“...หัวใจสำคัญก็คือว่าโครงการเหล่านี้ต้องสร้างงาน สร้างรายได้อย่างมีนัยยะสำคัญ อย่าลืมว่าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก และจะเริ่มเห็นผลว่าเศรษฐกิจหยุดชะงักในไตรมาสถัดไป ดังนั้นทุกคนต้องเตรียมตัวไว้ให้พร้อม...”
เข้าสู่โค้งสำคัญของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังเริ่มใช้มาตรการผ่อนปรนกิจการ-กิจกรรม 3 พ.ค.เป็นต้นไป
รัฐบาลวางกรอบ 4 ระยะ ประเมินผลทุก 14 วัน มองผลลัพธ์แบบมีประสิทธิภาพสูงสุด ประเทศจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 2 เดือน ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ปัจจัยด้านสาธารณสุข – ความร่วมมือจากประชาชนที่ต้องใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบวินัยควบคู่ไปด้วย
การผ่อนปรนมาตรการ ทำให้ประชาชนคลายความกังวล เช่นเดียวกับภาคเศรษฐกิจที่จะเริ่มกลับมาเดินหน้าได้ใหม่ หลังถูกปิด-จำกัดพื้นที่มานานกว่า 1 เดือน
ส่วนผู้มีรายได้น้อย-อาชีพอิสระ จะกลับมามีรายได้เป็นของตัวเองได้อีกครั้งหนึ่ง หลังหมดเวลาไปกับการลงทะเบียน-รับสิทธิ์โครงการ ‘เราไม่ทิ้งกัน’
ไม่นับรวมผู้ประกอบการ-เจ้าของธุรกิจ มาถึงวันนี้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาประชาชน ครอบคลุมคน 3 กลุ่ม 37 ล้านคนที่ได้รับการช่วยเหลือในช่วงวิกฤติโควิด
11 ล้านคน เป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือน ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ถูกเลิกจ้าง-พักงาน ได้รับการเยียวยาใช้เงินกองทุนประกันสังคมที่มีอยู่ 160,000 ล้านบาทในการดำเนินการ
16 ล้านคน เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39-40 , ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท รวม 3 เดือน ใช้เงินจากงบประมาณ – เงินกู้ รวมกันกว่า 240,000 ล้านบาท
แบ่งเป็น งบกลาง ประจำปี 2563 จำนวน 70,000 ล้านบาท และเป็นเงินกู้จาก พ.ร.ก. จำนวน 170,000 ล้านบาท
10 ล้านคน เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกพืช ประมง ปศุสัตว์ ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท รวม 3 เดือน และใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน จำนวน 150,000 ล้านบาท
ทำให้เวลานี้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท รัฐบาลมีแผนใช้เงินเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบแล้ว 320,000 ล้านบาท จากกรอบการกู้เงินเฉพาะเยียวยาประชาชน 550,000 ล้านบาท
และยังเหลือ ‘กลุ่มตกหล่น’ หลุดโคจร ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ทั้งหญิงบริการ คนไร้บ้าน-ไม่มีบัตรประชาชน ถูกมอบหมายให้ ‘มหาดไทย – พัฒนาสังคม’ เป็นหัวหอกในการสำรวจทั่วประเทศ
‘จุติ ไกรฤกษ์’ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จับมือเอ็นจีโอ ออกแรงสำรวจการตกหล่น ขีดเส้นใต้ 10 พ.ค. ข้อมูลส่งกลับถึงศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เพื่อวางแผน-ตั้งเกณฑ์การเยียวยาต่อไป
“ผมยืนยันไม่ได้ว่าจะเก็บข้อมูลคนตกหล่นได้ทั้งหมดหรือไม่ แต่เอาเป็นว่า ผมจะทำให้เกิดความผิดพลาดให้น้อยที่สุด” นายจุติ กล่าว
ส่วนเงินกู้อีก 45,000 ล้านบาท อยู่ในมือกระทรวงสาธารณสุข ถูกกำหนดไว้ในกรอบวัตถุประสงค์ 5 ข้อ ดังนี้
1) รองรับค่าใช้จ่าย เยียวยา ชดเชย และค่าเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ และผู้เกี่ยวข้อง
2) จัดซื้อจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยารักษาโรค วัคซีนป้องกันโรค และป้องปฏิบัติการทางการแพทย์
3) รองรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษา ป้องกัน ควบคุมโรค รวมทั้งวิจัยพัฒนาทางการแพทย์
4) เตรียมความพร้อมด้านสถานพยาบาล ค่าใช้จ่ายในการรักษา และค่าใช้จ่ายในการกักตัวผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ
5) รับมือสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการระบาด
‘สุขุม กาญจนพิมาย’ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ยังไม่มีการหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับการกู้เงิน และอยู่ระหว่างรวบรวมข้อเสนอจากทุกหน่วยงาน ทำให้ยังไม่มีเกณฑ์ชัดเจนว่าจะเน้นเรื่องไหนเป็นพิเศษ
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประชุมหัวหน้าส่วนราชการฯ ครั้งที่ 2/2563)
ส่วนที่เหลืออีก 400,000 ล้านบาท แม่งานหลักคือกระทรวงการคลัง ถูกตีกรอบให้ใช้เงินเพื่อพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ระดับชุมชน-ท้องถิ่น ตลอดจนภาคอุตสาหกรรม การค้า และการค้าลงทุน
ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กำชับหน่วยงาน คิดและใช้เงินด้วยความโปร่งใส ไร้การทุจริต เน้นแนวคิดลดการพึ่งพาต่างชาติ-กระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชน
‘สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกรัฐมนตรี ยังเป็นทัพหน้า-หัวเรือใหญ่ในการวางแผน เรียกประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการกู้เงินที่มี สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน เพื่อตีกรอบตั้งเกณฑ์การใช้เงินส่วนนี้
เขากล่าวว่า แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งนี้ ต้องหันหัวเรือใหม่ หลังจากทุกครั้งที่ผ่านมาเน้นเรื่องดึงเงินภายนอกเข้าประเทศ ทั้งจากภาคการส่งออก-ท่องเที่ยว
แต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกประสบปัญหาเดียวกัน จำเป็นต้องปรับทัพใหม่-สร้างความแข็งแรงให้กับเศรษฐกิจภายใน อยู่ในกรอบ ‘สร้างงาน สร้างรายได้’ และภาคการเกษตร ชุมชนระดับท้องถิ่น คือเป้าหมายสำคัญครั้งนี้
(สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ร่วมประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน)
เป็นที่มาของการบ้าน 4 ข้อ ที่จะถูกนำไปขยายผลเป็นหลักเกณฑ์กลั่นกรองอนุมัติใช้เงินกู้
1.ภาคการเกษตรทั้งระบบ ทั้งแบบดั้งเดิม สมัยใหม่ หรือกลุ่มเกษตรอินทรีย์
2.บริหารจัดการแหล่งน้ำ สร้างระบบชลประทานให้เอื้อต่อเศรษฐกิจการเกษตร และไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการขนาดใหญ่
3.ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวชุมชนให้มีความพร้อมหลังวิกฤติคลี่คลาย
4.ฝึกอบรมพัฒนาอาชีพสร้างความเข้มแข็งในระดับท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงการสร้าง ‘แพลตฟอร์ม’ เชื่อมโยงธุรกิจชุมชนเข้าสู่ระบบในโลกออนไลน์
“นี่คือหลักการที่คณะกรรมการกลั่นกรองชุดนี้กำลังร่างขึ้นมา หัวใจสำคัญก็คือว่า โครงการเหล่านี้ต้องสร้างงาน สร้างรายได้อย่างมีนัยยะสำคัญ อย่าลืมว่าสถานการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงไตรมาสแรก และจะเริ่มเห็นผลว่าเศรษฐกิจหยุดชะงักในไตรมาสถัดไป ดังนั้นทุกคนต้องเตรียมตัวไว้ให้พร้อม” นายสมคิด กล่าว
ขณะที่ ‘ทศพร ศิริสัมพันธ์’ เลขาธิการ สศช. ระบุปฏิทินดำเนินงาน ตั้งแต่วางกรอบนโยบาย รับฟังความคิดเห็น จนถึงวางหลักเกณฑ์ที่จะใช้เป็นกฎการกู้เงิน ทั้งหมดเป็นกระบวนการที่คาดว่าจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายในเดือน พ.ค.
จากนั้นเข้าสู่ขั้นตอน อนุมัติให้ใช้เงินกู้-ฟื้นฟูเศรษฐกิจก้อนแรก มิ.ย.นี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/