"...มีรายงานว่าที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้นได้มีการผลิตวัคซีนเตรียมไว้เป็นจำนวนมากแล้ว ในช่วงที่ดำเนินการทดสอบการรักษาขั้นตอนแรกได้ดำเนินไป เมื่อมีการทดสอบเสร็จสิ้นก็จะสามารถนำวัคซีนเหล่านี้ไปใช้ทดลองกับคนจำนวนมากได้ทันที ตามขั้นตอนที่ 3 โดยมีการคำนวณช่วงเวลาว่าภายในก่อนสิ้นปี 2563 นั้นจะสามารถเสร็จสิ้นการทดลองไวรัสในกระบวนการที่ 3 ซึ่งคือการใช้ทดลองการรักษากับผู้คนจำนวนมากได้ ซึ่งการใช้เวลา 12-18 เดือนนั้นถือว่าเร็วมากแล้วสำหรับการทดลองวัคซีนทั่วไป..."
ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโรคโควิด -19 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันมียอดจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกกว่า 2,717,921 ราย และเสียชีวิตจำนวนมากถึง 190,630 ราย (ตัวเลข ณ 24 เม.ย.2563)
นอกเหนือจากมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาของประเทศต่างๆ ที่ถูกประกาศออกมาเป็นระยะแล้ว ความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนขึ้นมาเพื่อใช้ต่อสู้กับโรคร้ายนี้ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชนมาโดยตลอด
น่าสนใจว่า ณ ปัจจุบันความคืบหน้าในการผลิตวัคซีนของประเทศต่างๆ ทั่วโลกเป็นอย่างไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ประมวลรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศหลายสำนัก เกี่ยวกับผลิตวัคซีนต่อสู้เชื้อโรคโควิด -19 มานำเสนอให้รับทราบ
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ ปัจจุบันมีโครงการวัคซีนจากประเทศใดบ้าง และคืบหน้าอย่างไร
สำนักข่าว Times of Israel ของประเทศอิสราเอล ได้รายงานถึงความคืบหน้าการวิจัยไวรัส ณ เวลานี้ ว่า แม้ว่าจะมีโครงการวิจัยวัคซีนไวรัสอย่างน้อย 150 โครงการทั่วโลก
แต่มีเฉพาะ 5 โครงการ ที่เป็นอังกฤษ สหรัฐอเมริกา และเยอรมนี ที่ได้ดำเนินการทดสอบวัคซีนในระดับการรักษาในร่างกายมนุษย์
โดยจะเริ่มมีการทดลองอย่างจริงจังในช่วงสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป
@ การทดลองฉีดวัคซีนมนุษย์ในสหรัฐ
ซึ่งหลักการของวัคซีนที่จะมีการทดลองนั้น จะเป็นการสร้างระบบแอนติบอดี (โปรตีนขนาดใหญ่ในระบบภูมิคุ้มกันที่ร่างกายมนุษย์) ที่จะไปปกคลุมบริเวณพื้นผิวของไวรัส หลังจากนั้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมองว่าไวรัสนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมและทำลายไวรัสได้ก่อนที่จะเข้าไปติดเชื้อที่เซลล์
ที่อังกฤษ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ได้ดำเนินการวิจัยวัคซีนมาตั้งแต่เดือน ม.ค. และได้เริ่มการทดลองกับมนุษย์ไปแล้วครั้งแรกในวันที่ 23 เม.ย. ที่ผ่านมา และจะเริ่มขั้นตอนแรกของการทดลองยาในมนุษย์จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 510 ราย ซึ่งมีช่วงอายุตั้งแต่ 18-55 ปี หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองกับลิงชิมแปนซี จนประสบความสำเร็จ
ส่วนที่เยอรมนีได้มีการวิจัยไวรัสร่วมกับสหรัฐฯ โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่างบริษัท Biontech ของเยอรมนี และบริษัท Pfizer ของสหรัฐ ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดนั้นหน่วยงานของเยอรมนีได้มีอนุมัติการทดลองในร่างกายมนุษย์ไปเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะสามารถทดลองใช้กับประชาชนกลุ่มแรกที่มีอายุตั้งแต่ 18-55 ปี จำนวน 200 ราย ในช่วงสิ้นเดือน เม.ย. นี้
ขณะที่สำนักข่าวเอบีซีของสหรัฐฯ ได้รายงานข่าวว่า ที่ออสเตรเลีย โดยมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ก็จะได้มีการทดลองวัคซีนในร่างกายมนุษย์ เพื่อใช้ในการรักษาแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา
@ การทดลองวัคซีนในร่างกายมนุษย์จะดำเนินการอย่างไร
ขั้นตอนแรกของการทดลองวัคซีนในร่างกายมนุษย์ จะต้องมีการตรวจสอบในห้องแล็บเพื่อวัดค่าว่าวัคซีนที่ฉีดไปนั้นมีค่าความเป็นพิษต่อร่างกายมากน้อยเพียงใด
โดยการทดลองในมนุษย์ที่ผ่านมานั้นยังเป็นกลุ่มเล็กๆอยู่ จึงยังไม่สามารถสรุปถึงการตอบสนองต่อร่างกายที่มีต่อวัคซีนได้
นายอดัมส์ สจ๊วต ศาสตราจารย์จากศูนย์การค้นคว้าการรักษา มหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ระบุว่า จะต้องมีการตรวจสอบทั้งผลเลือดเพื่อดูค่าความตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย ตรวจสอบค่าแอนติบอดี และตรวจสอบค่าเม็ดเลือดขาวประเภทคิลเลอร์ที ถ้าหากวัคซีนไปกระตุ้นทำให้ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองอย่างเข้มงวด ก็หมายความว่าแอนติบอดีจะเริ่มมีเป้าหมายที่จะกำจัดไวรัสแล้ว
ซึ่งเมื่อผลออกมาป็นเช่นนี้ ก็จะมีการพัฒนาการทดลองไปสู่ระยะ 2 และ 3 ที่จะเป็นการทดลองไวรัสในคนไข้หมู่มากเพื่อจะทดสอบว่าคนไข้นั้นจะลดโอกาสการได้รับโรคแทรกซ้อนจากวัคซีนหรือไม่
โดยการทดลองในขั้นตอนที่ 3 ที่ประเทศอังกฤษนั้น มีการกำหนดว่าจะใช้อาสาสมัครจำนวน 5,000 ราย
จากนั้นขั้นตอนสุดท้ายคือขั้นตอนที่ 4 จะเป็นการตรวจเฝ้าจับตาดูว่าหลังจากมีการปล่อยวัคซีนเพื่อใช้รักษาโดยทั่วไปแล้ว จะมีรายงานผลข้างเคียงหรือไม่
ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าวัคซีนจะสามารถใช้ได้กับทุกคนอย่างน้อยในระยะเวลาประมาณ 12-18 เดือน ถ้าหากพยายามอย่างเร่งด่วนที่สุด
@ สามารถพัฒนาวัคซีนจนใช้ได้กับทุกคนเร็วกว่า 12-18 เดือนหรือไม่
ขณะที่นักวิจัยได้พยายามเร่งการพัฒนาวัคซีนให้เร็วที่สุด โดยเวลาปกตินั้นขั้นตอนการทดลองในขั้นที่ 1 เพื่อพัฒนาวัคซีนใช้เวลาประมาณ หลายเดือน – 2 ปีเป็นอย่างต่ำในช่วงเวลาปกติ
แต่ที่อังกฤษมีการร่นระยะเวลาในขั้นตอนที่ 1 โดยอาศัยการทดสอบในห้องแล็บหลายแห่งเพื่อดูผลค้างเคียงที่แตกต่างกันออกไป
นอกจากนี้ มีรายงานว่าที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดนั้นได้มีการผลิตวัคซีนเตรียมไว้เป็นจำนวนมากแล้ว ในช่วงที่ดำเนินการทดสอบการรักษาขั้นตอนแรกได้ดำเนินไป เมื่อมีการทดสอบเสร็จสิ้นก็จะสามารถนำวัคซีนเหล่านี้ไปใช้ทดลองกับคนจำนวนมากได้ทันที ตามขั้นตอนที่ 3
โดยมีการคำนวณช่วงเวลาว่าภายในก่อนสิ้นปี 2563 นั้นจะสามารถเสร็จสิ้นการทดลองไวรัสในกระบวนการที่ 3 ซึ่งคือการใช้ทดลองการรักษากับผู้คนจำนวนมากได้ ซึ่งการใช้เวลา 12-18 เดือนนั้นถือว่าเร็วมากแล้วสำหรับการทดลองวัคซีนทั่วไป
@ หลังจากที่มีวัคซีนแล้วจะผลิตวัคซีนให้มีจำนวนพอเพียงกับความต้องการได้อย่างไร
ในช่วงเวลาปกตินั้นการใช้วัคซีนในแต่ละพื้นที่จะต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขของประเทศนั้นๆก่อน แล้วจึงจะนำเข้าไปใช้เชิงการแพทย์ในแต่ละประเทศได้
แต่ในช่วงเวลาที่โรคโควิด 19 ระบาดนั้น ต้องดูในประเด็นข้อกฎหมายแต่ละประเทศด้วยว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงตรงนี้อย่างไรบ้าง และจะส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการนำวัคซีนไปใช้ในการรักษาหรือไม่
นอกจากนี้ ยังปมีระเด็นที่ต้องติดตามดูกันต่อไป คือ เรื่องวัตถุดิบที่จะต้องนำมาใช้เป็นสารในการผลิตวัคซีน ยกตัวอย่างเช่น ในโรคไข้หวัดใหญ่ มีการใช้ไข่เป็นจำนวนมากเพื่อที่จะผลิตยาต้านวัคซีน
ขณะที่จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด 19 มีเพิ่มขึ้นทุกวันนั้น หมายความว่า เราอาจต้องการวัตถุดิบที่จำเป็นจำนวนมากถึงในระดับพันล้านหน่วย ซึ่งตรงนี่ นับเป็นโจทย์สำคัญว่า จะมีการวางแผนด้านวัตถุดิบอย่างไร ให้เพียงพอ เมื่อถึงเวลาที่เราต้องผลิตวัคซีน ให้เพียงพอต่อปริมาณผู้ป่วยที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกขณะ
แปล/เรียบเรียง/ภาพประกอบ จาก:https://www.abc.net.au/news/2020-04-23/coronavirus-vaccine-human-trials-how-do-they-work/12177606,https://www.timesofisrael.com/race-for-virus-vaccine-picks-up-as-germany-uk-begin-human-trials/
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage