"...ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการ "พลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19)" เพื่ออบรมให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการจัดทำหน้ากากอนามัยเพื่อการป้องกันตนเองให้กับประชาชนทุกคนในเขตพื้นที่ โดยมีทีมวิทยากร ครู ก. ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แต่งตั้งไว้แล้ว และผ่านการอบรม ทำหน้าที่ในการบรรยายให้ความรู้และสาธิตถ่ายทอดการจัดทำหน้ากากอนามัยแก่ประชาชน ทั้งนี้ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนสามารถทำหน้ากากอนามัยสำหรับใช้ป้องกันตนเองได้ อย่างน้อย 1 ชิ้น/คน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มีนาคม 2563 ..."
นับจนถึงเวลานี้ สาธารณชนคงได้รับทราบไปแล้วว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2563 อนุมัติงบประมาณ 225 ล้านบาท เพื่อดำเนินงาน ”โครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการผลิตหน้ากากผ้าให้เป็นอีกทางเลือกแทนหน้ากากอนามัย มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบ ประชาชนผู้ผ่านการอบรมจากเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม) เป็นผู้ผลิตตามมาตรฐานกระทรวงฯ เป้าหมายการผลิต 50 ล้านชิ้น มีต้นทุนชิ้นละ 4.50 แจกจ่ายกับประชาชนทั่วไปฟรี
ทั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณจำนวน 225 ล้านบาท ในการดำเนินงาน ”โครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา” มากขึ้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ตรวจสอบรายละเอียดแผนการจัดทำโครงการและข้อกำหนดต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล มานำเสนอ ณ ที่นี้อีกครั้ง
โดยมี 7 ขั้นตอนปฏิบัติดังต่อไปนี้
1. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการ "พลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19)" เพื่ออบรมให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการจัดทำหน้ากากอนามัยเพื่อการป้องกันตนเองให้กับประชาชนทุกคนในเขตพื้นที่ โดยมีทีมวิทยากร ครู ก. ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แต่งตั้งไว้แล้ว และผ่านการอบรม ทำหน้าที่ในการบรรยายให้ความรู้และสาธิตถ่ายทอดการจัดทำหน้ากากอนามัยแก่ประชาชน
ทั้งนี้ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนสามารถทำหน้ากากอนามัยสำหรับใช้ป้องกันตนเองได้ อย่างน้อย 1 ชิ้น/คน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 มีนาคม 2563
2. ในการจัดทำโครงการอบรมตามข้อ 1 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำรายละเอียด โครงการตามตัวอย่างโครงการที่ส่งมาด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณดำเนินการตามข้อ 9 ในตัวอย่างโครงการ ระบุค่าใช้จ่ายโดยชัดเจน ดังนี้
2.1 งบประมาณในการจัดฝึกอบรมให้แก่ประชาชน ให้เบิกจ่ายจากงบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ งบประมาณจากกองทุนอื่น ๆ ในพื้นที่ที่สามารถใช้ในการจัดฝึกอบรมได้
2.2 งบประมาณสำหรับเป็นค่าวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากากอนามัยสำหรับประชาชน (1 คน/1 ชิ้น) ให้เบิกจ่ายจากเงินอุดหนุนที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจัดสรรให้ตามบัญชีการแจ้งจัดสรรแต่ละพื้นที่
ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณข้างต้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้จัดสรรให้เฉลี่ยในอัตรา 4.50 บาท/คน/ชิ้น (หน้ากากอนามัย)
2.3 หากจำนวนประชากรในพื้นที่ที่มีอยู่จริงมีมากกว่าจำนวนที่ได้รับแจ้งจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระบุเพิ่มเติม สำหรับงบประมาณในการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำหน้ากากอนามัยในส่วนที่เพิ่มเติม ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3. จัดซื้อจัดจ้างให้ดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ประกอบกับหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุดที่ กค (กวจ) 0405.2/ว 371 ลงวันที่ 5 สิงหาคม 2562 เรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้าง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับมติคณะรัฐมนตรี และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และเป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
4. ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรายงานผลการดำเนินงานจัดซื้อจัดจ้างและความคืบหน้าของการดำเนินโครงการดังกล่าวทุกครั้ง เมื่อมีการดำเนินการตามขั้นตอนของการจัดซื้อจัดจ้างผ่านเว็บไซต์ www.dla.go.th หัวข้อ ระบบสารสนเทศเพื่อการวางแผนและประเมินผลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (e-Plan) ไปจนกว่าการดำเนินการจะสิ้นสุด เพื่อที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะได้ประมวลผล การเบิกจ่ายงบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอรายงานต่อคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐและสำนักงบประมาณ และรายงานผลการดำเนินการตามโครงการพลังคนไทยร่วมใจป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID 19) หรือเว็บลิงค์ https://qrgo.page.link/rHu6E นี้ จนกว่าจะสิ้นสุดโครงการ (ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2563)
5. สำหรับลักษณะผ้าที่ใช้เป็นวัสดุในการจัดทำหน้ากากอนามัยจากผ้าให้คำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัย อาทิ ผ้าสาลูเนื้อแน่น ผ้าฝ้าย ผ้าทอมือ ผ้าจากศูนย์ศิลปาชีพ หรือผ้าชนิดอื่น ตามความเหมาะสม ซึ่งสามารถนำมาทำความสะอาดและนำกลับมาใช้หม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อลดปริมาณขยะที่เกิดจากการทิ้งหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว สำหรับวิธีการจัดทำหน้กากอนามัยให้เป็นไปตามแบบการจัดทำตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดหรือแบบอื่น
6. กรณีงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เพียงพอสามารถใช้เงินสะสมได้ตามนัยหนังสือกระทรวงมหาดไทยด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว1353 ลงวันที่ 4 มีนาคม 2563 ปลัดกระทรวงมหาดไทยโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำเงินสะสมไปใช้จ่ายในการดำเนินการจัดฝึกอบรมตาม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และการจัดทำหน้ากากอนามัยเพื่อการป้องกันตนเอง" ได้
7.กรณีโครงการดังกล่าวไม่ปรากฎในแผนพัฒนาท้องถิ่น เนื่องจากเป็นนโยบายสำคัญเร่งด่วนของรัฐบาล ดังนั้น การแก้ไขเพิ่มเติม จึงเป็นอำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น
อนึ่งก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ภายหลังการอนุมัติงบประมาณ จำนวน 225 ล้านบาท ดังกล่าว นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้ทำหนังสือแจ้งเวียน ผู้ว่าราชการจังหวัด ทุกจังหวัด ให้รับทราบมติ ครม. ดังกล่าว เพื่อให้ติดตามกำกับดูแลและตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ มติครม. หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และต้องดำเนินการอย่างเปิดเผย โปร่งใสตรวจสอบได้ พร้อมเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม
(อ่านประกอบ : สั่ง ผู้ว่าฯ คุมเข้ม อปท. ใช้งบ 225ล. ซื้อจ้างหน้ากากอนามัยผ้า 50 ล้านชิ้น แจก ปชช.)
ปัจจุบันยังไม่ปรากฎข้อมูลว่าการจัดซื้อจ้างจ้าง ในพื้นที่ใดบ้าง เกิดปัญหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง สถ.ดังกล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/