"...คำว่าซุปเปอร์สเปรดเดอร์นั้น หายไปจากการนำเสนอของสื่อได้สักพักใหญ่แล้วในช่วงเวลาที่การระบาดนั้นอยู่ในอัตราที่สูง เพราะในช่วงเวลานั้นการมีผู้ติดเชื้อแล้วไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่น ไม่ได้สร้างความแตกต่างกับภาพรวมการติดเชื้อทั้งหมด แต่ในช่วงเวลาที่อัตราการติดเชื้อกลับมาต่ำอีกครั้งหนึ่ง การติดเชื้อครั้งใหญ่จากซุปเปอร์สเปรดเดอร์เพียงแค่ครั้งเดียวนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างครั้งใหญ่ให้กับสถานการณ์ได้นั่นเอง..."
ณ เวลานี้ แม้ว่าหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจะสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัสภายในประเทศ โดยไม่ให้เกิดกรณีการระบาดใหม่ได้แล้วในระดับหนึ่ง
แต่ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกต่างก็ยังมีความเป็นกังวลถึงการระบาดระลอกที่ 2 ที่อาจจะตามมาในเร็วๆนี้ เห็นได้จากกรณีที่ประเทศญี่ปุ่น และประเทศเกาหลีใต้ ที่จำนวนผู้ป่วยใหม่เริ่มจะกลับมาพุ่งสูงในระดับเกือบหลัก 50 รายต่อวันแล้ว
คำถามสำคัญ คือ ปัจจัยที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคระลอก 2 มีอะไรบ้าง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศ พบว่ามีสื่อหลายประเทศนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับหนทางการเกิดกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคระลอก 2 ในหลายปัจจัยดังนี้
@ ปัจจัย R ด้านจำนวนผู้ผลิตเชื้อกับกรณีซุปเปอร์สเปรดเดอร์
สำนักข่าว France24 ของฝรั่งเศส ได้รายงานข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดที่ประเทศเยอรมนี ว่า หลังจากที่มีการปลดล็อกมาตรการปิดเมืองได้ไม่นาน ก็เกิดเหตุซุปเปอร์สเปรดเดอร์ หรือก็คือกรณีที่ผู้แพร่เชื้อกลุ่มหนึ่ง ไปแพร่เชื้อต่อบุคคลอื่นทำให้เกิดการติดเชื้อโควิด เป็นจำนวนมากนับ 100 ราย ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากการทำกิจกรรมทางศาสนาที่โบสถ์แห่งหนึ่งในเมืองแฟรงเฟิร์ต และอีกไม่กี่วันถัดมาที่รัฐโลว์เออร์แซกโซนี ก็มีผู้ติดเชื้อใหม่จำนวน 20 ราย จากร้านอาหารเล็กๆแห่งหนึ่ง ที่กำลังทำกิจกรรมการฉลองที่ร้านได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง
ส่งผลทำให้ทางการเยอรมนีค่อนข้างจะกังวลว่าทั้งซุปเปอร์สปรดเดอร์และการติดเชื้อครั้งใหญ่ จะนำไปสู่การระบาดครั้งใหญ่ครั้งที่ 2 ตามมาหรือไม่
“คำว่าซุปเปอร์สเปรดเดอร์นั้น หายไปจากการนำเสนอของสื่อได้สักพักใหญ่แล้วในช่วงเวลาที่การระบาดนั้นอยู่ในอัตราที่สูง เพราะในช่วงเวลานั้นการมีผู้ติดเชื้อแล้วไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่น ไม่ได้สร้างความแตกต่างกับภาพรวมการติดเชื้อทั้งหมด แต่ในช่วงเวลาที่อัตราการติดเชื้อกลับมาต่ำอีกครั้งหนึ่ง การติดเชื้อครั้งใหญ่จากซุปเปอร์สเปรดเดอร์เพียงแค่ครั้งเดียวนั้นจะกลายเป็นสิ่งที่จะสร้างความแตกต่างครั้งใหญ่ให้กับสถานการณ์ได้นั่นเอง”นาย Jean-Stéphane Dhersin รองผู้อำนวยการสถาบันด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศสและผู้เชี่ยวชาญด้านรูปแบบการแพร่ระบาดกล่าว
นาย Jean-Stéphane Dhersin รองผู้อำนวยการสถาบันด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์แห่งชาติฝรั่งเศส (อ้างอิงรูปภาพจาก Dailymotion)
ในเชิงวิทยาศาสตร์นั้น มีคำว่าปัจจัย R ที่เป็นตัวย่อของคำว่าการผลิตตัวของเชื้อไวรัสขึ้นมา ซึ่งปัจจัย R นั้นก็คือจำนวนของสเปรดเดอร์ หรือ ผู้คนที่ติดเชื้อโควิด ที่จะมีโอกาสไปแพร่เชื้อให้กับคนใหม่ๆได้อีกกี่คน และเป็นสิ่งที่จะช่วยตามรอยทิศทางการแพร่ระบาดได้ ซึ่งถ้าปัจจัย R เริ่มมากกว่า 1 ขึ้นไปเรื่อยๆ ก็หมายความว่าทิศทางการแพร่ระบาดนั้นก็จะมากขึ้นจนยากที่จะควบคุมตามไปด้วย
ขณะที่ นาย Olivier Véran รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขฝรั่งเศส เคยอธิบายไว้ว่า ถ้าปัจจัย R นั้นสูงกว่าเลข 1 ก็หมายความว่าคนไข้จะทำให้คนอื่นติดเชื้อมากกว่า 1 คน ก็มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ตามมา แต่ถ้าหากปัจจัย R นั้นน้อยกว่า 1 ก็หมายความว่าไม่มีความเสี่ยงที่ผู้ติดเชื้อจะไปแพร่เชื้อจนทำให้เกิดผู้ติดเชื้อกลุ่มใหม่ขึ้นมา และจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีอยู่ลดลงตรงนี้ก็จะทำให้ไวรัสนั้นอาจจะถึงขั้นหายไปในที่สุด
ซึ่งตามหลักแล้วการระบาดของโรคนั้นจะทะยานพุ่งสูงขึ้นด้วย ดังเช่นที่เกาหลีใต้ มีผู้ติดเชื้อเพียงแค่คนเดียวเท่านั้นในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่กลับผลิตเชื้อและแพร่กระจายไปได้ถึงกว่าร้อยคน หรือที่อิตาลี ที่พบว่าเกิดการระบาดได้อย่างรวดเร็วที่เมืองเบอร์กาโม หรือแม้แต่ในประเทศไทยเองก็เคยพบเชื้อระบาดที่สนามมวยลุมพินี ในช่วงปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา และพบการระบาดที่ค่อนข้างจะรวดเร็ว
ตัวอย่างปัจจัยการแพร่เชื้อของโรคโควิด 19 จะอยู่ที่ 1 คน ต่อ 2.5 คนเป็นอย่างน้อย (อ้างอิงรูปภาพจาก:The Business Insider)
@ ปัจจัย R สู่ปัจจัย K :ความสามารถในการแพร่เชื้อไปยังกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ๆ
ทั้งนี้ การประเมินความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อไวรัสจากการสัมผัสกับผู้ติดเชื้อครั้งใหญ่นั้น สิ่งสำคัญ ก็คือ ต้องดูที่ปัจจัย K ประกอบกับปัจจัย R ด้วย
โดยปัจจัย K นั้นหมายถึงอัตราที่ผู้ติดเชื้อที่เกิดขึ้นมานั้นจะมีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อไปยังกลุ่มประชากรใหม่ๆได้มากขึ้นหรือไม่ หรือว่าจะลดลงไปเรื่อยๆ ซึ่งถ้าปัจจัย K นั้นลดลงไปเรื่อยๆด้วย นั้นก็หมายความว่าผู้แพร่เชื้อกลุ่มใหม่นั้นน้อยลงตามไปด้วยเช่นกัน
หรือสรุปก็คือปัจจัย R นั้นคือผู้ที่ผลิตและกระจายเชื้อ และปัจจัย K คือความสามารถในการแพร่เชื้อไปสู่กลุ่มใหม่ๆของคนที่ติดเชื้อนั่นเอง
โดยไข้หวัดตามฤดูกาลนั้นจะมีปัจจัย K อยู่ที่ 1 ซึ่งก็หมายความว่าผู้แพร่เชื้อมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อได้ต่อกันไปในกลุ่มใหม่เรื่อยๆ ในอัตราที่เท่ากัน
ส่วนการระบาดของโรคซาร์สเมื่อปี 2545 นั้น ปัจจัย K จะอยู่ที่ 0.16 ซึ่งถือว่าต่ำมาก แต่พอมาถึงเชื้อโควิด 19 ตัวเลขของปัจจัย K กลับขึ้นอยู่หลายปัจจัยมาก
ในเอกสารวิจัยของทีมนักวิจัยจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นระบุว่ าความน่ากลัวของโรคโควิด นั้นอยู่ที่การผู้แพร่เชื้อ 1 คน ซึ่งไม่แสดงอาการจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่กลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ๆที่ทำให้โรคนั้นดูน่ากลัวมากกว่าจำนวนผู้ที่ติดและแพร่เชื้อได้
ส่วนที่ประเทศอังกฤษ ทีมจากวิทยาลัยการแพทย์ลอนดอน ในด้านสุขอนามัยและเวชศาสตร์เขตร้อน ได้ออกมาประเมินว่า ปัญหาการติดเชื้อทั่วประเทศอังกฤษที่ผ่านมานั้นเกิดจากการที่มีกลุ่มที่ผลิตเชื้อและแพร่เชื้อออกไปนั้นมีอัตราอยู่แค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่กลับสามารถแพร่เชื้อแบบส่งต่อกันไปเรื่อยๆ ให้กับประชากรอื่นๆที่ติดเชื้อได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น หมายความว่า ถ้าหากมาตรการปิดเมืองสิ้นสุดลง ก็อาจจะเกิดกรณีของผู้ที่ติดเชื้อ ที่แม้มีแค่เพียง 1 คน ก็อาจจะกลายเป็นพาหะไปแพร่เชื้อไปยังคนอื่นๆอีกได้เป็นจำนวนมาก
“คุณสมบัติเฉพาะของโรคโควิด-19 ทำให้นักวิจัยค่อนข้างติดตามได้ยากว่าขณะนี้ มีอัตราการแพร่เชื้อไปยังกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ๆบ้างหรือไม่ ซึ่งคำว่าซุปเปอร์เสรดเดอร์นั้นที่ผ่านมาจะใช้ก็ต่อเมื่อนักวิทยาการระบาดพยายามที่จะตามรอยการแพร่เชื้อในหมู่ประชากร ซึ่งถ้าเป็นโรคซาร์สนั้น ปัจจัยการติดตามเชื้อเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จำเป็นเลยเพราะอาการของโรคที่แสดงออกมาเร็วมาก แต่พอมาเป็นโรคโควิด ก็กลับมีความยุ่งยากและซับซ้อนตามมาในการตามรอยกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ๆขึ้นมาอีก” นาย Jean-Stéphane Dhersin กล่าว
หรือสรุป ก็คือ การที่โรคโควิด นั้นมีอัตราการแสดงอาการที่น้อยและค่อนข้างช้าก็ทำให้การระบาดไปสู่กลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ๆนั้นเป็นเรื่องง่ายมาก
@ ปัจจัยสภาวะแวดล้อม
ในขณะที่มีการตั้งคำถามสำคัญประการหนึ่ง ว่า ใคร คือ ผู้แพร่กระจายเชื้อ และเหตุใดพวกเขาถึงสามารถกระจายเชื้อให้ไปติดคนอื่นได้มากกว่าผู้ติดเชื้อทั่วๆไป
การเฝ้าระวังดูว่าสภาวะแวดล้อมแบบใดแบบหนึ่งนั้นอาจจะเอื้อให้กับการแพร่กระจายของเชื้อโควิดได้เป็นจำนวนมาก ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
เช่น สถานที่ที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก และผู้คนต้องอยู่ใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน เช่นกรณีไนต์คลับที่อิแทวอน เกาหลีใต้ หรืออย่างสกีรีสอร์ทอิชกิล ประเทศออสเตรียที่กลายเป็นจุดแรกเริ่มของการแพร่ระบาดในยุโรป และกรณีโบสถ์ที่เมืองแฟรงเฟิร์ต เป็นต้น
นักวิทยาศาสตร์ ได้ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า บุคคลที่เป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ได้นั้นอาจจะมีภูมิคุ้มกันร่างกายที่อ่อนแอหรืออาจจะอยู่ในภาวะการป่วยระยะเริ่มแรกอยู่แล้ว ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้จำนวนไวรัสที่เข้าสู่ร่างกายจะมีมากขึ้นตามไปด้วย ส่งผลทำให้การแพร่เชื้อต่อผู้อื่นมากขึ้นตามมาอีก
นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์ด้วยว่าอีกปัจจัยของการแพร่กระจายเชื้อนั้นก็มาจากการที่ผู้ติดเชื้อแต่ละคนอาจจะมีพฤติกรรมการหายในเร็วและลึกเกินไปก็อาจจะเป็นเหตุทำให้เชื้อกระจายออกมาได้เช่นกัน
@ ปัจจัยด้านสภาพอากาศ
ส่วนที่ประเทศอินเดียที่กำลังประสบปัญหาการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของเชื้อโควิดนั้น มีการคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสอาจจะเกิดการกลายพันธุ์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุมที่กำลังจะมาถึงนี้ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่จะทำให้ตัวเลขการระบาดในประเทศอินเดียนั้นเพิ่มสูงขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม การประเมินสถานการณ์การกลายพันธ์ุและการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในช่วงฤดูมรสุมนั้น ณ เวลานี้ยังป็นแค่การคาดการณ์จากประวัติการระบาดของโรคไข้หวัดตามฤดูกาลในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่พบว่าจะมีการระบาดและกลายพันธ์ุในช่วงฤดูมรสุมนี้เท่านั้น
แต่ไวรัสโควิด 19 นั้นถือได้ว่าเป็นโรคอุบัติใหม่ จึงทำให้ยังไม่สามารถตอบได้ว่า เมื่อฤดูฝนมาถึงแล้วสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด จะรุนแรงขึ้นอีกหรือไม่
แต่ปัจจัยที่กล่าวไปทั้งหมด ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกรณีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคระลอก 2 เป็นอย่างมาก ซึ่งไม่ควรมองข้ามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเด็ดขาด!
เรียบเรียงบางส่วนจาก:https://www.france24.com/en/20200530-covid-19-super-spreaders-risk-causing-second-waves,https://www.orfonline.org/expert-speak/will-the-coming-monsoons-result-in-a-spike-in-covid19-cases-in-india-67072/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/