“...อยากวอนขอให้รัฐบาลไทย รับพวกเราให้ได้กลับไปพบกับครอบครัวอีกครั้ง พวกเราอยู่กันที่นี่โดดเดี่ยวมาก และกลัวมาก ในสถานการณ์แบบนี้ครอบครัวเป็นที่ที่ปลอดภัยและอบอุ่นใจที่สุด พวกเราก็เลยอยากจะกลับไปหาครอบครัว และอยากให้รัฐบาลออกกฎว่าจะปิดน่านฟ้าถึงเมื่อไหร่ พวกเราจะได้จัดการตัวเองได้ และถ้าเป็นไปได้ อยากให้รัฐบาลส่งเครื่องบินมารับ ซึ่งพวกเราทุกคนพร้อมจะปฏิบัติตามกฎของรัฐบาลอย่างเคร่งครัดในเรื่องของการกักตัว หรือในสิ่งที่รัฐบาลต้องการ...”
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีข่าวดีชิ้นหนึ่งที่ถูกเผยแพร่โดย เพจสถานทูตไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐ (Royal Thai Embassy, Washington D.C.) ว่า ทีมประเทศไทยในสหรัฐฯ นำโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส สถานกงสุลใหญ่ ณ นครนิวยอร์ก และสถานกงสุลใหญ่ ณ นครชิคาโก ดำเนินนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของรัฐบาลด้วยการให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกส่งนักเรียนไทย โดยเฉพาะผู้เยาว์และคนไทยที่ประสบปัญหาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 กว่า 400 คน ในสหรัฐฯ กลับประเทศไทย ระหว่างวันที่ 17 - 19 เม.ย. 2563 (อ่านประกอบ : สถานทูตไทย กรุงวอชิงตัน นำคนไทย-นักเรียนแลกเปลี่ยน ติดค้างในสหรัฐกว่า 400 คน เดินทางกลับไทยช่วง 17-19 เม.ย. 2563)
แต่ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับแจ้งข้อมูลจากตัวแทนนักเรียนนักศึกษาไทยรายหนึ่ง ในสหรัฐฯ ว่า ตัวเขาและเพื่อนนักเรียนนักศึกษาไทย อีกกว่า 120 ราย ยังตกค้างอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศฉบับที่ 3 ขยายเวลาห้ามเครื่องบินเข้าไทย ออกไปจนถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้ และได้มีการร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล หน่วยงาน และ กงสุลไทยเข้าให้ความช่วยเหลือ ทั้งในเรื่องกรอบระยะเวลาที่แน่นอนในการปิดน่านฟ้า รวมไปถึงการจัดเครื่องบินเหมาลำ เพื่อมารับเป็นกรณีพิเศษ ตามประกาศจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ในข้อที่ (5) ที่ให้อากาศยานที่ได้รับอนุญาตให้ทำการบินรับส่งบุคคลกลับประเทศไทยหรือกลับภูมิลำเนา
โดยในหนังสือเรียกร้องขอความช่วยเหลือดังกล่าวระบุว่า เนื่องจากผลกระทบในการประกาศปิดน่านฟ้าไทยทั้ง 3 รอบ ทำให้เกิดผลกระทบโดยตรงกับนักเรียนนักศึกษาไทย ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายค่าพักอาศัย สถานที่ทำงานปิด ไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้ ถูกยกเลิกสัญญาจ้างงาน ระบบสาธารณสุขไม่รองรับการรักษาและไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากไม่ได้ถือสัญชาติอเมริกัน บางรายมีการซื้อตั๋วเลื่อนไฟท์บินหลายรอบ ทำให้เครดิตเต็มวงเงิน ขณะที่การคืนเงินค่าตั๋วก็มีความที่ล่าช้าทำให้หลายคนประสบปัญหาด้านการเงิน บางคนไม่สามารถดูแล ตนเองได้ และไม่มีญาติหรือคนรู้จักอยู่ที่สหรัฐฯ (อ่านประกอบ : ตกค้างสหรัฐฯ120 ราย! นร.-นศ. ไทยเดือนร้อนหนักวอน รบ.ส่งเครื่องบินรับกลับบ้าน-พร้อมกักตัว)
หลังจากข่าวดี ที่ว่า สถานทูตไทย กรุงวอชิงตัน นำคนไทย-นักเรียนแลกเปลี่ยน ติดค้างในสหรัฐกว่า 400 คน เดินทางกลับไทยช่วง 17-19 เม.ย. 2563 ที่กล่าวไปตอนต้น ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณชนดังกล่าว
สำนักข่าวอิศรา ได้รับการติดต่อจากตัวแทนนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่า ตัวเขาและเพื่อนนักเรียนนักศึกษาไทย อีกกว่า 120 ราย ยังตกค้างอยู่ในสหรัฐฯ ว่า พวกเรา ไม่ได้นับรวมอยู่ในจำนวนนักเรียนนักศึกษา 400 ราย ที่ได้รับความช่วยเหลือส่งตัวกลับมาที่ไทย ตามข่าวที่ถูกเผยแพร่ในเพจสถานทูตไทยกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.สหรัฐดังกล่าว
"พวกหนูไม่ได้อยู่ในกลุ่ม นักเรียนนักศึกษา 400 ราย พวกเราเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังตกค้างอยู่ที่นี่ ตอนนี้กำลังรอความช่วยเหลืออยู่"
"หนูเป็นนร.ทุนปริญญาโท และมีนักเรียนอีกหลายกลุ่มที่ตกค้าง เนื่องจากวางแผนจะกลับแล้ว แต่มีการประกาศปิดน่านฟ้าทั้ง 3 รอบ เลยทำให้ต้องเลื่อนตั๋วไป ส่วนนักเรียนวันที่ 17-19 ที่ได้กลับ เพราะเป็น นร. ในโครงการ AFS และ โรตารี ที่ผู้ปกครองรวมตัวกันไปเรียกร้องให้ช่วยเหลือคะ ส่วนพวกที่ได้กลับไปแล้ว มากับโครงการ ส่วน นร.กลุ่มอื่นๆ อย่างพวกหนูกำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการประสานงานรอรับการช่วยเหลืออยู่"
คือ ข้อความล่าสุด ที่ สำนักข่าวอิศรา ได้รับแจ้งจาก ตัวแทนนักเรียนนักศึกษาในกลุ่ม 120 ราย ที่ยังตกค้างอยู่ในสหรัฐฯ ปัจจุบัน
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อสัมภาษณ์ผ่านทาง LINE กับตัวแทนนักเรียนไทยกลุ่มดังกล่าว ที่กำลังเผชิญชะตากรรมลำบากอยู่ที่สหรัฐอเมริกาขณะนี้ รวมทั้งผู้ปกครองในไทยของนักเรียนนักศึกษาที่ยังตกค้างอยู่ในสหรัฐ และมีอายุเพียง 19 ปี เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นทางการ
@ วอนรับกลับ พร้อมกักตัว ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด
“อยากวอนขอให้รัฐบาลไทย รับพวกเราให้ได้กลับไปพบกับครอบครัวอีกครั้ง พวกเราอยู่กันที่นี่โดดเดี่ยวมาก และกลัวมาก ในสถานการณ์แบบนี้ครอบครัวเป็นที่ที่ปลอดภัยและอบอุ่นใจที่สุด พวกเราก็เลยอยากจะกลับไปหาครอบครัว และอยากให้รัฐบาลออกกฎว่าจะปิดน่านฟ้าถึงเมื่อไหร่ พวกเราจะได้จัดการตัวเองได้ และถ้าเป็นไปได้ อยากให้รัฐบาลส่งเครื่องบินมารับ ซึ่งพวกเราทุกคนพร้อมจะปฏิบัติตามกฎของรัฐบาลอย่างเคร่งครัดในเรื่องของการกักตัว หรือในสิ่งที่รัฐบาลต้องการ”
คือ คำบอกเล่าของ นานา (สงวนชื่อ-นามสกุลจริง) นักศึกษา MBA จาก Concordia University Chicago ผู้ตกค้างอยู่ในชิคาโก ที่กำลังอ้อนวอนขอให้รัฐบาลไทยช่วยส่งตัวแทนมารับกลับประเทศไทยโดยเร็วที่สุด
นานา เล่าให้ฟังว่า ผู้เผชิญชะตากรรมร่วมกันในสหรัฐเวลานี้ มีทั้งวีซ่าท่องเที่ยว และนักเรียนนักศึกษาอย่างตัวเธอ
“มี J1 ที่เป็นน้องๆ วัย 16-17 มาเวิร์กแอนด์ทราเวล มี F1 มี I20 ซึ่งสถานะน้องๆ กำลังจะหมด อย่าง I20 มหาวิทยาลัยจะเป็นคนออกให้ เมื่อเรียนจบคอร์สแล้วหมดสถานะเลย พวกน้องๆต้องกลับประเทศ แล้วน้องๆ หลายคนเขาต้องกลับประเทศแล้ว เพราะเรียนจบคอร์สแล้ว แต่ว่ากลับไม่ได้ เมื่อกลับไม่ได้มันก็เป็นปัญหาของการอยู่แบบผิดกฎหมาย จะกลายเป็นขึ้นบัญชีดำของทางสหรัฐ น้องๆ เขาก็กลัวกันมาก เขาเลยอยากกลับ ส่วนน้องๆ บางคนมาอยู่กับโฮสต์(ผู้ดูแล) เมื่อจบคอร์สแล้วเขาก็ต้องออกจากบ้านโฮสต์ น้องๆ บางส่วนก็ต้องไปอยู่โรงแรม”
นานา ยังเล่าว่า ขณะนี้ แม้แต่คนมีวีซ่าทำงานก็ยังได้รับผลกระทบด้วย
"มีนักศึกษาที่เรียนจบแล้วได้รับวีซ่านี้ เมื่อจบปริญญาที่นี่สามารถเข้าโครงการของมหาวิทยาลัยที่ให้ทำงานอยู่ที่อเมริกาได้อีก 1 ปี เขาก็สมัครงาน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์โควิด-19 เขาถูกยกเลิกจ้างงาน เมื่อถูกยกเลิกจ้างงาน วีซ่าเขาก็ไม่สามารถอยู่ต่อได้แล้ว เพราะไม่มีรายได้ แล้ววีซ่าเขาก็อยู่ต่อไม่ได้ ก็เป็นปัญหา”
ไม่ต่างจากกลุ่มคนที่มีวีซ่าท่องเที่ยว ที่เป็นคนสูงอายุ มีคุณป้าวัย 63 ปีมาเยี่ยมหลาน แล้วต้องกลับไปพบคุณหมอ ก็ยังได้รับผลกระทบด้วย
“เขาเป็นเบาหวาน ความดัน แล้วยาเขาก็หมด เขาต้องไปหาคุณหมอแล้ว แต่กลับไม่ได้ก็เป็นปัญหา แล้วก็มีวีซ่าท่องเที่ยว มาเที่ยวกลับไม่ได้ มีทั้งคนที่แฟนเขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เขาต้องกลับไปดูแลแฟน แล้วมีคนที่เพิ่งพบว่าคุณแม่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เขาก็อยากรีบกลับไปดูแลคุณแม่ค่ะ” นานาระบุถึงหลากหลายชะตากรรมที่รอคอยวันกลับไทยอย่างมีความหวัง
@ รอคอยตามลำดับอายุ กับคำตอบที่เฝ้ารอจากกงสุล
เมื่อสอบถามถึงที่มาของจดหมายเปิดผนึกและการรวมตัวของคนไทยมากกว่า 120 ราย ในจดหมายร้องเรียนดังกล่าว
นานาเล่าว่า เนื่องจากเดินทางไปสถานทูตด้วยตนเองไม่ได้ เพราะทุกสถานที่ปิดหมด ทำได้อย่างเดียวคือ ออนไลน์ จึงมีพี่คนไทยช่วยรวบรวมรายชื่อที่จะส่งให้สถานกงสุล
“เริ่มแรกนานากับเพื่อนถูกยกเลิกไฟลท์ จึงสอบถามสถานกงสุลว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ต้องทำยังไงถึงจะได้กลับ แล้วมีกรอบเวลาในการปิดน่านฟ้าไหม เพราะครั้งที่สองที่ประกาศออกมา พวกหนูกลัวว่า ถ้าเลื่อนไฟลท์ไปแล้วปิดอีก มันมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อโทรไปสอบถาม สถานกงสุลก็ตอบไม่ได้ เขาบอกว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล คือ ช่วยเหลืออะไรเราไม่ได้เลย หนูก็เลยถามเรื่องเครื่องบินที่มารับ เขาก็ตอบว่าไม่รู้เรื่อง ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เมื่อหนูมารู้จักกับพี่ที่รวบรวมรายชื่อ เขาบอกว่ามีกงสุลที่นิวยอร์กรับรายชื่อ ให้ส่งรายชื่อมา แล้วเขาจะจัดการเรื่องนี้ให้ ตอนนี้เราก็เลยรวบรวมรายชื่อ เหตุผล และรายละเอียดของทุกคนจัดส่งให้กับทางกงสุลนิวยอร์กเรียบร้อยแล้ว แล้วก็รอเขาดำเนินการ”
“ในวันที่ 17-19 เมษายน ที่มีเครื่องบินที่กลับประเทศไทยไปได้ นั่นเป็นเด็กในโครงการเอเอฟเอส และเป็นเด็กที่เขาคัดจากคนที่ลงทะเบียน 200 คน เขาจะคัดลำดับจากคนที่เป็นเด็กที่สุดก่อน”
เมื่อถามว่า มีการให้คำยืนยันหรือคำมั่นว่าจะรับคนไทยที่ตกค้างอยู่กลับไทยหรือไม่
นานา กล่าวว่า เขาไม่ได้ยืนยันอะไร เขาบอกว่ารอคำตอบจากรัฐบาล แต่ว่าเขากำลังพยายามเดินเรื่องให้เร็วที่สุด แต่เขาจะทำตามลำดับของอายุก่อน
“อายุต่อไป จะเป็นอายุ 20-25 แล้วก็ไล่ลำดับความเดือดร้อนด้วย ซึ่งหนูเชื่อว่าทุกคนมีความเดือดร้อนเหมือนกัน” นานาระบุ
@วอนขอเครื่องบินมารับ
“จริงๆ พวกเราต้องการแค่เครื่องบินมารับ แล้วเรื่องที่สองคือ ถ้าทำไม่ได้ เราอยากรู้กรอบระยะเวลาการปิดน่านฟ้าที่แน่นอน แน่ชัดจริงๆ พวกเราจะได้จัดการได้ เช่น น้องบางคนที่ไม่มีเงินซื้อตั๋วใหม่แล้ว เขาจะได้รู้ว่าเขาจะเลื่อนตั๋วไปวันที่เท่าไหร่ เพราะถ้าเลื่อนไป แล้วเลื่อนครั้งต่อไปอีก มันมีค่าใช้จ่าย” นานาวอน และย้ำถึงความต้องการข้อมูลความชัดเจนในรายละเอียดการปิดน่านฟ้า
@วิถีชีวิตที่ต้องกักตัว และบ้านเช่าที่ต้องคืนเจ้าบ้าน
นานา เล่าถึงวิถีชีวิตและชะตากรรมตัวเองที่ชิคาโกว่า เธอเป็นนักเรียนทุนที่กำลังจะเรียนจบ ตอนแรกมีการวางแผนว่าจะกลับหลังรับปริญญา เนื่องจากที่นี่เมื่อเรียนจบ ภายใน 1-2 สัปดาห์จะมีการรับปริญญาทันที
“พวกเรากะว่าเดี๋ยวรับปริญญาแล้วกลับ แต่บังเอิญว่ามหาวิทยาลัยถูกสั่งปิดก่อน เราก็ไม่แน่ใจว่า จะปิดไปถึงเมื่อไหร่ แล้วการรับปริญญาจะเลื่อนไปหรือเปล่า เราก็เลยรอความชัดเจนจากมหาวิทยาลัย ว่าปิดไปทั้งคอร์สแล้วการรับปริญญาก็ถูกเลื่อนใช่ไหม เมื่อทุกอย่างถูกเลื่อนไป นานากับเพื่อนก็ทำการจองตั๋วเครื่องบิน เพื่อจะกลับประเทศไทย แล้วเมื่อจัดการจองตั๋วเรียบร้อย ลงชื่อ 200 คน สำหรับเข้าประเทศเรียบร้อย แล้วก็เตรียมที่จะขอใบรับรองแพทย์ แต่ประเทศไทยกลับประกาศปิดน่านฟ้าเป็นครั้งแรก เป็นเหตุให้หนูยังต้องอยู่ที่ชิคาโกจนถึงทุกวันนี้"
ส่วนการดำรงชีวิตในชิคาโกนานา เล่าว่า ที่ชิคาโก รัฐบาลประกาศให้กักตัวอยู่ในบ้าน ก็ทำตามกฎที่สหรัฐกำหนด กักตัวอยู่ในบ้าน จะออกไปก็เพื่อซื้อของตามความจำเป็นเท่านั้น
“เมื่อเราออกไปข้างนอกก็จะใช้แมสก์ ใช้ถุงมือ และใช้เจลล้างมือเมื่อเข้ามาในบ้าน และมีการสั่งออนไลน์ของบางอย่างที่อยู่ห้างไกลๆ เขาก็มีบริการสั่งออนไลน์ได้ และเราก็พ่นแอลกอฮอลล์ก่อนเข้าห้อง ก็รักษาความสะอาดถึงที่สุด"
"ที่นี่เจลล้างมือ และแมสก์ ค่อนข้างหายากเหมือนกัน แต่ก็มีคนนำเข้ามา เราก็ซื้อทางออนไลน์ได้ ส่วนอาหารการกินและของใช้จำเป็นเช่นไข่ กระดาษทิชชู่ ขนมปัง ในบางช่วงก็ขาดแคลน ซึ่งที่ขาดแคลนที่สุดคือกระดาษทิชชู สำหรับห้างหรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่นี่เปิด 6 โมงถึง 2 ทุ่ม ถ้าใครออกไปโดยไม่จำเป็น ตำรวจ สามารถมาสอบถาม จับหรือปรับได้”
"นอกจากนี้ สัญญาบ้านเช่าของหนู จะหมดภายในสิ้นเดือนนี้แล้ว สิ้นเดือนก็จะมีผู้เช่ารายใหม่มาอยู่ หนูก็จะมีปัญหาเช่นกัน”
@ หวั่นสถานะขาด คืนบ้านเช่า เงินสำรองใกล้หมด สภาวะที่แสนลำบาก
ส่วน ศรัณยวิทย์ ปลีศิริ นักเรียนวัย 25 ปี ที่ใช้ชีวิตอยู่นิวยอร์กกล่าวว่า “ผมมาเรียนโดยเลือกแผนการเรียนเอง แล้วผมก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยปิดน่านฟ้า เพราะอย่างแรกเลย แผนการเรียนของผมจบไปแล้ว และผมมีกำหนดกลับไทยตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2563 ซึ่งผมขอเอกสารเรียบร้อยทุกอย่างตามที่รัฐบาลขอ ผมขอเอกสารเรียบร้อยแล้วจากสถานทูตไทยในนิวยอร์กเมื่อวันที่ 2 เมษายน แล้วไม่กี่ชั่วโมงต่อมา ท่าอากาศยานไทยกลับประกาศปิดน่านฟ้าวันที่ 4-6 เมษายน ทำให้ผมต้องโดนยกเลิกไฟลท์นั้นไปโดยปริยาย ก็กลับไม่ได้ และเลื่อนตั๋วไปประมาณ 3 รอบแล้ว เพราะมีการปิดน่านฟ้าครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ตามมาเรื่อย ๆ”
ศรัณยวิทย์ กล่าวถึงเรื่องสถานะ เรื่องวีซ่านักเรียนว่า "วีซ่าของผมไม่ได้หมดอายุ แต่นักเรียนไทยจะถือวีซ่าพร้อมกับใบ I20 ซึ่งใบ I20 คือแบบฟอร์มที่ทางมหาวิทยาลัยออกให้กับนักเรียน ซึ่งแบบฟอร์มนี้มีวันหมดอายุ และวันหมดอายุขึ้นอยู่กับคอร์สเรียน"
“ผมเรียนจบแล้ว คอร์สเรียนผมจบแล้ว I20 ของผมก็จะหมดอายุตาม ผมต้องกลับไทยให้เร็วที่สุด ถ้าผมอยู่ต่อจะกลายเป็นนักเรียนที่สถานะขาดไปโดยปริยาย”
“นอกจากนั้นก็มีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน เพราะผมเป็นนักเรียน ไม่มีรายได้ เงินที่มีอยู่ก็ค่อนข้างจำกัด การเลื่อนตั๋วแต่ละรอบ ไม่ใช่ว่าผมจะได้เงินคืนทันที จะมีระยะเวลา 30-60 วัน ผมต้องนำเงินสำรองมาใช้ซื้อตั๋วเรื่อยๆ ตอนนี้ซื้อเป็นรอบที่ 3 แล้ว และก็ยังไม่ได้เงินจากการซื้อตั๋วรอบเก่าคืน”
นอกจากภาระเรื่องเงินค่าตั๋วเครื่องบินแล้ว นักเรียนหนุ่มรายนี้ ยังมีภาระเรื่องบ้านเช่าที่ขอคืนไปแล้วเพื่อกลับไทย แต่กลับต้องขออยู่ต่อ พร้อมเงินสำรองที่ร่อยหรอลงไปทุกวัน
“นอกจากนี้ ผมก็มีภาระเรื่องบ้านเช่า เพราะผมคืนบ้านเช่าไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อต้องอยู่ต่อผมก็ขอเจ้าของบ้านอยู่ต่อก็เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายขึ้นมาอีก 1 เดือน ก็ยังไม่ทราบด้วยว่าหลังจากวันที่ 30 เมษายน จะเป็นอย่างไร เพราะงบของผมมีจำกัดมากๆ ก็อาจจะอยู่ได้แค่ 1 อาทิตย์ หรือ 2 อาทิตย์เท่านั้นเองครับ” ศรัณยวิทย์ระบุ
@วอนขอความชัดเจนจากรัฐไทย
ศรัณยวิทย์ ยังฝากถึงรัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า
“อยากขอทางรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอความเห็นใจ ขอความชัดเจนเพราะผมลำบากทั้งเรื่องสถานะ เรื่องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน และเรื่องการซื้อตั๋วแต่ละครั้งเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร มันมีราคา ตัวผม ณ ปัจจุบัน ปฏิบัติตามมาตรการกักตัวของกรมสาธารณสุขที่นี่อย่างเคร่งครัดแล้วก็ไม่อยากให้คนไทยที่ประเทศไทยเป็นกังวล ว่าเรากลับไปจะไปเพิ่มภาระหรือเปล่า เพราะตัวผมยินดีกักตัวตามมาตรการที่รัฐกำหนด"
"ผมอยากขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความชัดเจนจริงๆ ทั้งจากสถานทูตที่นี่ ซึ่งเขาให้ได้แค่รอคำตอบจากประเทศไทย ผมอยากกลับบ้าน และต้องการความชัดเจนครับ” ศรัณยวิทย์กล่าวย้ำ
@หัวอกแม่เมื่อลูกยังต้องตกค้างอยู่ที่ซีแอตเทิล
เช่นเดียวกับ รวงทอง กิตติปกรณ์ คุณแม่ของลูกชายวัย 19 ปี นักเรียนไทยที่ศึกษาอยู่ที่ Shoreline Community college ในเมืองซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน ที่ปัจจุบันต้องออกจากบ้านโฮสต์ไปอาศัยอยู่ในบ้านเช่ากับเพื่อน รวม 9 คน ที่กล่าวว่า
“เท่าที่ทราบมีน้องๆ นักเรียนอายุตั้งแต่ 17-19 ปีก่อนหน้านี้ มีน้องอายุ 16 แต่คนอายุ 16 ได้กลับไทยแล้วเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ส่วนลูกชายดิฉันอายุ 19 ดังนั้น ตอนนี้เด็กอายุน้อยสุดที่ยังไม่ได้กลับคือ อายุ 17 ปี เป็นกลุ่มเพื่อนที่เรียนด้วยกัน ดิฉันอยู่ไทย แต่คอยติดต่อเรื่องตั๋วเครื่องบินให้ลูก แล้วเราเลื่อนมาหลายรอบแล้ว” รวงทองระบุ
รวงทอง เล่าว่า เดิมที เด็กทุกคนในกลุ่มบางคนไปเรียนแล้วอยู่กับโฮสต์ ส่วนใหญ่เป็นโฮสต์ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย เมื่อสถานการณ์ตึงเครียด อาหารเริ่มไม่พอ เด็กๆ ต้องออกไปซื้อเอง แล้วด้วยความเป็นเด็กก็โดนเหยียดในซูเปอร์มาเก็ตที่ไปซื้อของว่าเป็นเอเชีย มีการแสดงออกกับเด็กว่าให้ไปไกลๆ เด็กบางคนก็ขออยู่กับโฮสต์ต่อโดยมีเอเจนซี่ติดต่อให้ บางคนเขายอม บางคนเขาก็ไม่ยอม ซึ่งโฮสต์ที่ไม่ยอม เด็กๆ ก็ต้องไปหาโรงแรมอยู่บ้างอยู่บ้านบ้าง ลูกชายของเธอก็เช่าบ้านอยู่กับเพื่อนรวมกัน 9 คน ลูกชายของเธอไปเรียนต่อมหาลัยวิทยาลัย จึงถือวีซ่า I20 F1 ประเภทนักศึกษา เป็นวีซ่าเรียนอย่างเดียว
@ห่วงความปลอดภัยเด็กๆ ไปไหนต้องไปเป็นกลุ่ม
รวงทอง กล่าวอีกว่า ที่วอชิงตันเริ่มแรก อัตราการติดเชื้ออันดับ 1 แต่ตอนนี้ ลำดับตกมาเรื่อยๆ ที่นี่โรงเรียนปิดและส่วนใหญ่สั่งซื้อของออนไลน์ ถ้าจะออกไปจริงๆ ก็ต้องใส่แมสก์ ถุงมือ แล้วทุกครั้งที่เด็กๆ เดินออกไปก็จะเจอสายตาที่ไม่เข้าใจ
“เขาให้กักตัวในบ้าน แต่ไม่เข้มเหมือนฝั่งแอลเอ แต่การใช้ชีวิตก็ลำบาก คนที่นั้นเขายังคงมองคนสวมหน้ากาก มองว่าไม่โอเค ก่อนหน้านี้มีปัญหามากกว่าตอนนี้ ตอนนี้บางคนเริ่มเข้าใจ แต่ก็ยังมีบางคนที่ไม่เข้าใจ เด็กๆ โดนเหยียด เพราะผมดำและเป็นเอเชีย คนที่โดนเหยียดมากคือเวียดนาม เด็กๆ ก็เตือนกันว่าเวลาออกไปอย่าออกไปคนเดียว แล้วครั้งนั้นที่โดนเหยียดพวกเขาก็ออกไป 4-5 โมงเย็น ไม่ได้มืดมาก พยายามออกไปเป็นกลุ่ม สัปดาห์หนึ่ง ออกไปครั้งหนึ่ง” รวงทองเล่าด้วยความกังวล
@วอนรัฐและกงสุลอำนวยความสะดวก ตรวจใบรับรองแพทย์
รวงทอง ยังกล่าวถึงปัญหาการขอใบรับรองแพทย์ หรือ Healthcare Fit To Fly ว่า ขอยากมาก จึงอยากให้มีการตั้งจุดตรวจอำนวยความสะดวกกรณีที่รัฐบาลให้เดินทางกลับได้
“ที่วอชิงตัน เมื่อเราได้ไฟลท์ เราก็รีบจองคิวเพื่อทำใบรับรองแพทย์ ซึ่งต้องมีอายุ 72 ชั่วโมงก่อนที่จะบิน แต่พอไฟลท์เราเลื่อน ใบรับรองแพทย์นี้ เราก็ต้องทำใหม่ เมื่อทำใหม่ ค่าใช้จ่ายก็ร้อยกว่าเหรียญ เด็กนักเรียนหลายๆ คนก็ไม่โอเค เมื่อต้องเลื่อนไฟลท์เรื่อยๆ ใบรับรองแพทย์ตัวนี้ก็ต้องทำใหม่เรื่อยๆ มีค่าใช้จ่ายที่นักเรียนไม่สามารถรองรับได้ทุกครั้ง แล้วใบรับรองนี้ ถ้าเราจะทำ เราไม่สามารถวอล์คอินเข้าไปติดต่อแล้วทำได้เลย เนื่องจากคนที่ต้องการกลับเยอะมากเราต้องต่อคิวนานมาก ลูกชายเคยต่อคิว สัปดาห์หนึ่งยังไม่ได้เลย แล้วพออีก 2 คิว กำลังจะถึงคิว กลายเป็นว่าหมอออฟไลน์ ก็ต้องไปทำเรื่องต่อคิวใหม่ นี่เป็นสิ่งที่กำหนดไม่ได้” รวมทองระบุทั้งวอนขอว่าหากรัฐบาลจะเอาเครื่องบินมารับ หรือร่วมกับสายการบินในการอำนวยความสะดวกได้ อยากจะให้มีที่จุดลงทะเบียนเลยว่า หากได้กลับแล้วไม่มีใบรับรองแพทย์ ทางกงสุลจะจัดแพทย์เพื่ออกใบรับรองแพทย์ตรงนี้
“อยากให้เป็น วัน สต๊อป เซอร์วิสไปเลย เพราะเรากลัวว่าถึงแม้เราจะได้ตั๋วแล้ว แต่ถ้าเราไม่มีใบรับรองแพทย์ตัวนี้ภายใน 72 ชั่วโมง เราก็กลับไม่ได้อยู่ดี"
"เพราะตอนนี้เราไม่รู้ว่าเราจะได้ไฟลท์ไหน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลและกงสุลจัด คือจากที่เคยติดต่อกับคนที่สถานทูต เขาไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะรู้ล่วงหน้ากี่วัน ถ้าสมมติรู้ล่วงหน้า 3 วัน แล้วเราไปขอลงทะเบียนใบรับรองแพทย์ แล้วจะยังไง ใบรับรองแพทย์นี้เป็นการตรวจสุขภาพ ว่าเราไม่มีไข้และพร้อมที่จะบิน สอบถามเจ้าหน้าที่กงสุลในกรุ๊ปไปแล้ว เขาก็ยืนยันว่าต้องมี แต่เราไม่สามารถทำใบรับรองแพทย์ก่อนได้ เราต้องรู้ไฟลท์บินก่อนเราถึงทำ หลายคนก็กังวลจุดนี้และมีข้อเรียกร้องจาก 120 คนว่าตรงนี้จะทำอย่างไร ระบุไปเลยได้ไหมว่าถ้าใครไม่มี กงสุลจะจัดแพทย์เพื่อออกใบรับรองแพทย์ให้” รวงทองระบุถึงอีกหนึ่งความเดือดร้อนของคนไทยที่ยังตกค้างอยู่ที่สหรัฐอเมริกา
***********************
ทั้งหมดนี้ เป็นชะตากรรมของตัวอย่างนักเรียนนักศึกษาไทยกว่า 120 ราย ที่ยังตกค้างอยู่ในสหรัฐ ดินแดนห่างไกลอีกซีกโลก
พวกเขายังคงรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยอยู่ทุกขณะ รวมทั้งรอคอยความชัดเจนเพื่อที่จะได้เดินทางกลับคืนสู่อ้อมอกของครอบครัวที่รอคอยด้วยความห่วงใยอยู่ในประเทศไทย และหวังว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้งพวกเขา
**หมายเหตุ : สำหรับนักเรียนนักศึกษาไทย รวมถึงคนไทยทุกคน ที่ยังตกค้างอยู่ในต่างประเทศและได้รับความเดือดร้อน สามารถส่งข้อมูลการร้องเรียนขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผ่านสำนักข่าวอิศรา ได้ตลอดเวลา ที่นี่ https://www.isranews.org/article/contact-isra.html
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage