"...ด้วยความเป็นจังหวัดเล็ก มิใช่ทางผ่าน ต้องต้้งใจมา เป็นสังคมชนบท กระบวนการทำงานเข้มแข็ง เด็ดขาด มาตรการการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งจิตสำนึกอันเข้มแข็งของคนทั้งจังหวัดที่ช่วยกันพยายามทุกทางเพื่อให้จังหวัดของตนปลอดเชื้อโควิด-19..."
ปรากฎชื่อเป็น 3 ใน 11 จังหวัดทั่วประเทศไทย ที่ยังไม่มีรายงานการรับรักษาผู้ป่วยโรคไวรัสโควิด-19 (COVID-19)
สำหรับ 'บึงกาฬ-พิจิตร-ชัยนาท'
ด้วยความเป็นจังหวัดเล็ก มิใช่ทางผ่าน ต้องต้้งใจมา เป็นสังคมชนบท กระบวนการทำงานเข้มแข็ง เด็ดขาด มาตรการการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งจิตสำนึกอันเข้มแข็งของคนทั้งจังหวัดที่ช่วยกันพยายามทุกทางเพื่อให้จังหวัดของตนปลอดเชื้อโควิด-19
สิ่งเหล่านี่ คือ ภาพเบื้องต้น ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับทราบจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ทั้ง 3 จังหวัด คือ บึงกาฬ พิจิตร ชัยนาท จาก 11 จังหวัด ที่พอจะสามารถหาช่องทางติดต่อได้
หลังตั้งประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดจังหวัดของพวกเขา จึงปราศจากผู้ติดเชื้อ โควิด-19
กระบวนการจัดการ บูรณาการ มาตรการรับมือ และนโยบายที่ได้รับจากผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด มีอะไรที่น่าสนใจ แตกต่างกันหรือไม่
นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป มีข้อมูลรายละเอียดสำคัญที่สามารถ 'ถอดรหัส' ออกมาได้เป็นหัวข้อๆ ไล่เรียงไปที่ละจังหวัด ดังนี้
@ จังหวัดบึงกาฬ
@ นพ. ชัชวาลย์ ฤทธ์ฐิติ
แนะประชาชนป้องกันแต่เนิ่นๆ
นพ. ชัชวาลย์ ฤทธ์ฐิติ สาธารณสุขจังหวัดบึงกาฬ ให้ข้อมูลว่า นโยบายในภาพรวมอาจจะทำคล้ายๆ กันหลายจังหวัด แต่ของ จ.บึงกาฬเอง ได้มีการสื่อสารเรื่องไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ตั้งแต่ 2 เดือนที่แล้ว โดยนำเรื่องเข้าคณะกรรมการจังหวัด และประชุมหารือว่าโรคนี้ติดต่อกันได้อย่างไร
“เราเริ่มประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ แนะนำให้มีการป้องกันโดยอยู่ห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร และกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ตลอดจนเฝ้าระวังผู้ที่เดินทาง และเป็นโชคดีที่ไม่มีเคส แต่เราก็เฝ้าระวัง คัดกรองผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และตรวจไข้ ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นความสำคัญตั้งแต่ตรงนี้ว่า ให้งดเว้นการประชุม ตรงไหนเป็นแหล่งชุมชน มีการรวมคน ก็ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและสถานประกอบการณ์ต่างๆ เข้าใจ แม้แต่สถานีขนส่งเราก็ให้นโยบายตรงนี้ และเมื่อมีข่าวสนามมวยเกิดการระบาด เราก็ให้ปิด แม้แต่ร้านอาหาร หรืออะไรที่เสี่ยงท่านผู้ว่าฯก็ประชุมหารือ เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงนั้นๆ”
- มีจุดผ่านแดนระหว่าง สปป.ลาว และมี Local quarantine รองรับ
นพ.ชัชวาลย์ ยังกล่าวว่า จ.บึงกาฬ เป็นจุดผ่านแดนของ สปป.ลาว จึงมีมาตรการที่เข้มข้น โดยมีด่านอยู่ 5 ด่านใหญ่ 3 ด่านน้อย ที่หากใครจะผ่านเข้าออก ต้องขออนุญาตนายอำเภอ
“จังหวัดบึงกาฬตอนนี้ แทบจะปิด ใครจะเข้าจะออก จะมีการสกรีนรวมทั้งกลุ่มที่มาจากกรุงเทพฯ ปริมณฑล ภูเก็ต ภาคใต้ซึ่งมีความเสี่ยงสูง กลุ่มนี้ถ้ามีความเสี่ยงสูง เรามี Local quarantine ( โลคอล คอแรนทีน : การควบคุมในพื้นที่ตามภูมิลำเนาของบุคคลนั้นๆ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้จัดเตรียมสถานที่ ) ที่ ตชด. 244 เป็นโลคอล คอแรนทีน ของจังหวัด แต่ถ้าใครที่ไม่มีกลุ่มเสี่ยงมาก ก็ใช้โฮม คอแรนทีน เหมือนในหลายจังหวัด เราก็เฝ้าระวัง ถ้าเมื่อไหร่มีไข้ เราก็รีบตรวจ การตรวจก็ตรวจที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เขต 8 ของ จ.อุดรธานี ส่วนใหญ่แล้ว เราตรวจ 1 วัน ก็จะได้ผลวันพรุ่งนี้”
- บูรณาการและประชุมทุกครั้งที่มีนโยบายใหม่
นพ.ชัชวาลย์ กล่าวอีกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เรียกประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัด ประชุมทั้งหมดที่ผ่านมาทั้งหมด 6-7 ครั้ง
“ท่านให้ความสำคัญมาก และเรียกประชุมทุกครั้งที่มีนโยบายใหม่ๆ เข้ามา ส่วนในทางปฏิบัติ ช่วงนี้ประชาชนอาจได้รับความไม่สะดวกบ้าง เวลาจะเดินทางเข้าออก แต่ก็ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปติดต่อที่อำเภอ แต่ถ้า เป็นราชการ ให้ส่วนราชการกำหนดว่าใครบ้างที่จำเป็นต้องประชุม ส่วนเรื่องการขนส่งอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือการขนส่งต่างๆ ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดก็ได้ให้นโยบายที่ชัดเจนกับทั้งตำรวจ ทหาร ชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อาสาสมัคร (อสม.) นายอำเภอแต่ละอำเภอเป็นหลัก"
- ภูมิศาสตร์ของจังหวัดก็มีส่วนสำคัญ
นพ.ชัชวาลย์ ยอมรับว่า “เราอยู่ไกล กว่าจะผ่านด่านมาถึง ยิ่งในช่วงหลังต้องผ่านด่านหลายจังหวัดคงยิ่งทำให้ประชาชนที่จะมาถึงลำบากขึ้น และจริงๆ แล้ว ถามว่าบึงกาฬเองก็มีคนไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงบ้าง แต่โชคดีตรวจแล้วไม่เจอเชื้อ ซึ่งเราจะไม่ปิดบัง ไม่ปกปิด เพราะเราจะต้องการสื่อสารให้ประชาชนได้รู้ เพราะจะได้ไม่ให้เขาไปติดคนอื่น”
@ จังหวัดพิจิตร
@ นพ.ธีระพงษ์ แก้วภมร
- ความเด็ดขาดของผู้ว่าราชการจังหวัด
นพ.ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุข จ.พิจิตร ให้ข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดพิจิตร ว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการดำเนินการภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีความเด็ดขาด
“เมื่อเราเสนอว่ามีเชื้อ โควิด-19 เข้ามาในประเทศไทย และกระทรวงสาธารณสุขก็ได้ให้แต่ละจังหวัดเตรียมตัว เราก็ได้นำข้อมูลนำเรียนท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านก็ให้ความสำคัญ ให้มีมาตรการต่างๆ และท่านมีการตัดสินใจที่เด็ดขาด ดำเนินการตามแนวนโยบายที่เราเสนอไป และบางอย่างท่านก็เพิ่มเติม เช่น ตั้งแต่การสร้างความตื่นตัวให้ประชาชน เริ่มตั้งแต่ง่ายๆ คือ ให้ล้างมือบ่อยๆ กินร้อน ใช้ช้อนกลาง และรณรงค์ให้ประชาชนสวมหน้ากากและพยายามอย่าไปที่ชุมนุมชน ท่านใช้คำว่าให้เว้นระยะห่างกันและมีการตรวจติดตามคนที่เข้ามาในพื้นที่ จ.พิจิตร รวมทั้งคนที่เดินทางกลับจากประเทศพื้นที่โรคระบาดอันตราย หรือระบาดต่อเนื่อง หรือพี่น้องที่เดินทางมาจาก พื้นที่ กรุงเทพและปริมณฑล หรือพื้นที่อื่นๆ ให้มีด่านตรวจ ติดตามเฝ้าระวัง ทั้งในชุมชนด้วย ที่ผ่านมาอาจใช้คำว่า เราอาจโชคดีก็ได้ที่เราไม่มีคนที่เขาติดเชื้อเข้ามาในพื้นที่”
- มีมาตรการเข้มข้นในการตรวจสอบถึงระดับชุมชน
นพ.ธีระพงษ์กล่าวว่า “จ.พิจิตร ไม่ใช่ใครก็เข้ามาได้ เรามีระบบตรวจติดตามในชุมชน มีสายด่วนโทรแจ้งกัน มีเฟซบุ๊กมีแอพลิเคชั่นแมจเซนเจอร์สอบถามกันว่ามีใครมั้ย? เข้ามาในชุมชน ก็จะมีคนไปประเมินความเสี่ยงว่าเขาเสี่ยงไหม ทำตามมาตรฐาน”
นอกจากนี้มีการตั้งคณะทำงาน คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจิตรและคณะกรรมการที่มีการบูรณาการ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนัดประชุมทุกวันจันทร์ และเปลี่ยนมาเป็นวันพุธ มีการตั้งกลุ่มไลน์คุยกันถึงเรื่องการป้องกันโควิด-19
- เพราะจิตสำนึกของผู้คนมีส่วนที่ทำให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็น 0
นพ.ธีระพงษ์กล่าวว่า “แน่นอน คนพิจิตรตื่นตัวเรื่องนี้มากและให้ความร่วมมือดีมาก แต่เราเชื่อว่าผู้คนในแต่ละจังหวัดก็ย่อมให้ความร่วมมือ ส่วนในจังหวัดพิจิตรเรารู้สึกว่าทุกคน ประชาชนตื่นตัว และเขาภูมิใจ ดีใจว่า เป็นหนึ่งใน 11 จังหวัดสุดท้ายที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ เขาก็ดีใจ และไม่อยากให้มีการติดเชื้อเกิดขึ้น คอยแจ้งเบาะแสต่างๆ ซึ่งผมว่า ถ้ามาตรการทางการดีอย่างไร แล้วประชาชนไม่ให้ความร่วมมือก็เป็นไปไม่ได้ เราโชคดีที่ประชาชนตื่นตัว”
- ข้อดีที่ไม่ใช่เมืองผ่านและความเป็นชนบทที่เรียบง่าย
นพ.ธีระพงษ์กล่าวถึงข้อดีของภูมิศาสตร์ ที่ตั้ง จ.พิจิตรด้วยอารมณ์ขันว่า “ถ้าจะพูดแบบ ขำๆ นะ ไม่รู้พูดออกสื่อจะเหมาะไหม จังหวัดพิจิตรคือถ้าไม่ตั้งใจจริง ไม่ได้มานะ อาจเป็นเพราะสิ่งนี้หรือเปล่า คือตอนนี้เขตเราเหลือแค่พิจิตรกับกำแพงเพชรเลย ที่ไม่มีผู้ติดเชื้อโควิด แต่ก็มีการส่งตรวจทุกวัน ไม่ใช่ไม่ส่งตรวจ เรามีการส่งตรวจ แต่ไม่พบผู้ติดเชื้อ ก็เป็นคำพูดขำๆ มากกว่า สถานที่ท่องเที่ยวเราก็มี แต่ทุกวันนี้เราปิดแล้ว แต่ความเป็นเมืองที่ต้องตั้งใจมาก็น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่ง เราใช่เมืองท่องเที่ยวหลัก วัดหลวงพ่อเงินเราก็ปิดแล้ว ไม่ให้เข้าแล้ว”
ส่วนการคัดกรองในระดับหมู่บ้าน นพ.ธีระพงษ์กล่าวว่า มีคณะกรรมการระดับหมู่บ้าน ชุมชน อสม.ที่สอดส่องว่ามีใคร มีคนนอกเข้ามาไหม “ผมว่าด้วยความเป็นชนบทนี่ง่ายต่อการสอดส่อง เพราะใครไปใครมาเขารู้หมด บางทีก็แจ้งทางสาธารณสุขอำเภอ บางทีผมเองก็แจ้งท่านสาธารณสุขอำเภอให้ช่วยลงไปตรวจสอบ เพื่อให้ปฏิบัติการตามมาตรการคือ สวมหน้ากากออกจากบ้าน ล้างมือ เขาก็ให้ความร่วมมือกันดีมาก”
@ จังหวัดชัยนาท
@ นพ.พัลลภ ยอดศิรจินดา
- ข้อดีสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม และการทำงานร่วมกับระดับชุมชน
นพ.พัลลภ ยอดศิรจินดา นายแพทย์สาธารณสุข จ.ชัยนาท บอกเล่าข้อมูลในจังหวัดชัยนาท ว่า โดยสภาพพื้นที่ของ จ.ชัยนาท และสภาพสังคมมีส่วนสำคัญยิ่งต่อปัจจัยที่ทำให้ปลอดเชื้อโควิด-19
“เนื่องจากประเด็น 1 เราไม่มีแหล่งท่องเที่ยว ประเด็นที่2 คนชัยนาทพอดึกๆ ก็ไม่มีใครออกนอกบ้านเลย เรื่องภูมิสังคมจึงมีส่วนช่วยด้วยส่วนหนึ่ง ประเด็นต่อมา เราตื่นตัวตั้งแต่ช่วงก่อนเคอร์ฟิวส์แล้ว เราเฝ้าระวังทั้งในชุมชน หมู่บ้าน และเข้มข้นขึ้นเมื่อเราตั้งด่านคัดกรองเพิ่มขึ้นในช่วงที่เริ่มมีการอพยพของคนกรุงเทพฯ และจากต่างถิ่นเข้ามา ก็มีการตั้งด่าน เป็นด่านคัดกรอง ตั้งไว้ 5 ด่าน ครอบคลุม 4 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.มโนรมย์ อ.วัดสิงห์ และ อ.หันคา”
นพ.พัลลภกล่าวว่า การตั้งด่านจำเป็นต้องทำเพราะเราต้องการข้อมูล คนที่จะเข้ามาสู่จังหวัดชัยนาท แล้วหากพบกลุ่มที่สงสัย มีความเสี่ยง หรือพบผู้ป่วย เราก็จะกักตัว ดูแลเลยที่ รพ. แต่กรณีที่มีข้อมูลเขา แต่เขายังไม่ป่วยเราก็จะส่งต่อข้อมูล เราก็จะส่งข้อมูลให้ทีมเฝ้าระวังในชุมชนต่อ เช่น เขามาพักที่อ .หันคา บ้านเลขที่เท่าไหร่ นี่เป็นเรื่องของการทำงาน
- จิตสำนึกก็สำคัญ
นพ.พัลลภ กล่าวว่า “จิตสำนึกของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ ประการที่ 1ไม่ต้องเฝ้าระวังคนอื่น เฝ้าระวังตัวเองอย่างเดียวให้ได้ก่อน ว่าเราจะต้องป้องกันตัวเอง การป้องกันตัวเองก็คือการป้องกันคนอื่นด้วย ประการที่ 2 เราต้องเห็นประโยชน์ส่วนรวมสำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตน อาจต้องยอมที่จะอึดอัดบ้าง เสียผลประโยชน์ อดทนบ้าง เพราะเราอดทนแค่ 2 อาทิตย์ อดทนที่จะอยู่บ้าน อดทนที่จะรอคอย อดทนที่จะไม่กลับ ไม่เคลื่อนย้าย ถ้าเราทำทั้งสองอย่างนี้ได้ การป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้เป็นภาระผู้อื่น 2 สิ่งนี้ ถ้าเราทำได้ผมว่า เราจะฝ่าวิกฤตินี้ไปได้ครับ”
นพ.พัลลภ ยังระบุด้วยว่า ประชาชนชาวชัยนาท รู้จักป้องกันตัวเอง เฝ้าระวังตัวเอง
“ผมบอกเลยคนชัยนาททุกวันนี้เกือบ 100% ใส่แมสก์กันแทบทุกคน ขับจักรยาน ขับมอร์เตอร์ไซค์มา ใส่แมสก์กันทุกคน เกือบทุกคน รู้จักดูแลตัวเอง เพราะคนชัยนาทอยากให้ชัยนาทเป็นจังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยเลย แต่ทุกอย่างก็ไม่แน่ไม่นอนเราต้องเฝ้าระวังกันต่อไป”
นายแพทย์รายนี้ระบุด้วยว่า มีแผน Local quarantine เตรียมไว้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้
- คัดกรองตลาดสด ทางเข้าออกเหลือทางเดียว
นพ.พัลลภกล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิจของผู้คนอย่างเช่นการจับจ่ายซื้อหาอาหารที่ตลาดสดด้วยว่า “ตลาดสดเรายังเปิด และประชาชนให้ความร่วมมือ เรามีมาตรการคัดกรองตั้งแต่ปากทางเข้าตลาด โดยปิดให้เหลือทางเข้าออกเปิดแค่ทางเดียว แล้วก็คัดกรองตั้งแต่ก่อนเข้า ให้มีการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ล ต้องสวมหน้ากากอนามัย คงเหมือนกันของหลายจังหวัด”
นพ.พัลลภ กล่าวว่า จุดบริการราชการทุกจุดถ้าประชาชนไม่ใส่แมสก์ไม่ให้เข้าเลย ตลาดก็ไม่ให้เข้าถ้าไม่ใส่แมสก์ แม่ค้าเราก็คัดกรองทุกวัน ต้องใส่แมสก์ ใส่ถุงมือ และมีเจลล้างมือทุกจุดในตลาด
“และสุดท้ายเลย คือบางที่เราให้มีเจ้าหน้าที่ประจำดูอยู่ตลอด ดังนั้น การร่วมมือทุกภาคส่วนในชัยนาทมันเป็นการร่วมกันบูรณาการกับทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชน รวมทั้งแม้แต่ศาลากลาง และท่านผู้ว่าราชการจังหวัดก็เน้นกำชับนโยบายต่างๆ และเป็นกำลังใจให้กับทุกคนเสมอ” นพ.พัลลภระบุ
- นโยบายเข้ม ห้ามเข้าพักโรงแรม รีสอร์ท บ้านเช่า
สำหรับมาตรการเด็ดขาดดังกล่าว นพ.พัลลภกล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนเคอร์ฟิวส์ ได้มีคำสั่งของจังหวัด จ.ชัยนาท ได้เพิ่มประกาศ ให้โรงแรม ที่พัก รีสอร์ท บ้านพัก บ้านเช่า ยกเลิกให้คนเช่า เข้าพัก สาเหตุก็เพื่อ
“หลักๆ คือ เราต้องยกเลิกให้เข้าพักเพื่อความปลอดภัย เพราะเราไม่อยากให้มีใครมาแอบใช้พื้นที่ของจังหวัดชัยนาทเป็นการซ่องสุมหรือหลีกหนีจากภูมิลำเนา อีกอย่างคือเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอง เพราะปกติผู้เข้าพักเขาก็น้อยอยู่แล้ว ส่วนหนึ่งมันเป็นการร้องขอของกลุ่มโรงแรมที่พักด้วย และเราใช้มติราชการควบคุมโรคติดต่อระดับจังหวัดมาประชุมหารือกัน และออกเป็นมตินี้ออกมา” สาธารณสุขจังหวัดชัยนาทระบุ
- เสพข่าวอย่างมีวิจารณญาณ ทำงานอย่างบูรณาการ
ท้ายที่สุด นพ.พัลลภฝากถึงการเสพข้อมูลข่าวสารของประชาชนว่า “อยากฝากตอนนี้ การเสพโซเชียลต้องระวัง เรื่องของข้อมูลต่างๆ มีทั้งจากมิจฉาชีพ ผู้ไม่หวังดี จึงขอฝากว่าอะไรที่ไม่ใช่ออกมาจากส่วนกลาง เช่น กระทรวงสาธารณสุข หรือ กระทรวงมหาดไทย หรือส่วนราชการต่างๆ ก็อยากให้ระวัง ต้องยึดถือข้อมูลที่ออกมาจากส่วนราชการหรือกระทรวงสาธารณสุขโดยตรง นี่คือสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ เพราะเจอข่าวแปลกๆ ข่าวลวงเยอะแล้วจะทำให้ประชาชนเครียด”
ก่อนทิ้งท้ายว่า รูปแบบการบูรณาการจัดการรับมือกับโรคโควิด-19 ในแบบของ จ.ชัยนาทนั้นอาจเหมาะสำหรับชัยนาท “อาจจะไปใช้จังหวัดอื่นไม่ได้ เพราะแต่ละจังหวัดย่อมมีการบูรณาการในแบบของตนเอง คือตอนนี้ผมว่า น่าจะร่วมกันแต่ละจังหวัด อย่ายึดติดว่าต้องทำแบบชัยนาทในพื้นที่อื่น คือต้องบูรณาการในแต่ละพื้นที่ เพราะแต่ละที่มีบริบทเป็นของตนเอง” นพ.พัลลภ ระบุ
-----------
ทั้งหมดนี่ เป็นคำตอบที่สำนักข่าวอิศรา ได้รับทราบจาก นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด 'บึงกาฬ พิจิตร ชัยนาท' หลังจากตั้งประเด็นคำถามเพื่อนำไปสู่การหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดจังหวัดของพวกเขา จึงปราศจากผู้ติดเชื้อ โควิด-19
จากข้อมูลทั้งหมด จึงไม่อาจปฏิเสธว่า บริบทพื้นที่ แง่คิด จิตสำนึกของผู้คน รวมถึงกระบวนการทำงานอันเข้มข้น น่าจะเป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้ทั้ง 3 จังหวัดนี้ ยังคงหลุดรอดปลอดเชื้อไวรัสโควิด-19 มาได้จนถึงปัจจุบันนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/