"...แต่ทว่าการจ่ายค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมของคณะกรรมการฯ ภายใต้ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ตามมติ ครม. ซึ่งปรับรูปแบบเบี้ยประชุมรายเดือน และปรับขึ้นเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้น 20% จากค่าตอบแทนเดิมนั้น สศช.ประมาณการรายจ่ายตอบแทนกรรมการจำนวน 6 ชุด รวมกันอยู่ที่ 45.19 ล้านบาทต่อปี..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 5 พ.ค. คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2563 และมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ
คือ ให้ปรับปรุงการจ่ายค่าตอบแทนให้คณะกรรมการที่ถูกแต่งตั้งจาก พ.ร.บ. 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 และพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 จากค่าตอบแทนจาก 'รายครั้ง' เป็น 'รายเดือน' และให้ปรับขึ้นอัตราค่าตอบแทนหรือเบี้ยประชุมอีก 20% จากของเดิม ยกเว้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมเป็นประธาน ที่ยังคงใช้เบี้ยประชุม 'อัตราเดิม'
สศช.ให้เหตุผลว่า การปรับลดเบี้ยประชุมคณะกรรมการตามแนวทางดังกล่าว จะช่วยประหยัดและลดภาระงบประมาณได้เป็นอย่างมาก (ข่าวประกอบ : ขึ้นเบี้ยประชุม20%-รับเป็นรายเดือน ปรับค่าตอบแทน กก.ปฏิรูปประเทศ-คณะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ)
ต่อมาศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ออกมาคัดค้านการปรับปรุงค่าตอบแทนดังกล่าว โดยเห็นว่ากรรมการหลายคนล้วนมีเงินเดือน มีค่าตอบแทน และมีเงินประจำตำแหน่งในหน้าที่การงานเดิมอยู่แล้ว และหากจำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป ควรได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนไม่เกินครั้งละ 331 บาท เทียบเท่ากับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล
(ตารางค่าตอบแทน ก่อนและหลังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีมติเมื่อวันที่ 1 เม.ย.63 ให้ปรับปรุง)
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศราได้ตรวจค้นข้อมูลกรายงานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.63 ณ ตึกสันติ ไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน และกรรมการ 24 คน อาทิ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร , นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ,พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฯลฯ พบว่า
หลังจากมีการประกาศใช้พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 และพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปี 2560 จนถึงปัจจุบัน (ตั้งแต่เดือนก.ย.60-ปัจจุบัน) หรือประมาณ 2 ปี 7 เดือน คณะกรรมการฯ 5 ชุดภายใต้พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ มีการประชุมรวมกันทั้งสิ้น 1,206 ครั้ง และจ่ายค่าตอบแทนรวม 52.58 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 20.22 ล้านบาท สรุปได้ดังนี้
1.คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ประชุม 228 ครั้งนี้ จ่ายค่าตอบแทน รวม 11.70 ล้านบาท
2.คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ประชุม 94 ครั้ง จ่ายค่าตอบแทน รวม 2.48 ล้านบาท
3.ที่ประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะ ประชุม 3 ครั้ง จ่ายค่าตอบแทน รวม 337,500 บาท
4.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ประชุม 648 ครั้ง จ่ายค่าตอบแทน 30.92 ล้านบาท
5.คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ประชุม 233 ครั้ง จ่ายค่าตอบแทน 7.13 ล้านบาท
(จำนวนการประชุมและเบี้ยประชุมคณะกรรมการตาม พ.ร.บ. 2 ฉบับ ตั้งแต่เดือนก.ย.60-ปัจจุบัน)
แต่ทว่าการจ่ายค่าตอบแทนและเบี้ยประชุมของคณะกรรมการฯ ภายใต้พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ ตามมติครม. ซึ่งปรับรูปแบบเบี้ยประชุมรายเดือน และปรับขึ้นเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้น 20% จากค่าตอบแทนเดิมนั้น สศช.ประมาณการรายจ่ายตอบแทนกรรมการจำนวน 6 ชุด รวมกันอยู่ที่ 45.19 ล้านบาทต่อปี แต่หากเดือนไหนไม่มีการประชุมก็จะไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนแต่อย่างใด โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ จัดประชุมทุกเดือน ค่าตอบแทน 10.88 ล้านบาทต่อปี
2.คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ประชุมทุกเดือน ค่าตอบแทน 1.36 ล้านบาทต่อปี
3.คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ประชุมทุกเดือน ค่าตอบแทน 5.44 ล้านบาทต่อปี
4.การประชุมร่วมประธานกรรมการปฏิรูปทุกคณะ ประชุม 3 ครั้ง ต่อปี ค่าตอบแทน 4.05 แสนบาทต่อปี
5.คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ประชุมทุกเดือน ค่าตอบแทน 18.25 ล้านบาทต่อปี
6.คณะอนุกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ทุกคณะ ประชุมทุกเดือน ค่าตอบแทน 8.84 ล้านบาทต่อปี
(ประมาณการรายจ่ายจากการปรับปรุงค่าตอบแทนคณะกรรมการตามพ.ร.บ.2 ฉบับ )
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติยังได้พิจารณาร่างแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) หลังจาก ครม.มีมติเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2562 มีมติให้ปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยมอบหมายให้คณะกรรมการปฏิรูปฯ ดำเนินการตามขั้นตอนและกรอบระยะของกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูป 10 ชุด ได้ส่งร่างแผนการปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากคณะกรรมการปฏิรูปด้านการเมือง และด้านการศึกษาที่ยังไม่ได้ยังไม่ส่งร่างแผนปฏิรูป โดยมีสาเหตุจากคณะกรรมการฯด้านการเมืองมีจำนวนเหลือ 2 คน ทำให้ไม่เพียงพอต่อการเป็นองค์ประชุม และคณะกรรมการฯด้านการศึกษา ยังอยู่ระหว่างนำเสนอพิจารณาแต่งตั้ง
ดังนั้น ที่ประชุมฯจึงมีมติให้ขยายระยะเวลาการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศ โดยให้ดำเนินการภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ ครม.แต่งตั้งประธานกรรมการ และกรรมการปฏิรูปประเทศเพิ่มเติม 'ทุกคณะ'
ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ โดยมอบหมายให้ สศช. ในฐานะฝ่ายเลขาฯ ดำเนินการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับหน่วยงานเจ้าภาพขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 3 ระดับ และสำนักงบประมาณดำเนินการจัดทำโครงการตามแนวทางที่เสนอให้แล้วเสร็จ สำหรับใช้ในการจัดทำคำขอรับจัดสรรงบประมาณประจำปี 2565
นอกจากนี้ ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณ ,สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอความเห็นให้การปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย
แม้ว่า สศช.อ้างว่า การปรับปรุงค่าตอบแทน ทั้งเพิ่มเบี้ยประชุม 20% และปรับวิธีรับค่าตอบแทนจากรายครั้งเป็นรายเดือน จะทำให้ภาระงบประมาณลดลง แต่ปรากฎว่า การปรับปรุงค่าตอบแทนครั้งนี้ กลับทำให้เบี้ยประชุมของคณะกรรมกาารภายใต้ พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ เพิ่มเป็นปีละ 45.19 ล้านบาท จากเดิมที่เฉลี่ยปีละ 20.22 ล้านบาท
(การประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ครั้งที่ 1/2563 เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา)
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage