"..คงมีคำถามกันมากว่าทำไมต้องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต้องเรียนตามที่ทราบคือ มีที่ศูนย์รังสิตเพียงที่เดียวที่มีความพร้อมระบบสาธารณสุขโดยปกติกำลังจะไม่เพียงพอในการรับสถานการณ์ โรงพยาบาลสนามเป็นเรื่องจำเป็นกับการรับมือกับวิกฤตการณ์ COVID-19 ทั้งนี้ สถานการณ์ขณะนี้คือวิกฤตของประเทศถ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ยอมให้ใช้ที่เพื่อนำร่อง ก็จะไม่มีโรงพยาบาลสนามที่อื่นตามมา และประเทศไทยอาจจะกลายเป็นแบบที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลี ซึ่งเราจะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้.."
"อาคารดีลักซ์ ที่จะปรับให้เป็นโรงพยาบาลสนาม จะรับเฉพาะผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลที่ได้รับการรักษาจนอาการดีขึ้นแล้ว และอยู่ในระหว่างการกักตัว โดยจะดำเนินการปิดกั้นให้เป็นสถานที่ปลอดเชื้อ 100 % ตามมาตรฐานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์และมาตรฐานสากลทางการแพทย์ โดยไม่ให้มีการเข้าออกโดยไม่ได้รับอนุญาตและจะอนุญาตเฉพาะผู้มีหน้าที่โดยตรงเท่านั้น"
คือ คำชี้แจงของ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต ในฐานะผู้จัดการโรงพยาบาลสนาม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ที่เกิดขึ้นมาจากความร่วมมือของสถาบันทางการแพทย์ 5 สถาบัน คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลวชิระ โรงพยาบาลจุฬา และ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รองรับผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด -19 จำนวน 308 เตียง ในพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์แบบหลายประเทศที่เตียงไม่พอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นค้นมูลจาก เว็บไซต์ http://psm.tu.ac.th/Hotel/dluxxdormitory/10 พบข้อมูลเกี่ยวกับ อาคารดีลักซ์ ว่า เป็นห้องพักรายวัน DLUXX THAMMASAT ตั้งอยู่ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระบุข้อมูลว่า บรรยากาศแวดล้อมด้วยธรรมชาติและบรรยากาศอันเงียบสงบ พร้อมการบริการที่ประทับใจไว้สำหรับท่านและคณะตลอดเวลา เปิดบริการห้องพักชั่วคราวรายวัน สำหรับบุคคลทั่วไป นักเรียน นักศึกษา หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
สิ่งอำนวยความสะดวก ภายในห้องพักประกอบไปด้วย ไมโครเวฟ เครื่องทำน้ำร้อน-น้ำเย็น เครื่องกรองน้ำ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ (ดูรูปประกอบ)
ทั้งนี้ อาคารดีลักซ์ ถือเป็นทรัพย์สินประเภทหนึ่ง ที่อยู่ในความดูแล ของ สำนักงานบริหารทรัพย์สินเเละกีฬา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหน่วยงานในกำกับของของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมิใช่หน่วยงานราชการทำหน้าที่ บริหารทรัพย์สินที่ได้รับจากการแข่งขันกีฬา Asian Games ครั้งที่ 13 ประกอบด้วยอาคารหอพักจำนวน 25 อาคาร อาคาร International Zone และอาคาร Gymnasium 1 เป็นต้น และเมื่อเดือนตุลาคม 2547 สำนักงานฯ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่บริหารดูแลอาคารหอพักของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตทุกแห่ง รายได้หลักของสำนักงานฯ มาจากค่าเช่าอาคารหอพัก ซึ่งมีผู้อาศัยอยู่ประมาณ 10,000 คน จัดสรรรายได้ ออกเป็น 3 ส่วน ร้อยละ 35 สำหรับสะสมเป็นเงินกองทุนทดแทนอสังหาริมทรัพย์ เมื่ออาคารต่างๆหมดอายุใช้งาน ร้อยละ 35 สำหรับการซ่อมแซมและ ปรับปรุงอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นรายการใหญ่ๆ ก่อนที่อาคารต่างๆจะหมดอายุ ร้อยละ 30 สำหรับเป็นเงินนำส่งเป็นรายได้แก่มหาวิทยาลัย
นโยบายการบริหารงาน
มุ่งเน้นการให้บริการอย่างมืออาชีพเพื่อสร้างความพึงพอใจ และส่งเสริมสุขภาพแก่ผู้อยู่อาศัยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยนำทรัพยากรที่มีอยู่มาปรับปรุงให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับปรุงด้านกายภาพและสภาพแวดล้อมให้สวยงาม ปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานภายในและพัฒนาทักษะศักยภาพพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความพร้อมในการทำหน้าที่จัดการทรัพย์สิน ทั้งหมดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างระบบงานที่ดีมีมาตรฐาน พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีความทันสมัย กำหนดตัวชี้วัดเพื่อใช้ในการประเมินผลปฏิบัติงานของพนักงานอย่างเป็นธรรม สร้างขวัญกำลังใจและให้เกิดการทำงานเป็นทีม เพื่อเตรียมความพร้อมในการร่วมเป็นเจ้าภาพจัดกีฬามหาวิทยาลัยโลก และ ให้สำนักงานฯ มีความแข็งแกร่งเพียงพอในการก้าวไปแข่งขันกับภาคเอกชนได้อย่างสง่างามในอนาคต
แนวทางในการบริหารงาน
สำนักงานฯ นำแนวคิดในเรื่อง BSC และ KPIs เป็นเครื่องมือในการบริหารงาน โดยกำหนดแผนคุณภาพ (Quality Plan) พร้อมทั้งปรับปรุง Job Description, Job Function เพื่อให้พนักงานทุกคนรู้หน้าที่ตนเองอย่างชัดเจน จัดทำ Work Flow และมาตรฐานคู่มือปฏิบัติงานให้ครบทุกระบบงาน รวมทั้งรณรงค์ให้พนักงานจัดทำ 5 ส อย่างต่อเนื่อง
ด้านการให้บริการ
จะใช้ระบบ One Stop Service โดยในปี 2549 ผู้พักอาศัยสามารถติดต่อใช้บริการต่างๆ ที่จุดให้บริการเดียว อาทิ การย้ายห้องพัก สับเปลี่ยนห้องพัก การแจ้งซ่อม โดยจัดจุดให้บริการที่เหมาะสมในแต่ละกลุ่มอาคารนอกจากนี้ ได้กำหนดมาตรฐานคุณภาพการให้บริการของคู่สัญญาหลัก ได้แก่ งานรักษาความปลอดภัย งานรักษาความสะอาด งานระบบวิศวกรรม และภูมิทัศน์ กำหนดตัวชี้วัดการให้บริการโดยวัดความพึงพอใจและข้อร้องเรียน โดยขึ้นทะเบียนผู้รับจ้างสำรองในกรณีที่คู่สัญญาเดิมปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
ด้านค่าบริการ
สำหรับในส่วนอัตราค่าบริการของหอพักแห่งนี้นั้นสำนักข่าวอิศราได้ตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ www.renthub.in.th ซึ่งเป็นเว็บไซต์ตามหาหอพัก ปรากฎว่าราคาหอพักนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 900-1,200 บาท (ดูภาพประกอบ)
ทั้งนี้ ดร.ปริญญา ยืนยันว่า การปรับเปลี่ยนอาคารดีลักซ์ มาเป็นโรงพยาบาลสนาม นักศึกษาและบุคลากรที่ยังพักอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตจะพักต่อไปได้โดยไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
"มหาวิทยาลัยขอยืนยันว่า โรงพยาบาลสนามดีลักซ์เป็นพื้นที่ควบคุมและปลอดเชื้อ 100 % และผู้ป่วยซึ่งได้รับการรักษาแล้วจะมาทางรถพยาบาลที่ปิดและฆ่าเชื้อ จึงไม่มีการแพร่เชื้ออย่างเด็ดขาด ผมในฐานะผู้จัดการโรงพยาบาลสนามดีลักซ์ ขอเรียนว่า ผมจะทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถจะไม่ให้กระทบท่านทั้งหลายที่พักอาศัยในอาคาร 14 ชั้น และในหอพักอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน”
"คงมีคำถามกันมากว่าทำไมต้องที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ต้องเรียนตามที่ทราบคือ มีที่ศูนย์รังสิตเพียงที่เดียวที่มีความพร้อมระบบสาธารณสุขโดยปกติกำลังจะไม่เพียงพอในการรับสถานการณ์ โรงพยาบาลสนามเป็นเรื่องจำเป็นกับการรับมือกับวิกฤตการณ์ COVID-19 ทั้งนี้ สถานการณ์ขณะนี้คือวิกฤตของประเทศถ้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ยอมให้ใช้ที่เพื่อนำร่อง ก็จะไม่มีโรงพยาบาลสนามที่อื่นตามมา และประเทศไทยอาจจะกลายเป็นแบบที่เกิดขึ้นในประเทศอิตาลี ซึ่งเราจะปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไม่ได้"
(อ่านประกอบ : ปริญญา เทวานฤมิตรกุล:คำชี้แจงการจัดตั้ง รพ.สนามใน มธ.ศูนย์รังสิต)
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลดีลักซ์ ธรรมศาสตร์ ก่อนแปลงสภาพรพ.สนาม ที่พร้อมเปิดให้บริการผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด รายแรก ภายใน 48 ชั่วโมงข้างหน้านี้
(อ่านประกอบ : ตั้งรพ.สนาม 308 เตียง มธ.รังสิต รักษาผู้ป่วยโควิด 'ปริญญา' นั่งผอ.-48 ชม. รับรายแรกได้)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/