ครม.เห็นชอบมาตรการเยียวยาโควิด-19 ชุดใหญ่ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท เดินหน้าออกพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้าน ขยายเวลาแจกเงินเยียวยา 5,000 บาท เป็น 6 เดือน พร้อมออกพ.ร.บ.โอนงบฯ ดึงงบกระทรวงใส่ใน ‘งบกลาง’ อีก 1 แสนล้านบาท ไฟเขียวพ.ร.ก.ของแบงก์ชาติ 2 ฉบับ ให้อำนาจปล่อยกู้ซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท คิดดอกเบี้ย 2% ช่วยเอสเอ็มอี 1.7 ล้านราย ตั้งกองทุน BSF 4 แสนล้าน เข้าซื้อตราสารหนี้เอกชน หวังรักษาเสถียรภาพตลาดเงิน
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 เม.ย. ที่ประชุมครม.มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 3 กรอบวงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท โดยมีแหล่งเงินจาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท
พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท และพ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าไปดูแลเถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท
ขณะเดียวกัน ครม.สั่งการให้สำนักงบประมาณจัดทำพ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 กรอบวงเงิน 80,000-100,000 ล้านบาท นำงบของส่วนราชการต่างๆมาไว้ในงบกลาง สำหรับใช้เป็นงบประมาณฉุกเฉินในการดูแลผลกระทบจากไวรัสโควิดต่อไป
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุม ครม. ว่า เพื่อให้มีเงินมาใช้จ่ายในการแก้ปัญหาโรคไวรัสโควิด-19 รัฐบาลมีการจัดทำร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 เพื่อนำเติมงบกลางให้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีวงเงินประมาณ 80,000-100,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่เหลืองบกลางเพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น
“วันนี้เราจะพูดถึงเรื่อง พ.ร.บ.โอนงบประมาณปี 2563 ซึ่งจะต้องนำเสนอที่ประชุมครม. และเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในต้นเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อจะเอาเงินตรงนี้โอนเข้ามาที่งบกลางได้ แต่บางอย่างก็โอนมางบกลางไม่ได้ เช่นงบบุคลากรเป็นต้น” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า นอกเหนือจาก พ.ร.บ.โอนงบประมาณแล้ว ครม.มีมติเห็นชอบพ.ร.ก.ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) 2 ฉบับ ซึ่งตรงนี้ไม่ได้เป็นการกู้เงิน แต่เป็นการบริหารการเงินการคลังของ ธปท. ซึ่งมีวงเงินประมาณ 9 แสนล้านบาท ส่วนการออก พ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาทนั้น จะงบประมาณด้านสาธารณสุข 6 แสนล้านบาท และที่เหลืออีก 4 แสนล้านบาท จะนำไปใช้ฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ
“เงินก้อนที่กู้มาจำนวน 1 ล้านล้านบาทนี้ จะปรับโอนไปมาได้ และถ้ารวมกับเงินที่ได้จาก พ.ร.บ.โอนงบประมาณที่คาดว่าน่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือน มิ.ย. ก็น่าจะมีเงินงบกลางที่ใช้ประมาณ 1 ล้านล้านบาทเศษ” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ
นายอุตตม สาวนายน รมว.กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลใช้งบประมาณเพื่อต่อสู้กับปัญหาโรคโควิด- 19 ไปแล้วกว่า 9 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงได้มีการหารือในเรื่องของการหาเงินที่จะเข้ามาสนับสนุน ซึ่งในการประชุมครม.วันนี้ ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการที่จะให้นำเอางบของแต่ละกระทรวงที่ไม่ใช้มารวมเป็นงบกลางประจำปี 2563 เพื่อต่อสู้กับโรคโควิด 19 โดยสำนักงบประมาณจะได้จัดทำร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณจากกระทรวงมารวมเป็นงบกลางต่อไป
“จะมีการเสนอร่างพ.ร.บ.โอนงบประมาณ ให้ครม.เพื่อให้ความเห็นชอบโดยเร็ว หลังจากนั้นก็จะเข้าสู่การพิจารณาของทางรัฐสภาในช่วงเดือน มิ.ย. ซึ่งคาดว่าผลจาก พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯนั้น จะทำให้มีงบกลางสำหรับใช้ในภารกิจรับมือโรคโควิด 19 เป็นเงิน 80,000-100,000 ล้านบาท ส่วนการจัดทำงบปี 2564 แม้ว่ากระบวนการจะยังไม่เริ่มต้น แต่จะมีการเสนอให้ทุกภาคส่วนจัดสรรงบเพื่อนำไปใช้ในภารกิจสู้กับโควิด-19 ต่อไป” นายอุตตมกล่าว
นายอุตตม ยังระบุว่า ในส่วนของพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น จะมีสาระสำคัญ คือ กระทรวงการคลังจะกู้เงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินกู้จะเป็นเงินสกุลบาทเป็นหลัก แม้ว่าจะเปิดช่องให้กู้เงินสกุลต่างประเทศเอาไว้ก็ตาม โดยกำหนดเวลาการกู้เงินจะต้องให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ก.ย.2564 ดังนั้น การกู้เงินจะต้องดำเนินการเป็นช่วงๆ ไม่ใช่การกู้เงินมากองทั้งหมด ส่วนวิธีการกู้เงินจะต้องให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งบประมาณ
ส่วนรายละเอียดการใช้เงินจากพ.ร.ก.กู้เงินฯจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 แผนงานดูแลด้านสาธารณสุขและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 วงเงิน 6 แสนล้านบาท เช่น เยียวยาลูกจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เดือนละ 5,000 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการนั้น จะขยายระยะเวลาการเยียวยาจาก 3 เดือน เป็น 6 เดือน หรือสิ้นสุดการจ่ายเงินเยียวยาในเดือน ก.ย.2563 รวมทั้งจะมีการจ่ายเงินเยียวยาให้กลุ่มเกษตรกร ซึ่งจะมีการประกาศแนวทางการเยียวยาต่อไป
กลุ่มที่ 2 กลุ่มงานด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นไปที่การสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจในระดับพื้นที่ ได้แก่ การสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน การสร้างอาชีพ และการสร้างสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่
“หลังจากครม.มีมติการเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.กู้เงินฯแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นการส่งไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อให้ตรวจสอบความเรียบร้อย และจัดทำร่างระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณของ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพื่อให้เป็นข้อปฏิบัติของสำนักนายกรัฐมนตรีในการที่จะกำหนดการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆต่อไป ซึ่งคาดว่าภายในเดือน เม.ย.นี้ ร่างพ.ร.ก.ดังกล่าวจะสามารถเป็นกฎหมายได้ และการกู้เงินก็จะเริ่มได้ในต้นเดือน พ.ค.นี้”นายอุตตมกล่าว
อย่างไรก็ตาม การจัดสรรงบจากพ.ร.ก.กู้เงินฯ จะมีคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ ทำหน้าที่กลั่นกรองข้อเสนอแผนงานโครงการของแต่ละกระทรวง และเสนอให้ครม.เห็นชอบ ซึ่งหน่วยงานต่างๆสามารถเสนอโครงการเข้ามาได้ตั้งแต่บัดนี้เลย นอกจากนี้ ครม.ยังมีมติให้ตั้งคณะกรรมการรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณ ซึ่งต้องรายงานผลต่อทั้งนายกฯอย่างต่อเนื่อง และรายงานผลการใช้จ่ายต่อรัฐสภาในระยะเวลาไม่เกินสิ้นเดือน พ.ย.2563
อุตตม สาวนายน
นายอุตตม กล่าวว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้ธปท.ออกพ.ร.ก. 2 ฉบับ วงเงิน 9 แสนล้านบาท ได้แก่ 1.พ.ร.ก.ให้อำนาจ ธปท.ในการออกเงินกู้สินเชื่อพิเศษเพื่อดูแลภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการรายเล็ก กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท และ2. พ.ร.ก.เพื่อดูแลเสถียรภาพของระบบภาคการเงิน กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท
นายอุตตม ยังระบุว่า การออกพ.ร.ก.กู้เงินฯ 1 ล้านล้านบาท จะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 57% และเนื่องจากตอนนี้ไม่ใช่สภาวะปกติ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อาจจะร่วมกันพิจารณาว่าให้ขยายเพดานกู้เงินออกไป และเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการวินัยทางการเงินการคลังที่มีนายกฯ เป็นประธานต่อไป
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มเติม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับธปท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่
มาตรการที่ 1 การเลื่อนเวลาชำระคืนหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้กับเอสเอ็มอี ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 1.7 ล้านราย ยอดหนี้คงค้าง 2.4 ล้านล้านบาท เป็นเวลา 6 เดือน เพื่อให้เอสเอ็มอีมีสภาพคล่องสำหรับใช้ประคับประคองธุรกิจและรักษาการจ้างงานเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่อนปรนการชำระหนี้ดังกล่าวลูกหนี้จะไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต แต่ธนาคารยังคงคิดอัตราดอกเบี้ยจากลูกหนี้อยู่
“เราคาดหวังให้สถาบันการเงินทำงานร่วมกับธุรกิจเอสเอ็มอีลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ ให้สอดคล้องกับกระแสเงินสด และแผนธุรกิจใหม่ของลูกหนี้ ส่วนธุรกิจที่ไม่ได้ประสบปัญหาสภาพคล่องรุนแรง หรือยังทำธุรกิจได้ตามปกติ ธปท.ขอแนะนำว่าให้ชำระหนี้ตามปกติ หรือชำระหนี้ตามความสามารถของตัวเอง เพราะมาตรการนี้เป็นการเลื่อนการชำระหนี้ออกไป แต่ธนาคารยังคงคิดดอกเบี้ยอยู่” นายวิรไทกล่าว
วิรไท สันติประภพ
มาตรการที่ 2 การสนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติมให้กับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท ซึ่งมีประมาณ 1.7 ล้านราย ผ่านโครงการสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน ภายใต้พ.ร.ก.ให้อำนาจธปท.ออกสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรนเพื่อดูแลภาคธุรกิจเอสเอ็มอี กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยธปท.จะปล่อยสินเชื่อดังกล่าวให้สถาบันการเงิน โดยคิดดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี และให้สถาบันการเงินนำเงินกู้ไปปล่อยกู้ต่อให้กับเอสเอ็มอี คิดดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี
ทั้งนี้ รัฐบาลจะเข้ามารับภาระดอกเบี้ยให้กับเอสเอ็มอีในช่วง 6 เดือนแรก รวมทั้งร่วมชดเชยความเสียหายบางส่วนให้สินเชื่อบางส่วนที่ปล่อยเพิ่มด้วย โดยหากเป็นลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 50 ล้านบาท รัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 70% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มเติม หากเป็นสินเชื่อตั้งแต่ 50 ล้านบาท ถึง 500 ล้านบาท รัฐบาลจะชดเชยความเสียหายให้ไม่เกิน 60% ของสินเชื่อที่ปล่อยเพิ่มเติม เพื่อให้สถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลือลูกหนี้ได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และลูกหนี้แต่ละรายจะกู้เงินเพิ่มเติมได้ไม่เกิน 20% ของยอดคงค้างที่มีอยู่กับแต่ละสถาบันการเงิน ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2562
มาตรการที่ 3 การจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (BSF) ระยะเวลาดำเนินการปี 2563-64 ภายใต้พ.ร.ก.ให้อำนาจธปท.ดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท โดยกองทุน BSF จะเป็นแหล่งเงินสำรองในการเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในกรณีที่ไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
“มาตรการนี้จะทำให้ธปท.มีเครื่องมือเก็บใส่กระเป๋าไว้ และพร้อมใช้ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งเปรียบเทียบได้กับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในช่วงโควิด-19 เพื่อรักษาระบบการเงินให้อยู่ได้ และถ้าไม่มีใครต้องใช้เลยจะก็ดีที่สุด ขณะที่ปัจจุบันยอดตราสารหนี้ภาคเอกชนคงค้าง 3.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของจีดีพี เมื่อเราเห็นจุดเปราะบางตรงไหน เราก็พยายามดับไฟให้ทัน และป้องกันไม่ให้ลุกลาม” นายวิรไทกล่าว
ส่วนแนวทางการเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนนั้น จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขต่างๆ เช่น บริษัทที่ออกตราสารหนี้จะต้องระดมทุนจากตลาดปกติ มีวงเงินสินเชื่อใหม่จากธนาคารพาณิชย์ และมีเงินจากเจ้าของกิจการมาลงทุน โดยส่วนที่ขาด ซึ่งเป็นเงินส่วนน้อย จึงจะสามารถเข้ามาขอความช่วยเหลือจากกองทุน BSF ได้ อีกทั้งต้องเป็นตราสารหนี้ที่มีเรตติ้งไม่ต่ำกว่า ‘Investment Grade’ และมีแผนจัดหาเงินทุนระยะยาวที่ชัดเจน เป็นต้น
ทั้งนี้ จะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการฯ กำหนดเงื่อนไขในการเข้าซื้อตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยเป้าหมายของกองทุน BSF ไม่ใช่การดูแลตราสารหนี้ของเอกชนเป็นรายๆ แต่จะให้ความสำคัญกับการดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
ก่อนหน้านี้ ธปท.มีการจัดตั้ง ‘กลไกพิเศษ’ ภายใต้มาตรการช่วยเหลือกองทุนรวมที่ได้รับผลกระทบจากการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน (MFLF) วงเงิน 1 ล้านล้านบาท โดยให้สถาบันการเงินที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนตราสารจากทุกกองทุนที่เป็นกองทุนรวมตลาดเงิน (MMF) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily FI) สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาค้ำประกันการกู้เงินจากธปท.ได้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลบ 0.5% ต่อปี
มาตรการที่ 4 ลดการนำส่งเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF Free) จากระดับ 0.46% ต่อปีบนฐานเงิน ให้เหลือ 0.23% ต่อปีบนฐานเงินฝาก เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อให้สถาบันการเงินนำเงินนำส่งที่ลดลงดังกล่าว ไปลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับประชาชนและธุรกิจทันที ซึ่งได้มีการหารือกับสมาคมธนาคารไทยแล้ว โดยธปท.คาดหวังว่าธนาคารต่างๆจะลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงไม่น้อยกว่า 0.23% และดำเนินการทันที
นายวิรไท ย้ำว่า การออกพ.ร.ก. 2 ฉบับดังกล่าว ไม่ใช่พ.ร.ก.กู้เงินฯ แต่เป็นการให้อำนาจธปท.เข้าไปบริหารสภาพคล่องให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มเอสเอ็มอี และการดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน รวมทั้งสร้างกลไกในการให้รัฐบาลเข้ามาร่วมชดเชยความเสียหายจากการปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขผ่อนปรน โดยธปท.จะติดตามผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่มีต่อเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด หากมีความจำเป็นก็พร้อมออกมาตรการเพิ่มเติม
น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า แม้ว่าการจัดตั้งกองทุน BSF เพื่อเข้าไปดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องใหม่ แต่เรื่องนี้เป็นดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและตลาดเงินการเงิน ที่มีความเกี่ยวโยงกันค่อนข้างมาก โดยมาตรการนี้จะเป็นหลังพิง คือ เป็นมาตรการที่เตรียมเอาไว้ก่อน ไม่รอให้เกิดเรื่องขึ้นก่อนแล้วจึงเข้าแก้ไข หากธปท.ได้เข้าไปดับไฟตั้งแต่ต้น ต้นทุนในการดูแลจะน้อยลง
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า หลังจากธปท. ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ได้มีมาตรการขั้นต่ำในการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยกลุ่มต่างๆ ล่าสุด (3 เม.ย.) มีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือ 9.9 แสนราย วงเงินสินเชื่อ 1 ล้านล้านบาท
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/