"...การไล่เธอและพวกรวม 26 คนออกจากพื้นที่ถือเป็นความเข้าใจผิด ..ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2555 ในพื้นที่ ต.ป่าเลาซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับ ต.นางั่ว มีผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านสองรายไปฟ้องนายก อบต.ป่าเลาว่ามีการปล่อยให้ชาวบ้านบุกรุกที่สาธารณะ และมีการไปฟ้องศาลปกครอง ต่อมา เมื่อปี 2558 ก็เริ่มมีการมารังวัดพื้นที่ใน ต.นางั่ว จากนั้น ในปลายปี 2559 ก็มีเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน ทหาร ตำรวจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ อบต. นางั่ว มาบอกให้ชาวบ้านไปชี้แนวเขตเพื่อจะออกโฉนดให้ ถ้าใครไม่ชี้ก็จะถือว่าสละสิทธิ์ ชาวบ้านจึงไปชี้แนวเขต ยกเว้นตัวเองที่ไม่ได้ไปชี้แนวเขต เพราะป่วย รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศิริราช..."
ปัญหาความขัดแย้งการถือครองที่ดินในพื้นที่สาธารณประโยชน์ของประเทศไทย ระหว่างราษฎร และภาครัฐ ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง!
ล่าสุดเกิดกรณีใหม่ ในพื้นที่ ป่าโคกตาด ต.นางั่ว อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่สาธารณประโยชน์ป่าโคกตาด ต.นางั่ว อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ว่า กำลังถูกขับไล่ออกจากพื้นที่โดยไม่ได้รับความเป็นธรรม และเมื่อไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่สามารถช่วยเหลือได้ เนื่องจากเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว และศาลปกครองพิษณุโลกมีคำพิพากษาให้อำเภอเมืองเพชรบูรณ์และองค์การบริหารส่วนตำบลป่าเลา ดำเนินการกับผู้บุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ป่าโคกตาด ให้ออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ แล้ว
ทั้งที่ ข้อโต้แย้งเรื่องการถือครองที่ดินอย่างถูกต้อง ของชาวบ้าน ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ตามขั้นตอนทางกฎหมายในหลายประเด็น!
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ เริ่มต้น จากเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2563 ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ทำหนังสือ ที่ พช. 0017.1 / 6926 ถึงตัวแทนชาวบ้านรายหนึ่ง ระบุว่า ตามที่ท่านได้ยื่นหนังสือขอให้ชะลอการบังคับคดีในพื้นที่ป่าโคกตาด เนื่องได้รับความเดือดร้อนจากการถูกบังคับคดีจากอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ให้ออกจากพื้นที่สาธารณะประโยชน์ป่าโคกตาด
โดยท่านขอให้คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร มาลงพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
แต่เนื่องจากปัจจุบัน มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ( COVID-19 ) จึงทำให้ล่าช้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จนั้น
จังหวัดเพชรบูรณ์ ขอเรียนว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ “ป่าโคกตาด” ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว และศาลปกครองพิษณุโลกเคยมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 คดีหมายเลขแดงที่ 518/2555 ว่าให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ( อำเภอเมืองเพชรบูรณ์และองค์การบริหารส่วนตำบลป่าเลา ) ดำเนินการกับผู้บุกรุกพื้นที่สาธารณะประโยชน์ป่าโคกตาด ให้ออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์เข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวร่วมกัน
ซึ่งขณะนี้ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีคำพิพากษากับผู้บุกรุกที่สาธารณะประโยชน์ดังกล่าวแล้ว จังหวัดเพชรบูรณ์จึงไม่อาจดำเนินการตามความประสงค์ของท่านได้ เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว คู่กรณีย่อมมีหลักประกันในความยุติธรรมและสิทธิในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ ในชั้นกระบวนการพิจารณาของศาลอย่างเพียงพอ
เมื่อศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งคดีเสร็จเด็ดขาดประการใดแล้ว ย่อมส่งผลผูกพันต่อคู่กรณีและหรือรัฐปฏิบัติตาม
ลงชื่อ นายพงษ์พิทยา ธนไกรศรีทอง รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์
ขณะที่ นางสุรภา เมฆอรุณ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่สาธารณประโยชน์ป่าโคกตาด ต.นางั่ว อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ ให้ข้อมูลยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ได้รับหนังสือแจ้งจากอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ให้ออกจากพื้นที่แล้ว
“เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2563 นายอำเภอมีหนังสือมาถึงพวกเรา 26 คน ให้ออกจากพื้นที่ ทั้งที่ เราบอกว่าเราเคยเข้าไปขอความเห็นใจจากคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐของสภาผู้แทนราษฎร ทางคณะกรรมาธิการฯ ให้ ทาง อบต. และนายอำเภอจัดทำการรังวัดพื้นที่ พร้อมนายทหารกรมแผนที่ทหารให้มาตรวจสอบพื้นที่ป่าโคกตาดกว่าหมื่นไร่ ว่าชาวบ้านอาศัยอยู่ได้ไหม แต่ทางจังหวัดไม่ยอมจัดตั้งตรงนี้ และมีหนังสือไล่เราออกมา อ้างว่าศาลตัดสินหมดแล้ว แล้วก็ให้ออกภายใน 7 วัน แล้วช่วงนี้เป็นช่วงโควิด มี พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วพวกเราจะไปอยู่ที่ไหน เราได้รับหนังสือตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. ตั้งแต่เราได้รับหนังสือมา 7 วัน เราก็ทำหนังสืออุทธรณ์ เขาก็ทำหนังสือตอบกลับมาว่าสิ้นสุดแล้ว ศาลตัดสินสิ้นสุดแล้ว เราต้องออกอย่างเดียว”
นางสุรภา ยืนยันด้วยว่า การไล่เธอและพวกรวม 26 คนออกจากพื้นที่ถือเป็นความเข้าใจผิด
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากเมื่อปี พ.ศ.2555 ในพื้นที่ ต.ป่าเลาซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับ ต.นางั่ว มีผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านสองรายไปฟ้องนายก อบต.ป่าเลาว่ามีการปล่อยให้ชาวบ้านบุกรุกที่สาธารณะ และมีการไปฟ้องศาลปกครอง
ต่อมา เมื่อปี 2558 ก็เริ่มมีการมารังวัดพื้นที่ใน ต.นางั่ว จากนั้น ในปลายปี 2559 ก็มีเจ้าหน้าที่จากกรมที่ดิน ทหาร ตำรวจ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ อบต. นางั่ว มาบอกให้ชาวบ้านไปชี้แนวเขตเพื่อจะออกโฉนดให้ ถ้าใครไม่ชี้ก็จะถือว่าสละสิทธิ์ ชาวบ้านจึงไปชี้แนวเขต ยกเว้นตัวเองที่ไม่ได้ไปชี้แนวเขต เพราะป่วย รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ศิริราช
“ต่อมาประมาณเดือนกว่าๆ ในปีนั้น เทศบาลนางั่ว ก็มาบอกให้พวกเราไปประชุมที่เทศบาลตำบลนางั่ว พอไปถึงก็มีปลัดอำเภอนำเกริ่น และให้ ตร.สภอ.ท่าพล บอกว่าดิฉันและผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าว รวม 26 รายนี้ ถูกดำเนินคดีแล้ว และมีคดีหมายเลขดำจากศาลปกครอง เราก็แย้งท่าน ว่าเราไม่ได้กระทำความผิดอะไร ทำไมเรามีหมายเลขคดีดำ เขาบอกให้เราไป สภอ.ท่าพล อีก 4 วันต่อมา เมื่อไปถึงสถานีตำรวจ เขาก็บอกให้เราไปพิมพ์ลายนิ้วมือ แล้วก็ให้เราไปแก้ต่างเอาที่ศาลแล้วกันเราก็ไปพิมพ์ลายนิ้วมือ เขาก็บอกว่าเรามีหมายเลขคดีดำ เมื่อปี 2555 เราก็บอกว่าเราไม่มีคดีอะไร เอามาจากไหน เมื่อไปพิมพ์ลายนิ้วมือ อีก 7 วันเขาก็ส่งให้อัยการ อัยการก็ส่งเราขึ้นศาลภายใน 5 วัน ส่งขึ้นศาลที่เพชรบูรณ์ ช่วงประมาณปลายปี 2559-2560 รวมทั้งหมด 26 ราย ปี ทั้งที่เมื่อปี 2555 คือการฟ้องที่ ต.ป่าเลา เลข นสล.ที่พช. 159 เนื้อที่ 1,900 กว่าไร่ มันเป็นของตำบลป่าเลา แต่ตัวดิฉันเอง อยู่บ้านสำนักหมัน ต.นางั่ว เป็นเพียงพื้นที่ติดต่อกัน” นางสุรภา ระบุ
อย่างไรก็ตาม เมื่อครั้งที่มีคำสั่งศาลปกครองฟ้องชาวบ้าน ต.ป่าเลา ในปี 2555 นั้น มีรายชื่อชาวบ้าน 66 ราย ที่ศาลปกครองสั่งให้ออกจากพื้นที่ แต่กรณีนั้นเป็นหมู่ที่ 10 ต. ป่าเลา
“แต่ดิฉันไม่มีรายชื่ออยู่ในคำสั่งศาล ไม่ได้โดนคดี เขากลับมารังวัด แล้วมาจับเรา” นางสุรภาระบุ
“เขาก็ให้เราหาหลักฐานคือโฉนด แต่พื้นที่เรามีแค่ ภทบ. 5 หรือภาษีดอกหญ้า แต่แล้วจู่ๆ มา พวกเราก็โดนจับหมดเลย แล้วการจับก็เป็นลักษณะกบกระโดดอย่างเช่นพื้นที่ของนายจัน เขามีพี่น้อง 6 คน เขาก็แบ่งที่กันหน้ายาวไปตามถนน จับคนที่ 2 แล้วก็ไปจับคนที่ 5 คนที่ 1 ไม่สนใจเลย ที่ดินแปลงเดียวกัน จับแค่ 2 คน”
นางสุรภากล่าวว่า พวกเธอสู้คดีเรื่อยมาถึงปี 2562 นอกจากนี้ เคยมีเจ้าหน้าที่ดีเอสไอเคยมาตรวจสอบ และบอกนางสุรภาว่าให้ไปหาเอกสารที่มีหน่วยงานรองรับให้ได้ นางสุรภาจึงปรึกษากับทนายและไปขอข้อมูลจากกรมแผนที่ทหาร
“ต่อมา เราขอให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญจากกรมแผนที่ทหารมาอ่าน มาแปลแผนที่ มาตรวจสอบพื้นที่ทั้งหมด สรุปได้ว่า ดิฉันอยู่ในระวาง 524 1 IV 24-26 แต่นสล.ที่ 159 ที่มีการฟ้องร้องกันในศาลปกครองเมื่อปี 2555 เป็นระวาง 524 1 แผ่น 7 แผ่น 8 เนื้อที่ร้อยเส้น คูณร้อยเส้น มีพื้นที่ 1,900 กว่าไร่”
“ดังนั้น พื้นที่ของดิฉันอยู่ที่ระวาง 524 1 IV 24-26 แต่พื้นที่ที่ศาลปกครองระบุว่า นสล.ที่ 159 ฉบับนี้อยู่ในระวางเลขที่ 524 1 IV แผ่น 7 แผ่น 8 ก็คือคนละส่วนกัน เจ้าหน้าที่จากกรมแผนที่ทหารลงมาอ่านมาแปลภาพถ่ายทางอากาศให้เรา เพราะเราเป็นชาวบ้าน เราไม่รู้เรื่อง แต่หลักฐานนี้เรานำไปสู้คดีในชั้นศาลไม่ทัน สรุปว่าก็ไม่ได้เอาเข้าไปแสดงในศาล”
“ต่อมาเมื่อ 2-3 วันนี้ เราส่งรายชื่อชาวบ้าน 66 คนที่เคยถูกฟ้องร้องในคดีศาลปกครองเมื่อปี 2555 ไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกับทางอำเภอเพื่อยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับเรา เขาตอบกลับมาว่า อันนั้นของเก่าแล้ว อ้าว ทำไมตอบว่าอย่างนี้ แต่พวกเราไม่มีคดีในศาลปกครอง แต่กลับมีหนังสือมาให้เราออกจากพื้นที่”นางสุรภา ระบุ
@ ภาพเจ้าหน้าที่ทางการเข้าในพื้นที่ ป่าโคกตาด เพื่อตรวจสอบการถือครองของชาวบ้าน
ล่าสุด มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พลโท พงศกร รอดชมภู เป็นประธาน จะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มาซักถามข้อเท็จจริง และจะมีการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในเร็วๆ นี้
ผลการตรวจสอบจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องติดตามดูกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/