"...ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ของประเทศออสเตรเลียนั้น ยังคงมีการเปิดโรงเรียนอยู่ ปรากฏว่ามีกรณีการติดเชื้อเกิดขึ้น 18 ราย ใน 15 โรงเรียนทั่วรัฐ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าในหมู่เด็กจำนวน 735 ราย ที่ได้ไปสัมผัสกับผู้ป่วยจำนวน 18 รายซึ่งเป็นเด็กนั้น พบว่ามีแค่ 2 รายเท่านั้นที่ติดเชื้อโควิดเพิ่มเติม ในขณะที่ บุคลากรโรงเรียนจำนวนกว่า 128 ราย ที่ได้ไปสัมผัสกับเด็กที่ป่วยนั้น ก็ไม่พบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มแต่อย่างใด..."
หนึ่งในประเด็นเกี่ยวกับการคลายล็อกสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ที่ยังไม่มีใครให้คำตอบได้ชัดเจนในเวลานี้ ก็คือ เมื่อเด็กนักเรียนนักศึกษา กลับเข้าไปเรียนหนังสือตามปกติแล้ว จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในโรงเรียนหรือสถานศึกษาที่รุนแรงตามมาได้หรือไม่
แท้จริงแล้วการกำหนดเปิดภาคเรียนควรเป็นช่วงเวลาใดกันแน่?
ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บบล็อก The Conversation ซึ่งเป็นเว็บไซต์สื่ออิสระจากประเทศออสเตรเลีย ได้เขียนบทความวิเคราะห์ ในชื่อว่า "โคโรน่าไวรัส กับความปลอดภัยของเด็กนักเรียนที่จะกลับไปสู่โรงเรียน (Coronavirus: is it safe for children to return to school?)" เพื่อนำเสนอข้อมูลความเสี่ยงที่เด็กจะติดโรคโควิด หลังการเปิดเรียนครั้งใหม่ไว้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เห็นว่า บทความชิ้นนี้ มีข้อมูลสำคัญที่น่าสนใจหลายประการ จึงแปลเรียบเรียงมานำเสนอ ณ ที่นี้
@ เด็กมีความเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่
การที่จะตอบคำถามข้อนี้ได้นั้น เราต้องย้อนดูแหล่งข้อมูลที่สำคัญ 2 ประการ คือ 1.ชุดข้อมูลเกี่ยวกับการทดสอบการแพร่เชื้อที่เกิดขึ้นในชุมชนและกลุ่มต่างๆ
โดยที่ผ่านมามีรายงานว่าที่ประเทศไอซ์แลนด์ ในช่วงแรกที่เกิดการระบาดขึ้น ได้มีการตรวจเชื้อในประชาชนเบื้องต้นจำนวน 22,279 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีการติดเชื้อ พบว่า 6.7 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ที่อยู่ในกลุ่มตรวจนั้นติดเชื้อโควิด ส่วนเด็กอายุเกิน 10 ปี พบว่า 0.8 เปอร์เซ็นต์ติดโควิด
ขณะที่ เทศบาลท้องถิ่น ที่ Vo’ ในทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ก็มีการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด คิดเป็นจำนวน 2,182 รายพบว่าเด็กทั้งหมดจำนวน 217 ราย ไม่ติดเชื้อโควิด ขณะที่กลุ่มเด็กอายุระหว่าง 11-20 ปี จำนวน 250 ราย พบว่ามีแค่ 1.2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ติดเชื้อโควิด ขณะที่กลุ่มประชากรที่อายุเกิน 21 ปี จะมีอัตราการติดโควิดในกลุ่มอยู่ที่ 3 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลชุดที่ 2 คือ การติดตามข้อมูลการติดเชื้อผ่านแผนภูมิประชากร ซึ่งจากการศึกษาการติดเชื้อในประเทศจีน ในกรณีกลุ่มผู้ติดเชื้อโควิดจำนวน 105 ราย ได้แพร่เชื้อไปให้กับผู้ที่อาศัยอยู่ในครัวเรือนใกล้เคียงอีกเป็นจำนวน 392 ราย ปรากฏว่ามีเด็กติดเชื้อแค่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ขณะที่อัตราการแพร่เชื้อในหมู่ผู้ใหญ่ พบว่า มีผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 17.1 เปอร์เซ็นต์
ส่วนการติดตามข้อมูลการติดเชื้อที่มณฑลหูหนานในช่วงเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่า มีเด็กอายุระหว่าง 0-14 ปี มีความเสี่ยงที่จะติดไวรัส 6.2 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผู้ที่มีอายุมากกว่านั้นเสี่ยงต่อการติดเชื้ออยู่ที่ 10.4 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้น ถ้าหากนำข้อมูลต่างๆมาประกอบกัน จะพบว่า เด็กนั้นยังคงมีอัตราการติดเชื้อที่น้อยกว่าผู้ใหญ่มาก
@เด็กจะมีอาการป่วยหรือไม่ หากติดเชื้อ
ในกรณีทั่วไป ทารกนั้นจะมีความไวต่อการติดเชื้อและป่วยจากโรคภัยได้ง่าย
แต่ในกรณีโควิด-19 นั้น กลับเป็นตรงกันข้าม
จากข้อมูลของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ มีรายงานระบุว่าในหมู่ผู้มีอาการป่วยโรคโควิด-19 ทั้งหมดปรากฏว่าเป็นเด็กอายุตั้งแต่ 0- 19 ปี อยู่ที่ 1.6 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยเท่านั้นที่แสดงอาการป่วยออกมา
ขณะที่ในปัจจุบันอังกฤษมีประชากรเด็กอยู่ที่ 23.4 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การทดสอบอาการป่วยในเด็กนั้นมีตัวแปรหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อาทิ วิธีการทดสอบอาการป่วย เช่นถ้าหากไปทดสอบที่โรงพยาบาลก็อาจจะทำให้ได้ผลว่ามีอาการป่วยอันเกี่ยวข้องกับโรคโควิดได้ดีกว่าการตรวจภายนอกโรงพยาบาล
ถึงกระนั้นข้อมูลจากต่างประเทศหลายแห่งก็ยืนยันได้ว่า เด็กนั้นจะมีอาการที่ไม่รุนแรงถ้าเทียบกับผู้ใหญ่
ข้อมูลจากทั้งจากจีนและสหรัฐฯ ที่มีการเผยแพร่เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าอาการป่วยในช่วงวัยเด็กนั้น จะเป็นการป่วยแบบไม่แสดงอาการออกมา และแสดงอาการออกมาน้อยมากในจำนวนผู้ป่วยเด็ก 88-97 เปอร์เซ็นต์ และมีแค่ 0.6- 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่จะต้องเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู ซึ่งอัตราผู้เสียชีวิตในเด็กจากโรคโควิดนั้นจะอยู่ที่ 0.0-0.18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
เมื่อเทียบกันแล้วจะพบว่าค่อนข้างมีความแตกต่างกันมาก และถ้าหากยึดเอาข้อมูลที่ผ่านมาจากอิตาลีและสหรัฐฯจะพบว่า ผู้ที่อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป มีอัตราการเสียชีวิตจากการป่วยด้วยโรคโควิดอยู่ที่ 3.5-3.6 เปอร์เซ็นต์ ผู้ที่มีอายุ 70 ปี มีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 8.0-12.8 เปอร์เซ็นต์ และผู้ที่มีอายุเกิน 80 ปี จะมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 14.8-20.2 เปอร์เซ็นต์
โดยข้อมูลของผู้ติดเชื้อทั่วทวีปยุโรปนั้นพบว่ามีผู้ป่วยโควิดที่เป็นเด็กอยู่ที่ 230 ราย และมีเด็กเสียชีวิตจากการอาการป่วยโควิดไปแล้ว 2 ราย ซึ่งทางด้านหน่วยงานเฝ้าระวังโรคติดต่อในกุมารเวชศาสตร์นั้นก็ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์โรคโควิดในเด็กอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะในกรณีที่ปรากฎว่ามีเด็กจำนวนหนึ่งที่มีอาการอักเสบในหลายระบบของร่างกายหลังจากติดเชื้อโควิด
การอักเสบหลังจากป่วยด้วยโรคโควิด 19 ในผู้ป่วยเด็ก (อ้างอิงวิดีโอจาก Sky News)
แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ทำไมอาการการติดเชื้อในเด็กนั้นถึงรุนแรงน้อยกว่าผู้ใหญ่
@เด็กจะสามารถส่งต่อไวรัสไปยังผู้อื่นได้หรือไม่
แม้ว่าตอนนี้จะเป็นการยากที่จะบอกจำนวนขอบเขตการแพร่เชื้อโควิดของการติดเชื้อในเด็กได้ แต่ก็มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้น ที่ระบุว่าเด็กจะไม่มีทางเป็นซุปเปอร์สเปรดเดอร์ หรือ ผู้ที่แพร่ไวรัสไปมากกว่าการที่เด็กจะเป็นพาหะของไข้หวัดตามฤดูกาล
จากการวิเคราะห์ข้อมูลการแพร่เชื้อในกลุ่มแพร่เชื้อจำนวน 31 กลุ่ม พบว่า มีแค่ 3 กลุ่มเท่านั้นที่เกิดจากการแพร่เชื้อของเด็ก
หมายความว่า เด็กนั้นแม้จะมีโอกาสแพร่เชื้อโควิดได้ แต่ก็ยังอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างต่ำ
ในประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการติดตามการติดเชื้อโควิดของผู้ป่วยจำนวน 700 ราย พบว่าโอกาสการแพร่กระจายเชื้อของผู้ป่วยแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกันโดยผกผันตามช่วงอายุของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่อายุต่ำกว่า 18 ปี พบว่าไม่มีผู้เคยสัมผัส หรือพบปะกับผู้ป่วยเหล่านี้ติดเชื้อโควิเลย
ขณะที่ผู้ป่วยโควิดที่อายุสูงกว่า 19 ปีขึ้นไป พบว่ามีอัตราการแพร่เชื้ออยู่ที่ 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
@ปลอดภัยหรือยังที่จะเปิดโรงเรียนในตอนนี้
เดนมาร์กเป็นประเทศแรกที่ตัดสินใจเปิดเรียนในยุโรป และตามมาด้วย นอร์เวย์ เยอรมนี ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ที่ได้ตัดสินใจเปิดเรียน
ในเดนมาร์กนั้นมีอัตราการแพร่เชื้อไวรัสของผู้ป่วยอยู่ที่ 0.6-1.0 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่เปิดโรงเรียนแล้ว โดย 1 สัปดาห์อัตราการแพร่เชื้อก็ยังลดลงไปอีก
ส่วนประเทศเพื่อนบ้านอย่างสวีเดน ซึ่งไม่มีนโยบายการปิดโรงเรียนนั้น ก็ยังไม่พบว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดเกิดขึ้นในโรงเรียน
ขณะที่ในรัฐนิวเซาธ์เวลส์ ของประเทศออสเตรเลียนั้น ยังคงมีการเปิดโรงเรียนอยู่ ปรากฏว่ามีกรณีการติดเชื้อเกิดขึ้น 18 ราย ใน 15 โรงเรียนทั่วรัฐ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าในหมู่เด็กจำนวน 735 ราย ที่ได้ไปสัมผัสกับผู้ป่วยจำนวน 18 รายซึ่งเป็นเด็กนั้น พบว่ามีแค่ 2 รายเท่านั้นที่ติดเชื้อโควิดเพิ่มเติม
ในขณะที่ บุคลากรโรงเรียนจำนวนกว่า 128 ราย ที่ได้ไปสัมผัสกับเด็กที่ป่วยนั้น ก็ไม่พบว่ามีการติดเชื้อเพิ่มแต่อย่างใด
รายงานข่าวการปิดโรงเรียนหลังจากพบผู้ป่วยในชุมชนเมื่อช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา (อ้างอิงวิดีโอจากช่อง Sky News Australia)
ดังนั้น จากข้อมูลในเชิงสถิติ ณ เวลานี้ จึงได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ในช่วงที่เด็กกลับไปเรียนหนังสือ มีความเสี่ยงในอัตราที่น้อยมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหากโรงเรียนนั้นๆ มีมาตรการการจัดการที่เหมาะสม อาทิ การเว้นระยะห่างทางสังคมระหว่างเด็กกับบุคลากรของโรงเรียน การล้างมือบ่อยๆ รวมไปถึงการตรวจและกักตัวผู้ที่อาจจะมีอาการป่วยด้วยโรคโควิด-19
ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่สามารถทำได้เพิ่มเติม ก็คือ การแบ่งกลุ่มเด็กที่จะทำการเรียนการสอนให้เป็นกลุ่มเล็กลง และเพิ่มการเรียนการสอนนอกห้องเรียนก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ควรจะนำมาพิจารณาประกอบกันด้วยเช่นกัน
เรียบเรียงจาก:https://theconversation.com/coronavirus-is-it-safe-for-children-to-return-to-school-139228
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage