"...กระทั่งถึงตอนนี้ศาลปกครองกลางยังไม่มีคำตัดสินออกมาว่า ทอท.จะต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายเป็นเงิน 236 ล้านบาท ให้กับ กลุ่ม SPS Consortium หรือไม่ อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนจาก ทอท.ว่า จะมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีกลุ่ม SPS Consortium ที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามสัญญาเป็นเงิน 620 ล้านบาท หรือไม่ อย่างไร..."
นับเป็นอีกหนึ่งมหากาพย์ สำหรับโครงการ ‘จ้างเอกชนดำเนินการบริหารจัดการขยะในบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ’ ของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพราะหลังจากสัญญาโครงการนี้สิ้นสุดลงแล้วในเดือน ก.ย.2559 แต่ปัจจุบันข้อ ‘ขัดแย้ง’ ในการดำเนินการตามสัญญา ยังคงเป็นคดีความที่ ‘ค้างคา’ อยู่ที่ศาลปกครอง
ย้อนกลับไปในวันที่ 27 เม.ย.2549 ทอท. ได้ออกประกาศประมูล เลขที่ 6RH4-490031 งานจัดจ้างเอกชนดำเนินการบริหารจัดการขยะในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ (ทสภ.) โดยวิธีพิเศษ อายุสัญญา 10 ปี มีเอกชนซื้อซองประมูล 3 ราย และการยื่นซองประมูลในวันที่ 23 พ.ค.2549 มีเอกชนเข้ายื่นซองข้อเสนอ 2 รายเท่านั้น
คือ 1.กลุ่ม SPS Consortium (ประกอบด้วย บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โปรเฟสชั่นแนล เวสต์ เทคโนโลยี (1999) จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยาม เวสท์แมเนจเม้นท์ คอนซัลแทนท์ จำกัด) และ 2.บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์กรีน จำกัด (มหาชน)
@จ้างวิธีพิเศษกลุ่ม SPS Consortium จัดการขยะ 10 ปี
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 พ.ค.2549 คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษฯ ได้พิจารณาซองข้อเสนอของเอกชนทั้ง 2 ราย ผลปรากฏว่า มีเอกชนที่ผ่านข้อเสนอทางเทคนิคเพียงรายเดียว คือ กลุ่ม SPS Consortium และบอร์ดทอท.ได้มีมติเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2549 ให้คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษฯ สามารถพิจารณาพิจารณาข้อเสนอทางเทคนิค โดยไม่ต้องยกเลิกการเสนอราคา
จากนั้นในเดือนมิ.ย.2549 ได้มีการเปิดซองข้อเสนอราคาของกลุ่ม SPS Consortium พบว่ามีการเสนอราคามาที่ 620,016,424 ล้านบาท และคณะกรรมการฯเรียกมาเจรจาต่อรองราคาเหลือ 607,477,410 บาท จากนั้นได้มีการลงนามสัญญาเลขที่ 6CS4-490020 ลงวันที่ 11 ก.ย.2549 อายุสัญญา 10 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย.2549-14 ก.ย.2559
สำหรับขอบเขตงานตามสัญญานี้ กลุ่ม SPS Consortium จะเป็นทำหน้าที่ผู้บริหารจัดการขยะในพื้นที่บริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ ในลักษณะครบวงจรตั้งแต่การก่อสร้าง จัดหาระบบอุปกรณ์ พัฒนาระบบการจัดการขยะ การเก็บขน การคัดแยก และการกำจัดขยะ ซึ่งรวมถึงการสร้าง ‘ระบบเตาเผาขยะ’ และระบบหมักสารอินทรีย์เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงเตาเผาขยะ
โดยจะได้รับค่าจัดการขยะตลอดสัญญา 607 ล้านบาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณขยะในแต่ละวัน โดยมีปริมาณขั้นต่ำตามสัญญา 40 ตัน/วัน ซึ่งใน 3 ปีแรก กำหนดค่าจัดการอัตราตันละ 1,500 บาท สำหรับขยะทั่วไป และอัตราตันละ 3,400 บาท สำหรับขยะมีอันตรายและขยะติดเชื้อ ในขณะที่อัตราค่าจ้างจะเพิ่มขึ้นอีก 10% ในปีที่ 4 และปีที่ 8
โรงคัดแยกขยะสนามบินสุวรรณภูมิ
@ทอท.เร่งรัดเอกชนสร้าง ‘เตาเผาขยะ’ ตามเงื่อนไขสัญญา
ในระยะแรกของจัดการขยะ กลุ่ม SPS Consortium ใช้วิธีการนำขยะไปฝังกลบนอกสนามบินสุวรรณภูมิ ในระหว่างที่การก่อสร้าง ‘ระบบเตาเผาขยะ’ ยังไม่แล้วเสร็จ
แต่ทว่าเมื่อผ่านไป 2 ปี คณะกรรมการตรวจการจ้างฯ มีหนังสือถึงกลุ่ม SPS Consortium เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2551 ให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา นั่นก็คือการก่อสร้างและติดตั้ง ‘ระบบเตาเผาขยะ’ ให้แล้วเสร็จ เนื่องจากเหลือเวลาเพียง 287 วัน และหากสร้างไม่เสร็จจะต้องจ่ายค่าปรับวันละ 250,000 บาท
ต่อมาวันที่ 11 มี.ค.2552 คณะกรรมการตรวจการจ้างฯ มีหนังสือเร่งรัดให้กลุ่ม SPS Consortium ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญา ครั้งที่ 2 เนื่องจากเหลือระยะเวลา 217 วัน
อีก 3 เดือนต่อมา คือ ในวันที่ 4 มิ.ย.2552 กลุ่ม SPS Consortium ทำหนังสือเสนอการจัดการขยะในสนามบินสุวรรณภูมิที่ ‘แตกต่าง’ จากที่กำหนดในสัญญา โดยเปลี่ยนจากรูปแบบ ‘การสร้างเตาเผา’ เป็น ‘ไม่สร้างเตาเผา’ แต่จะใช้วิธีการโดยนำขยะไปฝังกลบนอกสนามบินสุวรรณภูมิ
พร้อมทั้งขอผ่อนผันการใช้สิทธิปรับตามสัญญา กรณีผู้รับจ้างไม่สามารถสร้างระบบเตาเผาขยะได้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาอีกด้วย
กลุ่ม SPS Consortium ระบุถึงสาเหตุที่ต้องขอให้มีการแก้ไขสัญญาว่า บริษัทฯประสบปัญหาขาดทุนอย่างรุนแรง จากการที่ไม่สามารถจัดเก็บขยะได้ถึงวันละ 40 ตัน
เนื่องจากขยะทั่วไปถูกขโมยขาย และผู้ประกอบการหลายรายเหมาขายขยะ Recycle และขยะอื่นๆ ให้กับเอกชนรายอื่น ซึ่งขัดกับระเบียบปฏิบัติที่ระบุให้ทอท. เป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการขยะในทสภ.ทั้งหมด อีกทั้งยังมีการลักลอบนำขยะออกไป ทสภ. โดยไม่ถูกต้อง เพราะทอท.คิดค่าบริหารจัดการขยะจากผู้ประกอบการในอัตราค่อนข้างสูง
ส่งผลให้ กลุ่ม SPS Consortium ไม่อาจสร้าง ‘เตาเผาขยะ’ ได้เนื่องจากขยะมีปริมาณน้อยมาก ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน และองค์ประกอบของขยะที่เก็บได้นั้น ผลการศึกษาของสถาบันการศึกษา 3 แห่ง ระบุว่า ขยะที่ทสภ. ไม่เหมาะสมที่จะนำไปเผา และการสร้างเตาเผาก่อให้เกิดมลพิษ (สารก่อมะเร็ง)
แต่ทอท.ก็ยังยืนยันให้กลุ่ม SPS Consortium ต้องปฏิบัติตามสัญญา โดย ทอท.มีหนังสือที่ 4842/52 ลงวันที่ 30 มิ.ย.2552 เร่งรัดให้ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างระบบเตาเผาขยะฯ และทอท.ขอสงวนสิทธิการปรับ หากผู้รับจ้างไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดระยะเวลาที่เสนอ
@ทอท.ไม่ปรับเอกชนวัน 2.5 แสนบาท แถมรับข้อเสนอแก้สัญญา
อย่างไรก็ตาม ต่อมากลุ่ม SPS Consortium ได้มีหนังสือถึง ทอท.อีก 4 ครั้งในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.2552 โดยเสนอเปลี่ยนรูปแบบการจัดการขยะเป็น และแล้ว ทอท. ก็เห็นพ้องกับข้อเสนอผู้รับจ้างในการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดการขยะ
พร้อมทั้งให้เสนอเรื่องไปยังสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในระบบสาธารณูปโภคด้านการกำจัดมูลฝอยภายในบริเวณสนามบินสุวรรณภูมิ
ต่อมาวันที่ 11 ธ.ค.2552 กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (กอญ.) ทอท. ในสมัยนั้น (เสรีรัตน์ ประสุตานนท์) อนุมัติในหลักการต่อท้ายหนังสือ ฝกม.ที่ 3842/52 ให้ทอท. ‘ชะลอ’ การใช้สิทธิปรับผู้รับจ้างตามเงื่อนไขสัญญา ระหว่างรอผลการพิจารณาจาก สผ. โดยมีเงื่อนไขว่า เงินค่าปรับต้องไม่เกินวงเงินค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญา
และในกรณีที่ สผ.เห็นควรให้มีการแก้ไขรูปแบบการกำจัดขยะ เห็นควรหารือต่อสำนักงานอัยการสูงสุด เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขสัญญา การใช้สิทธิปรับ ก่อนที่จะนำเสนอผู้มีอำนาจเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
จากนั้น 1 ปีครึ่งต่อมา หรือวันที่ 9 มิ.ย.2554 สผ.มีหนังสือที่ ทส.1009.4/2540 แจ้งว่า สผ.มีมติเห็นชอบรายงานการขอเปลี่ยนแปลงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมโครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) หลังจาก ทอท.ได้ปรับปรุงข้อมูลจนครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว
ต่อมาวันที่ 25 ก.ค.2554 กลุ่ม SPS Consortium มีหนังสือเสนอให้ ทอท. พิจารณาแก้ไขสัญญาฯ ตามที่ สผ.ได้มีมติเห็นชอบรายงานการเปลี่ยนแปลงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมโครงการ ทสภ. และขอ ‘คง’ ค่าบริหารจัดการขยะไว้ตามสัญญาเดิม แต่ทอท.ไม่ยอมรับข้อเสนอนั้น โดยขอลดค่าจ้างลงไม่น้อยกว่า 2.04% ตั้งแต่เริ่มสัญญาจ้าง
ท้ายที่สุดกลุ่ม SPS Consortium แจ้งเสนอลดค่าบริการในการบริหารจัดการขยะตามสัญญาลง 2.5% โดยให้การปรับลดฯ มีผลย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่เริ่มให้บริการตามสัญญาจนสิ้นสุดสัญญา ส่วนการเพิ่มค่าจัดการขยะในปีที่ 4 และปีที่ 8 ยังคงเพิ่มขึ้น 10% และค่าบริการคิดจากปริมาณขยะขั้นต่ำที่ 40 ตันต่อวันตามสัญญาเดิมทุกประการ
หรือเท่ากับว่า นอกจากเอกชนจะไม่ต้องเสีย ‘ค่าปรับ’ ในกรณีสร้าง ‘เตาเผาขยะ’ ไม่เสร็จทันตามเงื่อนไขสัญญาที่กำหนดแล้ว ยังจะได้รับสิทธิพิจารณาแก้ไขสัญญาให้อีก ในขณะที่การสร้างระบบ ‘เตาเผาขยะ’ ดังกล่าว เป็นข้อเสนอ ‘เทคนิค’ ที่มาจากทางกลุ่ม SPS Consortium เอง
ที่สำคัญ คือ กลุ่ม SPS Consortium ยังทำหน้าที่บริหารจัดการขยะในบริเวณสนามบินต่อไป แม้ว่าจะไม่ได้รับการชำระค่าจ้างมาตั้งแต่งวดที่ 44 (งวดวันที่ 15 เม.ย.2553-14 พ.ค.2553) เป็นต้นมา
ระบบบการจัดการขยะทั่วไปในสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2556
@การแก้สัญญายืดเยื้อจนกระทั่งสัญญาสิ้นสุดลง
การแก้ไขสัญญาบริหารจัดการขยะในบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระหว่างทอท.และกลุ่ม SPS Consortium เหมือนจะดำเนินไปด้วยดี
โดยเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2555 ฝ่ายกฎหมาย ทอท. ให้ความเห็นว่า ทอท.สามารถแก้ไขสัญญาได้ อีกทั้งมีเหตุอันสมควรที่ ทอท.จะ ‘งด’ เรียกค่าปรับจากเอกชนวันละ 250,000 บาท จากกรณีที่สร้าง ‘เตาเผาขยะ’ ไม่เสร็จทันวันที่ 15 ต.ค.2552 หรือคิดเป็นเงินค่าปรับในขณะนั้น 200 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายกฎหมาย เสนอให้ทอท. หารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด เกี่ยวกับการแก้ไขสัญญา ก่อนที่จะนำเสนอผู้มีอำนาจเพื่อพิจารณาสั่งการต่อไป
ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือที่ อส 0005/6823 ลงวันที่ 12 ก.ค.2555 ว่า สำนักงานอัยการสูงสุด ไม่สามารถให้ความเห็นเกี่ยวกับการขอแก้ไขสัญญาได้ โดยทอท.ต้องพิจารณาว่ามีเหตุผลสมควรที่จะแก้ไขสัญญาและปรับลดค่าบริการตามที่ผู้รับจ้างยื่นข้อเสนอมาไป ตามหลักเกณฑ์ในข้อกำหนด ทอท.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2553 ข้อ 29 หรือไม่
ส่วนเหตุว่าควร ‘งด’ ค่าปรับตามข้อกำหนด ทอท.ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2553 ข้อ 31.4 สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นว่า วงเงินในการอนุมัติจัดหาเกินอำนาจของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ทอท. สำนักงานอัยการสูงสุดจึงไม่อยู่ในฐานะที่ตอบข้อหารืออันจะเป็นการผูกมัดการพิจารณาของคณะกรรมการ ทอท.ได้
ถัดมาในวันที่ 29 ส.ค.2555 คณะกรรมการตรวจการจ้างฯ รายงานข้อเท็จจริงกรณีกลุ่ม SPS Consortium ขอเปลี่ยนแปลงสัญญา โดยขอไม่สร้างระบบบำบัดขยะภายในทสภ.ด้วย ‘เตาเผา’ และขอเปลี่ยนเป็นการนำไปกำจัดภายนอกด้วยวิธีที่เหมาะสมแทน
ขณะที่ฝ่ายสนามบินและอาคาร (ฝสอ.) ทอท. ให้ความเห็นว่า ควรใช้วิธีนำไปกำจัดภายนอก ซึ่งสอดคล้องกับที่ สผ.เห็นชอบกับการกำจัดด้วยวิธีนำไปกำจัดภายนอกแทนการสร้างระบบกำจัดภายใน ทสภ. ดังนั้น การบริหารจัดการขยะฯ จึงสามารถดำเนินการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการก่อสร้างเตาเผาขยะ
นอกจากนี้ การก่อสร้างเตาเผาขยะฯ มิได้กำหนดไว้ในข้อกำหนดและรายละเอียดในการจัดจ้างฯ (TOR) แต่เป็นข้อเสนอทางเทคนิคของผู้รับจ้างในการจัดหา
ดังนั้น การที่ผู้รับจ้างไม่ขอก่อสร้างเตาเผาขยะ และยินยอมปรับลดค่าบริการตามสัญญาลง 2.5% โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่เริ่มให้บริการตามสัญญาจนสิ้นสุดสัญญา เป็นกรณีที่ ‘ไม่’ ทำให้ ทอท.ต้องเสียประโยชน์
ต่อมาในเดือนก.พ.2556 มีการจัดทำข้อมูลและรายงานข้อเท็จจริงต่างๆ เพื่อเสนอคณะกรรมการ ทอท.อนุมัติให้มีการแก้ไขสัญญา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ ทอท.ไม่มีการแก้ไขสัญญาให้กับกลุ่ม SPS Consortium แต่อย่างใด จนกระทั่งสัญญาฯสิ้นสุดลงในวันที่ 14 ก.ย.2559
@สัญญาจบแต่คดีไม่จบ เอกชนฟ้องเรียกค่าจ้าง-ทอท.จ่อกลับเรียกค่าชดเชย
ไม่นานหลังสัญญาสิ้นสุดลง กลุ่ม SPS Consortium ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง หมาบเลขคดีดำที่ 1810/2559 เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2559
โดยขอให้ทอท.ชำระค่าจ้างตามสัญญาจัดการขยะตั้งแต่งวดที่ 44 (งวดวันที่ 15 เม.ย.2553-14 พ.ค.2553) ถึงงวดที่ 120 (งวดวันที่ 1 ก.ย.2559-14 ก.ย.2559) รวม 77 งวด พร้อมดอกเบี้ย 7.5% เป็นเงิน 238,127,385 ล้านบาท และ คืนหนังสือค้ำประกันให้แก่กลุ่ม SPS Consortium จำนวน 2 ฉบับ เป็นเงิน 50,373,871 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี
ต่อมาวันที่ 14 ธ.ค.2559 ศาลปกครองชั้นต้น มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับค่าจ้างงวดที่ 44 (ครบกำหนดชำระเมื่อวันที่ 26 มิ.ย.2553) ถึงงวดที่ 59 (ครบกำหนดชำระเมื่อวันที่ 30 ต.ค.2554) ไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นการยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่รู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี จึงเหลือทุนทรัพย์ที่ฟ้อง 236,895,416 ล้านบาท
และเมื่อกลุ่ม SPS Consortium ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้าง งวดที่ 44 ถึงงวดที่ 59 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับค่าจ้างงวดที่ 44 ถึงงวดที่ 59 เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2560
ถัดมาวันที่ 21 ส.ค.2560 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งให้กลุ่ม SPS Consortium ทำคำให้การแก้ฟ้องแย้ง จากนั้นกลุ่ม SPS Consortium ได้ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งต่อศาลปกครองกลางแล้ว ต่อมาวันที่ 5 ก.ย.2560 ศาลปกครองกลาง มีหมายแจ้งและศาลมีคำสั่งเรียกธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดีนี้
ขณะที่ฝั่งทอท.นั้น หลังจากได้รับคำสั่งเรียกให้ทำคำให้การ พร้อมทั้งสำเนาคำฟ้องของศาลปกครองกลางคดีหมายเลขดำที่ 1810/2559 แล้ว ทอท.ได้มีการชี้แจงข้อมูลต่อศาลฯว่า ทอท.ได้ตรวจสอบพบว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ราย (กลุ่ม SPS Consortium) ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามสัญญาจ้างทำให้เกิดความเสียหายต่อ ทอท.ดังนี้
1.ไม่สามารถสร้าง หรือจัดหาระบบและอุปกรณ์ให้ครบตามสัญญาจ้าง
2.ตามข้อกำหนดรายละเอียดการจัดจ้าง และเอกสารแนบท้ายสัญญาอัตราค่าปรับกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้จ้างไม่สามารถสร้างระบบจัดการขยะให้แล้วเสร็จตามวลาที่เสนอไว้ ผู้รับจ้างยินยอมให้ผู้ว่าจ้างปรับในอัตราวันละ 250,000 บาท ซึ่งถึงวันที่ 31 ก.ค.2559 เกิดค่าปรับจำนวน 620,500,000 บาท
ดังนั้น ทอท.ขอนำค่าเสียหายดังกล่าวเป็นทุนทรัพย์ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากกลุ่ม SPS Consortium ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กระทั่งถึงตอนนี้ศาลปกครองกลางยังไม่มีคำตัดสินออกมาว่า ทอท.จะต้องจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่ายเป็นเงิน 236 ล้านบาท ให้กับ กลุ่ม SPS Consortium หรือไม่ อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนจาก ทอท.ว่า จะมีการฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีกลุ่ม SPS Consortium ที่ไม่สามารถปฏิบัติได้ตามสัญญาเป็นเงิน 620 ล้านบาทหรือไม่อย่างไร
“คดีนี้ยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลปกครองกลาง” ฝ่ายสื่อสารองค์กรของบริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขณะเดียวกัน สำนักข่าวอิศรา ได้พยายามติดต่อสอบถามเรื่ิองดังกล่าวไปยัง 'นิตินัย ศิริสมรรถการ' กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. แล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด
ทั้งหมดนี้เป็นมหากาพย์ 14 ปี ที่กำลังรอศาลปกครองตัดสิน และกว่าจะรู้ผลต้องรออีกหลายปี
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/