“...งบประมาณที่ อปท. ขอรับเงินอุดหนุนส่วนใหญ่มีตั้งแต่ 1-8 แสนบาท บางแห่งหลักล้านบาท เช่น อบจ.เลย ของบ 18 ล้านบาทเศษ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตอบแทนสำหรับบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งปฏิบัติหน้าที่ในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น เทศบาลเมืองเวียง จ.เชียงราย ของบ 4.1 ล้านบาท เทศบาลตำบลสามัคคี จ.ยโสธร ของบ 1.49 ล้านบาท เทศบาลตำบลดงสิงห์ จ.ร้อยเอ็ด ของบ 1 ล้านบาท อบต.หนองบัว จ.หนองบัวลำภู ของบ 1.2 ล้านบาท เป็นต้น…”
เงื่อนปมปัญหาการจัดการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ภายหลังนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ต้องนำงบประมาณที่ใช้สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น ไปแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ก่อน แม้ว่ารัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเตรียมความพร้อมในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นมานานกว่า 6 เดือนแล้วก็ตาม
นายวิษณุ ระบุด้วยว่า ถ้าไม่อยากมีปัญหาเรื่องการใช้งบประมาณในการเลือกตั้งท้องถิ่น สามารถรอให้สภาผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่บรรจุงบประมาณสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ โดยจะประกาศใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2563 เป็นต้นไป (อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.dailynews.co.th/politics/780337, https://news.thaipbs.or.th/content/293607)
กางกฎหมายตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 มาตรา 27 วรรคสอง ระบุว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้คณะกรรมการมีอำนาจดำเนินการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้งภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการ กับให้มีอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดการเลือกตั้ง แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานในการเลือกตั้ง (อ่าน พ.ร.บ.กกต. : https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=3120)
สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2562 ซึ่งอยู่ในอำนาจของคณะรัฐมนตรี และกระทรวงมหาดไทย โดยเป็นไปตามมาตรา 5 ระบุว่า ในกรณีที่ กกต. มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้งให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.นี้ และบทเฉพาะกาล มาตรา 142 ที่กำหนดให้ในการเลือกตั้งครั้งแรกภายหลัง พ.ร.บ.นี้ใช้บังคับ หากคณะรัฐมนตรีเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นใด ให้แจ้ง กกต. ทราบ (อ่าน พ.ร.บ.การเลือกตั้งท้องถิ่นฯ : https://www.ect.go.th/ect_th/ewt_dl_link.php?nid=5863)
สรุปคือ การจัดเลือกตั้งท้องถิ่น จะใช้งบประมาณจากกระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานหลัก ส่วน กกต. มีหน้าที่กำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง โดยดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้ง และคัดเลือกคณะกรรมการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ในส่วนงบประมาณของ กกต. พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่า ยังเหลืองบประมาณในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นประจำปี 2563 อยู่ 800 ล้านบาทและพร้อมดำเนินการทันทีที่รัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น
งบประมาณของ กกต. นั้น คืองบประมาณในส่วนของการกำกับดูแล มิใช่งบประมาณในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ อปท.
ประเด็นคืองบประมาณในส่วนของ อปท. นั้นมีการเตรียมความพร้อมมากน้อยเพียงใดในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย พบว่า เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในการสำรวจข้อมูลตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้รายงานข้อมูลภายในวันที่ 5 มิ.ย. 2563
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น มีหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดอีกครั้ง โดยระบุว่า หลังจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นให้ อปท. รายงานงบประมาณในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น แต่พบว่า ยังมี อปท. บางแห่งส่งบันทึกแบบข้อมูลไม่ครบถ้วน และบางแห่งยังไม่ได้ส่งรายงานข้อมูลงบประมาณให้แก่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จึงให้จังหวัดตรวจสอบและรายงานผลการดำเนินการดังกล่าวภายใน 16 มิ.ย. 2563
ข้อมูลเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2563 พบว่า มีจังหวัดที่เตรียมความพร้อมครบถ้วน มี 13 จังหวัด (ไม่นับ กทม.) ส่วนจังหวัดที่ยังไม่ได้รายงานหนังสือถึงกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมี 43 จังหวัด ได้แก่ 1.กาญจนบุรี 2.กาฬสินธุ์ 3.กำแพงเพชร 4.ขอนแก่น 5.ชุมพร 6.เชียงใหม่ 7.นครนายก 8.นครราชสีมา 9.นครศรีธรรมราช 10.นครสวรรค์ 11.นนทบุรี 12.บึงกาฬ 13.บุรีรัมย์ 14.ปทุมธานี 15.ปราจีนบุรี 16.พระนครศรีอยุธยา 17.พะเยา 18.พิษณุโลก 19.เพชรบุรี 20.ภูเก็ต 21.มหาสารคาม 22.แม่ฮ่องสอน 23.ยะลา
24.ระยอง 25.ลพบุรี 26.ลำปาง 27.ลำพูน 28.ศรีสะเกษ 29.สกลนคร 30.สงขลา 31.สมุทรสงคราม 32.สมุทรสาคร 33.สระแก้ว 34.สระบุรี 35.สิงห์บุรี 36.สุพรรณบุรี 37.สุราษฎร์ธานี 38.สุรินทร์ 39.อ่างทอง 40.อำนาจเจริญ 41.อุตรดิตถ์ 42.อุดรธานี 43.อุบลราชธานี
ส่วนจังหวัดที่ยังส่งข้อมูลให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นไม่ครบมี 20 จังหวัด ได้แก่ 1.ฉะเชิงเทรา 2.ชัยนาท 3.ชัยภูมิ 4.เชียงราย 5.ตาก 6.ตรัง 7.นครปฐม 8.นครพนม 9.น่าน 10.ประจวบคีรีขันธ์ 11.พังงา 12.พิจิตร 13.เพชรบูรณ์ 14.ยโสธร 15.ระนอง 16.ราชบุรี 17.เลย 18.สมุทรปราการ 19.สุโขทัย 20.อุทัยธานี
จากการตรวจสอบพบว่า มี อปท. ประมาณ 420 แห่งที่แจ้งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นว่า มีงบประมาณไม่เพียงพอ โดยใช้จ่ายจากเงินสะสม หรือไม่มีงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น และจำเป็นต้องขอรับเงินอุดหนุนหลักแสนบาท-หลักล้านบาท โดยส่วนใหญ่อ้างว่างบประมาณไม่เพียงพอ บางแห่งระบุว่าเป็นเพราะเกิดจากสาธารณภัย หรือบางแห่งต้องนำไปใช้ในการใช้จ่ายดำเนินการเรื่อง ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น
สำหรับงบประมาณที่ อปท. ขอรับเงินอุดหนุนส่วนใหญ่มีตั้งแต่ 1-8 แสนบาท บางแห่งหลักล้านบาท เช่น อบจ.เลย ของบ 18 ล้านบาทเศษ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตอบแทนสำหรับบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งปฏิบัติหน้าที่ในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น เทศบาลเมืองเวียง จ.เชียงราย ของบ 4.1 ล้านบาท เทศบาลตำบลสามัคคี จ.ยโสธร ของบ 1.49 ล้านบาท เทศบาลตำบลดงสิงห์ จ.ร้อยเอ็ด ของบ 1 ล้านบาท อบต.หนองบัว จ.หนองบัวลำภู ของบ 1.2 ล้านบาท เป็นต้น
ขณะที่ อปท. ส่วนใหญ่ ระบุว่า มีงบประมาณเพียงพอในการจัดการเลือกตั้ง โดยใช้งบประมาณตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ หรือบางแห่งใช้งบประมาณตามข้อบัญญัติ/เทศบัญญัติ โดยต้องโอนงบประมาณจากรายการที่เหลือจ่ายหรือรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องจ่าย
ทั้งหมดคือข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ในฐานะแม่งานหลักในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ที่เห็นได้ว่า มีอีกหลายจังหวัดยังไม่พร้อมในการดำเนินการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น แม้ว่าหลายฝ่ายต้องการให้มีการเลือกตั้งในเร็ว ๆ นี้ก็ตาม ?
ท้ายที่สุดการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเริ่มคิกออฟเมื่อไหร่ คงต้องรอดูท่าทีจากรัฐบาลกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/