...แม้จะมีมาตรการลดค่าไฟ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน แต่ขอให้ใช้ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง เพราะหากบ้านพักอาศัยใช้มิเตอร์ขนาด 5 แอมป์ แต่การใช้ไฟฟ้ามากเกินไปจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอัคคีภัยอีกด้วย...
ค่าไฟแพง กลายเป็นปัญหาใหญ่ในช่วงที่คนไทยต้อง ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อต้องอยู่บ้านมากขึ้น ปริมาณการใช้ไฟย่อมเพิ่มมากขึ้น และส่งผลให้บิลเรียบเก็บค่าไฟของทุกคนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมหลายเท่าตัว
แม้ว่าคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา มีมติช่วยเหลือค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน รวมระยะเวลา 3 เดือน สำหรับใบแจ้งค่าไฟประจำเดือน เม.ย.-มิ.ย. ซึ่งมีทั้ง ‘ฟรี’ และ ‘ลด’ แล้วแต่ว่าบ้านใครจะใช้มิเตอร์ไฟแบบไหน
อย่างไรก็ตาม มาตรการที่มีทั้ง ‘ฟรี’ และ ‘ลด’ ก็ยังมีปัญหาตามมา ว่า สรุปแล้วบ้านฉันได้ลดราคาหรือได้ใช้ฟรี ? บ้านฉันมีมิเตอร์ไฟขนาดเท่าไร ? และจ่ายค่าไฟเดือนนี้ไปแล้วจะทำอย่างไร ? วันนี้ สำนักข่าวอิศรา หาคำตอบมาอธิบายให้เข้าใจ ดังนี้
สำหรับมาตรการช่วยเหลือค่าไฟจาก มติ ครม. ให้ความช่วยเหลือแบ่งตามขนาดของ ‘มิเตอร์ไฟ’ 2 ประเภท 1.มิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ 2.มิเตอร์ไฟขนาด 15 แอมป์ขึ้นไป โดยมีรายละเอียด ดังนี้
‘ฟรี’ สำหรับผู้ใช้มิเตอร์ไฟขนาดไม่เกิน 5 แอมป์ (ใช้ไม่เกิน 300 หน่วย)
‘ลด’ สำหรับผู้ใช้มิเตอร์ไฟขนาดเกิน 5 แอมป์ขึ้นไป โดยคำนวณส่วนลด 3 รูปแบบ โดยให้นำใบเสร็จค่าไฟเดือน ก.พ. เป็นตัวตั้ง
1.ใช้ไฟไม่เกิน 800 หน่วย ให้จ่ายค่าไฟเท่าเดือน ก.พ.
2.ใช้ไฟ 801-3,000 หน่วย รับส่วนลด 50% ในส่วนที่เกินมาจากเดือน ก.พ.
สูตรคำนวณ : เดือน ก.พ. + [(เดือน มี.ค. – เดือน ก.พ.) x 50%]
ยกตัวอย่าง เดือน ก.พ.ใช้ไฟ 400 หน่วย เดือน มี.ค.ใช้ไฟ 1,000 หน่วย เราจะต้องจ่ายค่าไฟเพียง 700 หน่วย
3.ใช้ไฟ 3,000 หน่วยขึ้นไป รับส่วนลด 30% (หรือจ่ายแค่ 70%) ในส่วนที่เกินมาจากเดือน ก.พ.
สูตรคำนวณ : เดือน ก.พ. + [(เดือน มี.ค. – เดือน ก.พ.) x 70%]
ยกตัวอย่าง เดือน ก.พ.ใช้ไฟ 400 หน่วย เดือน มี.ค.ใช้ไฟ 3,500 หน่วย เราจะต้องจ่ายค่าไฟเพียง 2,570 หน่วย
สำหรับคำถามว่า ถ้าจ่ายค่าไฟเดือนนี้ไปแล้วจะยังได้รับส่วนลดหรือไม่ ? สำนักข่าวอิศรา โทรศัพท์สอบถาม สายด่วนการไฟฟ้านครหลวง 1130 ได้รับคำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ว่า ยังได้รับส่วนลดเหมือนทุกคนแน่นอน เบื้องต้นคาดว่าจะเป็นการนำส่วนลด ไปหักกับค่าไฟในรอบบิลถัดไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน
“สมมติเดือน มี.ค. และ เม.ย. เราจ่ายค่าไฟไปแล้ว แต่เมื่อหักส่วนลดตามมาตรการของรัฐไปแล้ว ปรากฏว่าได้รับส่วนลดทั้งหมด 500 บาท เงินส่วนนี้เท่ากับการไฟฟ้าเป็นหนี้คุณอยู่ เราก็จะนำยอดไปหักค่าไฟในรอบบิลถัดไป” เจ้าหน้าที่ กล่าว
คำถามสุดท้าย สรุปแล้ว บ้านฉันมีมิเตอร์ไฟขนาดเท่าไร ?
คำตอบเรื่องนี้ตรวจสอบได้หลายวิธี ซึ่งวันนี้เราจะยกตัวอย่าง 2 วิธีที่คุณสามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเอง
1.ดูจากบิลค่าไฟ ผู้ให้บริการไฟฟ้าได้กำหนดรหัสตัวเลขไว้ ดังนี้
การไฟฟ้านครหลวงกำหนดให้ผู้ใช้มิเตอร์ไฟขนาด 5 แอมป์ เป็นประเภท 1.1 ส่วนมิเตอร์ขนาดเกิน 5 แอมป์ขึ้นไป เป็นประเภท 1.2
ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กำหนดให้ผู้ใช้มิเตอร์ไฟขนาด 5 แอมป์ เป็นประเภท 1.1.1 ส่วนมิเตอร์ขนาดเกิน 5 แอมป์ขึ้นไป เป็นประเภท 1.1.2
2.ดูจากมิเตอร์ไฟ มีรหัสตัวเลขอยู่ 1 ชุดที่บ่งบอกได้ว่าขนาดมิเตอร์ของเราเป็นแบบไหน เช่น 5(15) คือ มิเตอร์ขนาด 5 แอมป์ โหลดไฟได้ไม่เกิน 15 แอมป์ หรือ 15(45) คือ มิเตอร์ขนาด 15 แอมป์ โหลดไฟได้ไม่เกิน 45 แอมป์
ทั้งนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตยังได้ฝากเตือนประชาชนด้วยว่า แม้จะมีมาตรการลดค่าไฟ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน แต่ขอให้ใช้ไฟฟ้าอย่างระมัดระวัง เพราะหากบ้านพักอาศัยใช้มิเตอร์ขนาด 5 แอมป์ แต่การใช้ไฟฟ้ามากเกินไปจะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอัคคีภัยอีกด้วย
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage