"...เมื่อพิจารณามาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกจ้างและธุรกิจรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทั้ง 4 มาตรการที่มีวงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาทนั้น จะพบว่ารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ สำหรับชดเชยความเสียหายในกรณีที่เป็นหนี้เสีย (NPLs) 29,250 ล้านบาท..."
ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย รัฐบาล 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ทยอยออกมาตรการดูแลและเยียวยาประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง
โดยห้วงเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมไปแล้ว 2 ระยะ และในวันที่ 3 เม.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกประชุมครม.นัดพิเศษ เพื่อหารือมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัส ระยะที่ 3 และระยะที่ 4
อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่ประชาชนมีรายได้ลดลงหรือตกงาน เนื่องจากการปิดพื้นที่เสี่ยงต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การแก้ปัญหาเดือดร้อนเฉพาะหน้าให้กับประชาชน โดยการเพิ่มสภาพคล่องให้กับประชาชนเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบว่า ภายใต้มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ระยะที่ 2 ที่ครม.มีมติเห็นชอบไปแล้งเมื่อวันที่ 24 มี.ค.2563 นั้น มีมาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกจ้าง ผู้มีอาชีพอิสระ และธุรกิจรายย่อย 4 มาตรการ มีรายละเอียด ดังนี้
1.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19)
1.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีอาชีพอิสระไม่มีรายได้ประจำ หรืออาจตกงานเนื่องจากได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 หรือเกษตรกรที่ไม่มีรายได้ประจำ เช่น ลูกจ้างภาคการเกษตร หาบเร่แผงลอย คนขับรถแท็กซี่ มัคคุเทศก์ เป็นต้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19
แต่ยังมีภาระด้านค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างภาระหนี้ที่ต้องชำระ เช่น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น หรือบางรายมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉินในช่วงเวลาที่รายได้ลดลง รวมถึงเพื่อมีเงินเพียงพอในการดำรงชีพโดยไม่จำเป็นต้องผิดนัดชำระหนี้หรือพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบหรือสินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง
1.2 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนที่มีอาชีพอิสระไม่มีรายได้ประจำ หรืออาจตกงานเนื่องจากได้รับผลกระทบจากไวรัส COVD-19 หรือเกษตรกรที่ไม่มีรายได้ประจำที่มีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินฉุกเฉิน
1.3 วิธีดำเนินงาน : ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 40,000 ล้านบาท (ธนาคารออมสิน 20,000 ล้านบาท และธ.ก.ส. 20,000 ล้านบาท) โดยปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินไม่เกิน 10,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) 0.10% ต่อเดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน ระยะเวลากู้ ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน
1.4 ระยะเวลาดำเนินงาน : ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 30 ธ.ค.2563
1.5 งบประมาณ : ไม่เกิน 21,600 ล้านบาท แบ่งเป็น
-ชดเชยความเสียหายที่เกิดจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ร้อยละ 100 สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 50 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 ล้านบาท (วงเงิน 40,000 ล้านบาท *ร้อยละ 50)
-ชดเชยต้นทุนการดำเนินงานร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 1,600 ล้านบาท (วงเงิน 40,000 ล้านบาท *ร้อยละ 2 *ระยะเวลา 2 ปี)
2.โครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19)
2.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตแก่ประชาชนที่มีรายได้ประจำ อาทิ พนักงานบริษัทในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือธุรกิจบริการ และอุตสาหกรมที่เกี่ยวเนื่องและได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19 เช่น ตกงาน ลดเงินเดือน Leave without pay เป็นต้น
แต่ยังมีภาระด้านค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างภาระหนี้ที่ต้องชำระ อาทิ สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือบางรายมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายฉุกเฉินในช่วงเวลาที่รายได้ลดลง รวมถึงเพื่อมีเงินเพียงพอในการดำรงชีพ โดยไม่จำเป็นต้องผิดนัดชำระหนี้หรือพึ่งพาสินเชื่อนอกระบบหรือสินเชื่อที่มีอัตราตอกเบี้ยสูง
2.2 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนที่มีรายได้ประจำแต่มีรายได้ลดลงหรือขาดรายได้เนื่องจากได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19
2.3 วิธีดำเนินงาน : ธนาคารออมสินสนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท โดยปล่อยสินเชื่อพิเศษไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 3 ปี
2.4 ระยะเวลาดำเนินงาน : ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 30 ธ.ค.2563
2.5 งบประมาณ : ไม่เกิน 6,000 ล้านบาท โดยเป็นการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก NPLs ร้อยละ 100สำหรับ NPLs ที่ไม่เกินร้อยละ 30 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด (วงเงิน 20,000 ล้านบาท *ร้อยละ 30)
3.โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับสำนักงานธนานุเคราะห์เพื่อช่วยเหลือประชาชนฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)
3.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อช่วยเหลือประชาชนในระดับฐานรากที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจาก COVID-19 และไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ให้มีเงินใช้จ่ายในการครองชีพ โดยผ่านสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ
3.2 กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนในระดับฐานรากที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส COVID-19
3.3 วิธีดำเนินงาน : ธนาคารออมสินสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำวงเงินรวม 2,000 ล้านบาท ให้แก่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในนามของ สธค. ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ โดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.10 ต่อปี และ สธค. คิดดอกเบี้ยจากประชาชนในอัตราไม่เกินร้อยละ 0.125 ต่อเดือน หรือคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Effective Rate) ไม่เกินร้อยละ 2.90 ต่อปี ระยะเวลา 2 ปี
3.4 งบประมาณ : รัฐบาลชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคารออมสินในอัตราร้อยละ 2.4 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 96 ล้านบาท (วงเงิน 2,000 ล้านบาท ร้อยละ 2.4 ต่อปี x ระยะเวลา 2 ปี)
4.โครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)
4.1 วัตถุประสงค์ : เพื่อเสริมสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID 19
4.2 กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัส COVID-19 ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง(รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหาร
4.3 วิธีดำเนินงาน : ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินรวม 10,000 ล้านบาท สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 สำหรับ 2 ปีแรก ระยะเวลาการกู้ยืมสูงสุดไม่เกิน 5 ปี
4.4 ระยะเวลาดำเนินงาน : ตั้งแต่วันที่คณะฐมนตรีมีมติเห็นชอบถึงวันที่ 30 ธ.ค.2563
4.5 งบประมาณ : รัฐบาลชดเชยความเสียหายที่เกิดจาก NPLs ไม่เกินร้อยละ 40 ของสินเชื่อที่อนุมัติทั้งหมด แบ่งเป็น NPLs ไม่เกินร้อยละ 25 รัฐบาลชดเชยร้อยละ 100 จำนวนเงิน 2,500 ล้านบาท และ NPLs มากกว่าร้อยละ 25 แต่ไม่เกินร้อยละ 40 รัฐบาลชดเชยร้อยละ 50 จำนวนเงิน 750 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 3,250 ล้านบาท
เมื่อพิจารณามาตรการทางการเงินเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับลูกจ้าง ผู้มีอาชีพอิสระ และธุรกิจรายย่อยทั้ง 4 มาตรการที่มีวงเงิน 7.2 หมื่นล้านบาทนั้น จะพบว่ารัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณ สำหรับชดเชยความเสียหายในกรณีที่เป็นหนี้เสีย (NPLs) 29,250 ล้านบาท โดยหากมีหนี้เสียเกิดขึ้นจริง รัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณปี 2564 และปีต่อๆไปมาชดเชยหนี้เสียดังกล่าว
ทั้งหมดนี้เป็น ‘ยาแรง’ อีกขนานอีกขนานหนึ่งที่รัฐบาลนำออกมาใช้ โดยยอมแบกรับ ‘หนี้เสีย’ ที่จะตามมาในอนาคตแทน ‘แบงก์รัฐ’ ทั้ง 3 แห่ง เพื่อให้ 'เงินกู้ฉุกเฉิน' ไปถึงมือประ=าชนที่ได้รับเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเร็วที่สุด
อ่านประกอบ :
‘กรุงไทย’ พักหนี้ ‘เงินต้น-ดอกเบี้ย’ ลูกค้ารายย่อย-ธุรกิจ นาน 3 เดือน
'ออมสิน'พักหนี้ 'เงินต้น-ดอกเบี้ย' ให้ลูกค้า 3 เดือน มีผลทันที
สำรวจมาตรการช่วยเหลือ 'ประชาชน-ลูกหนี้แบงก์' ฝ่าวิกฤติโควิด-19
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/