‘สนธิรัตน์’ ปรับเกณฑ์จัดสรรเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงานใหม่ ไม่เน้น ‘ซื้อของ’ แต่ต้องเป็นโครงการที่มุ่งสร้างงาน-พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ให้อำนาจอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ที่มีปลัดพลังงาน เป็นประธาน ชงโครงการเข้าบอร์ดกองทุนฯพิจารณาโดยตรง ไม่ต้องผ่าน ‘รัฐมนตรี’ มั่นใจปิดโอกาสการเมืองแทรกแซงได้
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยแนวทางการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน ปี 2563 ว่า กระทรวงฯได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกลั่นกรองโครงการฯ ที่ยื่นขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ โดยเน้นไปที่การสนับสนุนโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่วนโครงการประเภทซื้อของแล้วจบจะให้ความสำคัญในระดับต่ำ
“เกณฑ์ใหม่ที่ว่านี้จะแตกต่างจากในอดีต คือ จะไม่เน้นซื้อของแล้วจบเหมือนในอดีตแล้ว โครงการประเภทซื้อของแล้วจบ จะเป็นโครงการที่เราให้ความสำคัญต่ำ โดยเราจะให้ความสำคัญกับโครงการที่ใช้เงินไปแล้ว ก่อให้เกิดการจ้างงาน การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และยกระดับคุณภาพชีวิต ซึ่งเกณฑ์เหล่านี้จะเป็นเกณฑ์หลักในการพิจารณากลั่นกรองโครงการฯ ของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ” นายสนธิรัตน์กล่าว
ขณะเดียวกัน กระทรวงฯยังปรับปรุงรูปแบบการกลั่นกรองฯและอนุมัติโครงการฯ โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการกองทุนฯ ที่มีรมว.พลังงาน เป็นประธาน ทำหน้าที่ในเชิงยุทธศาสตร์ นโยบาย และกำหนดทิศทางการทำงานที่สอดคล้องกับมติของคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีรองนายกฯ เป็นประธาน ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯชุดดังกล่าว จะไม่เกี่ยวข้องกับกระบวนการการกลั่นกรองและอนุมัติโครงการฯใดๆทั้งสิ้น
2.ให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ ที่มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และมีบุคคลภายนอกจากหลายหน่วยงานเข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองโครงการฯ และไม่อยู่ภายใต้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนฯเหมือนในอดีตแล้ว 3.ให้เพิ่มคณะอนุกรรมการด้านติดตามและประเมินผลโครงการฯ ที่มีศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธาน ทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลโครงการ
และ4.เพิ่มเติมคณะอนุกรรมการฯปรับปรุงโครงสร้างสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน เพื่อทำให้สำนักงานกองทุนฯมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ในการพิจารณาหรือดำเนินการในภารกิจที่กองทุนอนุรักษ์ฯรับผิดชอบ
“เราได้เพิ่มคณะอนุกรรมการด้านติดตามและประเมินผลเข้ามา เพราะต้องการให้ทุกเม็ดเงินที่ได้รับจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน มีการติดตามตรวจสอบ ประเมินผล โดยเฉพาะโครงการในกลุ่มเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งจะเน้นการวัดผลว่าก่อนและหลังโครงการลงไปเกิดผลอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องใหม่มากของกองทุนอนุรักษ์ฯ ต่างจากในอดีตที่เราไม่ค่อยติดตาม ทำให้เกิดปัญหาว่ามีการส่งมอบโครงการไม่ได้” นายสนธิรัตน์กล่าว
สำหรับหน่วยงานที่มีสิทธิ์ยื่นโครงการฯเพื่อขอรับงบสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1.การเสนอของบฯในนามหน่วยงานทั่วไป เช่น ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน และ2.การเสนอของบฯในนามคณะกรรมการระดับจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน เช่น การลงทุนเรื่องพลังงานชุมชน เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากหรือที่เรียกว่า ‘สถานีพลังงาน’
นายสนธิรัตน์ ยังระบุว่า วันนี้ (18 พ.ค.) เป็นวันสุดท้ายของการเปิดให้หน่วยงานต่างๆยื่นโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ ซึ่งกำหนดให้ยื่นทางอิเล็กทรอนิกส์ และในวันพรุ่งนี้ (19 พ.ค.) คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ที่มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จะประชุมเพื่อกำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์การกลั่นกรองโครงการฯ ตามหลักเกณฑ์ใหม่ จากนั้นจะทำการคัดกรองโครงการฯ ก่อนเสนอคณะกรรมการกองทุนฯที่มีรองนายกฯ เห็นชอบต่อไป
“จะเห็นว่ากระบวนการทั้งหมดปีนี้นั้น เป็นกระบวนการที่ทำให้ไม่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อการดำเนินงานของกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯ และผู้บริหารทั้งหมดมีความตั้งใจที่จะทำให้การบริหารกองทุนฯในปีนี้ มีความโปร่งใส ชัดเจน ตรวจสอบได้ และปีนี้เป็นปีแรกที่โครงการใดๆก็ตามที่ได้รับการอนุมัติ จะนำขึ้นเว็บไซต์ เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้สาธารณะเข้าไปติดตามตรวจสอบได้ว่าโครงการต่างๆตรงตามเงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่” นายสนธิรัตน์กล่าว
นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีความกังวลใจว่าจะมีการเมืองเข้าไปแทรกแซงการใช้เงินกองทุนอนุรักษ์ฯ ของยืนยันว่า ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามที่ใช้อำนาจการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกองทุนอนุรักษ์ฯ หากมีเบาะแสขอให้ร้องเรียนเข้ามา ตนจะดำเนินการทันทีและจะไม่เปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจอื่นเข้ามาแทรกแซงการพิจารณาจัดสรรงบของกองทุนฯ เพื่อให้การใช้เงินกองทุนฯทุกบาททุกสตางค์เกิดประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของกองทุน
นอกจากนี้ หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรเงินจากกองทุนอนุรักษ์ฯไปในอดีต แต่ปรากฎว่าโครงการมีปัญหาและมีการร้องเรียน จะต้องชี้แจงปัญหาต่างๆให้ชัดเจนก่อนจึงจะได้รับจัดสรรเงินก้อนใหม่ หรือในปีนี้หน่วยงานต่างๆที่ได้รับจัดสรรงบต้องรับผิดชอบตัวเอง เพราะหากโครงการมีปัญหาปีหน้าจะไม่ได้รับจัดสรรเงินอีก
เมื่อถามว่า โครงการเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์จะได้รับพิจารณาจัดสรรงบจากกองทุนหรือไม่ นายสนธิรัตน์ กล่าวว่า คงต้องขึ้นอยู่กับคณะอนุกนรรมการกลั่นกรองฯว่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไร แต่หากเป็นเครื่องสูบน้ำโซลาร์เซล ต้องไปดูว่าสูบน้ำบาดาลขึ้นมาแล้วเอาไปทำอะไร ได้ประโยชน์แค่ไหน และหากเป็นโครงการที่เข้าช่วยแก้ปัญหาภัยแล้งน่าจะต้องเข้าตามหลักเกณฑ์ แต่จะต้องอยู่ในพื้นที่มีน้ำบาดาลและประสบปัญหาภัยแล้งด้วย
นายสนธิรัตน์ ยังกล่าวว่า ล่าสุดมีหน่วยงานยื่นขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนอนุรักษ์ฯแล้ว 2 หมื่นล้านบาท จากกรอบวงเงินที่ได้รับจัดสรรในปีนี้ 5,600 ล้านบาท โดยคณะอนุกรรมการฯจะใช้เวลากลั่นกรองโครงการประมาณ 1 เดือน จากนั้นจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เป็นประธาน พิจารณาเห็นชอบ และทุกโครงการจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่เดือนก.ค.63 เป็นต้นไป
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ จะเร่งจัดทำหลักเกณฑ์การกลั่นกรองโครงการฯให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และทยอยอนุมัติโครงการฯให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนมิ.ย. จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการกองทุนฯพิจารณาก่อนวันที่ 1 ก.ค. เพื่อให้ทุกโครงการเริ่มดำเนินการในเดือนก.ค.เป็นต้นไป และเพื่อให้การพิจารณาโครงการเป็นไปอย่างรวดเร็ว จะใช้วิธีพิจารณาเป็นรายจังหวัด
อ่านประกอบ :
จับตา 'กองทุนอนุรักษ์พลังงาน' ยุค พปชร. วิจารณ์แซด ‘ชงเองกินเอง’?
ย้อนรอย ‘กองทุนอนุรักษ์พลังงาน’ มีการเมืองล้วงลูก ‘ชงเองกินเอง’ จริงหรือ?
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage