"...ในเมืองที่เริ่มต้นมาตรการป้องกันต่าง ๆ อย่างรวดเร็วจะมีอัตราการเสียชีวิตีที่ต่ำกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับเมืองอื่นที่เริ่มมาตรการช้ากว่า วิธีการที่เมืองเหล่านั้นใช้เหมือนกันคือการปิดโรงเรียน โบสถ์ โรงละคร และห้ามรวมตัวในที่สาธารณะ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเองก็จะกลายเป็นช่วงเวลาที่ล้ำค่าสำหรับการพัฒนาวัคซีนและลดความตึงเครียดของฝ่ายสาธารณสุขด้วย..."
Social Distancing หรือการเว้นระยะห่างทางสังคม จะเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จบลงได้
คำกล่าวนั้นไม่ได้เป็นเพียงการคาดการณ์ แต่เมื่อศึกษาจากประวัติศาสตร์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงปีพ.ศ. 2461 หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไข้หวัดใหญ่สเปนแล้ว ในประเทศสหรัฐอเมริกา Social Distancing ก็เป็นสิ่งที่ช่วยชีวิตชาวอเมริกันหลายพันคนให้รอดจากการแพร่ระบาดของโรคที่ร้ายแรงมากที่สุดในยุคสมัยใหม่ที่กินเวลายาวนานไปจนถึงปี 2463 และคาดการณ์ว่ามีผู้เสียชีวิตทั่วโลก 50 ถึง 100 ล้านคน
เมื่อปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 เหล่านักวิทยาศาสตร์และนักประวัติศาสตร์จึงต้องย้อนกลับไปศึกษาการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนอีกครั้งและวิธีหยุดยั้งการแพร่ระบาด
ในขณะที่ความเป็นอยู่ของผู้คนยุคโลกาภิวัตน์เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต และความหนาแน่นของจำนวนผู้คนที่เพิ่มขึ้นในหลายเมือง ส่งผลให้เชื้อไวรัสแพร่กระจายง่ายขึ้น แต่วิธีการรับมือกับการแพร่ระบาดยังคงไม่ต่างไปจากเดิม เมื่อในช่วงแรกของการแพร่ระบาดยังไม่มีวัคซีนต้านเชื้อไวรัสได้ ก็ต้องอาศัยมาตรการทางด้านสาธารณสุข รวมถึง การปิดสถานที่ต่าง ๆ มาตรการเกี่ยวการขนส่งสาธารณะ บังคับเว้นระยะห่างทางสังคม และห้ามการรวมตัวในที่สาธารณะ กลับกลายเป็นว่ามาตรการเหล่านี้เองที่ช่วยชีวิตผู้คนได้ระหว่างการระบาดของโรค
ในช่วงปี 2550 Proceedings of the National Academy of Sciences วารสารในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเผยแพร่ผลงานวิทยาศาสตร์ ได้ตีพิมพ์ 2 บทความเกี่ยวกับความแตกต่างในการตอบสนองต่อการระบาดของโรค (https://www.pnas.org/content/104/18/7582) โดยเปรียบเทียบระหว่างจำนวนผู้เสียชีวิต ช่วงเวลา และนโยบายสาธารณสุข และพบว่าในเมืองที่เริ่มต้นมาตรการป้องกันต่าง ๆ อย่างรวดเร็วจะมีอัตราการเสียชีวิตีที่ต่ำกว่าครึ่ง เมื่อเทียบกับเมืองอื่นที่เริ่มมาตรการช้ากว่า
วิธีการที่เมืองเหล่านั้นใช้เหมือนกันคือการปิดโรงเรียน โบสถ์ โรงละคร และห้ามรวมตัวในที่สาธารณะ ซึ่งในช่วงเวลานั้นเองก็จะกลายเป็นช่วงเวลาที่ล้ำค่าสำหรับการพัฒนาวัคซีนและลดความตึงเครียดของฝ่ายสาธารณสุขด้วย
เมืองที่เริ่มใช้มาตรการอย่างรวดเร็วและเข้มงวดในเรื่องการพบปะและรวมตัวในที่สาธารณะ เช่น นิวยอร์คซิตี้ที่เริ่มบังคับกักตัวและเปลี่ยนแปลงเวลาทำการต่าง ๆ 11 วันล่วงหน้าก่อนจำนวนผู้เสียชีวิตจะเพิ่ม ก็พบจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยที่สุดในฝั่งตะวันออกของประเทศ
ข้อสรุปที่สำคัญอีกประการหนึ่งของงานวิจัยคือ ความต่อเนื่องของความเข้มงวดในการบังคับใช้มาตรการ การหย่อนความเข้มงวดที่เร็วเกินไปจะส่งผลให้เหตุการณ์กลับมาแย่อีกครั้ง เช่น ในเมืองเซนต์หลุยส์ มลรัฐมิสซูรี ที่มีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำจนเจ้าหน้าที่ลดความเข้มงวดเรื่องการห้ามรวมตัวกันในที่สาธารณะ ปรากฏว่าเพียง 2 เดือนต่อมาก็ได้เกิดการระบาดระลอกสอง ในขณะที่เมืองอื่น ๆ ที่เข้มงวดกับพลเมืองอย่างต่อเนื่องกลับไม่พบการระบาดอีก
อย่างไรก็ตาม การวางมาตรการกับการบังคับให้คนทำตามนั้นเป็นคนละเรื่องกัน ในช่วงปี 2461 นครซานฟรานซิสโกมีผู้ถูกยิง 3 รายโดยเจ้าหน้าที่เนื่องจากไม่สวมหน้ากากอนามัยตามที่รัฐบังคับ ในเมืองแอริโซนาผู้ที่ไม่สวมอุปกรณ์ป้องกันต้องถูกปรับเงิน แต่ในท้ายที่สุดตัวเลขก็แสดงให้เห็นว่า การบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวดนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง
เห็นได้จากกราฟข้อมูลของเมืองต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยแท่งสีน้ำตาลแสดงถึงช่วงเวลาที่เมืองบังคับใช้มาตรการ Social Distancing และกราฟเส้นสีดำแสดงอัตราการเสียชีวิตในรอบสัปดาห์ต่อประชากร 100,000 คนจากโรคไข้หวัดใหญ่สเปน จะพบว่ายิ่งเริ่มมาตรการ Social Distancing เร็วเท่าไหร่ก็จะยิ่งส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตลดลงมากเท่านั้น และหากหย่อนความเข้มงวดก็อาจพบกับการระบาดระลอกสอง
ผลการศึกษาสรุปว่า ปัจจัยที่สำคัญที่สุดในดึงตัวเลขการแพร่ระบาดลงมาคือ Social Distancing ซึ่งกล่าวได้ว่า สิ่งที่เคยใช้ได้ผลกับสถานการณ์เมื่อศตวรรษที่แล้วจะยังคงใช้ได้สถานการณ์ในปัจจุบันด้วย
นายสตีเฟน เอส. มอร์ส (Stephen S. Morse) นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "บทเรียนที่ล้ำค่าที่ได้จากข้อมูลในอดีตจะได้รับการนำมาใช้เพื่อกำหนดการกระทำของพวกเรา หากเราระมัดระวังเป็นอย่างดี บทเรียนที่ได้จากปี 2461 จะช่วยให้ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย"