"...อีกข้อเสนอหนึ่งคือการจัดงานโดยไม่ต้องมีผู้มาร่วมงาน วิธีการดังกล่าวผู้สนับสนุน นักกีฬา และผู้มีสิทธิถ่ายทอดสดยังคงทำหน้าที่ได้ต่อไป นั่นหมายถึงนักกีฬายังคงได้ขึ้นเวที และประเทศญี่ปุ่นยังมีรายได้จากสิทธิในการถ่ายทอดสดจำนวน 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท รวมถึงรายได้จากผู้สนับสนุนอีกด้วย และประเทศญี่ปุ่นยังคงรักษาสถานการณ์เอาไว้ได้ ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไปกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐก็ตาม..."
มีความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการจัดงานมหกรรมการแข่งขันกีฬาระดับโลก 'โอลิมปิก' ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด -19 ที่น่าจับตามองอยู่ไม่น้อย
เกี่ยวกับการตัดสินใจเลื่อนไม่เลื่อนจัดงานของญี่ปุ่น ในฐานะเจ้าภาพ หรือที่รู้จักกันในนาม 'โตเกียว 2020'
เมื่อสำนักข่าว CNN ของสหรัฐอเมริกา รายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2563 ที่ผ่านมาว่า เพลิงโอลิมปิกหรือ Olympic flame ได้เดินทางมาถึงประเทศญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อย นับเป็นการเริ่มต้นเทศกาลโอลิมปิกอย่างเป็นทางการ ในขณะที่กลุ่มจัดการแข่งขันกีฬาดังระดับโลก อย่าง NBA, European Championships หรือ Formular 1 ก็ได้ยกเลิกการจัดแข่งขันที่อาจเป็นการรวมตัวของคนจำนวนมากสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด -19 ไปแล้ว
แต่ประเทศญี่ปุ่นยังคงยืนยันที่จะจัดโตเกียว 2020 ต่อไป
คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ออกมาระบุว่า ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรับประกันความปลอดภัยและประโยชน์ของนักกีฬา ครูผู้ฝึก และทีมสนับสนุนต่าง ๆ แล้ว
ภายหลังมีการยืนยันข้อมูลอย่างเป็นทางการจากกระทรวงสาธารณสุขของญี่ปุ่น ว่า ญี่ปุ่น มีผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสแล้ว 1,662 รายจากจำนวนประชากร 125 ล้านคน แม้ยังมีผู้เชี่ยวชาญออกมาคัดค้านว่าตัวเลขที่ต่ำอาจเกิดจากจำนวนการตรวจสอบที่ต่ำด้วยเช่นกัน
ขณะที่ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาเปิดเผยว่า กลุ่มผู้นำประเทศ G7 ได้หารือกันเรื่องการเลื่อนโตเกียว 2020 ออกไปแล้ว
แต่นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ยังไม่ตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว
ส่วนนายอาเบะ ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า เขามั่นใจในความสนับสนุนของกลุ่มผู้นำ G7 เรื่องการจัดโตเกียว 2020 อย่างเต็มรูปแบบ แต่ปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลหากต้องมีการเลื่อนงาน
อย่างไรก็ดี IOC ยังคงมีอำนาจสั่งระงับการจัดงานได้ถึงเดือนพฤษภาคม 2563 นี้
หากจะย้อนเวลากลับไปดูข้อมูลในอดีต จะพบว่า การจัดกีฬาโอลิมปิกเคยถูกยกเลิกมาแล้ว 3 ครั้งได้แก่ ในปีพ.ศ.2459 เนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และในปีพ.ศ.2483 และพ.ศ.2487 เนื่องมาจากสงครามโลกครั้งที่ 2
ดังนั้น การยกเลิกโตเกียว 2020 โดยไม่มีเหตุเกี่ยวกับสงครามจึงเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และผลพวงที่ตามมาย่อมส่งผลกระทบต่อทุกคนและทุกสิ่งตั้งแต่ผู้สนับสนุน วิทยุโทรทัศน์ สภาวะเศรษฐกิจและนักกีฬา
ทั้งนี้ มีรายงานข่าวจากกลุ่มผู้จัดงานว่า ในช่วงเดือนธันวาคม เงินถูกใช้ไปกับการจัดโตเกียว 2020 มากถึง 12.35 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งตามรายงานข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuters) ระบุว่า ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการย้ายงานเดินวิ่ง ซึ่งตัดสินใจเมื่อเดือนตุลาคม 2562 ให้ย้ายจากเมืองโตเกียวไปจัดที่เมืองซัปโปโรเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศร้อนจัด
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการลงทุนมหาศาลเพื่อปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งเคยคาดการณ์ว่าจะมีผู้คนจำนวนมากถึง 90 ล้านคนมาร่วมงานในครั้งนี้
นายคีธ เฮนรี่ (Keith Henry) ประธานบริษัทที่ปรึกษานโยบายภาครัฐฝั่งเอเชีย ระบุว่า รัฐบาลญี่ปุ่นคาดหวังไว้ว่าผู้คนที่หลั่งไหลมาจะใช้เวลาทั้งในเมืองโตเกียวและรอบประเทศญี่ปุ่น เมืองต่าง ๆ คาดหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาเป็นจำนวนหลักแสน ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วอาจนับได้เป็นเงินจำนวนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ หากขาดรายได้ในส่วนนั้นไป ย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไปทั่วทั้งประเทศญี่ปุ่นอย่างแน่นอน
ถึงแม้จะหลายเสียงให้เลื่อนการจัดงานออกไป แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงว่าไม่อาจทำได้ เช่น ปัญหาของผู้มีสิทธิถ่ายทอดสดที่จะต้องจัดตารางระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกกับฤดูกาลแข่งขันฟุตบอลของ NFL ซึ่งจะมีขึ้นช่วงเดือนกันยายน 2563 ถึงเดือนมกราคม 2564 และฤดูกาลแข่งขันฟุตบอลของยูโรปซึ่งถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2564
ทั้งนี้ หากจะมีการเลื่อนโตเกียว 2020 ผู้มีอำนาจจะต้องตัดสินใจก่อนเข้าสู่ช่วงปารีสโอลิมปิก 2024 ซึ่งยังคงไม่มีทีท่าว่าจะมีใครตัดสินใจอย่างไร
ด้านรัฐมนตรีเซย์โกะ ฮาชิโมโตะ (Seiko Hashimoto) กล่าวว่า สัญญาระหว่าง IOC และประเทศญี่ปุ่นเปิดช่องให้เลื่อนการจัดโอลิมปิกออกไปเป็นช่วงปลายปีได้
อย่างไรก็ตาม การเลื่อนงานออกไปย่อมหมายถึงการเพิ่มค่าใช้จ่ายจำนวนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะเดียวกันก็เป็นการทิ้งเงินจำนวนมหาศาลที่ลงทุนไปแล้วกับการโฆษณาโตเกียว 2020
อีกข้อเสนอหนึ่งคือการจัดงานโดยไม่ต้องมีผู้มาร่วมงาน วิธีการดังกล่าวผู้สนับสนุน นักกีฬา และผู้มีสิทธิถ่ายทอดสดยังคงทำหน้าที่ได้ต่อไป นั่นหมายถึงนักกีฬายังคงได้ขึ้นเวที และประเทศญี่ปุ่นยังมีรายได้จากสิทธิในการถ่ายทอดสดจำนวน 3-4 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1.3 แสนล้านบาท รวมถึงรายได้จากผู้สนับสนุนอีกด้วย และประเทศญี่ปุ่นยังคงรักษาสถานการณ์เอาไว้ได้ ถึงแม้ว่าจะต้องสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไปกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐก็ตาม
ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะใช้โตเกียว 2020 ฟื้นฟูสิ่งที่สูญหายไปจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสีนามิเมื่อปีพ.ศ. 2554 รวมถึงผู้เสียชีวิตกว่า 20,000 คนและผู้สูญหายอีก 2,500 คน โดยการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกจะเริ่มต้นขึ้นที่เมืองฟุคุชิมะ ผ่าน 47 เมืองก่อนเข้าสู่เมืองโตเกียวในช่วงวันที่ 24 กรกฎาคม
ในส่วนของนักกีฬา การได้เข้าร่วมแข่งขันโตเกียว 2020 นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตที่ต้องซักซ้อมอย่างหนักและสละหลายสิ่งหลายอย่างไป ช่วงอายุ 20-30 ปีเป็นช่วงที่ร่างกายนักกีฬามีความพร้อมมากที่สุดและใกล้โอกาสชนะเหรียญทองมากที่สุด ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดกับโตเกียว 2020 ครั้งนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นจุดพลิกของชีวิตนักกีฬาหลายคนเลยก็ว่าได้
ในขณะที่การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว หลายฝ่ายยังคงลุ้นระทึกให้สถานการณ์จบลงด้วยดี รวมไปถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วยเช่นกัน
(ที่มา เรื่อง/ภาพ - แปล/เรียบเรียง จาก https://edition.cnn.com/2020/03/19/sport/olympics-tokyo-2020-what-next-hnk-intl/index.html?sr=LINECNN022718undefined1052AMStory)
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage