"...ในช่วงฤดูฝน ละอองจากระบบหายใจของร่างกายมนุษย์ผ่านการไอและจามซึ่งจะเป็นพาหะของไวรัสโควิด 19 นั้นจะมีความสามารถเดินทางไปได้ไกลกว่าในช่วงเวลาที่อากาศร้อนและแห้งเป็นอย่างยิ่ง หรือก็คือในช่วงอากาศร้อนนั้นไวรัสจะเดินทางไปได้ไม่ไกล เพราะละอองต่างๆจากร่างกายเรานั้นจะแห้งได้เร็วมาก ...."
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่กลับมารุนแรงในหลายประเทศทั่วโลกในขณะนี้
ในส่วนของประเทศไทย แม้จะไม่มีการติดเชื้อในประเทศติดต่อกันมาเป็นเวลา 23 วันต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่เมื่อต้นเดือน มิ.ย. ประเทศไทยได้เข้าสู่สู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมกับความกังวลด้วยว่าฤดูฝนนี้อาจจะเป็นจุดเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อรอบใหม่ก็เป็นได้
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจรายงานสื่อต่างประเทศเกี่ยวกับประเด็นของฤดูฝนกับการระบาดโควิด 19 ระลอกใหม่ พบว่าสำนักข่าว Indian Express ของประเทศอินเดีย เคยมีการนำเสนอรายงานข่าวเกี่ยวกับฤดูมรสุมกับการระบาดของโรคโควิด 19 เอาไว้
โดยมีรายละเอียดดังนี้
ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ที่ไวรัสโควิด 19 ได้เริ่มระบาดในประเทศอินเดีย มีการตั้งความหวังว่าอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อนจะบั่นทอนศักยภาพของไวรัสโควิด 19 และทำให้การระบาดช้าลง
แต่สิ่งนั้นก็ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศอินเดีย ที่ต้องเผชิญหน้ากับจำนวนผู้ติดเชื้อสูงถึงเกือบ 4 แสนราย และเสียชีวิตแล้วมากกว่า 12,000 ศพ
ปัจจุบันฤดูมรสุมกำลังโหมกระหน่ำใส่ประเทศอินเดีย พร้อมกับความเป็นไปได้ที่จะทำให้การแพร่ระบาดส่งต่อเชื้อไวรัสนั้นง่ายขึ้นไปอีก
ที่ผ่านมา มีนักวิทยาศาสตร์หลายฝ่าย ได้พยายามศึกษาถึงพฤติกรรมของไวรัสที่อาจจะเปลี่ยนไป เพราะฝนที่ตกหนักขึ้น โดยอาศัยการศึกษาจากไวรัสที่มีลักษณะคล้ายกับโควิด 19 กับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน
@ ฝนนำพามาซึ่งการระบาดของโรคหลายชนิด
ฝนที่ตกมานั้นนำพามาซึ่งการระบาดของโรคหลายชนิด ทั้งมาเลเรีย ไข้เลือดออก และโรคชิกุนกุนยา
ในกรณีของโรคไข้เลือดออก มีการศึกษาว่าเพราะปริมาณฝนที่ตกเป็นจำนวนมากในฤดูฝน จะทำให้แหล่งน้ำขัง กลายเป็นน้ำที่ไม่นิ่ง ไม่สามารถใช้เป็นแหล่งวางไข่ของยุงได้ จึงทำให้ยุงเพศเมียต้องออกจากแหล่งวางไข่และหาอาหาร ซึ่งผลก็คือปริมาณผู้ที่เป็นโรคไข้เลือดออกที่มากขึ้นในฤดูฝน
แต่ถ้าหากเปรียบเทียบกับโรคที่มีความใกล้เคียงกับโรคโควิด 19 มากที่สุดอย่างโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีลักษณะเป็นโรคที่เกิดกับระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน แบ่งตัวในมนุษย์เหมือนกัน และทั้งสองโรคนี้ก็ส่งผลกระทบร้ายแรงกับมนุษย์เหมือนกัน
นายมาร์ค อเลน วิดโดวสัน ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์เขตร้อน เมืองแอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม เคยให้ความเห็นไว้ว่า ในกรณีของโรคไข้หวัดใหญ่ และโรคอันเกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่นๆนั้น ในเวลานี้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ก็ยังคงไม่สามารถให้ความกระจ่างได้ว่า พฤติกรรมของโรคเหล่านี้เปลี่ยนไปหรือไม่ในช่วงฤดูฝน
“ในสหรัฐอเมริกา เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำนายถึงพฤติกรรมไข้หวัดตามฤดูกาล เพราะไม่มีการสรุปที่ชัดเจนว่าปัจจัยอาทิ อุณหภูมิที่เปลี่ยนไป สภาพอากาศที่มีฝนตกหนัก หรือแม้แต่พฤติกรรมการอยู่บ้านในช่วงฤดูฝนที่มากขึ้น อะไรบ้างที่จะกลายเป็นผลกระทบที่รุนแรงต่อเชื้อไข้หวัด และยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก อาทิ แสงอาทิตย์และระดับวิตามินดีในร่างกาย ก็เป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการระบาดของเชื้อเช่นกัน"
"แต่ ณ เวลานี้ยังไม่เห็นข้อมูลว่าการปนเปื้อนเชื้อโควิด 19 ที่ผิวของวัตถุต่างๆ จะเป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อไปมากกว่าการแพร่เชื้อที่เกิดจากมนุษย์สู่มนุษย์ ดังนั้นการเข้าสู่ฤดูฝนนั้น คงไม่กระทบต่อการระบาดของเชื้อที่จะเกิดจากการปนเปื้อนบนวัตถุต่างๆ”นายมาร์คระบุ
ขณะที่นายเอ็มเอส ชาดา (M S Chada) อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันไวรัสวิทยากล่าวว่าอาจจะต้องใช้เวลาหลายปีเพื่อที่จะศึกษาเกี่ยวกับความแตกต่างของฤดูกาลกับผลกระทบต่อไวรัสโควิด 19 แต่อย่างไรก็ตามการศึกษาไวรัสอาร์เอสวี(ไวรัสอันเป็นต้นเหตุของโรคในระบบทางเดินหายใจ) และโรคอื่นๆในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมของไวรัสโดยผกผันกับการฤดูกาลขึ้นจริง ดังนั้นการเฝ้าระวังและตรวจสอบไวรัสโควิด 19 ในรูปแบบเดียวกันในรอบปี เป็นระยะเวลาหลายปี ก็น่าจะทำให้ได้คำตอบถึงพฤติกรรมของไวรัสโควิด 19 กับฤดูกาลที่เปลี่ยนไป"
@ ฤดูกาลกับพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนไป
ทางด้านนายซูบจิต เซ็น นักวิทยาศาสตร์จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เมืองมุมไบ ได้ชี้แจงถึงปัจจัยอื่นๆ ว่า ณ เวลานี้มีปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่จะส่งผลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสคือ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมตามฤดูกาล (อุณหภูมิ ความชื้น และแสงอาทิตย์) 2. พฤติกรรมมนุษย์ ที่เปลี่ยนไป และ 3.โครงสร้างภายในและพฤติกรรมของไวรัส เช่น ประสิทธิภาพการติดเชื้อ,ความสามารถในการก่อโรค และการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดของไวรัสเอง
ยกตัวอย่าง ในช่วงฤดูฝนนั้น ผู้คนอาจจะใช้เวลาในสถานที่ปิดมากขึ้นเช่นที่บ้านหรือที่ทำงาน และอาจจะมีการรวมกลุ่มของผู้คนที่น้อยลง ซึ่งพฤติกรรมของมนุษย์ที่เปลี่ยนไปในฤดูฝนเช่นนี้ก็อาจจะเป็นปัจจัยทำให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในช่วงฤดูฝนนั้นมีจำนวนน้อยลงก็เป็นไปได้
มรสุมในประเทศอินเดีย (อ้างอิงวิดีโอจากช่อง India Today)
@ผลกระทบของอากาศชื้นกับไวรัส
ขณะที่สถาบันเทคโนโลยีบอมเบย์ได้ทำการศึกษาเพิ่มเติมพบว่าสภาพอากาศที่มีความชื้นในช่วงฤดูมรสุมนั้นสามารถทำให้ไวรัสมีศักยภาพในการแพร่กระจายที่รุนแรงขึ้น
โดยนักวิจัยจากสถาบันได้ศึกษาพบว่าในช่วงฤดูฝน ละอองจากระบบหายใจของร่างกายมนุษย์ผ่านการไอและจามซึ่งจะเป็นพาหะของไวรัสโควิด 19 นั้นจะมีความสามารถเดินทางไปได้ไกลกว่าในช่วงเวลาที่อากาศร้อนและแห้งเป็นอย่างยิ่ง หรือก็คือในช่วงอากาศร้อนนั้นไวรัสจะเดินทางไปได้ไม่ไกล เพราะละอองต่างๆจากร่างกายเรานั้นจะแห้งได้เร็วมาก
สอดคล้องกับการศึกษาและวิจัยจากหลายประเทศทั่วโลกที่แสดงให้เห็นว่ายิ่งมีความชื่นมากเท่าไร ก็จะเพิ่มระดับในการอยู่รอดของไวรัสโควิด 19 นอกร่างกายมนุษย์มากเท่านั้น
และอีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรจะละเลยก็คือ ฤดูฝนนั้นจะนำพามาซึ่งโรคอันเกี่ยวกับทางเดินหายใจหลายโรคมาก ซึ่งบางโรคนั้นจะมีอาการคล้ายกับไวรัสโควิด 19 ดังนั้นปัญหาที่ตามมาก็คือเมื่อโรคหวัดตามฤดูกาลที่มีผู้ป่วยมากขึ้นแล้ว ผู้ป่วยเหล่านี้ก็ต้องไปตรวจหาโรคที่โรงพยาบาลว่าตัวเองนั้นติดไวรัสโควิด 19 หรือไม่ ซึ่งสภาพการที่มีคนไปตรวจเป็นจำนวนมาก ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อศักยภาพและการใช้เวลาตรวจหาผู้ที่ติดไวรัสโควิด 19 ของหน่วยงานสาธารณสุขในแต่ละประเทศได้เช่นกัน
ฤดูฝน กับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 จึงนับเป็นประเด็นสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด
การตรวจหาไวรัสโควิด 19 ในประเทศอินเดีย (อ้างอิงวิดีโอจากช่องเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์)
เรียบเรียงจาก:https://weather.com/en-IN/india/coronavirus/news/2020-06-17-how-monsoon-season-will-impact-the-spread-of-novel-coronavirus,https://indianexpress.com/article/explained/will-monsoon-impact-coronavirus-spread-6459046/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/