“...ผลการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิว และการห้ามรวมกลุ่มชุมนุมมั่วสุม จากการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ทั้งในด่านและนอกด่าน พบภาพรวมสถิติการดำเนินคดีภายหลังผ่อนคลายระยะที่ 1 (1-13 พ.ค. 2563) เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับยอดสถิติการดำเนินคดีก่อนมีมาตรการผ่อนคลาย (21 เม.ย.-2 พ.ค. 2563) อย่างไรก็ดีเห็นด้วยให้มีการผ่อนคลายระยะที่ 2 แต่ต้องมีมาตรการควบคุมการดำเนินกิจการ/กิจกรรม เพื่อให้มีการฝ่าฝืนควบคู่ไปด้วยและมีการลงโทษผู้ที่กระทำผิด…”
หลังโรคโควิด-19 อุบัติขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 กระทั่งปลายเดือน มี.ค. 2563 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อดำเนินการมาตรการแก้ไขโรคระบาดดังกล่าว มีการตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เพื่อรวบรวมและรายงานสถานการณ์
ในช่วงเวลาประมาณ 1 เดือนเศษ มีการเพิ่มความเข้มงวดเป็นระยะ มีการบังคับใช้เคอร์ฟิว กระทั่งต้นเดือน พ.ค. 2563 เริ่มมีการผ่อนปรนระยะที่ 1 และกลางเดือน พ.ค. 2563 มีการผ่อนปรนระยะที่ 2 ตามมา เนื่องจากตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง และมีถึง 4 ครั้ง ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ
อย่างไรก็ดีประเด็นที่น่าสนใจการประชุม ศบค. ครั้งล่าสุด (15 พ.ค. 2563) นอกเหนือจากการกำหนดการระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย แบ่งออกเป็น 3 ฉากทัศน์ ตามที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงต่อสาธารณะไปแล้ว ได้แก่ ฉากทัศน์ที่ 1 กรณีบังคับใช้มาตรการควบคุมที่มีอยู่ในปัจจุบันคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15 คน/วัน มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 3 คน/วัน และมีผู้ป่วยวิกฤติ 15 คน ฉากทัศน์ที่ 2 กรณีที่มีมาตรการผ่อนคลายบางกิจการ/กิจกรรม คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 144 คน/วัน มีรายงานผู้ติดเชื้อใหม่ 24 คน/วัน และมีผู้ป่วยวิกฤติ 105 คน และฉากทัศน์ที่ 3 กรณีที่ไม่มีมาตรการควบคุม คาดการณ์ว่าจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ 398 คน/วัน มีรายงานผู้ติเชื้อใหม่ 65 คน/วัน และมีผู้ป่วยวิกฤติ 289 คน นั้น
ที่ประชุม ศบค. ยังสรุปบทเรียนแบบจำลองสถานการณ์การระบาดวิทยาในระดับประเทศด้วย แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1.ประสิทธิผลของมาตรการเข้มข้นระยะสั้น ที่ช่วยลดอัตราการแพร่กระจายเชื้อในชุมชนลงเป็นร้อยละ 77 ทำให้ไทยสามารถหลีกเลี่ยงการระบาดใหญ่ในเดือน เม.ย. 2563
2.มาตรการควบคุมโรคในระยะผ่อนคลายต้องมีประสิทธิผลจึงจะไม่เกิดการระบาดซ้ำ
3.มาตรการควบคุมโรคด้วยการกักโรคและแยกโรค (Quarantine & Isolation) ส่งผลต่อการควบคุมการระบาดได้มากที่สุด
ทั้งนี้สถานการณ์ในไทยดีขึ้น และสามารถควบคุมการระบาดภายในประเทศได้ แต่ยังพบผู้ป่วยที่เดินทางมาจาก จ.ภูเก็ต และผู้ป่วยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ที่ประชุม ศบค. ดังกล่าว มีการรายงานผลการประเมินมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 1 ด้วย เช่น ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง รายงานผลการปฏิบัติพบว่า 1.การตรวจกิจการ/กิจกรรมตามาตรการผ่อนคลาย ระหว่างวันที่ 3-13 พ.ค. 2563 ทั้งหมด 177,026 แห่ง พบว่า ปฏิบัติครบร้อยละ 74 ปฏิบัติไม่ครบร้อยละ 23.2 และไม่ปฏิบัติตาม 2.8 เช่น ผู้ประกอบการไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ดำเนินการตามมาตรการ Social Distancing ตักเตือนและเข้าตรวจสอบกิจการซ้ำ พบว่า จำนวนที่ไม่ปฏิบัติตามลดลง และไม่มีรายงานผู้ไม่ปฏิบัติตามตั้งแต่ 12 พ.ค. 2563 เป็นต้นมา
2.ผลการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิว และการห้ามรวมกลุ่มชุมนุมมั่วสุม จากการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ทั้งในด่านและนอกด่าน พบภาพรวมสถิติการดำเนินคดีภายหลังผ่อนคลายระยะที่ 1 (1-13 พ.ค. 2563) เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับยอดสถิติการดำเนินคดีก่อนมีมาตรการผ่อนคลาย (21 เม.ย.-2 พ.ค. 2563) อย่างไรก็ดีเห็นด้วยให้มีการผ่อนคลายระยะที่ 2 แต่ต้องมีมาตรการควบคุมการดำเนินกิจการ/กิจกรรม เพื่อให้มีการฝ่าฝืนควบคู่ไปด้วยและมีการลงโทษผู้ที่กระทำผิด
นอกจากนี้จากการสำรวจสถานประกอบกิจการทั้ง 77 จังหวัด ในช่วงผ่อนคลายระยะที่ 1 พบว่า ร้านเสริมสวย แต่งผม ตัดผม ผ่านเกณฑ์มาตรฐานดีเยี่ยม ร้อยละ 27.18 ผ่านเกณฑ์พื้นฐาน ร้อยละ 9.74 และไม่ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ 63.08 ส่วนร้านสปา อาบน้ำ ตัดขน รับเลี้ยงหรือรับฝาก ผ่านเกณฑ์ดีเยี่ยม ร้อยละ 40 ผ่านเกณฑ์พื้นฐาน ร้อยละ 7 และไม่ผ่าเนกณฑ์ ร้อยละ 53
ด้วยข้อมูลและสถิติทั้งหมดนี้ นำไปสู่ผลการประชุม ศบค. ที่เสนอแนะให้รัฐบาลสามารถผ่อนปรนระยะที่ 2 ได้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีคงต้องรอ ศบค. สรุปผลการผ่อนปรนระยะที่ 2 ว่า สถิติผู้ติดเชื้อจะมากหรือน้อยลงกว่าเดิม เป็นที่น่าพอใจหรือไม่ และจะนำไปสู่การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเคอร์ฟิว ตามที่หลายฝ่ายเรียกร้องกันได้หรือไม่ ?
คงต้องติดตามกันต่อไป อย่างน้อยที่สุดภายในเดือน ก.ย. 2563 ตามฉากทัศน์ที่ 3 ของ ศบค.
หมายเหตุ : ภาพประกอบโควิด-19 จาก https://www.roojai.com/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/