“...พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นเหตุให้ อบจ.จันทบุรี ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อ อบจ.จันทบุรี ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ อบจ.จันทบุรี อุทธรณ์ของนายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ฟังไม่ขึ้น…”
กรณีการเบิกจ่ายเงินโครงการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จันทบุรี ส่งเสริมนักกีฬาเข้าแข่งฟุตบอลไทยแลนด์ลีก ดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2009 (พ.ศ. 2552) วงเงิน 926,600 บาท ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภูมิภาคที่ 2 เข้าไปตรวจสอบ และพบว่า อบจ.จันทบุรี เบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้อง พร้อมกำลังมีคำสั่งให้นายก อบจ.จัทนบุรี และผู้เกี่ยวข้องต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน มีบทสรุปออกมาแล้ว
เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้นายธนภณ กิจกาญจน์ อดีตนายก อบจ.จันทบุรี และนางเยาวลักษณ์ ท่าหลวง อดีต ผอ.กองคลัง อบจ.จันทบุรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากความรับผิดทางละเมิด กรณีเบิกจ่ายเงินโครงการดังกล่าวไม่ถูกต้อง โดยเห็นว่าคำอุทธรณ์ของนายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ฟังไม่ขึ้น
เพราะเหตุใด ? สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดให้สาธารณชนทราบ ดังนี้
ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.742/2558 คดีหมายเลขแดงที่ อ.202/2563 มีนายธนภณ กิจกาญจน์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จันทบุรี และนางเยาวลักษณ์ ท่าหลวง อดีต ผอ.กองคลัง อบจ.จันทบุรี เป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1-2 กับ รมว.มหาดไทย ปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และ ผอ.การตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 2 เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-5 กรณีสั่งนายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหม กรณีการเบิกจ่ายเงินโครงการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาของ จ.จันทบุรี โดยมิชอบ วงเงิน 926,600 บาท
@สตง.พบ อบจ.จันทบุรีเบิกจ่ายเงินผิดระเบียบ-ชงเรียกค่าสินไหมทดแทน
คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในขณะที่นายธนภณ ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.จันทบุรี และนางเยาวลักษณ์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.กองคลัง อบจ.จันทบุรี มีการเบิกจ่ายเงินโครงการส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาของ จ.จันทบุรี “กิจกรรมส่งเสริมนักกีฬาเข้าแข่งขันฟุตบอลอาชีพ ไทยแลนด์ลีก ดิวิชั่น 1 ฤดูกาล 2009” จำนวน 13 ฎีกา รวมเป็นเงิน 926,600 บาท
ต่อมา สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ภูมิภาคที่ 2 ได้เข้าตรวจสอบงบการเงินของ อบจ.จันทบุรี ประจำปีงบประมาณ 2552 แล้วพบว่า โครงการดังกล่าวมีการเบิกจ่ายเงินโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ อบจ.จันทบุรี ได้รับความเสียหาย จ.จันทบุรี ได้สอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด และส่งสำนวนการสอบสวนให้กระทรวงการคลัง
ต่อมา กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วเห็นควรให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหลายราย โดยให้นายธนภณ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 รับผิดเฉพาะส่วนตนอัตราร้อยละ 10 ของค่าเสียหายดังกล่าว คิดเป็นจำนวน 92,660 บาท และให้นางเยาวลักษณ์ รับผิดเฉพาะส่วนของตนอัตราร้อยละ 25 ของค่าเสียหายดังกล่าว คิดเป็นจำนวน 231,650 บาท ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี จึงมีคำสั่งจังหวัดจันทบุรี ที่ 5954/2556 ลงวันที่ 21 มิ.ย. 2556 เรียกให้นายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเห็นของกรมบัญชีกลาง
อย่างไรก็ดีนายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ เห็นว่า การเบิกจ่ายเงินโครงการดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2556 ต่อมาอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจาก รมว.มหาดไทย มีหนังสือแจ้งขยายเวลาพิจารณาอุทธรณ์ดังกล่าวออกไปอีก 30 วัน หลังจากนั้นนายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ได้รับหนังสือ ซึ่งแจ้งคำวินิจฉัยของ รมว.มหาดไทย ยกอุทธรณ์ ทำให้นายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ไม่เห็นด้วยจึงนำคดีดังกล่าวมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น ขอให้เพิกถอนคำสั่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ รมว.มหาดไทย
อย่างไรก็ดีศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 26 มี.ค. 2557 ไม่รับคำฟ้อง กรณีนายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ยื่นฟ้องปลัดกระทรวงมหาดไทย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ ผอ.การตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 2 ไว้พิจารณา อย่างไรก็ดีคดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยรวม 2 ประเด็น ได้แก่ 1.คำสั่งจังหวัดจันทบุรี ที่ให้นายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
@ศาล ปค.ชั้นต้นยกฟ้อง เหตุคำสั่งชดใช้ค่าสินไหมเป็นไปโดยชอบ
โดยศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเป็นไปตามรูปแบบและขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญที่กฎหมายกำหนดไว้แล้ว
ส่วนกรณีนายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ กระทำการละเมิดต่อ อบจ.จันทบุรี หรือไม่นั้น ศาลปกครองชั้นต้นเห็นว่า การเบิกจ่ายเงินโครงการดังกล่าว ประเภทรายจ่ายเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการที่ไม่เข้าลักษณะหมวดรายจ่ายอื่น เป็นเงิน 926,600 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อม และการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ เช่น ค่าชุดนักกีฬา อุปกรณ์การกีฬา ค่าที่พัก เบี้ยเลี้ยง และค่าพาหนะให้แก่ผู้บริหาร และนักกีฬาสโมสรฟุตบอลจันทบุรี เป็นต้น การเบิกจ่ายให้แก่สโมสรฟุตบอลจันทบุรี ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนโดยไม่มีระเบียบให้เบิกจ่าย จึงไม่สามารถเบิกจ่ายได้ และไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบจ. ตามมาตรา 17 (18) แห่ง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542
แม้ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี จะรับฟังตามความเห็นของ สตง.ภูมิภาคที่ 2 และกรมบัญชีกลางว่า นายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ เชื่อโดยสุจริตว่าการเบิกจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการแข่งขันฟุตบอลอาชีพดังกล่าว สามารถกระทำได้ทั้งในปัญหาข้อกฎหมายและข้อเท็จจริง เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีการอนุมัติถูกต้องตามขั้นตอนก็ตาม แต่นายธนภณ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.จันทบุรี และนางเยาวลักษณ์ ดำรงตำแหน่ง ผอ.กองคลัง อบจ.จันทบุรี ต้องตรวจสอบว่ากรณีดังกล่าวเบิกจ่ายได้ตามระเบียบราชการหรือไม่ โดยวิสัยและพฤติการณ์ของผู้บังคับบัญชาสูงสุด และ ผอ.กองคลัง ย่อมต้องทำงานด้วยความระมัดระวังรอบคอบ นายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ จึงย่อมไม่อาจอ้างเพียงความเชื่อโดยสุจริตของตนได้ และต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
เมื่อปรากฏว่านายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ลงลายมือชื่อในฎีกาเบิกเงินตามงบประมาณรายจ่ายตามข้อพิพาทดังกล่าว 13 ฎีกา เป็นเงิน 926,660 บาท ว่าได้ตรวจสอบเอกสารประกอบฎีกาครบถ้วนแล้ว เพื่อเบิกจ่ายให้สโมสรจันทบุรี ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนโดยไม่มีระเบียบให้เบิกจ่ายได้ และไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ อบจ. จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ พฤติการณ์ถือได้ว่าเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อร้ายแรง เป็นเหตุให้ อบจ.จันทบุรี ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อ อบจ.จันทบุรี ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ จึงต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนแก่ อบจ.จันทบุรี
ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
@ศาล ปค.สูงสุดชี้ คำสั่งเรียกค่าสินไหมถูกต้องแล้ว
ต่อมานายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด สรุปได้ว่า การกระทำของผู้ฟ้องคดีทั้ง 2 ราย เบิกจ่ายไม่ปฏิบัติตามระเบียบราชการจริง แต่ไม่มีพฤติกรรมทุจริต เพียงแต่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเท่านั้น งบประมาณที่ อบจ.จันทบุรี เบิกจ่ายไปเพื่อการดังกล่าว จึงให้ตกเป็นพับแก่ อบจ.จันทบุรี การเบิกจ่ายในโครงการดังกล่าว เป็นการกระทำไปภายใต้มาตรา 45 (9) แห่ง พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540 รวมถึงเชื่อโดยสุจริตใจว่า การส่งนักกีฬาเข้าแข่งฟุตบอล ไทยแลนด์ ดิวิชั่น 1 ลีก 2009 สามารถกระทำได้ตาม มาตรา 17 (18) แห่ง พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 การกระทำของนายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ จึงไม่ได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อร้ายแรงทำให้ อบจ.จันทบุรี ได้รับความเสียหายตามมาตรา 240 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น และให้เพิกถอนคำสั่งชดใช้ค่าสินไหมดังกล่าว
ศาลปกครองสูงสุดวพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า คำสั่งจังหวัดจันทบุรี ที่ให้นายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ชดใช้ค่าสินไหมดังกล่าว ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ รมว.มหาดไทย ที่ให้ยกอุทธรณ์นายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
1.ประเด็นเรียกค่าสินไหมทดแทน ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อ สตง.ภูมิภาคที่ 2 พบว่าการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวไม่ถูกต้อง และนายก อบจ.จันทบุรี ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุด และผู้อนุมัติ มีส่วนเกี่ยวเกี่ยวข้องในการเบิกจ่ายเงินดังกล่าว จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วย จึงไม่อาจพิจารณาทางปกครองและตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้ และเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ในการตรวจสอบและพิจารณาทางปกครองกรณีเกิดความเสียหายต่อหน่วยงานรัฐ ดังนั้นการออกคำสั่งชดใช้ค่าสินไหมของผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีจึงทำโดยชอบ คำอุทธรณ์ของนายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ฟังไม่ขึ้น
2.ประเด็นว่านายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ กระทำการละเมิดต่อ อบจ.จันทบุรี หรือไม่ หากกระทำละเมิด ต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 5 เสนอหนังสือขอรับการสนับสนุนงบประมาณต่อนายก อบจ.จันทบุรี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการจัดการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ ไทยแลนด์ ดิวิชั่น 1 ลีก 2009 โดยหนังสือดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึงนายธนภณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.จันทบุรี และได้ลงนามเห็นชอบ ส่วนนางเยาวลักษณ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.กองคลัง ลงลายมือชื่อในฎีกาเสนอปลัด อบจ.จันทบุรี เห็นควรอนุมัติให้เบิกจ่าย เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฝึกซ้อม และการแข่งขันฟุตบอลอาชีพให้แก่สโมสรจันทบุรี
@ยันการเบิกจ่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นองค์กรเอกชน มีการเก็บเงินค่าผ่านประตู-ได้รับเงินจาก บ.ไทยพรีเมียร์ลีก
ทั้งนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า การแข่งขันฟุตบอลตามโครงการดังกล่าว มีการเก็บเงินค่าผ่านประตูจากผู้เข้าชมการแข่งขันนัดเหย้า โดยสโมสรฟุตบอลจันทบุรี เป็นผู้จัดเก็บ นอกจากนี้บริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด ซึ่งเป็นผู้จัดการแข่งขันได้สนับสนุนเงินจำนวน 3 แสนบาทให้แก่สโมสรจันทบุรีด้วย กรณีดังกล่าวจึงเป็นโครงการที่มีการจัดหารายได้ในลักษณะองค์กรเอกชนดังนั้นการที่ อบจ.จันทบุรี เบิกจ่ายเงินให้แก่สโมสรจันทบุรี ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน โดยไม่มีระเบียบกฎหมายของทางราชการให้เบิกจ่ายได้ อีกทั้งไม่อยู่ในอำนาจ อบจ.
เมื่อนายธนภณ ในฐานะนายก อบจ.จันทบุรี เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ไม่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชาว่าปฏิบัติหนน้าที่ในการเสนอโครงการเป็นไปตามระเบียบกฎหมายของทางราชการหรือไม่ และนางเยาวลักษณ์ ในฐานะ ผอ.กองคลัง อบจ.จันทบุรี ไม่ตรวจสอบว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ อบจ.จันทบุรี หรือไม่ และเบิกจ่ายได้ตามระเบียบกฎหมายหรือไม่ แม้นายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ อ้างว่า ปฏิบัติหน้าที่ไปด้วยเชื่อโดยสุจริต แต่การกระทำคือไม่ปฏิบัติตามข้อ 67 ของระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
พฤติการณ์การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นเหตุให้ อบจ.จันทบุรี ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อ อบจ.จันทบุรี ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ นายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ จึงต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ อบจ.จันทบุรี อุทธรณ์ของนายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ฟังไม่ขึ้น
สำหรับจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น เมื่อวินิจฉัยแล้วว่า นายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ ปฏิบัติหน้าที่โดยความประมาทเลินเล่อร้ายแรง อย่างไรก็ดีไม่ปรากฏว่านายธนภณ และนางเยาวลักษณ์ กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เรียกชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 10% และ 25% ดังกล่าว จึงเป็นการเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยคำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในกรณีนี้ ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 แล้ว ดังนั้นคำสั่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมาย และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ รมว.มหาดไทย ที่ให้ยกอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน การที่ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน
อ่านประกอบ :
พิจิตร ทวงผลสอบ สถ. ปม นายก อบจ.ฯ จ่ายเงินอุดหนุนทีมบอล- 'ชาติชาย' ยันโดนกลั่นแกล้ง
ฟ้องแพ่งเรียก 59 ล.! ป.ป.ช.แจง‘เมียเนวิน’ รอดขนคนเชียร์บอล-ฟันวินัยไม่ร้ายแรง จนท.
โชว์หนังสือ"สตง." จี้มหาดไทยคุมเข้ม!ก่อน"ส.กีฬาบุรีรัมย์"ใช้งบ"อบจ."ขนคนเชียร์บอล
"ชัยนาท"ต้นแบบ"บุรีรัมย์"! สตง.เชือด "อบจ." ใช้งบขนคนเชียร์ทีมกีฬา"นักการเมือง"
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/