"...ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดต่ำลงจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราว และจะอยู่ระหว่างไตรมาส 1 แต่ไม่เกินไตรมาส 2 ปีนี้เท่านั้น จากนั้นราคาจะกลับเข้าสู่ปกติ โดยเฉพาะเมื่อราคาลดลงมาต่ำมากๆ จะเห็นกองทุนเข้ามาซื้อสัญญาน้ำมันเก็บไว้..."
พลันที่ซาอุดิอาระเบียปรับลดราคา OSP Premium น้ำมันดิบทุกประเภท ลงมา 6-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล พร้อมทั้งประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเป็นสูงกว่าวันละ 10 ล้านบาร์เรล จากปัจจบันวันละ 9.9 ล้านบาร์เรล
โดยมีเป้าหมายตอบโต้พันธมิตรนอกกลุ่มโอเปก (Non-OPEC) เช่น รัสเซีย ที่ปฏิเสธร่วมมือกับกลุ่มโอเปกในการปรับลดกำลังการผลิตวันละ 1.5 ล้านบาร์เรล เพื่อพยุงราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
เหนือสิ่งอื่นใด ซาอุดิอาระเบียเองต้องการกลับมาครอบครองส่วนแบ่งตลาดน้ำมันเป็นอันดับ 1 ของโลกอีกครั้ง หลังจากปล่อยให้ทั้งสหรัฐและรัสเซีย แย่งชิงส่วนแบ่งตลาดน้ำมันดิบไปอย่างมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ส่งผลให้ ‘สงครามราคาน้ำมัน’ ในตลาดโลกประทุอีกครั้ง และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างหนัก โดยล่าสุด (9 มี.ค.) ราคาซื้อขายน้ำมันดิบล่วงหน้า WTI ร่วงลงแตะต่ำสุดที่ 27.34 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ก่อนจะประคองตัวที่ 31-32 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือลดลงจากสัปดาห์ก่อน 9 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือลดลงมากกว่า 20% ภายในวันเดียว
“ราคาน้ำมันดิบที่ลดลง แน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ถ้าราคาถูกลง เราก็ใช้เงินซื้อน้ำมันน้อยลง และประชาชนผู้บริโภคในประเทศจะมีเงินเหลือใช้มากขึ้น ซึ่งเป็นการช่วยรัฐบาลไปในตัว ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจในตอนนี้” มนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
มนูญ กล่าวต่อว่า ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง อาจทำให้ผู้ประกอบการบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานประสบปัญหาขาดทุน และเมื่อผลประกอบการไม่ดี ก็จะทำให้ตลาดหุ้นแย่ลงบ้าง แต่ว่าราคาพลังงานที่ถูกลง จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการกลุ่มอื่นๆลดลง หรือสรุปโดยรวมแล้วมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย
ส่วนผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรที่แนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันนั้น มนูญ ระบุว่า ในภาพรวมคงกระทบไม่มาก ยกเว้นยางพารา เพราะเป็นสินค้าที่ขึ้นกับราคาน้ำมันโดยตรง ส่วนราคาปาล์มน้ำมันแทบจะไม่กระทบเท่าไหร่ เพราะรัฐบาลมีนโยบายนำมาผสมเป็นดีเซลบี 10 และราคาก็ไม่ได้ผูกกับราคาน้ำมันดีเซลอยู่แล้ว
มนูญ ยังประเมินว่า การลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกรอบนี้อาจลงไปแตะ 21-22 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่อาจจะไม่นาน คือ ไม่น่าจะเกิน 1 เดือน เพราะในที่สุดแล้ว ซาอุดิอาระเบียและรัสเซียจะต้องกลับมาเจรจากัน เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงรอบนี้ จะทำให้เกิดความเสียหายทั้งคู่
“ทั้งซาอุฯและรัสเซียส่งออกน้ำมันมากด้วยกันทั้งคู่ ถ้าปล่อยให้ราคาน้ำมันต่ำอย่างนี้ จะกระทบฐานะการเงินการคลังของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งผมคิดว่าสถานการณ์นี้น่าจะนานไม่เกิน 1 เดือน และคิดว่าเขาจะต้องเร่งเจรจากันไม่นานนี้ เพราะไม่อย่างนั้นเขาจะเสียหายทั้งคู่” มนูญ กล่าว
มนูญ เสนอว่า ในจังหวะที่ราคาน้ำมันดิบและราคาขายปลีกในประเทศลดลง รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มการอุดหนุนราคาน้ำมันบางชนิด เช่น น้ำมันที่รัฐบาลส่งเสริม อาทิ แก๊สโซฮอล์ อี-20 และดีเซล บี-10 เป็นต้น
มนูญ ศิริวรรณ
ด้าน ‘อมรเทพ จาวะลา’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ว่า การลดลงของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกรอบนี้ น่าจะคล้ายๆกับปี 2558-59 ซึ่งตอนนั้นซาอุดิอาระเบียมีการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันลดลงไปอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
“ตอนนั้นราคาน้ำมันดิบลงไปอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งตอนนี้ก็ใกล้แล้ว ส่วนรอบนี้จะไปอยู่ระดับไหน ก็ต้องดูว่าต้นทุนของซาอุฯอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอยู่ที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้น โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบจะลงไปที่ 20 ดอลลาร์ฯ ก็เป็นไปได้” อมรเทพ กล่าว
อมรเทพ ประเมินว่า สงครามราคาน้ำมันน้ำมันรอบนี้จะยุติและกลับสู่ภาวะปกติในเวลาไม่นาน เพราะราคาน้ำมันที่ลดลงรอบที่แล้ว ทำให้รายได้ของซาอุฯหายไป ซึ่งกระทบต่อสวัสดิการที่ให้กับประชาชน และคะแนนนิยมที่มีต่อรัฐบาลซาอุฯ
ในขณะที่การฟื้นตัวของราคาน้ำมันจะใช้เวลาน้อยกว่ารอบที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 6-9 เดือน เนื่องจากมีตัวแปรอย่างประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โดยประธานาธิบดีทรัมป์อาจเข้าไปเจรจาหรือมีข้อตกลงบางอย่างกับซาอุฯก็ได้ เพราะราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ผลิตน้ำมันเบอร์ 1 ของโลกแล้ว
“การช่วงชิงตลาดน่าจะเป็นระยะสั้นๆ เพราะถ้าบริษัทน้ำมันในสหรัฐย่ำแย่ไป และซาอุฯพอใจระดับหนึ่ง ซาอุฯจะกลับมาลดกำลังการผลิต ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่รอบนี้คุณทรัมป์อาจจะทวีตออะไรแปลกๆออกมา หรืออาจมีข้อตกลงอะไรๆกับซาอุฯออกมา” อมรเทพระบุ
อมรเทพ มองว่า หากสงครามราคาน้ำมันคลี่คลาย ราคาน้ำมันน่าจะกลับไปอยู่ในระดับ 40 แต่ไม่เกิน 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้กิจกรรมเศรษฐกิจทั่วโลกลดลง โดยเฉพาะในจีน
สำหรับผลกระทบต่อประเทศไทยนั้น อมรเทพ บอกว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงจะส่งผลดีต่อไทย ซึ่งเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วนกว่า 10% ของการนำเข้าทั้งหมด โดยจะทำให้ไทยเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น ในสถานการณ์ที่การส่งออกติดลบมากกว่า 2-3% แต่การนำเข้าจะติดลบมากกว่า
“แม้ไทยเราจะมีสัดส่วนนำเข้าน้ำมัน 10% แต่เราก็มีการส่งออกน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และสินค้าเกษตร ซึ่งราคาผันผวนไปตามราคาน้ำมันเช่นกัน ดังนั้น เราจะได้เห็นการส่งออกไทยติดลบมากกว่า 2-3% จากเดิมที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดอยู่แล้ว” ดร.อมรเทพกล่าว
อมรเทพ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในปีนี้การเกินดุลการค้าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและจีดีพีขึ้นมา แต่ไม่ใช่ในรูปของกำลังซื้อ โดยจะเกิดภาวะที่เรียกว่า ‘technical growth’ คือ จีดีพีไม่ได้หดตัว แต่คนจะไม่รู้สึกว่าเศรษฐกิจดี เพราะกำลังซื้อหายไป เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงตามราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นตัวฉุดที่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากเรื่องภัยแล้ง”
ขณะที่ ‘ชาญศิลป์ ตรีนุชกร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันที่ลดลงรอบนี้ คงไม่เชิงที่จะเรียกว่าเป็นสงครามน้ำมัน และเชื่อว่าอีกไม่นานราคาน้ำมันจะค่อยๆปรับตัวเพิ่มขึ้น
“ราคาน้ำมันที่ขึ้นมา 70-90 เหรียญ ก่อนหน้านี้ เป็นเพราะมีกองทุนต่างๆเข้าไปเก็งกำไร แต่วันนี้กองทุนฯพวกนี้เริ่มขายออกมา ราคาก็ลดลงมา และเมื่อราคาลงมาแตะ 30-40 เหรียญแล้ว จากนั้นราคาจะค่อยๆขยับมาในจุดที่เหมาะสม คือ ระหว่าง 50-70 เหรียญ ซึ่งวันนี้ราคาน้ำมันถือว่าต่ำมาก” ชาญศิลป์กล่าว
ชาญศิลป์ ระบุว่า แน่นอนว่าราคาน้ำมันดิบที่ลดลงรอบนี้จะกระทบกลุ่มปตท. โดยเฉพาะปตท.สผ. เพราะปตท.สผ. มีปริมาณน้ำมันสำรองอยู่ เมื่อคูณเป็นตัวเงินก็ต้องลดลง และตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่าแต่บริษัทฯจะได้รับผลกระทบเท่าใด โดยยังเร็วเกินไปที่จะตอบ รวมทั้งจะไม่กระทบต่อลงทุนของกลุ่มปตท.
“ผลกระทบที่มีต่อ ปตท.สผ. น่าจะเป็นระยะสั้น แต่สำหรับกลุ่ม ปตท.ไม่กระทบมาก เพราะมีต้นไม้หลายต้น และเป็นธุรกิจที่ซื้อมาขายไป ส่วนที่จะกระทบหนัก คือ โรงปิโตรเคมี เพราะมีสต็อกที่ต้องเก็บไว้สำหรับการผลิต แต่เราก็ทำ Hedging (ประกันความเสี่ยง) ไว้บางส่วน” ชาญศิลป์กล่าว
ชาญศิลป์ ตรีนุชกร
ชาญศิลป์ ย้ำว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดต่ำลงจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราว และจะอยู่ระหว่างไตรมาส 1 แต่ไม่เกินไตรมาส 2 ปีนี้เท่านั้น จากนั้นราคาจะกลับเข้าสู่ปกติ โดยเฉพาะเมื่อราคาลดลงมาต่ำมากๆ จะเห็นกองทุนเข้ามาซื้อสัญญาน้ำมันเก็บไว้
“โดยธรรมชาติคนที่มีต้นทุนการผลิตสูง เช่น มีแหล่งผลิตในทะเลลึก และผู้ผลิตนอกโอเปกที่ผลิตทีหลัง อาทิ ในทวีปแอฟริกา จะเริ่มหายไป จะเหลือแต่กลุ่มที่ต้นทุนต่ำ อาทิ ในตะวันออกลาง และการผลิตเชลออยล์ ซึ่งเมื่อดีมานด์เพิ่มขึ้นราคาจะค่อยๆขึ้น” ชาญศิลป์กล่าว
ชาญศิลป์ ระบุว่า สำหรับราคาน้ำมันที่ลดลงนั้น แม้ว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย แต่จะทำให้ราคาเชื้อเพลิงชีวภาพแพงขึ้นมากเมื่อเทียบกับน้ำมันฟอสซิล ดังนั้น กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอาจจะต้องเข้ามาสนับสนุนเชื้อเพลิงชีวภาพ เพื่อให้การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ต่อไปได้
แหล่งข่าวระดับสูงจาก ปตท. เผยกับสำนักข่าวอิศรา โดยประเมินว่า "การปรับลดลงของราคาน้ำมันรอบนี้น่าจะเป็นรูป U-curve ที่นานกว่าปกติ เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงมีปัจจัยจากความต้องการที่ลดลง อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้คนไม่กล้าเดินทาง แต่คาดสถานการณ์นี้จะคลี่คลายในอีก 3-12 เดือน"
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage