต่ถ้าเจ้าของเป็นนิติบุคคล สำหรับที่ดินมีมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราการใช้ประโยชน์ประกอบเกษตรกรรม 0.01% คิดเป็นค่าภาษี 500 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 50 บาท
2.กรณีที่อยู่อาศัย สำหรับบ้านหลังหลักที่เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นบุคคลธรรมดาและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท และกรณีเป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างแต่ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดิน จะได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 10 ล้านบาท
สำหรับบ้านหลังอื่นหากมูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตราที่อยู่อาศัย 0.02% คิดเป็นค่าภาษี 1,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ. ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 100 บาท
3.กรณีที่ดินรกร้างว่างเปล่าหรือที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ประกอบการพาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม มูลค่าราคาประเมินทุนทรัพย์ 5 ล้านบาท จะเสียภาษีในอัตรารกร้างว่างเปล่า/อัตราการใช้ประโยชน์อื่น 0.3% คิดเป็นค่าภาษี 15,000 บาท แต่เมื่อลดจำนวนภาษีตาม พ.ร.ฎ.ลดภาษีที่ดินฯ จะชำระภาษีเพียง 1,500 บาท เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ จะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 13 มี.ค.2562 และเริ่มเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เป็นต้นไปแล้ว แต่มีหลายหน่วยงานที่ต้องการทราบแนวปฏิบัติในการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ เพิ่มเติม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือตอบกลับไปยังกระทรวงมหาดไทย หลัง บุญธรรม เลิศสุขีเกษม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ใน 6 ประเด็น ดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1
การประกาศและจัดส่งข้อมูลให้แก่ผู้เสียภาษี
1.1 กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) จัดส่งข้อมูล (ภ.ด.ส.3 และภ.ด.ส.4) ให้กับผู้เสียภาษีแล้ว แต่ไม่สามารถส่งได้ด้วยเหตุไม่มีผู้รับ กรณีดังกล่าวจะถือว่า อปท. ได้ส่งข้อมูลให้ผู้เสียภาษีแล้วหรือไม่ และ อปท. สามารถดำเนินการประกาศบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อทำการประเมินภาษีในขั้นตอนต่อไป ได้หรือไม่
1.2 กรณีการจัดส่งแบบบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ภ.ด.ส.3) และแบบบัญชีรายการห้องชุด (ภ.ด.ส.4) ให้กับเจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทำประโยชน์ อปท. สามารถทำข้อตกลงกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือหน่วยงานอื่นที่ประกอบการเกี่ยวกับการจัดส่งพัสดุภัณฑ์หรือจัดส่งเอกสารต่างๆ เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวจัดพิมพ์ แบบ ภ.ด.ส.3 หรือ ภ.ด.ส.4 ให้กับผู้เสียภาษีโดยตรงได้หรือไม่ โดยการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลของผู้เสียภาษีหรือไม่
คำปรึกษาหรือคำแนะนำ
1.กรณีที่ อปท.จัดส่งข้อมูลบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นหนังสือ หรือแจ้งโดยวิธีอื่นให้กับผู้เสียภาษีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 แห่งพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 แล้ว แต่ไม่มีผู้รับให้ถือว่าผู้เสียภาษีได้รับหนังสือนั้นแล้วเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
2.อปท. สามารถทำข้อตกลงกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือหน่วยงานอื่น ที่ประกอบการเกี่ยวกับการจัดส่งพัสดุหรือจัดส่งเอกสารต่างๆ ที่ อปท. จัดทำขึ้น และส่งให้กับผู้เสียภาษีได้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามมาตรา 30 แห่งพ.ร.บ.
3.ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวต้องสอดคล้องกับข้อกำหนดภายใต้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562
ประเด็นที่ 2
กรณี อปท.ไม่สามารถปิดประกาศบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ได้ทันภายในเดือนพฤศจิกายน 2562 รวมถึงการประกาศบัญชีราคาประเมินทุนทรัพย์ได้ทันภายในเดือนมกราคม 2563 อปท. จะสามารถยื่นเรื่องขอขยายเวลาดำเนินการต่อผู้บริหารท้องถิ่นได้หรือไม่
คำปรึกษาหรือคำแนะนำ
กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ มท 0808.3/ว7475 ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2562 เรื่อง การขยายกำหนดเวลาการดำเนินการตามพ.ร.บ.แล้ว ดังนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (คณะกรรมการฯ) เห็นว่ายังไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อหารือนี้
แต่ในกรณีที่ อปท. มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลากำหนดเวลาการชำระเงินหรือแจ้งรายการต่างๆ หรือกำหนดเวลาการคัดค้านการประเมินภาษี มท. สามารถขอคำปรึกษาหรือคำแนะนำเกี่ยวกับการขอขยายระยะเวลาตามมาตรา 14 เพื่อปฏิบัติจัดเก็บภาษีจากคณะกรรมการฯ ได้
ประเด็นที่ 3
กรณี อปท. มีปัญหาในทางปฏิบัติตามมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.กำหนดให้ อปท. หารือคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัด และเมื่อคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดมีความเห็นแล้ว ให้ส่งความเห็นมายัง มท. ถ้า มท. ไม่เห็นด้วยให้ มท. หารือคณะกรรมการฯในกรณีที่คณะกรรมการฯ มีความเห็นไม่ตรงกับคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวจะมีผล นับตั้งแต่วันที่มีความเห็นหรือให้มีผลย้อนหลัง
คำปรึกษาหรือคำแนะนำ
ในกรณีที่คณะกรรมการฯ มีความเห็นไม่ตรงกับคณะกรรมการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯ ถือเป็นที่สุด และมีผลใช้ยันต่อ มท. กระทรวงการคลัง หรือกรุงเทพมหานคร แล้วแต่กรณี นับแต่วันที่หน่วยงานดังกล่าวได้รับแจ้ง เพื่อให้สอดคล้องตามมาตรา 92 แห่งพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
ประเด็นที่ 4
การปัดเศษสตางค์จำนวนเงินค่าภาษี เนื่องจากพ.ร.บ. ไม่ได้กำหนดในเรื่องการปัดเศษสตางค์ไว้ จึงควรกำหนดวิธีการในเรื่องการปัดเศษสตางค์ให้เป็นหลักการเดียวกันทั่วประเทศ
คำปรึกษาหรือคำแนะนำ
การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ควรกำหนดให้มีการปัดเศษสตางค์ แต่ให้จัดเก็บตามจำนวนเงินค่าภาษีตามที่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากพ.ร.บ.ไม่ได้ให้อำนาจไว้ ประกอบกับปัจจุบันระบบการชำระภาษีก็สามารถชำระภาษีในหน่วยสตางค์ผ่านธนาคารหรือโอนผ่านตัวกลางในระบบการเงินได้
ประเด็นที่ 5
กรณีบรรเทาภาระภาษีตามมาตรา 96 แห่งพ.ร.บ.กำหนดให้เจ้าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาที่ใช้ประกอบการเกษตรให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี 3 ปีแรกของการจัดเก็บ และกรณีเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัย ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าฐานภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาทตามมาตรา 41 แห่งพ.ร.บ.
ซึ่งบทบัญญัติ 2 มาตราดังกล่าวใช้คำว่า ‘เจ้าของ’ ไม่ได้รวมถึงผู้ครอบครองด้วย ทำให้ อปท. เกิดความสับสนว่าในความหมายของคำว่า ‘เจ้าของที่ดิน’ ว่าหมายรวมถึงที่ดินประเภทอื่นด้วยหรือไม่ และหากให้เจ้าของมีความหมายเฉพาะผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ ได้แก่ โฉนด โฉนดตราจอง หรือตราจองที่ได้ทำประโยชน์แล้ว เท่านั้น จะมีแนวทางใดในการช่วยเหลือและบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีในกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการเกษตร
คำปรึกษาหรือคำแนะนำ
1) คำว่า ‘เจ้าของ’ หมายถึง บุคคลหรือนิติบุคคลที่มีกรรมสิทธิ์ ซึ่งพิจารณาจากเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ โดยกรณีของที่ดิน คือ โฉนดที่ดิน (น.ส.4) และให้หมายความรวมถึงโฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง และตราจองที่ตราว่า ‘ได้ทำประโยชน์แล้ว’ และกรณีห้องชุด คือ หนังสือแสดงกรรมสิทธิ์ห้องชุด (อ.ช.2)
2) การยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่บุคคลธรรมดา ซึ่งใช้ประโยชน์ที่ดินในการประกอบเกษตรกรรมและใช้เป็นที่อยู่อาศัย ตามมาตรา 41 และมาตรา 96 แห่งพ.ร.บ. ไม่ครอบคลุมถึงผู้ครอบครองที่ดินหรือทำประโยชน์ในที่ดิน
ประเด็นที่ 6
กรณีที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ ตามมาตรา 14 แห่งพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 กำหนดห้ามมิให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้ เก็บหาของป่า หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เว้นแต่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยตามมาตรา 16
ดังนั้น กรณีที่ดินป่าสงวนแห่งชาติที่มีบุคคลบุกรุกเข้าไปทำประโยชน์ ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินที่กฎหมายห้ามมิให้ทำประโยชน์ตามข้อ 10 ของกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 (กฎกระทรวงๆ) หรือไม่
คำปรึกษาหรือคำแนะนำ
พื้นที่ป่าสงวนที่กฎหมายห้ามทำประโยชน์ตามพ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 มิใช่ที่ดินที่มีกฎหมายห้ามทำประโยชน์โดยเด็ดขาด เพราะเป็นที่ดินที่ทำประโยชน์ได้ แต่ต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย จึงไม่เข้าข่ายเป็นที่ดินที่มีกฎหมายกำหนดห้ามมิให้ทำประโยชน์ตามข้อ (10) ของกฎกระทรวง ดังนั้น ผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวน จึงเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามพ.ร.บ.นี้
เหล่านี้เป็นประเด็นข้อสงสัย และคำตอบที่กระทรวงมหาดไทย และ อปท. ได้รับจากคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ที่จะเริ่มต้นในปีภาษี 2563 เป็นปีแรก
อ่านประกอบ :
ลดภาษีที่ดิน 90% ลดภาระประชาชนสู้โควิด คาดรัฐเสียรายได้ 3.9 หมื่นล้าน
ไม่แก้เหลื่อมล้ำ! อนุกมธ.เสนอปรับปรุงกม.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ราชกิจจาฯประกาศ 4 ฉบับรวด กฎกระทรวงตามพ.ร.บ.ภาษีที่ดิน-เสียขั้นต่ำ 3 พัน ผ่อนได้3งวด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/