กรมกิจการสตรีฯ พม. เผยผลสำรวจสถานการณ์ครอบครัวไทย ในวิกฤติโควิด-19 เกือบ 100% สวมหน้ากากอนามัย-หน้ากากผ้าทุกครั้งออกจากบ้าน ติดตามข่าวสารเป็นกิจกรรมยอดฮิต พบ 5.8% หงุดหงิด โมโห ควบคุมอารมณ์กับสมาชิกไม่ได้ ในจำนวนนี้ 1% ทำร้ายร่างกาย จนบาดเจ็บ -14.7% ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก เกินครึ่งเริ่มอยู่พอเพียง
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสมาชิกครอบครัวในสังคมไทย โดยเฉพาะการปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยของทุกชีวิตในครอบครัวไทยและสังคมไทย
เนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เเละวันที่ 14 เม.ย. ของทุกปี เป็นวันครอบครัว ทำให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ทำการสำรวจ “ครอบครัวไทย” ในภาวะวิกฤติ COVID-19 เพื่อทราบการปฏิบัติตัว ของสมาชิกครอบครัว การอยู่ร่วมกันในครอบครัว Stay at home ในภาวะวิกฤต โดยสำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปีขึ้นไป ทุกสาขาอาชีพ จำนวน 2,069 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10 – 13 เม.ย. 2563 ปรากฏดังนี้
จากผลการสำรวจ พบว่า สมาชิกครอบครัวส่วนใหญ่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกนอกบ้านถึงร้อยละ 96.4 รองลงมา มีความพยายามหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน ไม่ไปอยู่ในสถานที่สาธารณะที่มีผู้คน แออัด และหลีกเลี่ยงงานเลี้ยงสังสรรค์ ร้อยละ 88.3 มีการรับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ กินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว และล้างมือบ่อยมากขึ้น ถึงร้อยละ 84.3 กรณีรู้สึกไม่สบายเล็กน้อยจะกักตัวเองให้ห่างจากครอบครัวและผู้อื่นทันที ร้อยละ 83.6
นอกจากนั้น มีการศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการเฝ้าระวังและการป้องกันโรคโควิด-19 ร้อยละ 82.5 และมีการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด ร้อยละ 82.7 โดยสมาชิกครอบครัวกว่า 3 ใน 4 มีการสังเกต อาการของตนเองและคนในครอบครัวอยู่เสมอ ร้อยละ 77.6 และมีการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับพักผ่อน อย่างเพียงพอ ร้อยละ 75.0
ทั้งนี้ ครอบครัวไทยมีผู้สูงอายุ มีผู้ป่วย หรือคนทำงานที่เสี่ยงกับการติดโรคระบาด ถึงร้อยละ 13.8 โดยร้อยละ 29.8 มีความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง
ในเรื่องกิจกรรมที่สมาชิกครอบครัวทำขณะอยู่บ้าน Stay at home ได้แก่ การติดตามข่าวสารบ้านเมืองและข่าวสถานการณ์โควิด-19 มากที่สุด ร้อยละ 67.0 รองลงมาคือ การฟังเพลง วิทยุ ดูโทรทัศน์ วีซีดี ดีวีดี ฯลฯ ร้อยละ 33.9 การทำงานที่บ้าน (work from home) ร้อยละ 24.3 การเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ร้อยละ 24.3 การมีส่วนร่วมช่วยเหลือ สังคมด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น บริจาคเงิน ทำบุญ และงานจิตอาสา ร้อยละ 23.7 เล่นเกมออนไลน์ Facebook Line twitter ฯลฯ ร้อยละ 22.0 อ่านหนังสือทุกประเภท ร้อยละ 13.1 และใช้เวลากับการทำงานประดิษฐ์ และงานฝีมือ ร้อยละ 9.7 ตามลำดับ
เมื่อพิจารณากิจกรรมของครอบครัวที่ทำขณะอยู่บ้าน ระดับปานกลาง-มาก พบว่า ร้อยละ 98.8 มีการติดตามข่าวสารบ้านเมืองและข่าวสถานการณ์โควิด-19 และมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น บริจาคเงิน ทำบุญ จิตอาสา ร้อยละ 85.6 มีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มากขึ้น ร้อยละ 82.0 และอ่านหนังสือทุกประเภท ร้อยละ 76.5
ที่น่าสนใจ คือ นโยบายทำงานที่บ้าน (Work for home) พบว่า สมาชิกครอบครัว 7 ใน 10 คน ทำงานที่บ้าน ในระดับปานกลาง – มาก โดยมีสัดส่วน 1 ใน 4 คน ที่ใช้เวลาทำงานมากพอ ๆ กับที่ทำงาน
แม้ว่าจะมีสถานการณ์วิกฤตจากโรคระบาด ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 96.0 ไม่ได้ใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกัน อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเพราะความตึงเครียด ทำให้สมาชิกครอบครัวเพียงร้อยละ 56.4 เท่านั้น ที่สามารถควบคุมการใช้อารมณ์รุนแรงหรือไม่ใช้อารมณ์รุนแรงกับคนในครอบครัว
ที่น่าห่วงใย คือ มีครอบครัวไทย ร้อยละ 5.8 ที่เมื่อมีความหงุดหงิดและโมโหแทบไม่สามารถควบคุมการใช้อารมณ์กับคนในครอบครัวได้เลย ซึ่งในจำนวนนี้มีร้อยละ 0.9 ที่มีการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกายกัน จนได้รับบาดเจ็บ
ขณะที่การอยู่ร่วมกันของครอบครัวในภาวะวิกฤติ พบว่า สถาบันครอบครัว คือสถาบันที่มีความสำคัญมากที่สุดถึง ร้อยละ 94.6 รองลงมา คือ รู้สึกมีความสุขที่ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว ร้อยละ 84.0 ทั้งนี้ ร้อยละ 68.9 มีการตัดสินใจ เรื่องต่าง ๆ ร่วมกับครอบครัว และร้อยละ 59.9 สามารถคุยกับครอบครัวได้ทุกเรื่อง
อย่างไรก็ตาม พบว่า สมาชิกครอบครัว เพียง 1 ใน 2 หรือ ร้อยละ 53.2 ที่มีการวางแผนชีวิต การเรียน การทำงาน และอนาคตของครอบครัว ขณะที่ ครอบครัวมีการเว้นระยะห่าง แต่มีการแสดงความรัก ความเอาใจใส่กันอย่าง สม่ำเสมอ เพียงร้อยละ 47.2 สำหรับการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวอยู่ในระดับปานกลาง ร้อยละ 35.3
ที่น่าห่วงใย คือ มีครอบครัวไทยเพียงร้อยละ 23.4 เท่านั้น ที่ไม่มีปัญหาด้านการเงินและสามารถดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่าย ของครอบครัวได้ในภาวะวิกฤตนี้ สำหรับครอบครัวร้อยละ 61.4 พอที่จะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาทางการเงินและดูแล รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้
ยกเว้นครอบครัวอีกร้อยละ 14.7 มีปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะแทบไม่สามารถจัดการด้านการเงินและค่าใช้จ่ายของครอบครัวได้เลย
ทั้งนี้ ครอบครัวเกือบ 2 ใน 3 หรือ ร้อยละ 65.5 มีความเชื่อถือข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข และมีความเชื่อมั่น การทำงานของรัฐรวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนั้น ยังพบว่าประชาชนกว่า 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 35.0 มีการศึกษาเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองมากขึ้น ที่สำคัญ จากภาวะวิกฤตนี้ ทำให้ประชาชนกว่า 6 ใน 10 หรือ ร้อยละ 60.1 มีการใช้ชีวิตความเป็นอยู่แบบพอเพียงมากขึ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/