"...มีประเด็นสำคัญคือ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐบาลหรือส่วนราชการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 จะถือว่าเป็นธุรกิจเอกชนหรือไม่ โดยในการประกาศกำหนดตำแหน่งดังกล่าว ตามมาตรา 126 ได้กำหนดตำแหน่ง กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณด้วย ทั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีความเห็นว่า คำว่าธุรกิจเอกชน ย่อมหมายถึงธุรกิจที่เอกชนเป็นเจ้าของ ไม่รวมถึงธุรกิจหรือกิจการใดที่ตามกฎหมายถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ…”
จากกรณีราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ 4 ฉบับ ที่เพิ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา สาระสำคัญในประกาศ 4 ฉบับดังกล่าว มีการเพิ่มตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว. รวมถึง หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง (ปลัดกระทรวง) ทบวง กรม (อธิบดี) กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าส่วนงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงบรรดาเลขาธิการศาลต่าง ๆ และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่ง รวมถึงในส่วนข้าราชการระดับสูงฝ่ายทหาร เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้นำเหล่าทัพ (ผบ.ทบ.-ผบ.ทร.-ผบ.ทอ.-ผบ.สส.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
ห้ามมิให้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่เป็นคู่สัญญาหรือคู่สัมปทานรัฐ เกินกว่า 5% นอกจากนี้ยังห้ามเจ้าตัว รวมถึงคู่สมรส เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญา หรือคู่สัมปทานรัฐส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงราชการเกี่ยวกับการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวนั้น (อ่านประกอบ : 3 ปมปัญหาประกาศ ป.ป.ช.ใหม่ป้องขัดกันแห่งผล ปย.สะเทือน‘บิ๊ก ขรก.’?)
เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงาน ป.ป.ช. ว่า ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา โดยมีบุคคลที่อยู่ภายใต้การบังคับตามประกาศดังกล่าว ตามมาตรา 126 และ 127 รวม 1,154 ราย และภายใต้บังคับตามประกาศดังกล่าวเฉพาะมาตรา 126 รวม 8,766 ราย โดยเฉพาะผู้บริหารท้องถิ่น เช่น ผู้ว่าฯ กทม. นายกเมืองพัทยา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 ราย นายกเทศมนตรี (เทศบาลนคร) 30 ราย นายกเทศมนตรี (เทศบาลเมือง) 184 ราย นายกเทศมนตรี (เทศบาลตำบล) 2,236 ราย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,324 ราย เป็นต้น
แหล่งข่าว ระบุอีกว่า เบื้องต้นสำนักงาน ป.ป.ช. ส่งหนังสือชี้แจงรายละเอียดไปถึงหน่วยงานรัฐ และหน่วยราชการทุกแห่งแล้ว เพราะช่วงนี้เกิดสถานการณ์โควิด-19 หลังจากสถานการณ์ ดีขึ้น จะมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปอธิบายอีกครั้ง
ทั้งนี้เหตุผลสำคัญในการบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.ดังกล่าว สำนักการขัดกันแห่งผลประโยชน์ สำนักงาน ป.ป.ช. เคยทำหนังสืออธิบายกรณีนี้ไว้แล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปรายละเอียดให้ทราบ ดังนี้
มาตรา 126 บัญญัติห้ามมิให้กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด เป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐ ห้ามมีส่วนได้เสียในสัญญาที่ทำไว้กับหน่วยงานของรัฐ ห้ามเป็นหุ้นส่วนหรือเป็นผู้ถือหุ้นในธุรกิจของเอกชน ห้ามรับสัมปทานหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทาน หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐในลักษณะผูกขาดตัดตอน รวมถึงห้ามไปมีส่วนได้เสียต่าง ๆ ในธุรกิจของเอกชน ไม่ว่าเป็นการทำงานในฐานะกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานรัฐนั้น อีกทั้งบัญญัติห้ามดำเนินกิจการของคู่สมรสของเจ้าพนักงานรัฐในลักษณะเดียวกับที่บัญญัติห้ามเจ้าพนักงานรัฐด้วย
นอกจากประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังกล่าวแล้ว ยังรวมถึงเจ้าพนักงานของรัฐที่ได้รับมอบอำนาจด้วย โดยวัตถุประสงค์ของ มาตรา 126 เป็นการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งมีที่มาจากการที่เจ้าพนักงานของรัฐได้รับมอบอำนาจจากรัฐ ทำให้มีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต การให้สัมปทาน และลงนามในสัญญาต่าง ๆ รวมถึงเจ้าพนักงานของรัฐที่มีอำนาจในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
ยกตัวอย่าง กรณีปลัดกระทรวงแห่งนี้ มอบอำนาจให้รองปลัดกระทรวงปฏิบัติราชการแทนและมีอำนาจในการอนุมัติจัดจ้างโครงการก่อสร้างอาคาร A ย่อมหมายความว่า รองปลัดกระทรวงถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่ได้รับมอบอำนาจและต้องห้ามดำเนินกิจการตามมาตรา 126 ด้วย
มาตรา 127 ห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ดำเนินการใดตามมาตรา 126 (4) ภายใน 2 ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง
ลักษณะและองค์กรประกอบที่ห้ามเจ้าพนักงานของรัฐกระทำการตามมาตรา 126 และ 127 เช่น
1.การเป็นคู่สัญญา โดยมีตัวอย่างคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ได้แก่ กรณีนาย ช (นามสมมติ) นายก อบจ. แห่งหนึ่ง ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงต่อเติมอาคาร อบจ.ดังกล่าว โดยตัวเองเข้าไปทำเอง แต่ให้ หจก.ส (นามสมมติ) เข้าประมูลงานแทน จึงเข้าข่ายเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์ของตนเอง
2.การมีส่วนได้เสียในสัญญา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยให้ความเห็นไว้ว่า การมีสว่นได้เสียหรือมีประโยชน์ได้เสียในทางตรง ได้แก่ การเป็นคู่สัญญาหรือได้รับประโยชน์ในธุรกิจโดยตรงกับหน่วยงานนั้น
การมีส่วนได้เสียหรือมีประโยชน์ได้เสียในทางอ้อม ได้แก่ การมีส่วนได้เสียผ่านบุคคลอื่นหรือใช้วิธีการอื่นใดอันจะกระทำให้เกิดการขัดกันในผลประโยชน์ได้เสียด้วย หรือการมีความสัมพันธ์กับคู่สัญญาในลักษณะที่จะส่งผลดีหรือผลเสียต่อตนในทางอ้อม
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลปกครองเกี่ยวกับการมีส่วนได้เสีย กรณีสะใภ้เป็นคู่สัญญากับเทศบาลที่พ่อสามีเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ไม่ถือว่าพ่อสามีเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงหรือโดยอ้อม อันเป็นผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาเทศบาลสิ้นสุดลง เพราะแม้สะใภ้จะเป็นผู้ลงชื่อในสัญญาจ้าง แต่พ่อสามีซึ่งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลไม่ได้มีอำนาจหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำสัญญาในฐานะผู้ว่าจ้างหรือผู้รับจ้างด้วย
ประกอบกับผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าพ่อสามีได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการร้านหรือมีความสัมพันธ์ในเชิงการลงทุนร่วมกับบุตรชายหรือสะใภ้ในกิจการของร้านแต่อย่างใด และแม้ที่ตั้งโรงพิมพ์ของร้าน A จะตั้งอยู่ที่บ้านซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อสามี โดยเช่าจากพ่อสามีหรือพ่อสามีให้ประโยชน์โดยไม่คิดค่าเช่าเพื่อช่วยเหลือบุตรก็ตาม แต่ก็ไม่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ได้เสียตามสัญญาจ้างแต่อย่างใด
3.การเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วน หมายถึง การที่บุคคลได้ลงทุนร่วมกันในห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน หรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งห้างหุ้นส่วนดังกล่าวได้เข้ามาเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่บุคคลดังกล่าวดำรงตำแหน่งในฐานะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือเจ้าพนักงานของรัฐที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด ได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งมีอำนาจโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี
4.การถือหุ้นในบริษัท หมายถึง การห้ามมิให้ดำเนินกิจการที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมได้เข้าไปลงทุนโดยการมีหุ้นในบริษัทตามทะเบียนผู้ถือหุ้น ที่เจ้าพนักงานของรัฐถือหุ้นอยู่ได้เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมในการกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบ หรือดำเนินคดี
5.การรับหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทาน สัญญาอันมีลักษณะผูกขาดตัดตอน การเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทาน
การรับหรือคงถือไว้ซึ่งสัมปทาน สัญญาอันมีลักษณะผูกขาดตัดตอน หมายถึง การที่รัฐให้สิทธิพิเศษหรืออำนาจพิเศษในการดำเนินการ โดยเฉพาะธุรกิจหรือการค้าการผลิตเป็นพิเศษเฉพาะส่วน หรือควบคุมการขายทั้งหมด การให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทจะจัดให้ทำได้เพียงผู้เดียวในระยะเวลาหนึ่งที่กำหนดตกลงกัน โดยมีข้อสัญญาว่าบริษัทจะต้องจ่ายเงินค่าสิทธิพิเศษให้แก่รัฐเป็นการตอบแทนจากการที่ได้รับผูกขาด ผลกำไรที่ได้จากกิจการนั้นตกเป็นของผู้รับผูกขาด เช่น การผลิตและจำหน่ายสุราในเขตท้องที่ใดท้องที่หนึ่งแต่เพียงผู้เดียว เป็นต้น
ส่วนการเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ อันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หมายถึง เข้าไปทำสัญญาใด ๆ นอกเหนือจากสัญญาสัมปทานรัฐ อันมีลักษณะผูกขาดตัดตอน
6.การเข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจเอกชน โดยมีประเด็นสำคัญคือ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งรัฐบาลหรือส่วนราชการถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 จะถือว่าเป็นธุรกิจเอกชนหรือไม่ โดยในการประกาศกำหนดตำแหน่งดังกล่าว ตามมาตรา 126 ได้กำหนดตำแหน่ง กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณด้วย ทั้งนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีความเห็นว่า คำว่าธุรกิจเอกชน ย่อมหมายถึงธุรกิจที่เอกชนเป็นเจ้าของ ไม่รวมถึงธุรกิจหรือกิจการใดที่ตามกฎหมายถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจ
โดยการเข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการในธุรกิจเอกชน เช่น กรณี รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่กำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบสถาบันอุดมศึกษาเอกชน อันเป็นธุรกิจที่อยู่ภายใต้กำกับดูแล ควบคุมหรือตรวจสอบ การที่ รมว.ศึกษาธิการ ได้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยในสถาบันอุดมศึกษาของเอกชน จึงถือว่าเป็นการเข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการในธุรกิจของเอกชน
ส่วนกรณีที่ปรึกษา เช่น รมว.ศึกษาธิการ ได้เป็นที่ปรึกษาให้อธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษา จึงถือว่าการเข้าไปทำหน้าที่ในการที่ปรึกษานั้นจะส่งผลให้เกิดการขัดแย้งกันระหว่างการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐที่เป็นกิจการส่วนรวมหรือสาธารณะ กับกิจกรรมอันเป็นหน้าที่ปรึกษาในธุรกิจของเอกชน
ส่วนกรณีเป็นตัวแทน เช่น เจ้าพนักงานของรัฐได้เป็นตัวแทนในการยื่นซองสอบราคาต่อหน่วยงานของรัฐที่อยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัดอยู่ และตัวแทนตามกฎหมายจะมีอำนาจหน้าที่ในการเจรจาต่อรองอำนาจหน้าที่ การทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของเจ้าพนักงานของรัฐจึงเป็นการเข้าไปมีส่วนได้เสียในหน้าที่อันเป็นผลทำให้เกิดการขัดแย้งกันระหว่างการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐที่เป็นกิจการของส่วนรวมหรือสาธารณะ กับกิจกรรมอันเป็นหน้าที่ของตน เป็นต้น
กรณีลูกจ้าง เช่น รมว.สาธารณสุข มีความสัมพันธ์กับสถานพยาบาลในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างอย่างใดอย่างหนึ่งในธุรกิจของสถานพยาบาลเอกชน แล้วแต่กรณี จึงอยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียในธุรกิจของเอกชนและส่งผลทำให้เกิดการขัดแย้งกันระหว่างการทำหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐที่เป็นกิจการของส่วนรวมหรือสาธารณะ เป็นต้น
สำหรับผลของการฝ่าฝืน มาตรา 126 และ 127 และบทกำหนดโทษ กรณีการที่เจ้าพนักงานของรัฐได้ดำเนินกิจการใด ๆ ที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม นั้นเป็นเรื่องการฝ่าฝืนจริยธรรม หรือเป็นการทำผิดจริยธรรมของเจ้าพนักงานของรัฐ แต่เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายให้การกระทำดังกล่าวให้ถือเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม การแก้ไขดังกล่าวจะส่งผลต่อคุณสมบัติของบุคคลในการที่จะเข้ามาเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามที่ พ.ร.บ.ต่าง ๆ ได้บัญญัติไว้ และทำให้การกระทำความผิดดังกล่าวอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มีอำนาจในการไต่สวนเจ้าพนักงานของรัฐที่ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด
โทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. กรณีผิดตามมาตรา 126 จะต้องรับโทษทางอาญาตามมาตรา 168 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีความผิดตามมาตรา 126 วรรคสอง มีโทษตามมาตรา 168 ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐตามวรรคหนึ่งด้วย ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเจ้าพนักงานของรัฐนั้นรู้เห็นยินยอมด้วย เจ้าพนักงานของรัฐนั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท
กรณีความผิดตามมาตรา 127 ต้องรับโทษทางอาญา ตามมาตรา 170 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งหมดคือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. การขัดกันแห่งผลประโยชน์ฯ ที่กำลังเป็นประเด็นถูกวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงการเมือง-ราชการอยู่ในขณะนี้ !
หมายเหตุ : ภาพประกอบบางส่วนจาก https://pmdu.soc.go.th/
อ่านประกอบ :
3 ปมปัญหาประกาศ ป.ป.ช.ใหม่ป้องขัดกันแห่งผล ปย.สะเทือน‘บิ๊ก ขรก.’?
ประกาศ ป.ป.ช.ใหม่ ‘ปลัด-อธิบดี-บิ๊กเหล่าทัพ’ ห้ามถือหุ้นในเอกชนคู่สัญญารัฐเกิน 5%
ประกาศ ป.ป.ช.ใหม่ ‘ปลัด-อธิบดี-บิ๊กเหล่าทัพ’ ห้ามถือหุ้นในเอกชนคู่สัญญารัฐเกิน 5%
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/