"...แต่ท่ามกลางข่าวร้ายก็มีข่าวดีปรากฏขึ้นมาบ้าง หลังปรากฎข้อมูลทางสถิติว่าปัจจุบัน 12 ประเทศ ที่เคยประสบปัญหาการระบาดของไวรัสอย่างรุนแรง มีผู้ติดเชื้อมากกว่าพันคนขึ้นไป สามารถพลิกสถานการณ์กลับมาควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รักษาคนป่วยให้หายได้มากกว่าจำนวนผู้ป่วยทั้งประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ อิหร่าน ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ไอซ์แลนด์ ไทย เยอรมนี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ บราซิล ..."
แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 หรือโคโรน่าไวรัส ในปัจจุบันจะทำให้ผู้คนทั่วโลกกว่า 2 ล้านคนต้องติดเชื้อ และคร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 1.2 แสนชีวิตในขณะนี้
แต่ท่ามกลางข่าวร้ายก็มีข่าวดีปรากฏขึ้นมาบ้าง หลังปรากฎข้อมูลทางสถิติว่าปัจจุบัน 12 ประเทศ ที่เคยประสบปัญหาการระบาดของไวรัสอย่างรุนแรง มีผู้ติดเชื้อมากกว่าพันคนขึ้นไป สามารถพลิกสถานการณ์กลับมาควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รักษาคนป่วยให้หายได้มากกว่าจำนวนผู้ป่วยทั้งประเทศ ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย คือ จีน เกาหลีใต้ อิหร่าน ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย ไอซ์แลนด์ ไทย เยอรมนี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ บราซิล
ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สำรวจข้อมูลการพลิกสถานการณ์กลับมาควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ใน 2 ประเทศ คือ อิหร่าน เยอรมนี ที่ปรากฎข้อมูลเป็นทางการมานำเสนอต่อสาธารณะ ณ ที่นี้
@อิหร่าน สู้สุดใจแม้โดนคว่ำบาตร
อิหร่านได้เปลี่ยนให้มัสยิดและสุเหร่าทั่วประเทศกลายเป็นโรงงานเย็บหน้ากากอนามัย (อ้างอิงรูปภาพจาก msn.com)
ในกรณีประเทศอิหร่าน ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เจอสถานการณ์เลวร้ายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ในช่วงแรกๆ ที่เกิดเหตุการณ์ระบาดนอกเหนือจากประเทศจีน และยิ่งไปกว่านั้นอิหร่านยังประสบปัญหาการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์อันทันสมัย อันเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกา
อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากเว็บไซต์ world meters ล่าสุดระบุว่า สถานการณ์ในอิหร่าน ขณะนี้แม้จะมีผู้ป่วยสะสม 76,389 ราย และมีผู้เสียชีวิน 4,777 ศพ แต่ก็สามารถพลิกสถานการณ์รักษาผู้ป่วยให้หายได้ 49,933 ราย ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยในอิหร่านมีอยู่ทั้งสิ้น 21,679 ราย ซึ่งหมายความว่า ณ เวลานี้ อิหร่านเริ่มที่จะควบคุมสถานการณ์ในประเทศได้แล้วนั่นเอง
ทั้งนี้ จากการสำรวจข้อมูลวิธีการของอิหร่าน จากเว็บไซต์ Al-Monitor.com ที่เป็บเว็บบล๊อกข้อมูลประเทศในตะวันออกกลางแปลข้อมูลภาษาเปอร์เซียของอิหร่าน
ระบุว่า นายซาอีด นามากี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอิหร่าน ได้บอกเล่าถึงการต่อสู้กับเชื้อโคโรน่าไวรัสว่าเปรียบเสมือนการเล่นเกมหมากรุกกันระหว่าไวรัสกับประเทศ โดยในตอนนี้แม้จะมีข้อมูลว่าทั้ง 31 จังหวัดในอิหร่านรวมถึงจังหวัดโกม (Qom) จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง และเป็นศูนย์กลางของการแพร่ระบาด แต่ทั้งหมดกำลังอยู่ในภาวะที่กำลังฟื้นตัวโดยพร้อมกัน
ที่ผ่านมาอิหร่านได้พยายามรักษาผู้ป่วยทุกวิธีเท่าที่จะทำได้ จนกระทั่งในที่สุดผู้เชี่ยวชาญของอิหร่านได้หันไปใช้วิธีการว่าด้วยการรักษาไปที่พลาสมาของเลือด ซึ่งมีรายงานว่าตั้งแต่เมื่อในช่วงต้นเดือน มี.ค. อิหร่านได้นำเอาพลาสมาจากเลือดของผู้บริจาคที่เคยป่วยโรคโควิด 19 แต่หายแล้วจำนวน 300 คน มาฉีดเข้าเส้นเลือดของผู้ที่กำลังป่วยอยู่ ณ เวลานี้
โดยวิธีการดังกล่าวนั้นสามารถเพิ่มโอกาสรักษาผู้ป่วยที่ต้องอยู่ในห้องฉุกเฉินได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ และยังเป็นวิธีการเดียวกับที่จีนได้คิดค้นขึ้นเมื่อมีตอนช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าอิหร่านได้เปลี่ยนให้ศาสนสถานเกือบทุกแห่งที่มีอยู่ในประเทศ กลายเป็นสถานที่ผลิตหน้ากากอนามัย และเครื่องป้องกันการติดโรคโควิด 19 ซึ่งวิธีการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาการขาดอุปกรณ์ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสที่หลายๆประเทศอื่นประสบได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอิหร่านจะแก้ไขปัญหาทั้งด้านการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมไปถึงรักษาผู้ป่วยให้หายได้มากกว่าประเทศอื่นๆ แต่ความท้าทายของประเทศในขณะนี้ ก็คือประเด็นเรื่องการขาดแคลนเงินทุนที่จะมาต่อสู้กับไวรัสและหมุนเวียนทางเศรษฐกิจต่อไป
ดังนั้นรัฐบาลของประธานาธิบดีฮัสซาน โรฮานนี้จึงต้องพยายามที่จะหาเงินทุนมาทุกวิถีทาง อาทิ การกู้เงินจำนวน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.63 แสนล้านบาท จาก ‘โครงการสนับสนุนทางการเงินเร่งด่วน’ (Rapid Financing Initiative) ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือประเทศที่เผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างกะทันหันเช่นภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งมีข้อมูลว่าสหรัฐฯได้พยายามขัดขวางการกู้เงินของอิหร่านทุกกรณี
หรือความพยายามของรัฐบาลอิหร่าน ในการเข้าถึงทรัพย์สินจำนวน 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (52,361,600,000 บาท) ที่ถูกอายัดในประเทศลักซ์เซมเบิร์กเพื่อเอาออกมาใช้ต่อสู้กับสถานการณ์โรคระบาด
ซึ่งปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและการเงินดังกล่าวนั้น ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลอิหร่านจำเป็นต้องยกเลิกมาตรการต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้ภาคเศรษฐกิจล่มสลาย อาทิ การยกเลิกมาตรการปิดภาคธุรกิจ ร้านค้าต่างๆ เมื่อวันที่ 14 เม.ย.ที่ผ่านมา และจะอนุญาตให้ชาวต่างชาติบินเข้าสู่อิหร่านได้ในวันที่ 20 เม.ย.เป็นต้นไป
แต่การยกเลิกมาตรการดังกล่าว ก็ถูกคัดค้านเป็นอย่างมากจากทางทีมแพทย์ที่ทำหน้าที่รักษาคนป่วยอยู่ทั่วประเทศเช่นกัน
ด้วยความกังวลว่าจะเกิดการระบาดครั้งใหญ่ขึ้นมาซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่ง
@เยอรมนี จากพนักงานหนึ่งคนสู่การวางแผนระดับชาติ
บริษัท Webasto แคว้นบาวาเรีย สถานที่แห่งแรกที่เกิดการระบาดนอกทวีปเอเชีย (อ้างอิงรูปภาพจาก https://engnews24h.com/)
ข้ามมาดูข้อมูลที่เยอรมนีกันบ้าง ข้อมูลจากเว็บไซต์ Worlemeters.com รายงานล่าสุดว่า มีจำนวนผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 134,753 ราย แต่มีสัดส่วนผู้เสียชีวิตที่น้อยมาก โดยอยู่ที่ 3,804 ศพ ขณะที่อัตรการรักษาผู้ป่วย มีผู้ป่วยที่รักษาหายทั้งสิ้น 72,600 ราย จากจำนวนผู้ป่วยที้มีตอนนี้ 58,349 ราย
ขณะที่ สำนักข่าวรอยเตอร์ ได้รายงานเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้กับไวรัสโควิดของประเทศเยอรมันนี เอาไว้ดังนี้
เริ่มตั้งแต่ในช่วงเดือน ม.ค.2563 ที่ผ่านมา เหตุการณ์เกิดขึ้นในโรงอาหารของ บริษัท Webasto ซึ่งเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แห่งหนึ่งในแคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี มีพนักงานหญิงชาวจีน ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโรคโควิด 19 และนับเป็นการแพร่เชื้อนอกทวีปเอเชียรายแรกๆของโลก
โดยพนักงานหญิงรายนี้ได้เดินทางมายังสำนักงานใหญ่ของ Webasto ในช่วงเวลาสั้นๆ แดือน ม.ค. และเข้าไปรับประทานอาหารในโรงอาหารของบริษัทฯ
ก่อนที่ธอจะมีอาการปวดหลัง และเหนื่อยล้า ตลอดเวลาที่อยู่ที่สำนักงานใหญ่ ประเทศเยอรมนี
แต่เธอเข้าใจว่าอาการที่เป็นนั้นเป็นอาการจากการนั่งเครื่องบินยาวนาน ซึ่งเธออยู่ที่บริษัท Webasto ได้ไม่นานก็เดินทางกลับเมืองอู่ฮั่นประเทศจีน
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเธอกลับถึงเมืองอู่ฮั่น และได้ไปตรวจเธอได้รับทราบข้อมูลว่าติดเชื้อโควิด 19 จึงได้รีบอีเมล์บอกผู้บริหารบริษัท Webasto ทันที
ซึ่งภายหลังจากที่บริษัท Webasto ได้รับทราบข้อมูลว่ามีพนักงานหญิงชาวจีนซึ่งติดไวรัสโควิด 19 เคยเดินทางมาที่สำนักงานใหญ่บริษัท
ทางบริษัทฯ จึงได้มีการระดมทีมระงับสถานการณ์ฉุกเฉินทั้งจากทางบริษัท และแจ้งเตือนทางการให้ได้ทราบข้อมูล
ขณะที่ รัฐบาลแคว้นบาวาเรีย ได้ส่งนักวิทยาศาสตร์ลงพื้นที่และสำรวจทันทีว่า ที่โรงอาหารในช่วง ม.ค. ว่ามีใครบ้างในโรงอาหารที่ได้สนทนาและพบปะกับพนักงานหญิงคนนี้
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ม.ค. นักวิทยาศาสตร์ ได้ตรวจสอบข้อมูลบันทึกการแพทย์เพื่อที่จะหาข้อมูลเกี่ยวกับบันทึกการรักษาเพื่อที่จะตามตัว ทดสอบ และกักกันตัวพนักงานบริษัทที่คาดว่าจะติดเชื้อโรค ซึ่งข้อมูลดังกล่าวนั้นทำให้ทางรัฐบาลท้องถิ่นแคว้นบาวาเรียสามารถที่จะป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสลุกลามต่อไปได้
และการตามตัวผู้ติดเชื้อในบริษัทดังกล่าว ก็ทำให้รัฐบาลกลางเยอรมนีมีเวลาเพียงพอที่จะทำความเข้าใจกับโรค การรักษา เตรียมอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ อาทิ เตียงแพทย์ที่จะรองรับผู้ป่วยในช่วงแรกๆถึง 28,000 เตียง และสามารถสร้างกลไกที่จะป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งสามารถช่วยผู้คนได้หลายชีวิต
ทั้งนี้ ในช่วงต้นของการระบาดของไวรัสโคโรน่าของเยอรมนีนั้น เริ่มต้นจากพื้นที่ชนบทเหมือนกับอิตาลี
แต่สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ เยอรมนีมีจำนวนผู้เสียชีวิตที่น้อยกว่ามาก โดยช่วงเวลาที่มีการระบาดของผู้ป่วยรายแรกในอิตาลีเมื่อวันที่ 21 ก.พ. เยอรมนีเริ่มที่จะประชาสัมพันธ์ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขและกลยุทธ์ของรัฐบาลที่จะรับมือกับเชื้อไวรัสแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีรายงานเรื่องของการตรวจโรคโดยเทียบกันระหว่างเยอรมนีและอิตาลี ว่า ณ เวลานี้ เยอรมนีได้ตรวจผู้ที่มีความเสี่ยงไปได้ถึง 1.3 ล้านรายแล้ว และตอนนี้สามารถตรวจโรคได้อีกอย่างน้อย 500,000 ราย ต่อสัปดาห์ ขณะที่อิตาลีสามารถตรวจได้เพียงแค่ 807,000 รายเท่านั้น นับตั้งแต่วันที่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา และอิตาลียังคงสามารถตรวจโรคได้เฉพาะผู้ที่มารักษาตัวที่โรงพยาบาลและมีอาการป่วยที่ชัดเจนเท่านั้น
ปัจจุบัน เยอรมนีถือได้ว่าเป็นประเทศหนึ่งที่ถือได้ว่ามีอัตราผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1.9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ขณะที่อิตาลีกลับมีผู้ที่เสียชีวิตหลังจากการติดโรคอยู่ที่ 12.6 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งถ้าหากไม่มีรายงานการตรวจพบผู้ติดเชื้อจากบริษัทผลิตรถยนต์ดังกล่าวตั้งแต่เนิ่นๆในช่วงเดือน ม.ค. เยอรมนีอาจจะมีผู้เสียชีวิตที่มากกว่านี้ โดยมีการคาดการณ์ว่า ถ้าเลวร้ายที่สุดอาจจะมีผู้เสียชีวิตถึง 1 ล้านราย
(แปล/เรียบเรียงจาก https://www.haaretz.com/middle-east-news/iran/.premium-iran-lifting-closure-is-a-risky-bet-for-a-country-on-the-brink-1.8760698,https://www.al-monitor.com/pulse/originals/2020/04/coronavirus-iran-hotspots-partial-reopening.html, https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-germany-defences-i/pass-the-salt-the-minute-details-that-helped-germany-build-virus-defences-idUSKCN21R1DB
ทั้งหมด คือ ตัวอย่างข้อมูลในอิหร่าน และ เยอรมันนี 2 ใน 12 ประเทศ ที่เคยประสบปัญหาสถานการณ์การแพร่รระบาดของโรคโควิดอย่างรุนแรง แต่พลิกสถานการณ์กลับมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสได้อย่างดีในปัจจุบัน และน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับอีกหลายประเทศที่กำลังเผชิญหน้ากับโรคโควิดอยู่ในขณะนี้ รวมถึงไทยด้วย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/