"...มาตรการที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจของตะวันออกกลางในหลายภาคส่วน ทั้งการท่องเที่ยว การผลิตและการค้า ทำให้เกิดการว่างงานอย่างกว้างขวาง..."
วิกฤตไวรัสโควิด-19 กำลังสั่นสะเทือนเศรษฐกิจโลกอย่างหนัก กระทบหลายๆประเทศทั้งเล็กและใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าภูมิภาคตะวันออกกลางจะโดนหนักหนาสาหัสกว่าใครเพื่อน
Jihad Azour ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประจำภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียกลาง ออกมาระบุว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศในตะวันออกกลางสองด้านหลักๆ
ประการแรกคือตะวันออกกลางใกล้ชิดกับจีนมากและต้องพึ่งพาอาศัยทั้งในแง่การค้าและบริการ เมื่อประเทศจีนถูกไวรัสเล่นงาน ภูมิภาคตะวันออกกลางก็ได้รับผลกระทบไปด้วย
ประการที่สองก็คือเมื่อไวรัสกระจายไปทั่วโลกทำให้อุปสงค์น้ำมันลดลงอย่างมาก ซึ่งก็ทำให้รายได้ของประเทศตะวันออกกลางหดหายลงไปด้วยเพราะน้ำมันเป็นสินค้าหลักจากภูมิภาคนี้
สำนักข่าว VOA ของสหรัฐฯรายงานด้วยว่า โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้การบริโภคน้ำมันลดลง 30 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก เนื่องจากสายการบินต่างๆหยุดให้บริการในหลายเส้นทาง และผู้คนมากมายหลายล้านก็ไม่ได้ใช้ยานพาหนะเพราะจำเป็นต้องกักตัวเองอยู่แต่ในบ้านเพื่อช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรค
ราคาน้ำมันดิบในปัจจุบันได้ตกต่ำลงอย่างมาก เหลือไม่ถึง 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลแล้ว แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปค กับผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ๆอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย ได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่จะลดการผลิตน้ำมันลงถึงวันละ 9.7 ล้านบาร์เรลระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน แต่นักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันเชื่อว่าราคาน่าจะลดลงไปอีก
ประเทศใหญ่ๆในตะวันออกกลางอย่างเช่นซาอุดิอาระเบีย ดูเหมือนจะได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากจากวิกฤตไวรัสครั้งนี้
Joseph Bahout นักวิชาการด้านตะวันออกกลางของ Carnegie Endowment for International Peace มองว่าโครงการใหญ่ๆของซาอุดิอาระเบียอาจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง เขากล่าวกับ VOA ว่าซาอุดิอาระเบียจะประสบปัญหางบประมาณขาดดุลในอีก 6-7 เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งก็จะกระทบกับโครงการพัฒนาใหญ่ๆของประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงแผนงานที่จะทำให้ซาอุดิอาระเบียลดการพึ่งพาการส่งออกน้ำมัน
ประมาณ 87 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณประเทศซาอุดิอาระเบียมาจากการขายน้ำมัน นอกจากนี้รายได้หลักของประเทศอีกทางหนึ่งมาจากผู้แสวงบุญชาวมุสลิมจากทั่วโลกที่เดินทางเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ประจำปี และงานแสวงบุญย่อยๆที่เรียกว่า umrah ซึ่งสามารถจัดได้ตลอดทั้งปี ได้มีการระงับงาน umrah ชั่วคราวหลังจากเกิดโรคระบาดไวรัสโคโรน่า ส่วนพิธีฮัจญ์งานแสวงบุญหลักประจำปี ซึ่งเดิมมีกำหนดจัดในเดือนกรกฎาคมนี้ ก็อาจได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้คาดการณ์กันว่าผู้แสวงบุญประมาณ 2 ล้านคนจะเดินทางไปยังเมืองเมกกะและเมดินาของซาอุดิอาระเบียเพื่อเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ประจำปีนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่าซาอุดิอาระเบียมีรายได้จากผู้แสวงบุญ ประมาณปีละ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (391,200 ล้านบาท) ซึ่งเท่ากับ 7 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
คนงานทำความสะอาดมัสยิดใหญ่ในช่วงการแสวงบุญที่รู้จักกันในชื่อ Umrah ในซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563
ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในซาอุดิอาระเบียมีกว่า 6 พันคน ซึ่งมากที่สุดในตะวันออกกลาง และประเทศหลักอื่นๆของภูมิภาคก็มีจำนวนผู้ป่วยนับเป็นพันๆเช่นกัน ทั้งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ บาห์เรน อิรักและคูเวต
Maha Yahya ผู้อำนวยการของ Carnegie Middle East Center กล่าวว่า มาตรการที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายกับเศรษฐกิจของตะวันออกกลางในหลายภาคส่วน ทั้งการท่องเที่ยว การผลิตและการค้า ทำให้เกิดการว่างงานอย่างกว้างขวาง เธอกล่าวเสริมว่าประเทศที่ไม่เข้มแข็งและมีปัญหาความขัดแย้งอยู่แล้ว อย่างเช่นอิรัก ซีเรีย เยเมน และลิเบีย ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด แม้ก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเทศเหล่านั้นก็ประสบปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมืองและสาธารณสุขอยู่แล้ว "หลายประเทศเหล่านี้คงไม่สามารถหาเงินมาใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจได้" Yahya กล่าว
ไอเอ็มเอฟได้เตรียมให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและการคลังกับประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางที่ต้องการให้ช่วย ในขณะที่ธนาคารโลกก็มีมาตรการช่วยเหลือรัฐบาลประเทศเหล่านั้นเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า GDP ของทั้งภูมิภาคตะวันออกกลางจะลดลง 1.1 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
Ferid Belhaj รองประธานธนาคารโลกที่ดูแลตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ให้ความเห็นว่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆแล้ว ตะวันออกกลางได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสมรณะนี้หนักกว่า เพราะต้องเจอกับปัญหาราคาน้ำมันที่ตกต่ำอย่างมากด้วย
"ธนาคารโลกก็ได้แนะนำให้ประเทศตะวันออกกลางเน้นแก้ไขการแพร่ระบาดของไวรัสและการถดถอยของเศรษฐกิจโดยเร่งด่วนก่อน แล้วค่อยดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆในระยะยาว" Ferid Belhaj ระบุ
(ภาพ/เรียบเรียงโดยอ้างอิงข้อมูลจาก https://www.voanews.com/covid-19-pandemic/why-covid-19-double-whammy-middle-east-countries)
อ่านเรื่องอื่นๆ
หน่วยข่าวกรองสหรัฐฯ เตือนให้ระวังโรคระบาดตั้งแต่ปลายปีก่อน แต่ทรัมป์ไม่ฟัง
บริการพิเศษช่วงโควิด-19 ระบาด: ส่งสินค้าถึงหน้าบ้านด้วยเลื่อนหิมะเทียมสุนัข
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage