"...ข้อเสนอจากหลายพรรคการเมือง เชื่อว่าการเยียวยาแบบ ‘ถ้วนหน้า’ น่าจะ ‘ทั่วถึง’ และ ‘รวดเร็ว’ ทันต่อสถานการณ์ในเวลานี้ แต่เป็นเรื่องที่ต้องยอมรับด้วยว่า เมื่อจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น ย่อมหมายถึงตัวเลขงบประมาณที่รัฐบาลต้องจัดสรรมาใช้ ย่อมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย..."
เป็นข้อพิพาทรายวัน สำหรับมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่รัฐบาลหวังชดเชยรายได้ให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโควิด-19
แรกเริ่ม กระทรวงการคลัง ประเมินว่าจะมีแรงงานนอกระบบและผู้ประกอบอาชีพอิสระ เข้าเกณฑ์รับเงินส่วนนี้ประมาณ 3 ล้านคน ก่อนขยายเพิ่มเป็น 9 ล้านคนในเวลาต่อมา เพื่อให้ครอบคลุมถึงแรงงานผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และ 40 ที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากสำนักงานกองทุนประกันสังคม
แม้ว่าล่าสุด 'ลวรณ แสงสนิท' ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง จะประเมินตัวเลขใหม่ว่า จำนวนผู้ที่ควรได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท น่าจะอยู่ที่ 10 ล้าน จากเดิมตั้งเป้าเยียวยา 9 ล้านคน โดยจะใช้เงินเยียวยาเฉพาะเดือนเม.ย.เพิ่มจาก 45,000 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท
แต่คำว่า ‘ไม่ทั่วถึง’ และ ‘ล่าช้า’ กลับกลายเป็นรอยด่างของการจ่ายเงินเยียวยา ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ไปแล้ว
เพราะเพียงแค่มาตรการที่เดินไปได้ครึ่งทาง มีคนได้รับเงินเยียวยาไปเพียง 3.2 ล้านคน จากยอดผู้ลงทะเบียน 27.7 ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 เม.ย.) ในขณะที่กระทรวงการคลังประกาศปิดรับลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com ในวันที่ 22 เม.ย.
เหตุผลที่ทำให้คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสโควิดได้เงินไม่ถึง 1 ใน 3 ของเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาการคัดกรองด้วยระบบ AI ที่พิจารณาตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด และยังมีจุดอ่อน ส่งผลให้คนเดือดร้อนที่ควรได้รับเงินเยียวยา กลับกลายเป็นผู้ที่ไม่ได้รับสิทธิ์
เช่น ลูกหลานเกษตรกรที่มาทำงานในเมือง แต่ระบบแจ้งว่าผู้ลงทะเบียนเป็นเกษตรกร , ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ในระบบแจ้งว่าเป็นผู้ประกอบการ หรือฟรีแลนซ์ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ที่ระบบตีความว่าเป็นเจ้าของธุรกิจ แม้กระทั่งแม้ค้าวัย 30 ที่ต้องเลี้ยงดูลูกพิการ แต่ระบบกลับแจ้งว่าเป็นนักศึกษา
ปัญหาเหล่านี้ ทำให้รัฐบาลต้องเปิดกระบวนการให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ 12 ล้านคน ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ในวันที่ 20 เม.ย.นี้
ขณะที่นักการเมืองจากหลายพรรคมองว่า การปรับลดหลักเกณฑ์การคัดกรอง เดินหน้ามาตรการ 'เยียวยาแบบถ้วนหน้า' น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้
'อนุดิษฐ์ นาครทรรพ' เลขาธิการพรรคเพื่อไทย มองว่า ระบบคัดกรองสิทธิ์ที่ใช้ AI ทำให้คนเดือดร้อนไม่ได้รับเงินอย่างทั่วถึง แม้สุดท้ายจะมีขั้นตอนการขอทบทวนสิทธิ์ แต่กว่าจะเงินจะถึงมือ น่าจะล่าช้าจนเกิดปัญหาซ้ำเติมเข้าไปอีก
พรรคเพื่อไทยเสนอให้การคัดกรองมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ต้องทำอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยตั้งเกณฑ์กลุ่มคนที่ขาดรายได้จากคำสั่งปิดกิจการต่างๆ คาดว่า จะมีคนที่ได้รับเงินเยียวยาประมาณ 20 ล้านคน
ด้าน พรรคก้าวไกล นำโดย 'วิโรจน์ ลักขณาอดิศร' โฆษกพรรคฯ ร่อนแถลงการณ์ถึงรัฐบาลโดยตรง จี้ยกเลิกกระบวนการพิสูจน์ความทุกข์ยากของประชาชน เพราะระบบคัดกรองที่ซับซ้อนทั้งเทคโนโลยี-เกณฑ์อาชีพ ใช้เวลานานเกินไป
และเชื่อว่าระบบคัดกรองของรัฐบาล จะทำให้มีคนตกหล่นอย่างน้อย 6.5 ล้านคน จากปัญหาความซับซ้อนของเทคโนโลยี และหลักเกณฑ์ที่ตัดบางอาชีพออกไปตั้งแต่ต้น
พรรคก้าวหน้ายังยื่นข้อเสนอใหม่ไปถึงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยขอให้แจกเงินถ้วนหน้ารายละ 5,000 บาท ซึ่งจะทำให้แรงงานในระบบ 14.5 ล้านคน ได้รับเงินชดเชยทุกคน และใช้งบประมาณ 217,500 ล้านบาท ในช่วงเวลา 3 เดือน
พร้อมทั้งย้อนเล็ดรัฐบาล โดยเสนอให้เปิดเว็บไซต์ www.ทำไมไม่ได้5พัน.com ระดมความเห็นจากผู้ที่เดือดร้อน ก่อนนำข้อความทั้งหมดที่ได้ไปใช้ในการอภิปราย ระหว่างพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในอีกไม่นานนี้
ส่วน พรรคกล้า พรรคการเมืองน้องใหม่ที่มีอดีต รมว.คลัง อย่าง 'กรณ์ จาติกวณิช' เป็นหัวหน้าพรรค สนับสนุนแผนการเยียวยาแบบถ้วนหน้า โดยเชื่อว่าเงิน 5,000 บาท หากถูกจัดสรรโดยใช้หลักเกณฑ์รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (UBI) น่าจะทำให้มีคนได้รับเงินส่วนนี้มากถึง 24 ล้านคน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรจัดช่องทางให้เกษตรกร คนพิการ ผู้สูงอายุ แม่เด็กเกิดใหม่ และอาชีพอิสระ ที่ตกหล่นจากระบบคัดกรอง เข้าถึงการช่วยเหลือของรัฐบาล
ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ แม้อยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่ 'เทพไท เสนพงศ์' ส.ส.นครศรีธรรมราช ให้เห็นว่า ไม่ไว้วางใจการคัดกรองด้วย AI ของกระทรวงการคลัง และเชื่อว่าระบบ AI ที่มีปัญหา ทำให้ประชาชนที่เดือดนร้อนถูกตัดสิทธิ์ไปมากกว่า 18 ล้านคน
เทพไท เสนอว่า ด้วยระบบคัดกรองมีความล่าช้า และไม่เป็นธรรม รัฐบาลควรปรับหลักเกณฑ์การเยียวยาใหม่ใน 3 เรื่อง คือ คนที่จะได้รับเงินเยียวยานั้น 1.ต้องคนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยคัดกรองคนที่มีเงินฝากในบัญชีไม่ถึง 100,000 บาท
2.เหมาจ่ายเป็นครัวเรือน ตัดครอบครัวข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และกลุ่มผู้มีรายได้สูง จะทำให้รัฐจ่ายเงินเยียวยาเพียง 10 ล้านครัวเรือน ใช้เงิน 100,000 ล้านบาทต่อเดือน และอัพเกรดเงินเยียวยาเป็น 10,000 บาทต่อเดือน
เหล่านี้เป็นมุมมองและข้อเสนอจากพรรคการเมืองที่ส่งไปถึงรัฐบาล โดยหวังให้การจ่ายเงินเยียวยาคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากไวรัสโควิด-19 เป็นไปอย่าง ‘ถ้วนหน้า’ ‘ทั่วถึง’ และ ‘รวดเร็ว’ ทันต่อสถานการณ์ในเวลานี้
แต่ต้องยอมรับด้วยว่า เมื่อจำนวนคนที่ได้รับการเยียวยาเพิ่มขึ้น หรือเพิ่มวงเงินเยียวยา นั่นหมายเม็ดเงินงบประมาณที่รัฐบาลต้องใช้จ่ายเพิ่มขึ้น กระทั่ง 'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์' รองนายกฯ ถึงกับต้องออกมาบ่นดังๆว่า 'ถ้าจะแจกกันทุกคน คงต้องกู้ยันตาย'
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage