"...ในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 2563 ทางการสิงคโปร์จะจ่ายเงินให้กับลูกจ้างในทุกธุรกิจเป็นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน และจ่ายให้กับธุรกิจ ลูกจ้างในธุรกิจทุกประเภทที่ไม่ใช่กิจการด้านการบินและด้านบริการอาหาร จ่ายเงินเป็นจำนวน 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนให้กับลูกจ้างธุรกิจการบิน และจ่ายเงินจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนให้กับลูกจ้างในกิจการด้านอาหาร..."
การออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด -19 เป็นสิ่งที่รัฐบาลหลายประเทศกำลังเร่งดำเนินการอยู่ในขณะนี้ โดยในส่วนของประเทศไทย นอกจากการออกกฎหมายพยุงเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 กรอบวงเงินรวม 2 ล้านล้านบาท ยังมีการมาตรการบรรเทาความเดือนร้อนเรื่องค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า รวมไปถึงค่าโทรศัพท์ ให้กับประชาชนด้วย
น่าสนใจว่ามาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจและการช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างไรบ้าง?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจมาตรการเกี่ยวกับการเยียวยาทางเศรษฐกิจและการช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ พบข้อมูลในส่วนของ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
@ สิงคโปร์
นับตั้งแต่ในช่วงวันที่ 18 ก.พ. กระทรวงการคลังของประเทศสิงคโปร์ได้มีการผ่านร่างพระราชบัญญัติงบประมาณเป็นจำนวน 4 พันล้านสิงคโปร์ดอลลาร์ (91,138,251,520 บาท) เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด 19 ระบาด โดยจะมุ่งเน้นความช่วยเหลือไปที่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบต่อการระบาดโดยตรง
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มี.ค. ซึ่งสถานการณ์เลวร้ายลง รัฐบาลสิงคโปร์ได้ออกมาตรการอัดฉีดเงินเพื่อบรรเทาสถานการณ์เป็นครั้งที่ 2 จำนวนทั้งสิ้น 4.84 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (1,102,729,821,600 บาท) เพื่อสนับสนุนภาคครัวเรือน ช่วยให้ลูกจ้างให้ยังคงได้รับการว่าจ้างงานจากภาคธุรกิจ และสนับสนุนให้ภาคธุรกิจอยู่ได้ จนถึงวันที่สภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว
วันที่ 6 เม.ย. รัฐบาลสิงคโปร์ได้อัดฉีดเงินอีก 5.1 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (116,240,437,617 บาท) เพื่อบรรเทาปัญหาทางเศรษฐกิจเพิ่มเติม
โดยรายละเอียดการช่วยเหลือแรงงานนั้นจะเป็นการจ่ายเงินให้กับบรรดาลูกจ้างที่ได้รับเงินเดือนต่ำกว่า 4,600 ดอลลาร์สิงคโปร์(104,835)ลงไป ในอัตรา 25-75 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน ในช่วงเดือน เม.ย. 2563
นายลี เซียน ลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ภาพจากยูทูป CNA
ส่วนในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 2563 ทางการสิงคโปร์จะจ่ายเงินให้กับลูกจ้างในทุกธุรกิจเป็นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน และจ่ายให้กับธุรกิจ ลูกจ้างในธุรกิจทุกประเภทที่ไม่ใช่กิจการด้านการบินและด้านบริการอาหาร จ่ายเงินเป็นจำนวน 75 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนให้กับลูกจ้างธุรกิจการบิน และจ่ายเงินจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนให้กับลูกจ้างในกิจการด้านอาหาร
ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องใช้พนักงานต่างชาตินั้น ภาครัฐจะสนับสนุนมาตรการคืนภาษีรายปีให้ 750 ดอลลาร์สิงคโปร์ (17,056 บาท) ต่อแรงงานต่างชาติที่มีใบอนุญาต 1 คน และจะสนับสนุนการออกสินเชื่อผู้ประกอบการขนาดเล็กเป็นเงินสูงสุด 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (22,731,484 บาท) โดยรัฐจะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อ 90 เปอร์เซ็นต์
@ มาเลเซีย
ที่ประเทศมาเลเซียนั้น นายมุฮ์ยิดดิน ยัซซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ออกมาตรการให้เงินช่วยเหลือแบ่งออกเป็น 2 ระยะด้วยกัน โดยในระยะแรกนั้นมีการออกมาตรการช่วยเหลือเมื่อวันที่27มี.ค. มีการออกมาตรการช่วยเหลือเป็นเงินทั้งสิ้น 2.5แสนล้านริงกิต (1,851,713,750,000 บาท) และเมื่อประมาณวันที่ 6 เม.ย.อีก 1 หมื่นล้านริงกิต (74,030,289,700 บาท)
นายมุฮ์ยิดดิน ยัซซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
ที่มาภาพ:https://www.pmo.gov.my/2020/03/muhyiddin-takes-oath-as-8th-pm-before-king/
ทั้งนี้รายละเอียดการใช้จ่ายเงินมีดังต่อไปนี้
-ซื้ออุปกรณ์ป้องกันและอุปกรณ์สำหรับโรงพยาบาล 1 พันล้านริงกิต (7,406,855,000 บาท)
-จ่ายเงินเพิ่มพิเศษจำนวน 8 ล้านริงกิต เพื่อก่อตั้งระบบประกันความเสียหายตามหลักศาสนาอิสลาม (Takaful) ที่จะจ่ายเงินครอบคลุมสำหรับผู้เข้าเงื่อนไขการตรวจ โดยผู้ที่เข้ารับการตรวจหาโรคโควิด 19 จะได้รับเงินค่าตรวจทั้งสิ้น 300 ริงกิต (2,227 บาท)ต่อคน
-เงินค่าช่วยเหลือพิเศษต่อเดือน 400 ริงกิต-600 ริงกิต (2,978 บาท – 4,439 บาท) ให้กับนายแพทย์และนางพยาบาลนับตั้งแต่เดือน เม.ย.จนถึงวิกฤติจะสิ้นสุด
-เงินช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่ทำงานเพื่อช่วยระงับสถานการณ์เป็นจำนวน 200 ริงกิต (4,439 บาท)ต่อเดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย.จนกระทั่งสถานการณ์ยุติ
-จ่ายเงินสนิบสนุนให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 4,000 ริงกิต (29,661 บาท) จำนวน 1.1 ล้านคน โดยจะได้เงินสนับสนุนทั้งสิ้น 1,600 ริงกิต (11,864 บาท)แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ 1,000 ริงกิตในเดือน เม.ย. และ 600 ริงกิตในเดือน พ.ค.
-จ่ายเงินสนับสนุนให้กับผู้ใช้แรงงานจำนวน 4 ล้านคน ที่มีเงินเดือนอยู่ในช่วง 4,000 ริงกิตถึง 8,000 ริงกิต (59,305 บาท) จะได้เงินสนับสนุนทั้งสิ้น 1,000 ริงกิต (7,413 บาท) โดยแบ่งออกเป็นการจ่าย 500 ริงกิตในเดือน เม.ย. และจ่ายอีก 500 ริงกิต(3,706)ในเดือน พ.ค.
-ประชาชนจำนวน 1.2 ล้านคน ที่ยังโสดและอยู่ในช่วงเงินเดือนตั้งแต่ 2,000 ริงกิต (14,826 บาท) ถึง 4,000 ริงกิต จะได้เงินสนับสนุนอีก 500 ริงกิต แบ่งออกเป็น 250 ริงกิต (1,853 บาท)ในเดือน เม.ย. และอีก 250 ริงกิตในเดือน พ.ค.
-นักเรียนและนักศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัยจะได้เงิน 200 ริงกิต (1,484 บาท)
-ผู้ป่วยซึ่งต้องกักตัวเองเป็นระยะเวลา 15 วันจะได้เงิน 50 ริงกิต (371 บาท) ต่อวัน
-ไม่ต้องจ่ายค่าเช่านบ้านในโครงการเช่าบ้านของรัฐ (โครงการ Rakyat dan Perumahan Awam) เป็นระยะเวลา 6 เดือน
-ลดค่าไฟบ้านสำหรับผู้ที่ใช้ไฟบ้านเป็นจำนวน 600 กิโลวัตถ์ขึ้นไป เป็นอัตราส่วน 15-50 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่เดือน เม.ย.
- จนกว่าที่จะสิ้นสุดมาตรการจำกัดการเคลื่อนไหวทางสังคม จะมีการให้อินเตอร์เน็ตฟรีนับตั้งแต่เดือน เม.ย.เป็นต้นไป และข้าราชการที่เกษียณจำนวนมากกว่า 850,000 คน จะได้เงิน 500 ริงกิตในเดือน เม.ย. โดยเป็นการจ่ายเงินครั้งเดียว
@ อินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ 31 มี.ค. รัฐบาลอินโดนีเซียได้มีการอนุมัติเงินสำหรับรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 405.1 ล้านล้านรูปี อินโดนีเซีย (838,864,835,490 บาท) และมีการประมาณการกันว่าในปี 2563 นี้รัฐบาลอินโดนีเซียอาจต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมถึง 2,945 ล้านล้านรูปีอินโดนีเซีย (6,177,875,300,000 บาท)
นายโจโค วิโดโด หรือ “โจโควิ” ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย
ที่มาภาพ : http://statik.tempo.co/data/2013/05/28/id_188091/188091_620.jpg
โดยรายละเอียดของงบประมาณนั้นประกอบไปด้วย
-งบประมาณช่วยเหลือภาคสาธารณสุข 75 ล้านล้านรูปี (155,321,835,000 บาท) โดยจะเป็นการซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์ตรวจโรค และเครื่องช่วยหายใจ จ่ายเงินสนับสนันภารกิจของบุคลากรทางการแพทย์พยาบาล และสนับสนุนภารกิจของหน่ายงานรักษาความมั่นคงทางสังคม (BPJS Kesehatan)
-งบประมาณเพื่อการคุ้มครองทางด้านสังคมจำนวน 110 ล้านล้านรูปีอินโดนีเซีย (227,735,288,000 บาท) โดยแบ่งเป็นการจ่ายเงินสนับสนุนครอบครัว 10 ล้านครอบครัวเพื่อให้กำลังใจ อีก 20 ล้านครอบครัวในโครงการอาหาร โดยรายละเอียดของงบประมาณนั้นจะมีการสนับสนุนโครงการจ้างงานด้วยงบประมาณ 20 ล้านล้านรูปีอินโดนีเซีย (41,420,476,000 บาท) ซึ่งจะครอบคลุมแรงงานจำนวน 5.6 ล้านคนที่ต้องถูกเลิกจ้าง และครอบคลุมไปถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
นอกจากนี้งบประมาณดังกล่าวนั้นจะไปสนับสนุนค่าไฟฟรีให้กับประชาชนจำนวน 24 ล้านคนที่ใช้ไฟฟ้ากำลังไฟ 450 กิโลวัตถ์ และสนับสนุนค่าไฟฟรีให้กับประชาชนจำนวน 7 ล้านคนที่ใช้ไฟฟ้า 900 กิโลวัตถ์
ใช้เงินสนับสนุนโครงการบ้านทุนต่ำจำนวน 175,000 หลัง โดยใช้เงินสนับสนุนโครงการทั้งสิ้น 1.5 ล้านล้านรูปีอินโดนีเซีย (3,106,897,500 บาท)
และสนับสนุนภารกิจด้านโลจิสติกส์จำนวนทั้งสิ้น 25 ล้านล้านรูปีอินโดนีเซีย (51,783,272,500 บาท)
-มาตรการลดภาษีจำนวนทั้งสิ้น 70.1 ล้านรูปีอินโดนีเซีย (145,218,795,480 บาท)
-งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจและการให้สินเชื่อจำนวนทั้งสิ้น 150 ล้านล้านรูปีอินโดนีเซีย (20,715,948,000 บาท) โดยแรงงานที่ได้รับค่าแรงต่ำกว่า 200 ล้านรูปีอินโดนีเซีย (414,204 บาท) จะได้รับการงดเว้นภาษี 6 เดือน
ทั้งหมดนี่ คือ มาตรการช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนประเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ในช่วงเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด -19 ที่สำนักข่าวอิศรา สำรวจพบและนำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ ณ ที่นี้
อย่างไรก็ดี การออกมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจและการช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชนของแต่ละประเทศ มีบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ที่แตกต่างกันออกไป คงไม่สามารถชี้ขาดได้ว่ามาตรการเยียวยาประเทศไหนดีกว่ากัน
แต่สิ่งสำคัญที่หลายประเทศ ทำเหมือนกันหมด ก็คือ การเร่งออกมาตรการหาแนวทางช่วยเหลือบรรเทาความเดือนร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะการลดภารค่าครองชีพในการดำรงชีวิต อย่างชัดเจน และเต็มที่
โดยไม่ต้องมีเงื่อนไข หรือต้องมานั่งออกประกาศแก้ไขกันใหม่จนสร้างความสับสนให้กับประชาชนอยู่บ่อยครั้ง
เหมือนที่เกิดขึ้นกับไทยในช่วงเวลาที่ผ่านมา
เรียบเรียงจาก:https://theinsiderstories.com/bi-to-buys-up-to-25-state-bond-in-primary-market-soon/,https://www.thestar.com.my/news/nation/2020/04/06/muhyiddin-unveils-rm10bil-special-stimulus-package,https://home.kpmg/
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage