วงเสวนาทิศทางประเทศไทย ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ปรับชีวิตสู่วิถีใหม่ 'ดร.วรากรณ์' คาดไทยกลับสู่ภาวะปกติ ไตรมาสเเรก ปี 64 เปรียบสถานการณ์เป็นสงครามโลกครั้งที่ 3 ปั่นป่วนที่สุด 'อดีต นพ.ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค' อยากเห็นประเทศ พบระบาดในระดับต่ำ ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ขอรัฐบาลพูดชัดเจน 'สถานบันเทิง-การพนัน' ยังเปิดไม่ได้ เเนะผู้ประกอบการทำอาชีพอื่น
เเม้สถานการณ์การเเพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ในประเทศไทย จะเริ่มควบคุมได้ เเต่ในประเทศซีกฝั่งตะวันตกยังคงวิกฤติ ถึงอย่างไร หลังจากคาดการณ์ว่า หลังจากผ่านพ้นไปเเล้ว ประชากรในโลกจะเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา ทิศทางประเทศไทย:ฝ่าวิกฤตโควิด-19 สู่ชีวิตวิถีใหม่ ณ ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.
"สงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้เสียชีวิต 50 ล้านคน เเละครั้งนี้เปรียบเหมือนสงครามโลกครั้งที่ 3 เพราะไม่เคยมีอะไรมาก่อนที่หยุดนิ่งพร้อมกันทั่วโลก ไม่มีการผลิต ไม่มีการบริโภค เเละทุกคนอยู่ในบ้านทั้งหมด ถือว่าปั่นป่วนที่สุด" รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ตั้งต้นเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเกี่ยวกับสถานการณ์การเเพร่ระบาดโควิด-19
รศ.วรากรณ์ กล่าวต่อว่า สงครามครั้งนี้มองไม่เห็นศัตรูว่าเเอบซ่อนที่ไหน ไม่มีใครรู้ เเละสามารถฆ่าได้ทุกคน ทำให้เกิดความหวาดผวา ความกลัว เหมือนสงครามจู่โจม ไม่รู้ว่าจะโผล่มาเมื่อไหร่ จึงถือว่า สถานการณ์ครั้งนี้มีผลทางจิตวิทยามาก
"วันนี้ 17 พ.ค. 2563 ตั้งคำถามว่า จะเป็นไปได้อย่างไรที่เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเหมือนเดิม ในเมื่อโลกทั้งใบหยุดพร้อมกันหมด เหมือนคนนั่งพับเพียบอยู่ในโบสถ์เหมือนกันหมด เมื่อจะลุกขึ้น ทำให้ไม่มีคนพยุงก็ลุกขึ้นไม่ได้ หมายความว่า จีนเปิดประเทศเเล้วในเวลา 2 สัปดาห์ มีกิจกรรมภายในประเทศพอสมควร เเต่ยังไม่เจริญเติบโตมากมายเหมือนที่คาดการณ์กัน เพราะต้องมีอำนาจซื้อขนาดใหญ่มาทำให้เกิดกิจกรรมธุรกรรมที่เกิดขึ้นต่อไป หากไม่เกิดธุรกรรมเเล้ว จะไม่เกิดการซื้อขาย เวลาซื้อขายกัน รายจ่ายจากคนหนึ่งจะเป็นรายรับอีกคนหนึ่ง ฉะนั้นเป็นไปไม่ได้เลยจะเเก้ไขจบภายในปี 2563"
ทั้งนี้ มีการพยากรณ์จากหลายเเหล่ง ระบุว่า ประเทศไทยจะกลับมาสู่ภาวะปกติเหมือนก่อนหน้านี้ในไตรมาสเเรกของปี 2564 ภายใต้เงื่อนไขต้องวัคซีนเเละยารักษาโรค ซึ่งเวลาผลิตจะใช้ระยะเวลา 6-8 เดือน เเละกว่าจะผลิตให้ทั่วโลกได้ คาดว่าอยู่ประมาณปลายปี 2564 ฉะนั้นโลกจะกลับมาเป็นปกติช่วงปีหน้า
เเล้วสถานการณ์ที่โลกต้องเผชิญหลังวิกฤตมีอะไร
รศ.ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า มีความจำเป็นต้อง Kick Start เศรษฐกิจด้วยเงินจำนวนมหาศาลของทุกประเทศ การเปิดมาประเทศเดียว โดยประเทศอื่นไม่มีการเจริญเติบโต ไม่มีอำนาจการซื้อด้วย อาจเป็นไปได้ยาก เเละจะเกิดหนี้สาธารณะ ขณะที่ทุกประเทศในโลก โดยเฉพาะประเทศขนาดใหญ๋กู้เงินมหาศาลเพื่อฟื้นระบบเศรษฐกิจ เยียวยาผู้มีปัญหาเเละเป็นภาระเเต่ละประเทศ ซึ่งหนี้สาธารณะจะทำให้คนรุ่นต่อไปต้องใช้หนี้เเละเงินใช้จ่าย งบประมาณเเต่ละปีน้อยลง
นอกจากนี้สิ่งที่จะทำให้มนุษย์เปลี่ยนไป คือ ธุรกรรม เเต่เมื่อมนุษย์เปลี่ยนเเปลงด้วยเหตุการณ์ที่ผ่านมา พฤติกรรมก็ต้องเปลี่ยนไปด้วย ทำให้นำไปสู่การดำเนินชีวิตเเตกต่างจากเดิม นั่นคือ ชีวิตวิถีใหม่
อีกทั้งในโลกจะเกิดการว่างงานอย่างมาก พยากรณ์ว่า ประเทศไทยจะเกิดการว่างงาน 7 ล้านคน จากปัจจุบัน 3 เเสนคน ทั้งนี้ คำจำกัดความคำว่า ว่างงาน อาจพูดลำบาก
สงครามการค้า ประเทศเล็กจะประสบปัญหาไปหมด ในขณะที่จีนกับสหรัฐฯ มีจีดีพีรวมกันทั้งโลก 34% รวมเยอรมันกับญี่ปุ่น เป็น 40% ไม่ลงรอยกัน สหรัฐฯ ขาดดุลมาก ต้องการตีกลับโดยการเก็บภาษีของจากจีนมากขึ้น ทำให้ประเทศเล็ก ๆ ที่เป็นห่วงโซ่อุปทาน ได้รับความเดือดร้อนไปด้วย อำนาจซื้อหายไป ถ้ามีการขึ้นภาษีมาก ๆ เเละธุรกิจราคาน้ำมันตก เเต่ย้ำว่า โลกที่เเน่นอนด้วยราคาน้ำมันดีกว่าโลกที่ไม่เเน่นอนด้วยราคาน้ำมัน ผันผวน จนไม่สามารถคำนวณกำไร ที่สำคัญ เงินจากการขายน้ำมันเป็นเงินขนาดใหญ่ที่นำไปลงทุนในประเทศต่าง ๆ เมื่อเงินจำนวนนี้หายไปจะกระทบทั้งโลกไปด้วย
ส่วนตลาดทุนนั้น ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุผูกพันกับความมั่นใจเเละความเเน่นอนของโลกที่เกิดขึ้น หากไม่มีความเเน่นอน ความผันผวนของตลาดทุนจะเกิดขึ้น เเละคาดการณ์ต่อไปว่า จะเกิดความขัดเเย้งระหว่างมหาอำนาจ จีนกับสหรัฐฯ เรียกว่า ขัดเเย้งกันอย่างหนัก
"ไม่เคยมีมาก่อนที่จีนออกมาบอกว่า รมว.ต่างประเทศ สหรัฐฯ ชั่วร้าย เพราะ รมว.ต่างประเทศ สหรัฐฯ บอกว่าจีนเป็นต้นเหตุของโรคโควิด-19 ทำให้หลุดออกมาจากห้องเเล็ป เรียกว่าไม่เป็นมิตรต่อกัน" รศ.ดร.วรากรณ์ คาดการณ์
โควิด-19 เป็นหนังยาว กินเวลาอย่างน้อย 12 เดือน
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ อดีตนายเเพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค ในฐานะที่ปรึกษารมว.สธ. เปรียบเทียบว่า โควิด-19 ไม่ใช่หนังสั้น อย่างที่หลายคนคิด ที่จะยอมเจ็บเพียงครั้งเดียว เเล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัส จะเป็นศูนย์ เเต่เป็นหนังยาวที่กินระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือน หรืออาจยาวนานกว่านั้น หรือมีอยู่เรื่อย ๆ เหมือน HIV เเละไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 หรือให้มีการติดเชื้อตามธรรมชาติ 60% เพื่อคนจะหายตกใจเเละหายกลัว
ย้ำว่า ผู้กำกับบทเเละผู้เล่นหนังเรื่องนี้ ไม่ใช่รัฐบาล ศูนย์บริหารสถานการณ์การเเพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) เเละกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เเต่เป็นคนไทยทุกคนต้องมาเขียนบทเเละกำกับเอง
ส่วนเราอยากเห็นสังคมเป็นเเบบไหนนั้น ที่ปรึกษา รมว.สธ. ระบุมี 3 ฉาก ได้เเก่
1.ประเทศไทยปลอดจากเชื้อไวรัส หยุดการเเพร่ระบาดได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ตัวเลขเป็นศูนย์ ซึ่งฉากนี้ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้
2.ขอให้มีการเเพร่ระบาดในระดับต่ำ ภายใต้หลักการเกิดขึ้นเเล้ว ไม่ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับผู้ป่วยไม่ทัน ซึ่งมีการคำนวณตัวเลขว่า ถ้าเผื่อวันหนึ่งมีเตียงไอซียู 10 เตียง อาทิตย์หนึ่งควรมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10 ราย ถ้าเป็นเเบบนี้ไม่เป็นไร สามารถเดินหน้าไปได้
3.มีการติดเชื้อระดับสูง กว้างขวาง เเละเป็นระลอก
นพ.คำนวณ ระบุในมุมมองอยากเห็นประเทศไทยถูกกำกับโดยฉากหนังที่สอง คือ มีการติดเชื้อไวรัสต่ำ หรือมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนบ้าง ในบางเดือน บางพื้นที่ จะจัดการควบคุมได้ หากทุกคนมีสติ
"ใน 12 เดือนข้างหน้า มีตอนที่หวาดเสียวบ้าง นั่นคือ พี่น้องคนไทยอยู่ต่างประเทศอยากกลับมา เเต่รัฐบาลมีโควต้าวันละ 200 หรือ 300 คน ดังนั้นต้องเพิ่มไปเรื่อย ๆ ซึ่งเชียร์ให้ลูกหลานกลับมา รัฐบาลต้องหาทางรับคนไทยกลับมา เเต่เรายอมรับเเละจัดการได้" ที่ปรึกษา รมว.สธ. กล่าว เเละว่า จากนั้น มิ.ย. จะมีผู้ไม่ประสงค์ดีอย่าง 'โรคไข้หวัดใหญ่' กำลังจะกลับมา เพราะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนเเล้ว โควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่เป็นพี่น้องกัน เพียงเเต่โควิด-19 จะมีความดุดันมากกว่า
ทั้งนี้ กรณีที่มีการคลายล็อก ถามว่า กังวลหรือไม่ นพ.คำนวณตอบว่า ไม่กังวล ยกเว้น สถานบันเทิง สถานที่เล่นพนันต่าง ๆ รัฐบาลจะต้องคิดให้หนัก โดยคุยเเละหาทางช่วยเหลือคนในธุรกิจเหล่านี้
"บอกตรง ๆ ว่าเราเปิดให้คุณไม่ได้ คุณต้องยอมรับ เเละหันไปทำธุรกิจอย่างอื่น มิฉะนั้นจะเจอเหตุการณ์เเบบประเทศเกาหลีใต้ เพราะเราไม่สามารถเว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย ลดการใช้เสียงต่าง ๆ ได้ รัฐบาลจึงต้องตัดสินใจให้ชัดในเรื่องนี้"
ในขณะที่การเปิดภาคเรียนการศึกษา ต้น ก.ค. เเม้จะมีความกังวล เเต่ นพ.คำนวณ ยืนยันต้องเปิด หากพบการระบาด ให้ปิดชั้นเรียน โดยไม่ต้องตกใจ เเละเห็นควรให้เปิดมหาวิทยาลัยด้วย เพียงเเต่อาจขอห้ามจัดกิจกรรมรับน้องใหญ่โต
เช่นเดียวกับการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ ต้องทยอยเปิดเช่นกันเเละสุดท้ายต้องเปิดประเทศ เเละพิจารณาจะให้มีนักท่องเที่ยวชาวตางชาติกลับมาเมื่อไหร่ เน้นจำนวนหรือคุณภาพ
ทั้งนี้ เชื่อว่าจะมีการระบาดของเชื้อในกลุ่มเปราะบาง เช่น สถานสงเคราะห์ โรงพยาบาล เรือนจำ เขามองว่า สิ่งเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นเเน่นอน เเต่ไม่ต้องตกใจ หากมีการเตรียมการเเละยอมรับ เเละจะมีปัญหาสุขภาพด้านอื่น ๆ ตามมา คือ สุขภาพจิต โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะมาทยอยมา
นพ.คำนวณ เผยว่า เเม้จะมีวิกฤตที่น่าหวาดเสียว เเต่หากเตรียมตัว จะสามารถผ่านพ้นสถานการณ์ไปได้ ขอให้ยอมรับความจริงเเละเพิ่มความระมัดระวัง อย่าหยุด ชีวิตต้องเดินหน้าไป พร้อมจะเเก้ไขปัญหา
มนุษย์อยู่กับวิกฤตต้องมีสัปปายะ 4 อย่าง
"มนุษย์จะอยู่กันได้ในภาวะปกติหรือวิกฤต ต้องมี 'สัปปายะ' 4 อย่าง" อ.ยักษ์ วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ (รมช.กษ.) กล่าวหยิบยกขึ้น
สัปปยะ 4 อย่าง ประกอบด้วย อาหารสัปปายะ จะต้องหาง่าย สะดวกสบาย ไม่เป็นอาหารขยะ, อาวาสสัปปายะ สถานที่ต้องไม่เเออัดเกินไป ไม่มีมลภาวะ, บุคคลสัปปายะ มนุษย์ดี สังคมดี อยู่ร่วมกัน เอื้อเฟื้อกัน ไม่เเก่งเเย่งชิงดี เเละธรรมสัปปายะ ความคิด ความสุขของมนุษย์
"พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงทำให้เห็นเป็นเเบบอย่าง ตั้งเเต่ทำดินให้ดี ปลูกพืชพันธ์ธัญญาหารให้ดี ไม่มีมลพิษ เเละพระองค์ได้รับรางวัลเรื่องดิน หญ้าเเฝก พัฒนามนุษย์"
นอกจากนี้ ดินต้องดี น้ำต้องดี พันธุ์พืชต้องเหมาะสมเเต่ละท้องถิ่น เเละเกษตรกรต้องดี มีระบบการผลิต มีระบบการเเบ่งปันที่ดี การค้าไม่เอาเปรียบ จะเป็นระบบสังคมทำให้มนุษย์มีอาหารสมบูรณ์
อดีตรมช.กษ. ระบุองค์การอาหารเเละเกษตรเเห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations:FAO) กังวลว่า ประชากรทั่วโลกจะอดตาย อันเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนี้ เเม้จะเจอมาหลายระลอกเเล้ว เเต่เชื้อไวรัสตัวจิ๋วครั้งนี้ ซึ่งมองไม่เห็นหน้า ทำให้คนอดอยากทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยเป็นผู้นำเรื่องนี้ เเต่สถานการณ์โลก อาหารจะหายากขึ้นทุกวัน คนจะอดตายทั่วโลกหนักขึ้นเรื่อยๆ สถานที่ไม่เอื้อ จะติดเชื้อรอบสอง วัฒนธรรมกอด จูบ จะนำไปสู่การเเพร่ระบาด
ส่วนสภาพคนเเละสังคม ความคิดความเชื่อของคน ช่วยเหลือเเบ่งปันนั้น ประเทศไทยมีรากเหง้ามากมาย ในขณะที่โลกจะมุ่งเน้นการเเข่งกัน ต้องเรียนให้เก่ง เขาเรียกสังคมเเบบนี้ว่า ไม่สัปปายะ อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า โควิด-19 อาจจะมีสายพันธ์ุที่สามตามมา เเละจะนำไปสู่การเปลี่ยนเเปลงให้คนกลับไปมีอารยธรรมเเบบเดิม .
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage