“...ยังไม่นับบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด อีกหลายแห่งที่กระทรวงการคลังถือหุ้น โดยมีตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการ ไม่ว่าจะเป็น อธิบดีกรมสรรพากร (กระทรวงการคลัง) อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (กระทรวงพาณิชย์) ที่ต้องเป็นตัวแทนไปนั่งเก้าอี้กรรมการ (บอร์ด) ในบริษัทต่าง ๆ เพื่อควบคุมดูแลการดำเนินงานของบริษัทนั้น ๆ เช่น ธนาคารทหารไทย (กระทรวงการคลังถือหุ้น 25.98%) หรือธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เป็นต้น ต่อไปนี้จะไปนั่งเป็นบอร์ดไม่ได้อีกแล้วใช่หรือไม่ ?...”
ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ 4 ฉบับ ที่เพิ่งเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา กำลังได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในแวดวงราชการอย่างมาก (อ่านประกอบ : ประกาศ ป.ป.ช.ใหม่ ‘ปลัด-อธิบดี-บิ๊กเหล่าทัพ’ ห้ามถือหุ้นในเอกชนคู่สัญญารัฐเกิน 5%)
เดิมประกาศ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการขัดกันแห่งผลประโยชน์ปี 2542 มีการกำหนดตำแหน่งไว้เพียง 2 ตำแหน่ง คือนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ตามมาตรา 100 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2542 ต่อมาปี 2554 แก้ไขเพิ่มเติมอีก 2 ตำแหน่งคือผู้บริหารท้องถิ่น และรองผู้บริหารท้องถิ่น
อย่างไรก็ดีในปี 2563 สาระสำคัญในประกาศ 4 ฉบับดังกล่าว มีการเพิ่มตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว. รวมถึง หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง (ปลัดกระทรวง) ทบวง กรม (อธิบดี) กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หัวหน้าส่วนงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ รวมถึงบรรดาเลขาธิการศาลต่าง ๆ และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกแห่ง รวมถึงในส่วนข้าราชการระดับสูงฝ่ายทหาร เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้นำเหล่าทัพ (ผบ.ทบ.-ผบ.ทร.-ผบ.ทอ.-ผบ.สส.) และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ด้วย
โดยตำแหน่งข้างต้นเหล่านี้ ห้ามมิให้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ที่เป็นคู่สัญญาหรือคู่สัมปทานรัฐ เกินกว่า 5% นอกจากนี้ยังห้ามเจ้าตัว รวมถึงคู่สมรส เป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน หรือลูกจ้างของบริษัทเอกชนที่เป็นคู่สัญญา หรือคู่สัมปทานรัฐ
ประเด็นที่น่าสนใจ เดิมการกำหนดแค่ตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อป้องกันมิให้กลุ่มการเมืองเหล่านี้ ตั้งบริษัท หรือให้ ‘นอมินี’ ดำเนินการแทนในบริษัท และตนเองใช้สถานะตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง เอื้อประโยชน์ให้บริษัทเหล่านั้นได้เป็นคู่สัญญา หรือได้รับสัมปทานจากภาครัฐ แต่มาคราวนี้มีการเพิ่มตำแหน่งแบบ 'เหวี่ยงแห' อีกจำนวนมาก
ประกาศทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว ส่งผลอะไรบ้าง ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปรายละเอียดให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
หนึ่ง ปัจจุบันมีหัวหน้าส่วนราชการจำนวนมาก ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ (กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้น และกระทรวงต่าง ๆ กำกับดูแล) เช่น บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย มีนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานกรรมการ เมื่อประกาศ ป.ป.ช. 4 ฉบับดังกล่าวประกาศใช้ อาจทำให้ตัวแทนหน่วยงานราชการไปเป็นกรรมการของบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจไม่ได้อีกแล้วใช่หรือไม่ ?
ยังไม่นับบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด อีกหลายแห่งที่กระทรวงการคลังถือหุ้น โดยมีตัวแทนหัวหน้าส่วนราชการ ไม่ว่าจะเป็น อธิบดีกรมสรรพากร (กระทรวงการคลัง) อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (กระทรวงพาณิชย์) ที่ต้องเป็นตัวแทนไปนั่งเก้าอี้กรรมการ (บอร์ด) ในบริษัทต่าง ๆ เพื่อควบคุมดูแลการดำเนินงานของบริษัทนั้น ๆ เช่น ธนาคารทหารไทย (กระทรวงการคลังถือหุ้น 25.98%) หรือธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ เป็นต้น ต่อไปนี้จะไปนั่งเป็นบอร์ดไม่ได้อีกแล้วใช่หรือไม่ ?
สอง ประเด็นถัดมาคือ กรณี ส.ส. และ ส.ว. ที่ถูกเพิ่มในประกาศ 4 ฉบับข้างต้นเป็นครั้งแรก มีประเด็นที่น่าสนใจคือ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 126 (3) ส.ส. มีหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแล หรือดำเนินคดี ดังนั้นต่อไปในการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา เช่น กมธ.การเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ที่มีหน้าที่ตรวจสอบโดยตรงพวกบรรดาสถาบันการเงินต่าง ๆ จะสามารถไปนั่งเป็นที่ปรึกษา บริษัทางการเงิน หรือธนาคารเหล่านั้นได้หรือไม่ ?
สาม กรณีคู่สมรสของผู้ที่ถูกกำหนดตำแหน่งตามประกาศ ป.ป.ช. ทั้ง 4 ฉบับดังกล่าว โดยเฉพาะประกาศ ป.ป.ช. กำหนดตำแหน่งต้องห้ามตามมาตรา 126 (4) แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 126 (4) กำหนดห้ามเข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างธุรกิจเอกชนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล หรือตรวจสอบของหน่วยงานรัฐ ซึ่งรวมถึงคู่สมรสด้วย อย่างไรก็ดีมีการอนุโลมว่า เว้นแต่กรณีคู่สมรสนั้นดำเนินการก่อนที่เจ้าพนักงานของรัฐจะดำรงตำแหน่ง
หมายความว่า หากคู่สมรสเป็นที่ปรึกษา กรรมการ หรือพนักงานในบริษัทเอกชนต่าง ๆ ที่ทำงานอยู่ก่อนนักการเมืองหรือเจ้าพนักงานของรัฐเข้ารับการดำรงตำแหน่ง สามารถทำต่อไปได้ แต่ถ้านักการเมือง หรือเจ้าพนักงานของรัฐที่เข้ารับตำแหน่งไปแล้ว ห้ามมิให้คู่สมรสเข้าไปเป็นที่ปรึกษา กรรมการ หรือพนักงานในบริษัทเอกชนต่าง ๆ หลังจากนั้น
อธิบายให้ง่ายขึ้นคือ สมมติ นาย A เข้ารับตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐ นาง B คู่สมรส เป็นแม่บ้าน ต่อมาอยากทำงานจึงไปสมัครเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทเอกชน หรือแม้แต่ไปซื้อหุ้นของบริษัทเอกชน จะไม่สามารถทำได้ เนื่องจากดำเนินการหลังจากที่นาย A เข้ารับตำแหน่งไปแล้ว ต้องรอจนกว่านาย A จะพ้นจากตำแหน่งเจ้าพนักงานของรัฐเสียก่อน เป็นต้น
นี่คือ 3 เงื่อนปมสำคัญในประกาศ ป.ป.ช. 4 ฉบับข้างต้น ที่กำลังถูกภาคราชการ และภาคประชาชนบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดร้อน และหากมีการปฏิบัติจริงคาดว่าน่าจะมีประเด็นปัญหายิบย่อยมาตามมาอีกมาก ?
ท้ายที่สุด ป.ป.ช. จะมีคำอธิบายเกี่ยวกับประเด็นปัญหาเหล่านี้อย่างไร คงต้องรอฟังคำชี้แจงต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบบางส่วนจาก https://pmdu.soc.go.th/
อ่านประกอบ : ประกาศ ป.ป.ช.ใหม่ ‘ปลัด-อธิบดี-บิ๊กเหล่าทัพ’ ห้ามถือหุ้นในเอกชนคู่สัญญารัฐเกิน 5%
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/