"...ทีมบุคลากรทางการแพทย์ของสิงคโปร์ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ และได้นำมาปรับใช้เป็นวิธีการรักษาของสิงคโปร์เอง ยกตัวอย่างเช่นศูนย์ควบคุมโรคติดต่อประเทศสิงคโปร์ ที่รับตัวคนไข้จำนวนมากเข้ามารักษา ได้ให้คนไข้นอนคว่ำหน้าในระหว่างการรักษา เพราะเรียนรู้ข้อมูลจากในต่างประเทศว่าการนอนคว่ำหน้านั้นจะทำให้หน้าท้องต้องการออกซิเจนลดน้อยลง และจะทำให้ออกซิเจนเข้าสู่ปอดมากขึ้น ..."
แม้ว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ในประเทศสิงคโปร์นั้นจะมีอันดับที่สูงที่สุดในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) โดยยอดผู้ติดเชื้อในประเทศปัจจุบัน มีจำนวนทั้งสิ้น 21,707 ราย
แต่ถ้าหากพิจารณาลงลึกในรายละเอียด ตัวเลขผู้เสียชีวิตของสิงคโปร์ นั้น กลับน้อยกว่าในหลายประเทศเป็นอย่างมาก คือ 20 ศพเท่านั้น
เปรียบเทียบกับประเทศไทยที่มีอัตราผู้ติดเชื้อน้อยกว่าประเทศสิงคโปร์ ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อแค่ 3,000 รายเท่านั้น
แต่กลับมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ถึง 55 ศพ หรือคิดเป็น 2 เท่าของสิงคโปร์
น่าสนใจว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้สิงคโปร์ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด 19 มากที่สุดในอาเซียน ถึงมีตัวเลขผู้เสียชีวิตจำนวนน้อยแบบนี้ ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สำรวจข้อมูลรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศ พบว่าสำนักข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ของฮ่องกง เคยนำเสนอข้อสังเกตในเรื่องนี้ไว้ ระบุปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์มีตัวเลขผู้เสียชีวิตจำนวนน้อย ไว้ดังนี้
ประการแรก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ของสิงคโปร์ส่วนมากจะเป็นผู้ที่มีอายุน้อย ประกอบไปด้วยแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ที่หอพักขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลปรากฎว่า กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ติดเชื้อใหม่ในสิงคโปร์เป็นแรงงานต่างชาติที่อาศัยอยู่ในหอพัก เป็นผู้มีอาการป่วยแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อมีการตรวจพบว่าได้รับเชื้อ ทางภาครัฐจะย้ายตัวไปรักษายังศูนย์กักกันโรคซึ่งจะตั้งแยกออกจากสถานที่อื่นๆ แทนที่จะนำตัวผู้ป่วยไปไว้ที่โรงพยาบาล
ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้มีเตียงแพทย์เพียงพอสำหรับผู้ป่วยที่อาการหนักในสิงคโปร์
สภาพของหอพักแรงงานต่างชาติในสิงคโปร์ (อ้างอิงรูปภาพจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น)
ประการสอง สำหรับผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 นั้น มีรายงานว่ารัฐบาลสิงคโปร์ได้ขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุเหล่านี้ และได้ออกคำแนะนำให้อยู่ที่บ้านเพื่อที่จะให้ลดโอกาสการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น
ส่วนผู้สูงอายุในประเทศสิงคโปร์ ก็อยู่บ้านตามคำแนะนำของนายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ อย่างเคร่งครัด
ตัวอย่างเช่น นาง Soh Lai Hoe วัย 94 ปี ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยุ่กับลูกหลาน ไม่ได้ออกจากบ้านเลยแม้แต่ครั้งเดียว นับตั้งแต่เดือน มี.ค.
ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์ มีบ้านพักคนชรา จำนวน 5 แห่ง ที่มีผู้ป่วยด้วยโรคโควิด 19 อยู่จำนวนรวม 20 ราย ผู้ป่วยเป็นทั้งผู้พักอาศัยและผู้ดูแลบ้านพัก
ซึ่งนับเป็นน้อยมากเมื่อเทียบกับกรณีสหรัฐอเมริกาที่มีการตรวจสอบผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 จำนวนถึง 11,000 ศพ ในบ้านพักคนชราที่มีอยู่ทั่ว 36 รัฐ ในประเทศสหรัฐฯ
ขณะที่ นาย Paul Tambyah ประธานสมาคมเอเชียแฟซิฟิกศึกษาด้านจุลชีววิทยาและการติดเชื้อ ประเทศสิงคโปร์ (Asia Pacific Society of Clinical Microbiology and Infection) เคยออกมาระบุว่า ถ้าหากมีกรณีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นที่บ้านพักคนชรา หรือกรณีการติดเชื้อในหมู่ผู้สูงอายุ จะประสบปัญหาอย่างยิ่งกับสิงคโปร์ เพราะว่าผู้สูงอายุนั้นต้องการทรัพยากรในการรักษามากกว่าผู้ป่วยรายอื่น
นาย Paul Tambyah ประธานสมาคมเอเชียแฟซิฟิกศึกษาด้านจุลชีววิทยาและการติดเชื้อ ประเทศสิงคโปร์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวสเตรทไทม์ ถึงสถานการณ์โควิด 19
นายพอล ยังกล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากประเด็นเรื่องการจัดการแล้ว ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ สิงคโปร์ค่อนข้างโชคดีที่มีอัตราผู้สูงอายุที่น้อยกว่าสเปนและอิตาลีมาก
โดยอิตาลี เกือบ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมดเป็นผู้ที่อายุมากกว่า 65 ปี และ 3 ใน 4 ของการติดเชื้อก็เป็นการติดเชื้อในหมู่ผู้สูงอายุเกิน 70 ปี ซึ่งจากข้อมูลพบว่ามีผู้ป่วยอิตาลีจำนวนถึง 26,644 รายที่เป็นผู้สุงอายุมีอาการขั้นวิกฤติจนเสียชีวิต
ส่วนนาย Leong Hoe Nam ผู้เชี่ยวชาญด้านการระบาดวิทยาได้กล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จอีกประการของประเทศสิงคโปร์ ไว้คือ การเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือที่เพียงพอกับกรณีที่จะมีผู้ป่วยที่มีอาการร้ายแรง
อ้างอิงรูปภาพจาก www.mountelizabeth.com.sg
โดยทีมบุคลากรทางการแพทย์ของสิงคโปร์ ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศอื่นๆ และได้นำมาปรับใช้เป็นวิธีการรักษาของสิงคโปร์เอง
ยกตัวอย่างเช่นศูนย์ควบคุมโรคติดต่อประเทศสิงคโปร์ ที่รับตัวคนไข้จำนวนมากเข้ามารักษา ได้ให้คนไข้นอนคว่ำหน้าในระหว่างการรักษา เพราะเรียนรู้ข้อมูลจากในต่างประเทศว่าการนอนคว่ำหน้านั้นจะทำให้หน้าท้องต้องการออกซิเจนลดน้อยลง และจะทำให้ออกซิเจนเข้าสู่ปอดมากขึ้น
นาย Leong ยังระบุด้วยว่า ทางการสิงคโปร์ ยังมีการจัดกระบวนการในการคัดกรองผู้ป่วยที่คาดว่าจะไม่มีอาการแทรกซ้อนอย่างมีประสิทธิภาพ ออกจากผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ทำให้มีทรัพยากรมากพอจะไปดูแลคนป่วยที่ต้องการอุปกรณ์จำเป็น เช่น เครื่องช่วยหายใจ หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการผ่าตัด เป็นต้น
ขณะที่ นาย Jeremy Lim ศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์ Saw Swee Hock มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิดทั่วประเทศสิงคโปร์ อยู่ที่ตัวเลข 32 รายในวันที่ 10 เม.ย. แต่ลดลงไปอยู่ที่ 22 รายในช่วงปลายเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นผลมาาจากปัจจัย 2 ประการ คือ 1. ระบบการแพทย์ที่มีคุณภาพของสิงคโปร์ และ 2. การทำงานของทีมแพทย์ที่ทำงานถูกจุด เน้นที่การรักษาแบบองค์รวม ที่ไม่มองแค่ปัจจัยที่เกี่ยวกับโรคโควิด 19เท่านั้น แต่ยังเน้นการรักษาให้คนไข้ลดความร้ายแรงของการเกิดอาการโรคแทรกซ้อน อาทิ การออกกำลังกาย และการรับสารอาหารที่เป็นประโยชน์
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้อาการของผู้ป่วยนั้นไม่ลุกลามไปถึงขั้นร้ายแรง
เรียบเรียงเนื้อหาและอ้างอิงรูปภาพบางส่วนจาก:https://www.scmp.com/week-asia/health-environment/article/3081772/coronavirus-why-so-few-deaths-among-singapores-14000
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage